ข่าว

'อีพาสปอร์ต'อีกครั้งจาก'บัวแก้ว'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นับตั้งแต่ปี 2547 มาจนถึงวันนี้ ปี 2554 "อีพาสปอร์ต" ก็ถูกกล่าวถึงกันอีกครั้ง เพราะโครงการนี้ได้ครบกำหนดที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จะต้องเปิดให้ประมูลโครงการกันอีกครั้ง

 ที่ผ่านมา การจัดทำพาสปอร์ตใหม่นี้ ถูกโฆษณาให้เชื่อว่า สะดวก ปลอดภัย ทันสมัย และทำให้ประเทศชาติได้หน้าได้ตา

 แต่ที่ผ่านมา อีพาสปอร์ตกลับถูกตั้งคำถามถึงความสะดวก เพราะใช้ระบบสแกนผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ปลอดภัย และทำให้ไทยได้หน้าได้ตาจริงหรือไม่ เมื่อเทียบกับราคาเล่มละ 1,000 บาท จำนวน 7 ล้านเล่มตลอดเวลาสัมปทานรวมมูลค่า 6,681.08 ล้านบาท

 คงไม่ต้องพูดถึงว่า ในการประมูลครั้งนั้นมีบริษัที่เสนอราคาถูกกว่าบริษัทที่ชนะการประมูลถึง 2,558 ล้านบาท เพราะในวันนี้ถือว่า ได้ผ่านไปแล้ว

 แต่ที่ต้องพูดถึงก็คือ เมื่อนำมาใช้งานจริงก็มีคำถามว่า พาสปอร์ตที่ได้มานั้น ถูกต้องตามมาตรฐานตามที่กำหนดในสัญญาหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็น เปิด-ปิด พับได้ที่กระทรวงการต่างประเทศกำหนดไว้ที่ 7 หมื่นครั้ง

 เรื่องนี้หลายหน่วยงาน รวมทั้ง สตง.เองก็พยายามเข้ามาตรวจสอบ แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบไป คงเหลือเพียงเครื่องสแกนอีพาสปอร์ตที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ยังอยู่โดยที่ไม่เคยผ่านการใช้งานจริง และคำเตือนจากผู้ที่เคยใช้งานว่า ควรตรวจสอบก่อนการเดินทางไปต่างประเทศ

 นั่นคือเรื่องราวที่ผ่านมา

 แต่เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้ก็คือ เป็นช่วงที่น่าจะต้องเปิดซองประมูลอีพาสปอร์ตกันแล้ว แต่จนแล้วจนรอดมาถึงวันนี้ก็ยังคงไม่มีการเปิดประมูลใหม่ทั้งที่อีพาสปอร์ตระยะที่ 2 จะต้องเริ่มเดินเครื่องส่ง-รับไม้ต่อกันกลางปีนี้

 ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

 ย้อนกลับไปดูข้อมูล "ความกระตือรือร้น" ของกระทรวงการต่างประเทศในเรื่องนี้ก็พบว่า 24 สิงหาคม 2553 ได้เริ่มเผยแพร่ข่าวว่าเตรียมพร้อมสำหรับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการ จากนั้นมีการเชิญบริษัทต่างๆ มานำเสนอข้อมูลและประสบการณ์ กระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2553 จึงได้เริ่มกระบวนการประมูล

 1-3 พฤศจิกายน 2553 มีการเผยแพร่ทีโออาร์ฉบับแรกผ่านทางเว็บไซต์ จากนั้นก็มีคณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอของบริษัท

 10-12 พฤศจิกายน เผยแพร่ร่างทีโออาร์ฉบับที่สอง เพื่อให้บริษัทต่างๆ ให้ข้อเสนอแนะ กระทั่งวันที่ 15-30 พฤศจิกายน 2553 จึงมีประกาศเชิญชวนและจำหน่ายเอกสารข้อกำหนด และมีเอกชน 11 บริษัทสนใจซื้อไป โดยที่มีกำหนดให้ยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 22 ธันวาคม 2553

 กระบวนการน่าจะเรียบร้อย แต่ก่อนวันยื่นซองประกวดราคาเพียง 2 วัน คือ วันที่ 20 ธันวาคม กระทรวงได้โทรศัพท์และโทรสารแจ้งบริษัทว่ายกเลิกการประกวดราคา

 จากนั้นมีการเผยแพร่ร่างทีโออาร์ใหม่ในวันที่ 18-21 มกราคม 2554 เพื่อให้บริษัทให้ข้อเสนอแนะอีกครั้ง

 การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ทำให้เอกชนหลายบริษัทถึงกับบ่นพึมว่าเกิดอะไรขึ้น หรือจะมีความไม่ชอบมาพากล ล็อกสเปกกันหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็ดูเหมือนว่าทุกอย่างที่เสนอแนะ แล้วมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็เห็นด้วยกันทุกฝ่าย

 อย่างไรก็ตาม วันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2554 มีการเผยแพร่ร่างทีโออาร์ฉบับที่สอง เพื่อให้บริษัทต่างๆ ให้ข้อเสนอแนะอีกครั้ง

 ร่างทีโออาร์ฉบับนี้ก็ยิ่งชวนให้เชื่อว่า การประมูลอีพาสปอร์ตครั้งนี้ อาจจะทำให้กระทรวงต่างประเทศ และประชาชนที่จะมาใช้บริการได้งานตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่

 เพราะรายละเอียดการดำเนินการนั้นมีการกำหนดไว้ว่า ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน (จากครั้งแรกกำหนด 120 วัน แต่กว่าจะดำเนินการได้จริงปาเข้าไปกว่า 200 วัน)

 นอกจากนี้ยังมีเรื่องคุณสมบัติผู้เข้าประมูลที่ดูแล้วน่าเคลือบแคลงเป็นอย่างยิ่ง โดยดูได้จากทีโออาร์ฉบับที่ออกเดือนพฤศจิกายน 2553 นั้น ทำให้เอกชนทั้งหลายที่พยายามเสนอราคาแข่งขันอาจต้องยอมล่าถอย

 เพราะนอกจากจะระบุว่า บริษัทหลักต้องเป็นบริษัทไทย แล้วยังกำหนดประสบการณ์ในงานซีเคียวริตี้ปริ๊นติ้ง เช่น ธนบัตร บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด

 เงื่อนไขนี้ ในประเทศไทยมีเพียง 2 แห่ง คือ ธนาคารแห่งประเทศที่พิมพ์ธนบัตร ส่วนอีกแห่งก็คือ บริษัทเดิมที่ได้รับสัมปทานอีพาสปอร์ต จากกระทรวงการต่างประเทศ

 ไม่เพียงเท่านั้น ยังกำหนดด้วยว่า ต้องมีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท และมีผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี มูลค่าไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท เงื่อนไขนี้ก็มีเพียงบริษัทเดียวเช่นกันที่เข้าเกณฑ์

 คุณสมบัติที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ต้องเคยทำโครงการเกี่ยวกับไอทีไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท เคยพัฒนาระบบฐานข้อมูล 3 ล้านระเบียน และมีผู้ใช้พร้อมกันไม่น้อยกว่า 100 คน รวมถึงต้องมีประสบการณ์พัฒนาระบบข้อมูลชีวมาตร มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

 คงไม่ต้องถามอีกเช่นกันว่า ทั่วประเทศไทยนี้ทำได้กี่บริษัท !
 
 พรุ่งนี้เราจะมาดูเงื่อนไขสำคัญและการชี้แจงจากกรมการกงสุลว่าที่ทำทั้งหมดนั้นถูกต้อง รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่ และที่สำคัญระยะเวลากระชั้นสั้นขนาดนี้ ก่อนที่จะหมดอายุสัญญาสัมปทาน ทางออกเท่าที่มองเห็นกระทรวงการต่างประเทศจะจัดการอย่างไรในเมื่อสัมปทานหมด แต่ยังหาบริษัทใหม่มาสัมปทานไม่ได้ ?

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ