ข่าว

โฆษกอัยการ เผย เเจ้งข้อหา 112 ‘ทักษิณ’ เเล้ว เจ้าตัวปฏิเสธ ยื่นขอความเป็นธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โฆษกอัยการ เผย อธ.อัยการสอบสวน เเจ้งข้อหา 112-พรบ.คอมพิวเตอร์ "ทักษิณ" เเล้ว เเจ้งราชทัณฑ์อายัดตัว เจ้าตัวยื่นขอความเป็นธรรมด้วยตนเอง ชี้หากได้พักโทษยื่นประกันในชั้นตำรวจ-อัยการได้

6 ก.พ.2567  ที่สำนักงานอัยการสูงสุดายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ,นายณรงค์ ศรีระสันต์ อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด,นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันเเถลงความคืบหน้าคดีที่ อดีตอัยการสูงสุดเคยมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ

อัยการ แจง แจ้งข้อหา 112 กับนายทักษิณ แล้ว เจ้าตัวปฏิเสธ

 


นายประยุทธ กล่าวว่า คดีนี้ เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2559 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร จาก พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม พนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)  กล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหา ข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2558 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และประเทศไทย เกี่ยวพันกันอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

 

โดยคณะทำงานพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ซึ่ง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุดในขณะนั้น ได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2559 ตรวจพิจารณาสำนวนแล้ว ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ ตามข้อกล่าวหา 

 

แต่เนื่องจากขณะนั้นผู้ต้องหาหลบหนี อัยการสูงสุดจึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกหมายจับและพนักงานสอบสวนได้มีคำขอต่อศาลอาญาและออกหมายจับเรียบร้อยแล้ว  ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 นายทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและถูกควบคุมเพื่อรับโทษในคดีอาญาเรื่องอื่น พนักงานสอบสวนได้นำหมายจับไปแจ้งอายัดผู้ต้องหาไว้กับกรมราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว

 

ต่อมาวันที่ 17 ม.ค. 2567 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะ ร่วมกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมกับพฤติการณ์และข้อเท็จจริงทางคดีให้กับนายทักษิณ ชินวัตร ทราบแล้ว ปรากฏว่า ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ พร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด 

 

ต่อมาอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนและหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ประกอบสำนวนเพื่อส่งให้กับอัยการสูงสุดพิจารณา ขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาและทำความเห็นเบื้องต้นเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณามีความเห็นและคำสั่งทางคดีต่อไป


โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัดตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไว้กับทางกรมราชทัณฑ์ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว 

 

ทั้งนี้ นายนาเคนทร์ ชี้แจงว่า ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ยังไม่มีคำสั่งชัดเจนในการอายัดตัวนายทักษิณ จึงต้องรอคำสั่งความชัดเจน จากกรมราชทัณฑ์ หากนายทักษิณ ได้รับการพักโทษในวันที่ 22 ก.พ. นี้ ตามขั้นตอนกรมราชทัณฑ์จะต้องแจ้งพนักงานสอบสวน ล่วงหน้า 7 วันก่อนปล่อยตัว เพื่อให้ไปรับตัวนายทักษิณ มาดำเนินคดีในคดี ม.112

 

เมื่อพนักงานสอบสวนไปรับตัวแล้วจะพิจารณาเรื่องให้ประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวน หรือจะไปดำเนินการขั้นตอนการฝากขังผัดแรกของในคดี ม.112 และเมื่อพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วหรือรับตัวมาแล้วก็จะมีหนังสือมาแจ้งอย่างอัยการสูงสุดว่ามีการรับตัวนายทักษิณมาแล้วและอยู่ในขั้นตอนไหนของพนักงานสอบสวน และเมื่ออัยการได้รับขั้นตอนจากพนักงานสอบสวนมาแล้ว หน้าที่ของอัยการจากนั้นจะต้องมาพิจารณาเอกสารการร้องขอความเป็นธรรมและพิจารณาสำนวนคดี

 

ส่วนที่ความกังวลว่า การที่นายทักษิร ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรม จะทำให้คดียืดเยื้อเหมือนกรณีของนายบอส อยู่วิทยา ที่มีการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งหรือไม่นั้น โฆษกอัยการ ยืนยันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นแน่นอน เนื่องจากสำนักอัยการสูงสุดได้ถอดบทเรียนจากกรณีของบอส อยู่วิทยา พร้อมปรับแก้ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดในกรณีการร้องขอความเป็นธรรมแล้ว 

 

ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเป็นผู้มายื่นคำร้องด้วยตัวเองไม่สามารถให้ทนายความหรือบุคคลบุคคลอื่นที่รับมอบอำนาจมายื่นให้โดยเด็ดขาด และหากเห็นว่าเป็นการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเพื่อประวิงเวลา อัยการสูงสุดก็มีอำนาจในการยุติการร้องขอความเป็นธรรมได้เช่นกัน 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ