Lifestyle

“ผึ้งน้อยพิทักษ์เมืองมหาสารคาม” พลังรุ่นใหม่ไม่เอาขยะ    

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ผึ้งน้อยพิทักษ์เมืองมหาสารคาม” พลังรุ่นใหม่ไม่เอาขยะ    

    

          อีกหนึ่งต้นแบบ Active People หรือเยาวชนยุคใหม่ที่เป็นพลังหนุนสำคัญของขบวนการกำจัดและแก้ไขปัญหาขยะในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม 
 
          “กลุ่มผึ้งน้อยพิทักษ์เมืองมหาสารคาม” คือการรวมตัวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึก ในการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการลดปริมาณขยะ ที่ถูกจุดประกายโดยเยาวชนในโรงเรียนผดุงนารี จ.มหาสารคาม และยายแนวคิดสู่เยาวชนในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม พวกเขาเป็นเหล่าต้นกล้าพลังบวกที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และต้องการปรับเปลี่ยนชุมชนของตนเองให้น่าอยู่ขึ้น

 

“ผึ้งน้อยพิทักษ์เมืองมหาสารคาม” พลังรุ่นใหม่ไม่เอาขยะ    

 

          ณัฐพงศ์ ตะวัน นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนผดุงนารี เป็นผู้บอกเล่าจุดเริ่มต้นของการรวมตัวดังกล่าวว่า

          “เริ่มจากพวกเรานั่งคุยกับในกลุ่ม   4-5 คน ว่ามีปัญหาอะไรในโรงเรียนของเราบ้างที่ควรได้รับการแก้ไข ก็มองเห็นว่า ขยะคือปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่ง เนื่องจากผดุงนารีเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียนมากอันดับ 1 ของประเทศคือประมาณ 4,700 คน ทำให้ขยะในโรงเรียนเรามีเยอะมาก และนักเรียนทุกคนไม่รู้จักจัดการขยะด้วยตนเอง”

          แนวคิดการจัดการขยะที่ต้นทางจึงเกิดขึ้น โดยในครั้งแรก ผึ้งน้อยเริ่มก่อตั้งกลุ่มเป็นชมรมที่มีสมาชิกเพียง 10 คน หากปัจจุบันสามารถขยายแนวคิดจนมีสมาชิกเพิ่มเป็น 120 คน โดยเป้าหมายของพวกเขาคือการลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง 

          พวกเขารวมพลังร่วมใจกันทำไม้กวาดทางมะพร้าว ซึ่งทุกเที่ยงครึ่งถึงบ่ายโมงของทุกวัน สมาชิกกลุ่มผึ้งน้อยจะรวมตัวกันเพื่อทำความสะอาดในโรงเรียน 

          “นอกจากนี้เราเริ่มรณรงค์การแยกขวดพลาสติกตั้งแต่ในห้องเรียนสะสมไว้ แล้วจะมีการจัดตั้งธนาคารขยะโรงเรียนรับซื้อขวดพลาสติกจากนักเรียนแต่ละห้องทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ก่อนนำไปขายต่อให้ทางเทศบาล เงินที่ได้มาจะเก็บเข้าเป็นกองทุนในกิจกรรมการจัดการขยะต่อไป

 

“ผึ้งน้อยพิทักษ์เมืองมหาสารคาม” พลังรุ่นใหม่ไม่เอาขยะ    


 
          ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนดีขึ้น จากเดิมทีเรานั่งอยู่ได้กลิ่นเหม็นทั้งวัน” วัชระ รังคะราช นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนผดุงนารี แกนนำสมาชิกอีกคนของผึ้งน้อยผดุงนารีเสริม

          สำหรับขยะที่เป็นอันตรายก็เก็บไว้รอเทศบาลมารับ ขยะส่วนอื่นๆ สมาชิกกลุ่มจะพยายามนำไปใช้ประโยชน์มากที่สุด ประกอบกับการได้มีโอกาสศึกษาดูงานและเข้าร่วมอบรมกับวิทยากร ทำให้ต่อยอดแนวคิดในการนำขยะจำพวกเศษอาหารผักผลไม้เหลือทิ้งมาเลี้ยงไส้เดือน และทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ ซึ่ง ฐิติยาพร ประจง นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนผดุงนารี เป็นผู้อธิบายให้ฟังว่า
 
          “บางครั้งก็ใช้ความรู้จากอินเตอร์เน็ตบ้าง ผสมกับที่วิทยากรมาให้ความรู้ เราจะนำมาประยุกต์ใช้ พัฒนาสูตรต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้ลงมือปฏิบัติจริง มีการไปอบรมเพื่อนำความรู้ที่มาให้ถ่ายทอดให้กับน้องๆ ต่อไป” 
 

เคาะประตูบ้านปลุกกระแสจัดการขยะชุมชน    
          “ตอนแรกเราเริ่มคิดว่าอยากออกไปช่วยทำความสะอาดพื้นที่นอกโรงเรียน เช่น ตามวัด ต่อจากนั้นจึงพัฒนาเป็นกิจกรรมเคาะประตูบ้านสานงานชุมชน” วัชระอธิบายต่อว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการลงพื้นที่ใน 50 ชุมชน เพื่อแนะนำ ขอความร่วมมือให้เขาแยกขยะ กระตุ้นให้ชุมชนจัดกิจกรรมทำความสะอาดชุมชนและพื้นที่สาธารณะร่วมกัน ชี้แจงขอความร่วมมือชุมชนกำจัดแหล่งเพราะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เป็นต้น

          “การลงพื้นที่ยังทำให้เราได้ทราบปัญหา ว่าหลายหมู่บ้าน ไม่มีรถขยะมาเก็บหรือนานๆ มาเก็บที จึงเกิดปัญหาขยะเรื้อรัง”

 

“ผึ้งน้อยพิทักษ์เมืองมหาสารคาม” พลังรุ่นใหม่ไม่เอาขยะ    

 

          หลังจากเกิดการเรียนรู้การจัดการขยะอย่างครบวงจร สามารถจัดการขยะในโรงเรียนได้ในระดับหนึ่ง ผึ้งน้อยจึงเดินหน้าสานต่อกับการขยายแนวคิดสู่ชุมชนรอบรั้วโรงเรียน โดยมีความตั้งใจที่จะนำความรู้ที่มีนำมาใช้ประโยชน์ในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ปลุกกระแสชาวมหาสารคามให้ร่วมกันกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทาง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเทศบาลเมืองมหาสารคาม ร่วมกับโรงเรียนผดุงนารี และเครือข่ายฮักแพง เบิ่งแญง คนสารคาม จึงประสานความร่วมมือกับผู้นำชุมชน ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านในชุมชน นาควิชัย ตำบลตลาด อำเภอเมือง มหาสารคาม 

          กลุ่มผึ้งน้อยมีการรับสมัครสมาชิกเครือข่ายเพิ่ม โดยเมื่อใดที่มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ในวันเสาร์จะมีการลงพื้นที่ในชุมชน ทำกิจกรรมเสียงตามสาย ขอเชิญชวนช่วยกันทำความสะอาดหมู่บ้าน หรืออย่างช่วงเทศกาลงานบุญประเพณีต่างๆ อาทิ เทศกาลเข้าพรรษา จะมีเทศน์ทุกวันเสาร์อาทิตย์ เยาวชนจิตอาสากลุ่มนี้ก็เข้ามาให้ความรู้และสนับสนุนให้ชาวบ้านคัดแยกขยะ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมในการลดปริมาณขยะให้กับเยาวชนจังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น

          “ถามว่าจะให้มันหมดไปเลยคงเป็นไปไม่ได้ แต่อยากให้เขาตระหนักอยากให้เขาทราบว่ามีวิธีการจัดการขยะด้วยตนเองได้” ณัฐพงศ์เอ่ย

 

“ผึ้งน้อยพิทักษ์เมืองมหาสารคาม” พลังรุ่นใหม่ไม่เอาขยะ    

 

          จากการดำเนินงานตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ ตลอดเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา พวกเขาเอ่ยว่าภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ที่มีโอกาสสร้างเมืองมหาสารคามของพวกเขาให้น่าอยู่มากกว่าวันวาน และจะเดินหน้าถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าวให้กับน้องๆ เยาวชนรุ่นต่อๆไป เพื่อให้เกิดความตระหนัก ปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการเห็นคุณค่าการนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์คุ้มค่า  


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ