ข่าว

ส่อง 'มาตรา 272' คืออะไร ทำไม พรรคการเมือง หนุนแก้ หวัง ปิดสวิตซ์ สว.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่อง 'มาตรา 272' เงื่อนไข คืออะไร? ทำไม พรรคการเมือง หนุนแก้ ร่างรัฐธรรมนูญ หวัง ปิดสวิตซ์ สว. ปิดทางดัน 'นายกฯคนนอก'

หลัง “ผลโหวตนายกฯ” ทำให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ไม่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ด้วยเพราะจำนวนสมาชิกรัฐสภา ที่ให้ความเห็นชอบมีเพียง 324 เสียง ไม่ถึง 376 เสียง ตามที่กำหนดไว้ เนื่องจาก “มาตรา 272” ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า บุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้ง สส. และ สว.

 

 

 

 

ผลโหวต ที่ล้มไม่เป็นท่า มาตรา 272 ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ พิธา ไม่ได้ไปต่อ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการ คณะก้าวหน้า เสนอให้พรรคก้าวไกล เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิก มาตรา 272 ทันที เพื่อปิดสวิตซ์ สว. คำถามจึงเกิด เงื่อนไขมาตรา 272 คืออะไร

 

มาตรา 272 คืออะไร

 

 

 

ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ มีมาตรา 272 อยู่ในหมวดบทเฉพาะกาล ที่กำหนดว่า

 

 

"มาตรา 272 ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้น เพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรดําเนินการตามมาตรา 159 ต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้"

 

 

 

หลักการตามมาตรา 272 เปิดโอกาสให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี นอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ก่อนการเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้มี “นายกฯ คนนอก” ที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งได้โดยตรง โดยก่อนที่จะมี “นายกฯ คนนอก” ได้นั้น จะต้องมีสามขั้นตอนประกอบกัน คือ

 

  1. สส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา
  2. รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย สส. และ สว.ทั้งหมด ลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คน จาก 750 คน ให้มีนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้
  3. สส. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 50 คน เสนอชื่อบุคคลใดก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 คน

 

 

 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 "มาตรา 272" เปิดช่องทางไว้ให้มี "นายกฯคนนอก" โดยกำหนดกติกาว่า กรณีที่ไม่อาจตั้งนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อสามคนที่พรรคการเมืองเสนอไว้ได้ สมาชิกของสภา ทั้ง สส. และ สว. อาจรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 376 คน จาก 750 คน เพื่อเสนอเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ได้ และหากรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วย สส. และ สว. ลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 500 คน จาก 750 คน ก็จะสามารถเชิญใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้

 

 

 

ซึ่งเรื่องนี้ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้น ก็มีบทบัญญัติแก้ปัญหา หรือคลายล็อก โดยกำหนดไว้ว่า เมื่อครบกำหนด 30 วัน ยังไม่สามารถเลือกนายกฯ ที่ได้เสียงข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรได้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็อาจจะเสนอชื่อผู้ที่ได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุด ที่อาจจะไม่เกินกึ่งหนึ่งก็ได้ ภายใน 15 วัน หลังจากครบกำหนด 30 วันข้างต้นไปแล้ว

 

 

แต่บทบัญญัติเช่นนั้น ไม่ได้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว ดังนั้น การเลือกนายกรัฐมนตรี ก็จะต้องดำเนินต่อไป จนกว่าจะหาคนที่ได้รับเสียงสนับสนุนเกินกว่า 376 เสียงได้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม

 

 

 

บทสรุป มาตรา 272 ได้บัญญัติให้อำนาจ สว.ในช่วง 5 ปีแรก มีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ สส. ทั้งนี้หากมีการแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 272 จะทำให้กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี เหลือพียงขั้นตอนตามมาตรา 159 ซึ่งจะทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีเหลือเพียงเสียงข้างมากจาก สส.เท่านั้น

 

 

ทั้งนี้สำหรับมาตรา 159 บัญญัติว่า ให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็น สส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

 

 

การเสนอชื่อต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

 

 

ความหวังที่ “พิธา” จะได้นั่ง “นายกฯคนที่ 30” ดูเหมือนจะเลือนลาง นั่นจึงทำให้ พรรคก้าวไกล เตรียมเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อยกเลิกมาตรา 272 โดยทันที

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ