ข่าว

คอป.ฝ่าดงแข้ง สร้างปรองดอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แม้ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ” หรือ “คอป.” แต่ด้วยเรี่ยวแรงของ “3 ลูกหม้อ” กระทรวงยุติธรรมก็เปิดเกมรุกได้อย่างหวือหวา

 เริ่มจาก “คณิต ณ นคร” ที่เขี่ยลูก “ปรองดอง” ให้ไปอยู่บนเท้าของคนทุกสี เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ลงทุนบุกเข้าถ้ำเสือต้อง “กอดคอ” กับ “แม่ทัพ” ของทุกฝ่าย

 ขณะที่ 2 แนวรับ “กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์” กับ “วิทยา สุริยะวงค์” ก็เคลื่อนงานในเชิง “วิชาการ” เติมเกมอย่างทันท่วงที

 มีการเปิดเวที “ระดมสมอง” ครั้งใหญ่ โดยดึงเอา “ประสบการณ์” ที่กลั่นออกมาจนเป็น “องค์ความรู้” จากนานาประเทศที่เดินผ่านถนนของความปวดร้าวและการ “นองเลือด” มาแล้วอย่างแสนสาหัส

 โดยเฉพาะ “แอฟริกาใต้” และ “เซียร่า ลีโอน”

 ทั้งสองประเทศเคยมีองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างความปรองดองของผู้คนในชาติ มีลักษณะใกล้เคียงกับคอป.ของไทย แต่เรียกว่า Truth and Reconciliation Commission - TRC

 สิ่งที่ได้รับจากเวทีระดมสมองคือแม้ว่าในภาพกว้างๆ สถานการณ์ของทวีปแอฟริกาและประเทศไทย จะคล้ายคลึงกัน แต่เมื่อเจาะเข้าไปใน “เงื่อนไข” อันเป็นรากฐานของปัญหานั้นมีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือที่แอฟริกามีปัญหาเรื่อง “สีผิว-ชาติพันธุ์”

 ขณะที่ประเทศไทย ความต่างด้านหลักคือ “ความคิดเห็นทางการเมือง” ซึ่งถูกปลุกระดมจากผู้นำทางการเมืองด้วยความคิด “คนละชุด” ผ่านสื่อทันสมัยหลากหลายและเข้าถึงทุกครัวเรือนอย่างง่ายดาย

 แต่ถ้าแค่ “ถอดเสื้อออก” คนไทยก็มี “ผิว” สีเดียวกันแล้ว

 ข้อเสนอที่น่าสนใจอยู่ที่ นายโฮเวิร์ด วาร์นีย์ ที่ปรึกษาด้านการค้นหาความจริงสถาบันนานาชาติการเปลี่ยนผ่านเพื่อความยุติธรรม จากเมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ ที่ยกบทเรียนที่เขาเคยทำสำเร็จมาแล้วคือจัดตั้งเวทีเพื่อรับฟังประสบการณ์ของ “เหยื่อ” ทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้ได้รู้ว่า “ปม” ที่แท้จริงคืออะไร

 ที่แอฟริกาใต้ประธานาธิบดีเดินทางไปฟัง “เหยื่อ” ด้วยตัวเองในหลายภูมิภาค ทำให้รัฐบาลเข้าถึงแก่นแท้ของปัญหามากกว่าจะอยู่แค่ส่วนกลาง และต้องดึง “วัยรุ่น” ขึ้นมาเป็น “พลังหลัก” ในการสร้างชาติ

 ข้อสรุปที่สำคัญที่ได้จากวงประชุมครั้งนี้คือทุกฝ่ายย้ำตรงกันว่า “กุญแจ” ดอกแรกที่จะไขประตูสู่ความสำเร็จคือ “คอป.” ต้องได้รับความเชื่อถือจากสังคม

 ดังนั้น “ด่านแรก” ที่คอป.ต้องก้าวผ่านไปให้คือการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับจากสังคมได้ แม้จะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องมากพอที่จะกลบ “เสียงด่า” ให้ได้ยินเบาที่สุด

 แต่ถ้าประกาศรายชื่อ 11 ตัวจริงลงสนามแล้วเรียกศรัทธาจากแฟนๆ ไม่ได้ เสียง “ยี้” รอบอัฒจันท์ กองเชียร์เดินออกทันทีครึ่งสนาม ก็ยากที่งาน “ปรองดอง” จะเดินหน้าต่อไปได้

 “คอป.” จะทำงานสำเร็จหรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ความเก่งกาจของคณะกรรมการ แต่ขึ้นอยู่กับ “ความศรัทธา” ของประชาชน ว่ามีมากพอที่จะหนุนหลังให้ก้าวเดินหรือไม่ต่างหาก

เสถียร วิริยะพรรณพงศา twitter@satien_nna

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ