Lifestyle

อบต.อีเซเผยสูตรบริหารน้ำอย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชาภูมิพล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผมก็เลยคิดไปว่า นี่ห้วยทับทันมีน้ำเป็นทุนอยู่ใกล้กับท้องถิ่นแต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่  มันก็เหมือนกับหมาเห็นปลากระป๋อง แล้วแกะกินไม่ได้นั่นแหละ 


          ประเทศไทยผ่านการถกเถียงเรื่องแหล่งน้ำ และเกิดวิกฤติการแย่งชิงทรัพยากรน้ำมาหลายครั้ง อย่างกรณีแล้งหนักปี 2559 ที่ผ่านมาเกษตรกรหลายรายตกเป็นจำเลยการใช้น้ำในปริมาณมากถึงขนาดทางการต้องมาประกาศและเสนอให้มีการลดจำนวนครั้งและลดเนื้อที่การทำนา  รวมทั้งยกเลิกการเพาะปลูกพืชบางชนิด ซึ่งหลายพื้นที่ต้องออกมาเดินขบวนประท้วงให้รัฐเห็นว่านั่นไม่ใช่การกระทำที่ถูกต้อง ทั้งนี้วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวรัฐและประชาชนสามารถหาทางออกที่เหมาะสมอยู่ร่วมกันได้ 
    

 

อบต.อีเซเผยสูตรบริหารน้ำอย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชาภูมิพล


          อย่างกรณีที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสำรวจกิจกรรมของชุมชนท้องถิ่นที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable Development Goals: SDGs)  ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้รับทราบและนานาชาติต่างเดินหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าว นั้นนับเป็นการขับเคลื่อนสังคมในอีกทางหนึ่งเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นที่สามารถจัดการตนเองได้มีบทบาทในการถ่ายทอดความแข็งแกร่งของการเป็นชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่สู่สังคมภายนอกอย่างมีคุณภาพ  

          องค์การบริหารส่วนตำบลอีเซ (อบต.อีเซ) อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ  มีการจัดทรัพยากรน้ำอย่างมีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมจากหลายหน่วยงานของภาครัฐ โดยเฉพาะในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

          สำหรับแหล่งน้ำที่ตำบลอีเซใช้เป็นต้นทุน คือ ลำน้ำห้วยทับทัน ที่หล่อเลี้ยงคนจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่อำเภอกาบเชิง อำเภอบัวเชด  อำเภอสังขะ  อำเภอลำดวน อำเภอศรีณรงค์  อำเภอศีขรภูมิ อำเภอสำโรงทาบ  อำเภอโนนนารายณ์  อำเภอรัตนบุรี  และในจังหวัดศรีสะเกษ  ได้แก่  อำเภอปรางค์กู่  อำเภอห้วยทับทัน   อำเภอเมืองจันท์  อำเภออุทุมพรพิสัย  อำเภอพูดศรีสุวรรณ  อำเภอบึงบูรพ์  อำเภอราศีไศล  ซึ่งทุกพื้นที่ใช้น้ำดังกล่าวทั้งเพื่ออุปโภค บริโภคและเพื่อการเกษตร  แต่ก็ตำบลอีเซเองยังประสบกับวิกฤตคือ พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรบางส่วนเป็นที่ดอนสูงจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างมากส่งผลให้ประชาชนบางคนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำ ทางชุมชนจึงได้วางมาตรการใหม่ในการส่งน้ำไปใช้ และมีนโยบายร่วมเพื่อควบคุมการใช้น้ำอย่างเหมาะสม เช่น ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ไม่เน้นสูบน้ำใช้บ้านใครบ้านมัน และมีการแจ้งความประสงค์ต่อคณะกรรมการชุมชนก่อนการขอใช้น้ำเพื่อการเกษตรแต่ละครั้ง  สร้างอ่างพักน้ำราว 60 อ่างเพื่อการนำน้ำกลับมาใช้ในฤดูแล้ง และสร้างท่อส่งน้ำต่อจากอ่างพักน้ำเพื่อส่งน้ำไปสู่ครัวเรือน ฯลฯ ซึ่งการจัดการตนเองดังกล่าวสร้างความปรองดองและประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่ชาวบ้านในพื้นที่ และทาง อบต.อีเซก็คาดหวังให้ สสส.ได้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายท้องถิ่นทั่วประเทศให้เกิดการใช้น้ำอย่างสมดุล รวมทั้งเรียนรู้วิธีการฟื้นฟูแหล่งน้ำไปในตัวด้วย 

          สุวรรณ โสดา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอีเซ อธิบายถึงโครงการจัดการบริหารน้ำอย่างยั่งยืนว่า เรื่องนี้ต้องขอชื่นชมประชาชนในพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือและมีความเข้าใจกันและกันยอมรับการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพื่อความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำ ที่มีความสำคัญกับมนุษย์ทั่วโลก  สังคมไทยรู้ดีว่า หนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ท่านทรงเป็นนักพัฒนาหลายด้าน  และด้านที่ อบต.อีเซน้อมนำมาใช้เพื่อสนองพระราชปณิธานก็คือ เรื่องที่พระองค์ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากเป็นพิเศษ ดังที่ทรงเคยมีพระราชดำรัสใจความตอนหนึ่งว่า “หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้” (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529)

 

อบต.อีเซเผยสูตรบริหารน้ำอย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชาภูมิพล

 

          ทั้งนี้เมื่อได้เรียนรู้ศาสตร์ของพระราชาของไทยแล้ว สุวรรณกลับไปมองในพื้นที่ว่ามีต้นทุนน้ำเป็นอะไรบ้าง จึงพบว่า ในตำบลมีห้วยน้ำทับทันที่ไหลผ่าน และมีประชาชนใช้น้ำตามฤดูกาลแต่เมื่อภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติหลายอย่างส่งผลให้ระดับน้ำเปลี่ยนแปลง เกิดวิกฤตน้ำไม่พอใช้  ประชาชนก็ต่างหวาดกลัวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น      แต่โชคดีที่ในส่วนของตำบลอีเซนั้น ในปี 2535  “หลวงพ่อสมาน อาภาโส”   ได้ร่วมศรัทธาชาวบ้านทำฝายกั้นลำน้ำน้ำห้วยทับทันสำเร็จ โดยไม่ใช้งบประมาณจากทางราชการ แต่ด้วยแรงศรัทธาของคนในชุมชนจึงสามารถกันน้ำที่ไหลผ่านไปเก็บไว้ใช้ประโยชน์   ต่อมากระทรวงวิทยาศาสตร์และการพลังงานได้ดำเนินงานโครงการอีสานเขียวและได้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านพระหมู่ที่สองขึ้นบริเวณฝายกั้นน้ำที่หลวง “พ่อสมาน”ร่วมกับชาวบ้านสร้างไว้ โดยสถานีสูบน้ำยุคโครงการอีสานเขียวได้สร้างสถานีสูบน้ำบ้านพระหน้าฝายกั้นน้ำ ซึ่งสูบน้ำขึ้นคลองด่านและกระจายน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ 1,500 ราย   

          2 ปีหลังคลองส่งน้ำชำรุดใช้การไม่ได้กระทรวงวิทยาศาสตร์และการพลังงานได้โอนภารกิจของสถานีสูบน้ำให้กรมชลประทาน ซึ่งได้โอนกิจการต่อให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลอีซีในปี 2547 

          “ตอนนั้นผมก็เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนายก อบต.ครั้งแรก  ผมก็มาคิดว่า แหล่งน้ำนี่ก็เป็นทุนใหญ่แล้วนะ  ในใจก็คิดถึงในหลวงตลอด เห็นท่านทำหลายอย่าง ผมก็เลยคิดไปว่า นี่ห้วยทับทันมีน้ำเป็นทุนอยู่ใกล้กับท้องถิ่นแต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่  มันก็เหมือนกับหมาเห็นปลากระป๋อง แล้วแกะกินไม่ได้นั่นแหละ  จึงจัดเวทีประชุมชาวบ้านแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามพื้นที่และมีคณะศึกษาดูงานทุนทางธรรมชาติที่มีคือน้ำและทรัพยากรธรรมชาติเช่น ป่า และคิดวางแผนว่าจะนำมาใช้อย่างไรให้เกิดคุ้มค่าสร้างรายได้อย่างยั่งยืนจึงได้ดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงแพสูบน้ำคลองส่งน้ำให้สามารถใช้งานได้ และแพนั่นคือจุดเริ่มของการส่งน้ำในปัจจุบัน” นายสุวรรณ เล่า 

 

อบต.อีเซเผยสูตรบริหารน้ำอย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชาภูมิพล

 

          เมื่อแพส่งน้ำแห่งแรกแล้วเสร็จ พื้นที่ตำบลอีซีได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอีก 16 หน่วยงาน ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ปัจจัยกับการเพิ่มผลผลิต กรมชลประทานหนุนเสริมการรวมกลุ่ม จึงได้จัดตั้งกลุ่มและมีคณะกรรมการขึ้นบริหารจัดการน้ำเพื่อให้พี่น้องประชาชนเกษตรกรได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง

          หลังจากการพัฒนาคลองส่งน้ำสำเร็จ ทางตำบลหันมาพัฒนาต่อยอดการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนในพื้นที่ที่เป็นผู้กำหนดกติกาการใช้น้ำ และรักษาน้ำอบรมให้ประชาชนมีองค์ความรู้ใช้น้ำอย่างรอบคอบ  พอประมาณ และพอเพียงกับการบริโภคและอุปโภคในการประกอบอาชีพและใช้ในครัวเรือน สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น  การอนุรักษ์รักษาป่าต้นน้ำการปลูกเสริม  การไม่ใช้สารเคมีเพื่อลดมลภาวะทางน้ำ และเพิ่มความปลอดภัยของสัตว์น้ำอันเป็นอาหารของท้องถิ่น   การสร้างวังมัจฉาเพื่อให้มีแหล่งขยายพันธุ์ปลาด้วยธรรมชาติการประกาศเขตอภัยทานพื้นที่ความยาวตามลำน้ำประมาณ 900 เมตรของชุมชนตำบลอีซีในเขตลำน้ำห้วยทับทัน กลุ่มเป้าหมายก็คือ ประชากรในตำบลอีซี เกษตรกรในตำบลพิเศษและสามารถใช้น้ำได้อย่างทั่วถึงในและนอก

 

อบต.อีเซเผยสูตรบริหารน้ำอย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชาภูมิพล

 

          จากนั้นได้ขยายการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่สี่ตำบลในอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณอีกด้วยซึ่งการพัฒนาน้ำดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนในตำบลมีน้ำใช้เพื่อการปลูกผู้บริโภคและเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ ส่งผลให้สังคมได้พัฒนาทั้งด้านสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านสุขภาพ 2. ด้าน สิ่งแวดล้อม  3.ด้านเศรษฐกิจ   4.การเมืองการปกครอง  และ 5. ด้านสังคม

          กล่าวได้ว่า อีเซ คือตัวอย่างสำคัญในการนำประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของ SDGs ที่สอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญหลายข้อ นั่นคือ ดำเนินการอย่างเร่งรัดเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ สร้างสุขภาวะในการดำรงชีวิตและส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ฯลฯ 
 

 

อบต.อีเซเผยสูตรบริหารน้ำอย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชาภูมิพล

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ