Lifestyle

นำร่องสร้าง“เยาวชนต้นแบบแรงงานพฤติกรรมดี มีวินัย”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สสส.จับมือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นำร่องสร้าง “เยาวชนต้นแบบแรงงานพฤติกรรมดี มีวินัย”

    

          เพราะทุกคนมีสิทธิและโอกาสที่จะพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้นได้ ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นใคร 

          ปัจจุบันสังคมไทยยังคงมีกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ที่มักต้องก้าวสู่ภาคแรงงาน ทั้งจากปัจจัย “ความยากจน” หรือสาเหตุอื่นๆ มักทำให้พวกเขาขาดโอกาสทางการศึกษาหรือไม่มีวุฒิการศึกษาหรือความรู้ที่มากพอ

 

นำร่องสร้าง“เยาวชนต้นแบบแรงงานพฤติกรรมดี มีวินัย”

 

          แม้เยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษามักเป็นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งสังคมอาจลืมนึกถึงเสมอ แต่หากเราสามารถพัฒนากลุ่มเยาวชนผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ให้เป็นกำลังแรงงานฝีมือ นอกจากเป็นการผลิตกำลังแรงงานป้อนสู่ตลาด ลดปัญหาการขาดแคลนแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับชีวิตกลุ่มผู้ด้อยโอกาสด้วย
    
          ในโลกการทำงาน สวัสดิภาพความปลอดภัยจากการทำงาน นับเป็นอีกปัญหาสำคัญอันดับต้นๆ ที่แรงงานส่วนใหญ่ต้องประสบ จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานในปี 2558 โดยสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมพบว่า มีลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนประสบอันตรายอันเนื่องจากการทำงานถึงขั้นเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ และมีการหยุดงาน ถึง 96,826 คน สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความประมาทและขาดวินัยในการทำงาน

 

นำร่องสร้าง“เยาวชนต้นแบบแรงงานพฤติกรรมดี มีวินัย”

 

          “โครงการเสริมสร้างวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” จึงถูกริเริ่มขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ที่มีเป้าหมายหลักเดียวกัน นั่นคือ การสร้างวินัยและความปลอดภัย รวมถึงการสร้างความเข้าใจในด้านสุขภาวะ ให้กับเยาวชนกลุ่มที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเหล่านี้
    
          เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. บอกเล่าถึงที่มาของโครงการนี้ว่า ที่ผ่านมาสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. จะทำงานส่งเสริมด้านสุขภาวะผ่านระบบโรงเรียนหรือกลุ่มเยาวชนในองค์กรท้องถิ่นหรือชุมชนต่างๆ ต่อเนื่อง แต่เยาวชนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มใหม่ที่ สสส.เพิ่งค้นพบว่ายังมีจำนวนมาก
    
          “โดยจากการที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานได้มีการเปิดคอร์สระยะสั้นด้านการฝึกฝีมือแรงงาน เพื่อการสร้างโอกาสให้เยาวชนกลุ่มนี้มีทักษะในการทำงานและเป็นแรงงานที่มีคุณภาพในระบบการทำงาน สสส.จึงมองว่าอีกสิ่งที่น่าจะเติมเต็มเข้าไป คือการฝึกอบรมเน้นการพัฒนาทักษะชีวิต ความมีระเบียบวินัยและความปลอดภัย ตลอดจนการรู้จักป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในการทำงานและชีวิตของ ไปจนถึงการแนะแนวหลักเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาวะของเยาวชนกลุ่มนี้”
    
          ด้าน ธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการพัฒนาทักษะรองรับการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 นิสัยอุตสาหกรรม 9 พฤติกรรม 9 ความสำเร็จ และการประเมินความเสี่ยงตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2555 ซึ่งในปี 2560 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะเน้นการเพิ่มคุณภาพฝีมือแรงงาน โดยเน้นการสร้างเครือข่าย การใช้พื้นที่และดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในวิถีประชารัฐ ซึ่งในพัฒนาเยาวชนกลุ่มแรงงานดังกล่าว การสร้างทักษะฝีมือแรงงานอย่างเดียวไม่พอ จึงได้รับความร่วมมือจากสสส.และสมาคมนายจ้างเพื่อสร้างทักษะชีวิตก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน  

 

นำร่องสร้าง“เยาวชนต้นแบบแรงงานพฤติกรรมดี มีวินัย”


    
          “โดยเฉพาะวินัยและความปลอดภัย เป็นอีกเรื่องซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อป้องกันความสูญเสีย โดยเยาวชนกลุ่มนี้จะได้รับการฝึกวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานซึ่งจะส่งผลต่อโอกาสการทำงานและความสุขในการประกอบอาชีพ”

          ด้านความเห็นจากฝั่งตัวแทนนายจ้าง วิชัย ศิรินคร  ประธานสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า นายจ้างคาดหวังแรงงานมีประสิทธิภาพทั้งร่างกายและจิตใจพร้อมที่จะทำงาน เป็นคนดี มุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองโดยเฉพาะการมีวินัย ทั้งการหยุดงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ไม่ตรงต่อเวลา ไม่สวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัย ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ เป็นต้น

          แต่ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นคือลูกจ้างยังขาดวินัยในการทำงานและพฤติกรรมการทำงานในเชิงบวก ซึ่สร้างผลเสียต่อหน่วยงานองค์กรและตัวแรงงานเอง  
 
          “พฤติกรรมของแรงงานที่นายจ้างคาดหวัง คือการที่ลูกจ้างมีพฤติกรรมเชิงบวกในสังคม ได้แก่ ความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ  มีวินัย ขยันอดทน รวมถึงมีพฤติกรรมที่ดีต่อการทำงาน เช่น คำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน   ใช้เครื่องมืออย่างถูกต้องเหมาะสม  ทำงานอย่างมีขั้นตอน ประณีต ใช้เวลาการทำงานที่เหมาะสม  เป็นต้น โครงการนี้จึงเป็นการวินัยในการทำงานให้แก่แรงงานที่นายจ้างและสถานประกอบการต้องการ”

 

นำร่องสร้าง“เยาวชนต้นแบบแรงงานพฤติกรรมดี มีวินัย”


    
          สำหรับโครงการนำร่องนี้ จะเป็นการจัดฝึกอบรมให้แก่ผู้เข้ารับการฝึก ในหลักสูตร เตรียมเข้าทำงาน ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 1,235 คน ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิษณุโลก สระแก้ว สุราษฎร์ธานี ตรัง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ และเชียงราย 

          โดยกำหนดแผนจัดอบรมแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 ฝึกอบรม 3 วัน (วันศุกร์-อาทิตย์) ระยะเวลาการฝึก 12 ชั่วโมง ระยะที่ 2 การสร้างความคุ้นเคยระหว่างการฝึกในหน่วยงาน กพร.เท่านั้น ซึ่งสมาคมจะจัดทำสมุดเพื่อบันทึกการเสริมสร้างวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมีเพื่อนร่วมสาขาการฝึก จะเป็นผู้ประเมินเป็นรายวัน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อประเมินการฝึกรายสัปดาห์ และมีอาจารย์ผู้สอนประเมินผลการฝึกบุคคลรายเดือน และระยะที่ 3 เป็นการประเมินผู้รับการฝึก และได้รับวุฒิบัตรเพื่อมอบให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกดังกล่าว

          โครงการยังออกแบบกิจกรรมในรูปแบบค่ายเพื่อให้เยาวชนได้ฝึกปฏิบัติ พร้อมกับประเมินพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้เข้าร่วม รวมถึงการประเมินผลความพึงพอใจของสถานประกอบการ เมื่อเยาวชนกลุ่มนี้เข้าทำงานเพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตรทักษะฝีมือควบคู่วินัยหรือนิสัยอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีการอบรมวิทยากรประจำศูนย์ให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อเข้าสู่การอบรมในระบบปกติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืน  โดย สสส. ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจำนวน 5,970,000 บาท
    
          “กระบวนการดังกล่าวจะไม่ใช่การสอนแบบในห้องเรียน แต่เป็นการออกแบบค่ายการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เขามีกลุ่มเพื่อนในวัยใกล้เคียงกัน และมีการละลายพฤติกรรม โดยมีวิทยากรของกระทรวงแรงงานเป็นผู้สอดแทรกความรู้เหล่านี้ให้กับเด็ก  นอกจากนี้ เราจะออกแบบให้มีการติดตามเด็กกลุ่มนี้ เมื่อเขาจบหลักสูตรไปแล้ว และเข้าสู่ระบบการทำงาน  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการติดตามดูว่า พวกเขาได้ใช้ความรู้ที่ผ่านการเข้าค่ายอบรมนี้ ไปใช้ในการทำงานจริงหรือไม่ และหลังจากได้รับการอบรมแล้ว พฤติกรรมมีความแตกต่างจากนักเรียนที่ไมได้หลักสูตรนี้หรือไม่” เพ็ญพรรณกล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ