ข่าว

ทุบกระปุกพรรคการเมืองเปิดกลุ่มทุน : ใครหนุนใคร ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใกล้วันเลือกตั้งปี่กลองเริ่มบรรเลง พรรคการเมืองต่างๆ ปรับบทบาทจากการทำงานทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายค้านมาเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง รวมทั้งเริ่มเช็กสรรพกำลังทั้งบนดินและใต้ดิน

 ไม่แปลกที่ยิ่งเข้าใกล้วันเลือกตั้ง “เงิน” จะไหลเข้าสู่พรรคการเมืองในหลายทาง รวมไปถึงการระดมทุนที่ขณะนี้จัดไปแล้วอย่างน้อยก็สองพรรค

ภาษี-เงินหนุน : โยงพรรค-ประชาชน

 สำหรับเงินสนับสนุนพรรคการเมืองตามกฎหมายมี 2 รูปแบบ คือ "เงินบริจาคจากภาษีของประชาชน" และ "เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง" เรียกว่า "มีสองขา" คือจากฐานประชาชน และฐานจากภาครัฐ

 ในส่วนของเงินบริจาคจากภาษีนั้นมีขึ้นตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญพรรคการเมือง พ.ศ.2551 กำหนดว่าประชาชนบริจาคสนับสนุนพรรคการเมืองได้ โดยหักจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารายละ 100 บาท ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันและยึดโยงกับประชาชน

 ย้อนดูข้อมูลการบริจาคพบว่าคนยังไม่ตื่นตัวมากนัก แม้ฐานผู้เสียภาษีจะมีเกือบ 10 ล้านคน แต่ปีแรกคือปี 2551 มีผู้แสดงความจำนงบริจาคเพียง 69,774 คน โดยบริจาคให้พรรคประชาธิปัตย์ 59,768 คน หรือ 5,976,800 บาท พรรคเพื่อไทย 7,941 คน หรือ 794,100 บาท ส่วนพรรคอื่นยอดผู้บริจาคไม่เกิน 300 คน ถัดมาปี 2552 แม้ยอดผู้บริจาคจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว แต่ยอดบริจาคยังกระจุกที่พรรคประชาธิปัตย์ 81,330 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทย แม้จะมี ส.ส. นสภาเป็นอันดับหนึ่ง แต่มีผู้บริจาคเพียง 23,057 คน แถมยังแพ้พรรคตั้งใหม่อย่าง “การเมืองใหม่” ที่มีผู้บริจาค 39,835 คน

 นัยทางการเมืองอีกประการคือ ผู้ที่จะบริจาคเป็นแฟนพันธุ์แท้ของพรรค เปลี่ยนใจยาก และยึดพรรคมากกว่าตัวบุคคล ในอนาคตเมื่อมีผู้บริจาคมากขึ้น ย่อมประเมินฐานเสียงเบื้องต้นได้ และอาจมองถึงคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ด้วย

 ส่วนเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่สะท้อนการทำกิจกรรมของพรรคที่ไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะลงเลือกตั้งเท่านั้น และยังมองเห็นฐานเสียงเบื้องต้นเช่นกัน เกณฑ์การจัดสรรเงินนั้นพิจารณาจาก 4 ข้อ คือ จำนวน ส.ส. จำนวนคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ จำนวนสมาชิกพรรค และจำนวนสาขาพรรค ปีล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการจัดสรรมากที่สุด 60 ล้านบาท ส่วนพรรคเพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา และภูมิใจไทย ได้รับเงินจัดสรรเพียงพรรคละ 8 แสนบาท เพราะถือเป็นพรรคตั้งใหม่

 อย่างไรก็ตามหากมองย้อนกลับไปจะเห็นว่า พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย หรือไทยรักไทย และพลังประชาชนในชื่อเดิมนั้น ได้รับการจัดสรรแล้วรวม 736,029,881.77 บาท ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับ  672,045,537.56 บาท นอกจากนี้ใกล้วันเลือกตั้งจะมีการของบอบรมสัมมนาเพิ่มขึ้น หรือเรียกกันวงในว่าโครงการพาหัวคะแนนเที่ยวแบบถูกกฎหมาย
ภูมิใจไทยอู้ฟู่-กลุ่มทุนหนุนไม่อั้น

 เมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งใหม่แล้ว ย่อมมองข้ามไม่ได้พรรคตัวแปรอันดับ 3 ซึ่งซุ่มปูทางสู่ขั้วอำนาจอย่าง "พรรคภูมิใจไทย" มีแกนนำหลักคือ "เนวิน ชิดชอบ" แม้ยอดล่าสุดมี ส.ส.ในมือเพียง 59 คน แต่ว่าที่ผู้สมัครเริ่มทยอยมาซบอีกเกือบร้อย

 ข้อมูลของ กกต. เมื่อปี 2553 พรรคการเมืองที่มียอดบริจาคมากสุด ถึงเกือบ 10 ล้านบาท ไม่นับยอดบริจาคปี 2552 สูงถึง 35 ล้านบาท โดยนายทุนใหญ่เพียบ นายทุนใหญ่ปรากฏชื่อ สิทธิชัย สุรัชตชัยพงศ์, วัฒนา เอี่ยมอร่ามศรี, วสันต์ กระจ่างเมธีกุล รวมทั้งจากบริษัท เชียงใหม่ คอนสตรัคชั่น ของพ่อตาเนวินอย่าง คะแนน บุญสุภา อีกทั้ง สนองนุช ชาญวีรกูล ภรรยา อนุทิน ชาญวีรกูล แกนนำพรรคภูมิใจไทย

 ครั้งนี้ก็เช่นกัน นายทุนหลักอันดับต้นๆ หนีไม่พ้นบริษัทพ่อตาเนวิน เจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง 1 ใน 10 ของประเทศ ทุนอันดับ 2 หนีไม่พ้นเจ้าสัวรับเหมาก่อสร้างแห่งสำนักชิโน-ไทย คอนสตรัคชั่น ของ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีทายาทอย่าง อนุทิน ชาญวีรกูล หรือ "เสี่ยหนู" คอยสั่งการรองจากเนวิน อีกทุนใหญ่คือ วิชัย ศรีรักอักษร เจ้าของคิงเพาเวอร์ นอกจากนี้ยังโยงกลุ่มธุรกิจบันเทิง โดยเฉพาะค่ายแกรมมี่ของ "อากู๋"

 ที่สำคัญเที่ยวนี้ยังได้นายทุนกระเป๋าหนักอย่าง "เฮียโป๋" ธีรพล นพรัมภา ซี้บึ้กกับ "เนวิน" เป็น 1 ใน 4 แก๊งออฟโฟร์ กระสุนที่ต้องได้แน่ๆ โสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม มีหลายอย่างที่เป็นหน้าเสื่อให้ในสังกัดเช่น รถไฟฟ้า และการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือบริษัทอีสท์ วอเตอร์ เจ้าของน้ำดื่มแห่งภาคตะวันออก ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ล้วนเป็น ‘คนมีสี’ ไม่นับบริษัทยักษ์ใหญ่อีก 2-3 แห่ง ที่ถึงคราวต้องวัดใจภายหลังจากการได้รับอานิสงส์เมกะโปรเจกท์กันถ้วนหน้า

 ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมกลุ่มทุนเพื่อนรักที่ล้วนเป็น ‘นักการเมืองรุ่นร่วมสร้าง’ ที่ไม่ยอมเปิดตัวชัดเจนอย่าง สมศักดิ์ เทพสุทิน, สนธยา คุณปลื้ม, สรอรรถ กลิ่นประทุม และ สุชาติ ตันเจริญ ล้วนสัมพันธ์แนบแน่นกับเนวิน

 นั่นหมายความว่า ในสมรภูมิเลือกตั้งที่จะมาถึงในเวลาอันใกล้นี้ สรรพกำลังและกระสุนของภูมิใจไทยพร้อมเต็มอัตราศึก
ธุรกิจใหญ่-ตระกูลดังดันปชป.

 2 ปีที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล มีหลาย “กลุ่มทุน” ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเว็บไซต์ของ กกต. เปิดเผยว่า มีผู้บริจาคเข้าพรรคประจำเดือนธันวาคม 2553 จำนวน 197 คน รวมทั้งสิ้น 1,379,500 บาท เมื่อไล่เรียงชื่อส่วนใหญ่ยังคงเป็น “ขาประจำ” ตั้งแต่ ส.ส. รัฐมนตรี แกนนำ หรือสมาชิกพรรคซึ่งจะบริจาคทุกเดือน

 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำหนังสือถึงนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อแจ้งเรื่อง “ขอนำส่งประกาศบัญชีรายชื่อผู้บริจาค” โดยจากรายชื่อส่วนใหญ่พบว่าเป็นบุคคล “ตระกูลดัง” และ “นิติบุคคล” ที่ส่วนใหญ่มีกิจการอยู่ในกรุงเทพฯ

 เมื่อเปิดตระกูล “จ่ายหนัก” ที่บริจาค “เงินถุงเงินถัง” คือตระกูลโสภณพนิช, ไชยสงคราม, ธนาดิเรก, จิรกิติ รวมกว่า 33 ล้านบาท

 ส่วนนิติบุคคล เช่น เบญจจินดา โฮลดิ้ง, ยิบอินซอย, อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสิร์ช คอร์ปอเรชั่น, เสริมสงวน, กรุงธนเอนยิเนียร์, สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์), สงขลาฟินิชชิ่ง, แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส, น้ำตาลมิตรผล ไม่นับบริษัทประยูรวิศว์ ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เครือสหพัฒน์ รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือพฤกษา เรียลเอสเตท ที่ประกาศให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการ รวมยอดบริจาคจากกลุ่มนิติบุคคลประมาณ 50 ล้านบาท

 ขณะที่ทุนขาประจำคือ กลุ่มซีพี กลุ่มทรู กลุ่มศรีสุบรรณฟาร์มของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค กลุ่มเมโทรแมชีนเนอรี่ สนับสนุนผ่านลูกสาว ทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าฯ กทม. ภรรยาของ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.กทม. ในฐานะผู้อำนวยการพรรค และกลุ่มสิงห์ของตระกูลภิรมย์ภักดี ส่งทายาท จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี หรือ “ตั๊น” มาชิมลางงานการเมือง

 ด้านตระกูลล่ำซำ “โพธิพงษ์ ล่ำซำ” นั่งเก้าอี้กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เคยส่งบุตรสาว “แป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ เป็นผู้ช่วย รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 ไม่นับเครือดุสิตธานี ซึ่งเชื่อกันว่าอาจเป็นขุมกำลังสำคัญของพรรค โดยอาศัยคอนเน็กชั่นผ่านทาง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ในฐานะเขยดุสิตฯ ขณะที่ตระกูลศรีวิกรม์ ล่าสุดบริจาคเงินให้ประชาธิปัตย์ไม่น้อย พร้อมกับกระแสข่าวเตรียมส่งทายาทลงสนามเลือกตั้งรอบนี้

นายใหญ่ พท.เทหน้าตักสู้

 ฟากฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่ ประกาศต่อหน้า ส.ส.พรรคทุกคนว่า "พร้อมทุ่มเงินให้เต็มที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเป็นรัฐบาลพรรคเดียวให้ได้"

 ดังนั้นทุกสายตาจึงโฟกัสไปอยู่ที่กลุ่มทุนของพรรคเพื่อไทยว่า ใครบ้างจะยอมควักกระเป๋าช่วย “ทักษิณ” หากดูจากยอดเงินบริจาคพรรคการเมืองปี 2553 กกต.ระบุยอดถึง 15,016,585.32 ล้านบาท รายชื่อผู้สนันสนุนที่น่าจับตา คือ พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ องอาจ เอื้ออภิญญกุล พี่ชาย วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เจ้าของธุรกิจกลุ่มบ้านปู และบริษัทเฉลิมโลก ของ วิรุฬ เตชะไพบูลย์ อดีต รมช.พาณิชย์ สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช

 พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย สมาชิกบ้านเลขที่ 111 สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีตเหรัญญิกพรรคพลังประชาชน ก็ยังควักเงินช่วยจ่ายทุกเดือน ยังไม่นับเจ้าโบนันซ่า เสี่ยไพวงษ์ เตชะณรงค์ คอยเอื้อเฟื้อสถานที่จัดกิจกรรมของกลุ่มเสื้อแดงเสมอ

 ที่น่าจับตาคือกลุ่มทุนที่ยังไม่กล้าแสดงตัว เพราะประเมินว่าสถานการณ์การเมืองขณะนี้ยังไม่นิ่ง หากเลือกยืนข้างพรรคเพื่อไทยอาจจะกระทบต่อธุรกิจของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ สิ่งทอ หรือธุรกิจยานยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ถึงขนาดยื่นคำขาดว่าถ้าข่าวรั่วออกสู่สาธารณะเมื่อใด จะหยุดให้ทุนพรรคเพื่อไทยทันที

 ขณะที่คนเพื่อนเยอะอย่าง จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน รู้กันดีว่าสนิทสนมกับแกนนำพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน ซึ่งเพื่อนของเขาพร้อมทุ่มเงินช่วยพรรคเพื่อไทยทุกเมื่อ ขอแค่จารุพงศ์ให้ความมั่นใจ

 ส่วนกลุ่มธุรกิจโรงแรมสำคัญอย่างเครือไฮแอท และสยามอินเตอร์คอนฯ สายสัมพันธ์ยังเหนียวแน่นกับพรรคเพื่อไทยไม่เปลี่ยน

ชทพ.ควักทุน "กงสี"

 ขณะที่พรรคการเมืองระดับบิ๊กอย่างประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย มีบรรดานายทุน เจ้าสัว ทั้งแบบออกหน้า-ลับหลังแห่บริจาคเงินกองทุนให้กันแบบล้นหลาม พรรคกะทัดรัดอย่าง "ชาติไทยพัฒนา" ที่ใช้เงินหมุนเวียนแบบ "กงสี" ใต้เงาของ บรรหาร ศิลปอาชา แถมมีเพื่อนซี้อย่าง “สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง" รวมทั้ง ธรรมา ปิ่นสุกาญจนะ อดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรม อดีตประธานบริษัทโซนี่ และเจ้าของธุรกิจไอศกรีมบัดส์ เป็นนายทุนที่ร่วมหัวจมท้ายมาทุกสมัย

 การเลือกตั้งที่ผ่านมา ยุคชาติไทยจะกลายพันธุ์เป็นชาติไทยพัฒนา กลยุทธ์เงินทองไม่รั่วไหลของ “มังกรเติ้ง” คือ "ได้เก้าอี้ ส.ส.มาเท่าไหร่ กระสุนพร้อมจ่ายล้นหลามเท่านั้น”

 เรียกได้ว่า แต่ละกลุ่ม แต่ละก้อนจ่ายไปก่อน แล้วเบ็ดเสร็จค่อยมาคำนวณต้นทุน +ผล + กำไรทีหลัง เลือกตั้งรอบนี้ ยังมีเสียงยืนยันจากบ้านย่านจรัญฯ 53 ว่า "ยังเน้นสูตรเดิม"

บายไลน์ - ทีมข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่น

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ