Lifestyle

“จากพอเพียง สู่พาณิชย์” ทัพเกษตรกรเงินล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“จากพอเพียง สู่พาณิชย์” ทัพเกษตรกรเงินล้าน ผู้ตามรอยพระยุคลบาทร. 9 เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน 

 

          จากความคิดเล็กๆ เพียงแค่ใช้ดินอย่างมีคุณค่า สร้างเศรษฐกิจพอเพียงในครัวเรือน มาสู่ความพอเพียงระดับชุมชนท้องถิ่น และกลุ่ม “จากพอเพียงสู่พาณิชย์” นับเป็นตัวอย่างสำคัญในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ที่สะท้อนภาพความสุขของชุมชนที่มีการดำรงชีพอย่างเหมาะสมและมีความมั่นคงทางอาหาร 

          มนัส ทองศรีเพชร เกษตรกรวัย 40 ปี และประธานกลุ่ม “จากพอเพียง สู่พาณิชย์”   เปิดเผยถึงความสุขจากความสำเร็จในการจัดกิจกรรมชุมชนท้องถิ่นการจัดการอาชีพอย่างยั่งยืน ใน ต.นาป่าแซง อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ ในระยะเวลาเพียงแค่  3 ปี  (ระหว่างปี2557-ปัจจุบัน) กระทั่งสามารถรวมตัวเกษตรกรท้องถิ่นได้กว่า 200 คน  ให้มีอาชีพที่ดีและสามารถอาศัยอยู่ในชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่9)  

 

“จากพอเพียง สู่พาณิชย์” ทัพเกษตรกรเงินล้าน

 

 

          มนัสเริ่มจากการลองผิด ลองถูกประสามนุษย์เงินเดือนที่เรียนจบอนุปริญญาด้านอิเลกทรอนิกส์ แล้วทำงานประจำ 7 ปี ก่อนจะเปลี่ยนอาชีพมาเป็นผู้รับเหมาติดตั้งดาวเทียม ตัดสินใจทำสัญญาเช่าที่ดินทำธุรกิจในเขตปริมณฑลต่อเนื่องนาน 10 ปี ถึงปีที่ 9 ก็พบกับความเปลี่ยนแปลง เมื่อเขาได้ศึกษาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากในหลวงรัชกาลที่ 9  

          ห้วงความคิดขณะนั้นชี้ช่องให้เขามองเห็นว่างานที่มีอยู่เดิมสร้างเงินก็จริง แต่ทำให้ต้องดิ้นรนไม่หยุดหย่อนและกลัวว่าจะไม่มีเวลาให้ลูกๆ  เบียดบังเวลาครอบครัว เขาจึงเริ่มมองหาความยั่งยืนในชีวิต และหันตัวกลับไปปักหลักที่บ้านเกิดของภรรยา โดยปี 2556 เขาตัดสินใจเอาเงิน ไปซื้อที่ดิน 27 ไร่เริ่มปลูกไผ่ตงอินโดจีน  1,200 กอ แต่ระหว่างปลูกไผ่ปีแรกมนัสยังคงทำงานเช่นเดิมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลต่ออีก 1 ปี ให้ครบตามสัญญาเช่าที่ดิน เขาใช้เวลาบางสัปดาห์กลับไปดูแลพื้นที่เพาะปลูกไผ่  

          “ตอนผมทำธุรกิจจานดาวเทียม ผมมีการขายออนไลน์ รับออร์เดอร์ออนไลน์ ผมจึงใช้ช่องทางนี้ประชาสัมพันธ์ ขายหน่อไม้ที่ได้จากการปลูกไผ่ ก็เริ่มมีสมาชิก จนมีคนกรุงเทพฯสนใจเยอะขึ้น ทั้งสั่งซื้อ บางคนก็เข้ามาปรึกษาแล้วถึงขั้นเปลี่ยนอาชีพมาปลูกไผ่เพิ่มเติม เกิดการบอกต่อๆ กัน ก็ยกระดับจากปลูกไผ่ขายหน่อ มาเป็นขยายพันธุ์ไผ่ขาย พอหมดสัญญาเช่าทำธุรกิจ ผมก็กลับบ้านไปอยู่อำนาจเจริญ”

 

“จากพอเพียง สู่พาณิชย์” ทัพเกษตรกรเงินล้าน

 

          หลังจากประสบความสำเร็จจากการปลูกไผ่ เขาเริ่มหันมาปลูกสตรอเบอรี่ มะม่วง มะขาม  พืชพรรณผลไม้อีกหลายชนิด  รวมทั้งเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจทั้งปลา ไก่ ฯลฯ บนที่ดิน 27 ไร่ ตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงส่งเสริมให้ใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่า  และเมื่อสังคมเจริญขึ้น คนจะซื้อของกิน ของใช้มากขึ้น ดังนั้นใครผลิตกินเองได้ย่อมได้เปรียบ เพราะเป็นการลดต้นทุนการดำรงชีวิต มนัสจึงทำเกษตรแบบผสมผสานให้สามารถดำรงชีพอย่างยั่งยืนแล้วแบ่งขาย 

          เพราะเขาเห็นโอกาสอยู่รอดโดยการรวมกลุ่ม จึงริเริ่มรวมตัวเกษตรกรขึ้น โดยประกาศหาแนวร่วมจากคนในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด  การมาพบปะของเกษตรกรแต่ละครั้งก่อเกิดเป็นแรงกระเพื่อมของการขยายฐานการผลิตภายใต้ต้นทุนของแต่ละคน จนกลายมาเป็น “กลุ่มจากพอเพียง สู่พาณิชย์” โดยเริ่มจากการสำรวจแหล่งตลาดก่อนว่ามีใครบ้างต้องการซื้อสินค้าการเกษตร และต้องการสินค้าประเภทใด 

          “บ้านผมเลี้ยงไก่ก็จริง แต่เลี้ยงไม่มาก ถามว่าพ่อค้าเขาจะมาซื้อเนี่ย ถ้ามาแล้วได้ไปสองสามตัวจะคุ้มไหม ก็ไม่ ผมก็เลยไปถามคนในหมู่บ้านว่าใครมีไก่ขายบ้างให้เอามารวมกันแล้วขาย แล้วเราก็เอาวิธีการนี้ไปใช้กับการขายสินค้าเกษตรทุกอย่างที่มี มีเท่าไหร่ ขายเท่านั้น ไม่ต้องไปเร่งตัวเอง ไม่ต้องไปกู้เงินมาปลูกเยอะๆ แนวทางนี้ทำให้เราเกิดเป็นกลุ่มเริ่มมีระบบสมาชิก โดยใครก็ตามมาขายในกลุ่มต้องจ่ายเงินร้อยละ 5 เข้ากลุ่ม จะนำไปใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมอบรมเกษตรกรรุ่นใหม่ อบรมการทำสื่อประชาสัมพันธ์ง่ายๆ วิธีการเขียนโฆษณาสินค้า วิธีถ่ายรูป ง่ายๆ ให้สมาชิกลองทำ  เราก็ไปต่อได้ ” 

 

“จากพอเพียง สู่พาณิชย์” ทัพเกษตรกรเงินล้าน

 

          ไม่ใช่แค่การรวมตัวเพื่อการสร้างโอกาสในการค้าขายเท่านั้น แต่มนัสยังออกแบบหลักสูตรในการทำเกษตรอย่างครบวงจร ภายใต้รูปแบบ “การตลาดนำ การกระทำตาม” โดยเน้นที่ฝึกให้เกษตรกรเข้าใจและรู้ถึงวิธีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ผลผลิต เพื่อสำรวจความต้องการของตลาดเป็นอันดับแรกแล้วค่อยผลิตเพื่อส่งขาย หรือที่รู้จักกันในแวดวงธุรกิจว่า “Pre-Order”  ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้เกษตรกรไม่ขาดทุน 

          ในปี 2559 หลังทำบัญชีพบว่า โครงการดังกล่าวสร้างรายได้แก่กลุ่มสูงถึง 2 ล้านบาท โดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องจากบ้านเกิดไปทำงานไกล  ความสำเร็จดังกล่าวจุดประกายให้เกษตรกรกลุ่มมองเห็นช่องทางในการดำรงชีพอย่างยั่งยืนมากขึ้น  และเป็นที่ยอมรับทั้งจากคนไทยและต่างชาติ  ซึ่งนอกจากการผลิตสินค้าเกษตรส่งขายประเทศเพื่อนบ้านลาว กัมพูชา พม่า แล้วทางกลุ่มยังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมด้วย 

          ปัจจุบันนี้เกษตรกรในกลุ่มต่างต้องมีหน้าที่ในการบรรยายข้อมูล และมีส่วนร่วมขยายองค์ความรู้ดังกล่าวสู่เกษตรกรรายใหม่ต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ และเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อพัฒนาชุมชน อันเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ 

 

“จากพอเพียง สู่พาณิชย์” ทัพเกษตรกรเงินล้าน

 

          การดำเนินการของกลุ่ม  “ จากพอเพียงสู่พาณิชย์”  จัดเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: แรงผลักดันสากลเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของเรา (  The Sustainable Development Goals: a universal push to transform our world)  หรือ SDGs  ที่ ประเทศไทยโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2559 และมีองค์ประกอบหลายส่วนจาก 16 ข้อของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติมีส่วนร่วม

          มนัสยังหวังว่าจะสามารถขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวสู่สังคมในวงกว้าง และขณะนี้ เขากับสมาชิกกลุ่มก็กำลังได้รับโอกาสนั้น ภายใต้สนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) โดยสำนักสุขภาวะชุมชนและภาคีเครือข่าย โดยในงานมหกรรมตามรอยพ่อสานต่อปฏิบัติการชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม 2560 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร มนัสและสมาชิกจะมาเปิดประเด็นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้
 

 

“จากพอเพียง สู่พาณิชย์” ทัพเกษตรกรเงินล้าน


          “พอ สสส.เข้ามาดูแลเรา จะทำให้เราได้ขยายเครือข่ายง่ายขึ้น ซึ่ง สสส.จะมีบทบาทในการสนับสนุนและเป็นหน่วยงานหลักเชื่อมชุมชนแต่ละที่ให้มาเจอกันได้  ผมอยากให้หลายๆ คนเรียนรู้โครงการของเราและเชื่อเสมอว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร  ทำอาชีพอะไรคุณก็ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงได้ แต่คุณต้องรู้จักหาโอกาสให้แก่ตนเองได้ศึกษาและทำอะไรใหม่ๆบ้าง โครงการนี้ มากกว่ารายได้ที่ผมรับ คือ กำไรชีวิตที่ทำให้ผมได้อยู่กับครอบครัว และผมเองก็เรียนรู้จากเกษตรกรคนอื่นเช่นกัน นั่นแหละกำไรสูงสุด” มนัสทิ้งท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ