ข่าว

คณะก้าวหน้า จับมือภาคประชาชน ค้าน "กสทช." อนุมัติ ควบรวมกิจการ ทรู - ดีแทค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" นำคณะก้าวหน้า ผสาน เครือข่ายภาคประชาชน ค้าน กสทช. พิจารณาอนุมัติควบรวมกิจการ ทรู - ดีแทด

ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมกับภาคประชาชนหลายเครือข่าย บุก กสทช. จับตา
มติควบรวมทรู-ดีแทค แสดงจุดยืนค้านการควบรวม พร้อมชี้ทางออกจากปัญหา
แนะรัฐเดินสายเจรจาหายักษ์ใหญ่โทรคมนาคมโลกเข้าเสียบเทนเทเลนอร์
ดีกว่าปล่อยควบรวมให้เหลือสองราย ยกผลวิจัยชี้ ถ้าควบรวมจริงราคาแพงขึ้น
กระทบผู้บริโภคแน่นอน

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เดินทางมายังสำนักงาน กสทช. พร้อมด้วย ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคและ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เพื่อร่วมสังเกตการณ์การลงมติอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ที่จะให้มีการควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทค หลังจากมีการเลื่อนลงมติมาหลายครั้ง

 

คณะก้าวหน้าและเครือข่ายประชาชน

ธนาธรให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนการเข้าร่วมสังเกตการณ์ว่า วันนี้ มาเพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ ทรู - ดีแทค เคียงข้างภาคประชาสังคมที่มาร่วมจับตาผลการลงมติที่จะเกิดขึ้นในวันนี้  ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นจากทั้งองค์กรภายนอกและที่ กสทช. จ้างศึกษาเอง รวมถึงกรณีที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศหลายกรณี ชี้ให้เห็นว่าการควบรวมที่จะทำให้เหลือผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมเพียง 2 รายจาก 3 ราย อาจทำให้ค่าบริการแพงขึ้น ไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภคและการพัฒนาภาคโทรคมนาคมในประเทศไทย นอกจากนี้ จากการที่ประชาชนที่รับส่งข้อมูลผ่านคลื่นความถี่โทรคมนาคมมีแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนที่สุด คือการเข้าถึงข้อมูลที่ลดลงจากค่าบริการที่แพงขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่น้อยลงของผู้มีรายได้น้อยด้วย

 

ธนาธรยังระบุด้วยว่าการควบรวมที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ แม้ส่วนหนึ่งมาจากการที่ บริษัท เทเลนอร์ มีมติให้บริษัทถอนตัวออกจากตลาดในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีเพียงการควบรวมกิจการเป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น หากรัฐบาลเห็นว่าธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจยุทธศาสตร์ รัฐบาลสามารถออกไปเจรจาต่อรองเพื่อหาผู้ซื้อรายใหม่มาแทนเทเลนอร์หรือผลักดันให้เกิดการเจรจาซื้อหุ้นเทเลนอร์ได้ ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด และเป็นเรื่องที่หลายรัฐบาลทั่วโลกต่างก็ทำในการแทรกแซงไม่ให้ภาคธุรกิจที่เป็นยุทธศาสตร์ของชาตินั้นๆ ต้องล่มสลาย

 

มติ กสทช. วันนี้จึงมีความสำคัญสำหรับอนาคตของประเทศ ไม่ใช่แค่ในแง่รายจ่ายของผู้บริโภคเท่านั้น แต่รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างโทรคมนาคมและข้อมูลส่วนบุคคลของคนทั้งประเทศด้วย หากอนุมัติให้มีการควบรวมก็ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการฮั้วราคา บังคับให้มี MVNO (Mobile Virtual Network Operators - ผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเอง) หรือการคายคลื่นความถี่บางส่วนออกมาให้เกิดการประมูลใหม่ แต่เพื่อป้องกันความเสียหายและการปกป้องผู้บริโภค การไม่อนุมัติให้เกิดการควบรวมกิจการจะเป็นการดีที่สุด

 

ติดตามคมชัดลึกได้ที่

 

Line:https://lin.ee/qw9UHd2-

 

YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ