ข่าว

'โหวตนายกฯ' ครั้งที่ 2 'พิธา' ไปไม่ถึงดวงดาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'พิธา' ลุ้นมีชื่อเข้าชิง 'โหวตนายกฯ' ครั้งที่ 2 หรือไม่ พบด่านสกัดมากมาย ทั้งในและนอกสภา โอกาสไปไม่ถึงดวงดาวมีสูง

หนังสือนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 สมัยสามัญประจำปี 2566 วันที่ 19 ก.ค2566 ยังคงมีวาระการประชุมวาระเดียว คือการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือโหวตนายกฯ หลังจากการประชุมนัดที่ผ่านมา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับเสียงสนับสนุน ไม่เพียงพอ สำหรับการดำรงตำแหน่งนายกฯคนที่ 30

ฉากทัศน์การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันพุธนี้ อาจไปไกลถึงขั้นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา เนื่องจากมีความเห็นที่แตกต่างระหว่างการทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด กับการทำหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุม โดยการโหวตนายกฯ ครั้งนี้ เป็นครั้งที่สอง ซึ่งมีความแตกต่างจากการโหวตนายกฯเมื่อปี 2562 เพราะพิธาไม่ผ่านความเห็นชอบในรอบแรก เป็นปัญหาที่ว่า การเสนอชื่อพิธา เป็นผู้เข้ารับการพิจารณา ในรอบที่สองสามารถกระทำได้หรือไม่

 

ฝ่ายวุฒิสภาเห็นว่าไม่สามารถทำได้ โดยอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภาว่าการพิจารณาในที่ประชุม ต้องเสนอเป็นญัตติ และหากญัตติใดตกไปจะเสนอญัตติที่มีหลักการเดียวกันในสมัยประชุมนั้นอีกอีกไม่ได้ ขณะที่ฝ่ายพรรคร่วม MOU  เห็นว่า โหวตนายกฯ เป็นการทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ทั่วไปของรัฐสภา แต่ก็ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ของวุฒิสภา ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน และไม่สามารถเสนอชื่อผู้ที่ไม่ผ่านความเห็นชอบกลับเข้ามาให้วุฒิสภาเลือกได้อีก

 

ข้อบังคับการประชุมรรัฐสภา 2563

 

แต่ข้อบังคับการประชุมข้อเดียวกันนี้ ให้อำนาจประธานรัฐสภาพิจารณาอนุญาตได้ ในเมื่อเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งหากพิจารณา อำนาจประธานรัฐสภาข้อนี้ จะเห็นได้เหตุการณ์ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในวาระการพิจารณาวาระนี้ คือผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องไม่ใช่ พิธา  หลังจากได้ข้อสรุปว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว

แต่หากเห็นว่าการโหวตนายกฯไม่ใช่ญัตติ การเสนอชื่อ พิธา กลับเข้ามาเป็นตัวเลือกอีกครั้งต้องโหวตด้วยเสียงข้างมากในที่ประชุม หรือหากเห็นว่าเป็นปัญหาการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา  อาจถึงขั้นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นอกจากนี้ พิธา ยังต้องลุ้นอีกว่า ในวันเดียวกับการโหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติรับคดีหุ้นสื่อไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ด้วยหรือไม่

 

หนังสือสำนักเลขาธิการนายกฯ เรื่องแนวทางปฏิบัติในการเสนอเรื่องที่ต้องนำความกราบบังคมทูลฯ

 

เพราะหากมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ นั่นหมายความว่า ประตูสู่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของพิธา จะปิดลงทันที เพราะคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหมือนกับ สส.ในรับธรรมนูญมาตรา 98 (3) คือห้ามถือหุ้นสื่อ และยังถูกสำทับด้วย คำสั่งสำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี  7 ธันวาคม 2564 ที่มีเนื้อหาสำคัญว่า การเสนอขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในเรื่องต่างๆ ต้องไม่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาล

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ