ข่าว

ผ่าภารกิจ"กองทัพไทย"ในดาร์ฟูร์!"รักษาสันติภาพก็เหมือนได้ซ้อมรบ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภารกิจของกองทัพนอกจากจะมุ่งรักษาอธิปไตยของชาติ และรักษาความความมั่นคงในประเทศแล้ว ภารกิจ "รักษาสันติภาพ" ก็เป็นอีกภารกิจที่พึงกระทำทั้งในแง่มนุษยธรรม และเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลก

พล.ต.เจิดวุฒิ คราประยูร ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสันติภาพ กองบัญชาการกองทัพไทย บอกเล่ากับทีมข่าว "คม ชัด ลึก" ถึงภารกิจรักษาสันติภาพในเมืองดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน หลังสงครามกลางเมืองที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 3 แสนคน

 ยูเอ็นจึงต้องเข้าไปรักษาสันติภาพ โดยใช้กำลังรัฐบาลซูดานและยูเอ็นเป็นหลัก แต่ยูเอ็นอยากให้มีกองกำลังต่างชาติเข้าไปร่วมด้วย ไทยจึงเสนอตัวไปให้พิจารณา

 ในที่สุดกองทัพไทยก็ได้รับเลือกให้เข้าร่วมภารกิจ เนื่องจากผลงานในปฏิบัติการรักษาสันติภาพทั้งในติมอร์ตะวันออก และภารกิจเพื่อสันติภาพอีกกว่า 16 ภารกิจ รวมทั้งมองว่า ไทยเป็นประเทศที่เป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

 พล.ต.เจิดวุฒิกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า "แสดงให้เห็นว่าประชาคมโลกยอมรับการดำเนินการของกองทัพไทย เพราะตอนที่ยูเอ็นขอมา เราก็ยังมีปัญหาการเมือง และอยู่ในช่วงการรัฐประหารด้วย"

 ที่น่าภาคภูมิใจอีกอย่าง คือ ในบรรดากองทัพ 30-40 ประเทศที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจ มีเพียงกองทัพไทยเท่านั้นที่ส่งหน่วยทหารระดับ "กองพัน" เข้าไป

 โดยหน่วยระดับกองพันจะมีทั้งหมด 18 กองพัน ซึ่ง 17 กองพันจะอยู่ในทวีปแอฟริกา มีเพียงกองพันของไทยเท่านั้นที่อยู่นอกทวีป

 สำหรับปฏิบัติการที่ดาร์ฟูร์มีความยากลำบากใน 3 เรื่องหลักๆ ที่ทหารไทยต้องเผชิญ คือ

 1.สถานการณ์การรบยังไม่ยุติ กองกำลังติดอาวุธยังไม่ได้วางอาวุธ จึงมีการสู้รบกันประปราย มีการปล้นสะดมแย่งชิงเสบียงอยู่เนืองๆ 

 2.ดาร์ฟูร์อยู่ในเขตตะวันตกของซูดาน มีภูมิประเทศกึ่งทะเลทราย ซึ่งมักจะมีพายุทราย ส่วนถนนหนทางก็ไม่ดีทำให้เคลื่อนย้ายกำลังได้ลำบาก

 3.มีความท้าทายเรื่องระบบส่งกำลัง เพราะภูมิประเทศขนาดใหญ่ มีขนาดเท่ากับ "ประเทศไทยทั้งประเทศ" แต่ยูเอ็นใช้กำลังแค่ 18 กองพัน ยกตัวอย่างเช่น เขตตะวันตกของดาร์ฟูร์ที่ไทยรับผิดชอบแค่เขตเดียวก็ใหญ่เท่ากับภาคอีสานทั้งภาค 

 เมื่อภารกิจโหด-หินขนาดนี้ การเตรียมพร้อมจึงสำคัญยิ่ง และต้องเตรียมพร้อมทุกเรื่อง ทั้งสภาพแวดล้อม ระบบส่งกำลัง หรือการเตรียมกำลังคน รวมทั้งภาษา และมิติทางสังคมวัฒนธรรม

 กองทัพไทยจึงได้ฝึกซ้อมกันอย่างหนัก โดยใช้พื้นที่ จ.นครราชสีมา ก่อนจะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในห้วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้

 การเตรียมพร้อมขนาดนี้จะว่าไปก็ไม่ต่างกับการ "ซ้อมรบ" จริงๆ ซึ่ง พล.ต.เจิดวุฒิก็ยอมรับว่า ไม่แตกต่างกันเลย โดยภารกิจนี้ยากกว่าที่ติมอร์มาก โดยเฉพาะระบบส่งกำลังที่ต้องเดินทางไกลหลายพันกิโลเมตร และต้องขนส่งข้ามสภาพภูมิประเทศที่แสนจะทุรกันดาร

 ภารกิจครั้งนี้ กองทัพไทยได้จัดกำลัง "กองพันทหารราบ" กว่า 800 นายพร้อม "ยานเกราะ" ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากกว่าทุกครั้ง

 ส่วนการสับเปลี่ยนกำลังพลจะหมุนเวียนทุก 6 เดือน โดยสนธิกำลังจาก 3 เหล่าทัพ คือ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยกำลังหลักจะอยู่ที่กองทัพบก

 "ภารกิจรักษาสันติภาพเป็นภารกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะสร้างภาพบวกให้แก่กองทัพ และประเทศไทย ทั้งยังสร้างความภาคภูมิใจให้เราอย่างมาก เพราะเป็นงานเพื่อมนุษยธรรม เพื่อช่วยเหลือประชาคมโลก" พล.ต.เจิดวุฒิกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

60 ปี กับ 16 ภารกิจรักษาสันติภาพ

 นับเป็นเวลา 60 ปีเต็มที่ทหารกล้าแห่งกองทัพไทยได้ออกไปปฏิบัติภารกิจเพื่อรักษาสันติภาพ และคุ้มครองชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ถึง 16 ภารกิจ

 สำหรับภารกิจแรกของกองทัพไทย คือ 1.ภารกิจในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งไทยส่งกำลังไปร่วมรบกับกองกำลังสหประชาชาติ ตั้งแต่ พ.ศ.2493-2489

 2.ภารกิจสังเกตการณ์ชายแดนอิรัก-คูเวต ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2534-15 มิถุนายน 2545

 3.ภารกิจการจัดกองกำลังรักษาความปลอดภัยของสหประชาชาติในอิรัก ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2534-1 กันยายน 2537

 4.ภารกิจการจัดกองพันทหารช่างเฉพาะกิจเพื่อการเก็บกู้ระเบิดในกัมพูชา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2535-ตุลาคม 2536

 5.ภารกิจสังเกตการณ์ของสหประชาชาติในเซียร์ราลีโอน ตั้งแต่ตุลาคม 2542-ตุลาคม 2548

 6.ภารกิจปฏิบัติการเพื่อสันติภาพของกองทัพไทยในติมอร์ตะวันออก จัดส่งกำลัง 1,581 นาย มี พล.ต.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ (ในขณะนั้น) เป็น ผบ.กกล.ฉก.ไทย/ติมอร์ ตอ.และ รอง ผบ.กกล.นานาชาติ ตั้งแต่กันยายน 2542-กุมภาพันธ์ 2543

 จากนั้นกองกำลังของไทยได้แปรสภาพเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพในนามหน่วย กกล.972 ไทย/ติมอร์ ตอ. มี พล.ท.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ (ในขณะนั้น) เป็น ผบ.กกล.รักษาสันติภาพ ตั้งแต่กรกฎาคม 2543-สิงหาคม 2544

 ต่อมา พล.ท.วินัย ภัททิยกุล (ในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งเป็น  ผบ.กกล.รักษาสันติภาพ ตั้งแต่กันยายน 2544-สิงหาคม 2545 เสร็จสิ้นภารกิจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 

 7.ภารกิจสังเกตการณ์กระบวนการสันติภาพในอาเจะห์ จัดกำลังพล 46 นาย มี พล.ต.ทนงศักดิ์ ตุวินันท์ เป็นประธานคณะกรรมการด้านความมั่นคงร่วม ตั้งแต่ธันวาคม 2545-กันยายน 2546

 8.ภารกิจการจัดกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพในอัฟกานิสถาน ปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ 15 มีนาคม 2546-1 ตุลาคม 2546

 9.ภารกิจการจัดกองกำลังปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรมไทย/อิรัก ปฏิบัติภารกิจตั้งแต่สิงหาคม 2546-9 กันยายน 2547

 10.ภารกิจปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในอิหร่าน ปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ธันวาคม 2545-มกราคม 2546

 11.ภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ณ สาธารณรัฐบุรุนดี ปฏิบัติภารกิจตั้งแต่พฤษภาคม 2548-ธันวาคม 2549

 12.ภารกิจสังเกตการณ์กระบวนการสันติภาพในอาเจะห์ภายใต้การปฏิบัติการร่วม EU-ASEAN มี พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก เป็นรองหัวหน้าภารกิจฝ่ายทหาร ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2547-16 ธันวาคม 2549

 13.ภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในอินโดนีเซีย ปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2549

 14.ภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในซูดาน จัดส่งผู้สังเกตการณ์ทางทหารไปปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2549 จำนวน 3 ผลัด ส่วนผลัดที่ 4 จำนวน 12 นาย กำลังเดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่

 15.ภารกิจทางการเมืองของสหประชาชาติในเนปาล ส่งนายทหารไปสังเกตการณ์ตั้งแต่พฤษภาคม 2550-11 พฤษภาคม 2551

 16.ภารกิจรักษาสันติภาพผสมสหประชาชาติ-สหภาพแอฟริกาในดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน ส่งนายทหารไปปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายอำนวยการตั้งแต่มีนาคม 2550 ขณะนี้กำลังเตรียมจัดส่ง กกล.ฉก.980 ไทย/ดาร์ฟูร์ จำนวน 1 พัน ร.ผสม (800 อัตรา) เข้าไปปฏิบัติหน้าที่

เขี้ยวเล็บกองทัพไทยในดาร์ฟูร์

 1.กองร้อยยานเกราะ ใช้รถเกราะ วี-150 จำนวน 21 คัน ติดปืนกล 7.62 และ 12.7 มม.

 2.ปืน ค. 81 จำนวน 4 กระบอก ปืนกล แม็ก 58 จำนวน 31 กระบอก ปืนกล 93 ขนาด 0.5 นิ้ว จำนวน 4 กระบอก เครื่องยิงลูกระเบิด 40 มม. จำนวน 4 กระบอก ปืน ค. 60 จำนวน 9 กระบอก อาร์พีจี จำนวน 36 กระบอก

 3.เตรียมรถถัง 20 คัน โดยเปลี่ยนสีลายพราง เป็น "สีขาว"

 4.รถฮัมวี 18 คัน และรถ 2 ตันครึ่ง 36 คัน

 5.ยุทโธปกรณ์สายช่าง เช่น รถแทรกเตอร์ ชุดขุดเจาะน้ำบาดาล รถดัมพ์ รถแบ็กโฮ

ทีมข่าวความมั่นคง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ