ข่าว

แกะรอยเส้นทาง"จีที200"ค่าโง่พันล้านใครรับผิดชอบ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในที่สุดผลทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 ก็ได้บทสรุปชัดเจนว่า "ใช้งานไม่ได้" หลังผลการค้นหา จำนวน 20 ครั้ง แต่จีที 200 สามารถค้นหาได้เพียง 4 ครั้งเท่านั้น ซึ่งนักสถิติชี้ชัดว่า สถิติการค้นหาได้น้อยกว่าค้นหาแบบเดาสุ่มเสียอีก

ผลการทดสอบครั้งนี้จึงเท่ากับ "ตบหน้า" ทหารทั้งกองทัพที่ก่อนหน้านี้ออกมายืนยันถึงประสิทธิภาพของจีที 200 อย่างแข็งขันว่า สามารถค้นหาได้มากถึง 70-80% และที่ผ่านมาก็สามารถค้นหาวัตถุระเบิด และสารเสพติดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มาโดยตลอด

 แต่คำถามที่แหลมคมกว่านั้น คือ จีที 200 มาโผล่เป็น "เครื่องมือช่วยชีวิต" ของทหารทั้งกองทัพ รวมทั้งตำรวจ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดของไทยได้อย่างไร

 ส่วนอีกหลายคำถามที่น่าสนใจ คือ ก่อนการจัดซื้อได้ทดสอบประสิทธิภาพอย่างเข้มข้นแค่ไหน ทำไมจึงไม่สงสัยในราคาต่อเครื่องที่แพงเป็นล้านบาททั้งที่ภายในไม่มีวงจรอะไรเลย และที่สำคัญที่สุด ใครได้ประโยชน์จากการจัดซื้อจีที 200 หรือไม่!?

 จากการเกาะติดของทีมข่าว "คม ชัด ลึก" มาตั้งแต่ต้นพบว่า ต้นตอของการติดใจใช้งานเครื่องจีที 200 มาจากหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดของกองทัพอากาศ (ทอ.) ซึ่งนำมาใช้งานตรวจวัตถุต้องสงสัยที่สนามบินบ่อทอง จ.ปัตตานี เมื่อปี 2547

 ต่อมาได้มีการประชุมร่วมกันของหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดทุกเหล่าทัพ และโชว์ประสิทธิภาพของยุทโธปกรณ์ของแต่ละหน่วย ซึ่งทำให้จีที 200 ได้รับการอวดโฉมเป็นครั้งแรก

 ในห้วงเวลานั้น หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) ของกองทัพบก ได้รับมอบหมายให้เข้าไปทำหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เพิ่งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ

 ทว่า อุปสรรคที่พบ คือ "สุนัขทหาร" ที่นำมาปฏิบัติภารกิจมีข้อจำกัดในการใช้งานสูง กล่าวคือ สามารถนำมาใช้งานได้ต่อเนื่องเพียง 2 ชั่วโมง หากอากาศร้อนจัดก็จะทำงานได้น้อยกว่านั้น

 ที่สำคัญ คือ สุนัขไม่สามารถเข้าไปดมใกล้จุดต้องสงสัยได้มากเกินไป เพราะคนร้ายที่ซุ่มซ่อนอาจฉวยโอกาสจุดระเบิดได้ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อทั้งสุนัข และทหาร ที่เข้าไปปฏิบัติงาน

 ดังนั้น สเปกของอุปกรณ์ที่ชุดอีโอดีของกองทัพบกต้องการ คือ สามารถค้นหาวัตถุระเบิดได้ในระยะไกล และในบริเวณกว้างเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีเครื่องมือชนิดใดที่สามารถทำได้

 แต่ "จีที 200" ที่ในเวลานั้นมีชื่อเรียกกันว่า "เดอะโม" ซึ่งใช้ตรวจระเบิดในหน่วยของ ทอ.สามารถทำได้ ชุดอีโอดีของ ทบ. จึงสนใจ และทดลองนำมาใช้งานจริงในการตรวจหาวัตถุระเบิดก่อนการลงพื้นที่ของ "ผู้ใหญ่" ท่านหนึ่งใน จ.ปัตตานี

 ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจยิ่ง เพราะสามารถพบระเบิดที่คนร้ายนำมาซ่อนไว้ในอาคารจริงๆ ชุดอีโอดีของ ทบ. จึงเสนอเรื่องให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ในขณะนั้น) อนุมัติงบในการจัดซื้อ

 พล.อ.สนธิจึงอนุมัติให้มีการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ลอตแรก จำนวน 4 เครื่อง โดยใช้การจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการจัดซื้อเมื่อปี 2548 ในราคาเครื่องละ 1.4 ล้านบาท (รวมการ์ด 20 ใบ)

 จากนั้นในสมัย พล.อ.สนธิ ก็มีการจัดซื้ออีกหลายครั้ง แต่ก็ยังมีปริมาณไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากห้วงปี 2548-2550 คนร้ายยังไม่นิยมก่อเหตุด้วยการลอบวางระเบิด หรือซุกซ่อนระเบิดไว้ในรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์

 กระทั่งในสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก ตั้งแต่ปลายปี 2550 เป็นต้นมา จึงมีการสั่งซื้ออย่างขนานใหญ่ เนื่องจากคนร้ายพัฒนารูปแบบการลงมือด้วยการวางระเบิดมากขึ้น

 ในช่วงปี 2551-2552 จึงมีการสั่งซื้อจีที 200 รวมทั้งสิ้น 541 เครื่อง เพื่อใช้ในภารกิจของหน่วยอีโอดี และ ฉก.ทุกอำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งกองทัพภาคที่ 1-3 ซึ่งถือว่าเป็นการซื้อลอตใหญ่ที่สุดของ ทบ. และทุกหน่วยราชการในประเทศไทย

 นอกจากนี้ จีที 200 ยังเป็นเครื่องมือหลักของหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานปราบปรามยาเสพติดแทบทุกหน่วย ประเมินกันว่าถ้ารวมแล้วทุกหน่วยราชการในเมืองไทยน่าจะมีจีที 200 ประมาณ 1,000 เครื่อง

 ถ้าตีเป็นตัวเลขกลมๆ แสดงว่ารัฐบาลไทยต้องเสีย "ค่าโง่" ให้แก่จีที 200 ร่วม 1,000 ล้านบาทเลยทีเดียว!!

 คำถามที่ตอนนี้คงไม่มีใครอยากตอบ คือ ใครจะรับผิดชอบกับเงินมหาศาลก้อนนี้ ซึ่งไม่นับรวมความเสี่ยงตายฟรีๆ ของกำลังพลตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุม เพราะการทำงานของจีที 200 ซึ่งทำท่าว่าจะทำให้กองทัพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

 งานนี้เกี่ยวโยงกับบิ๊กๆ ในกองทัพหลายคน เช่น พล.อ.สนธิ ในฐานะผู้ที่ลงนามสั่งซื้อเป็นคนแรก พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งแม้จะไม่ได้ริเริ่ม แต่ก็ได้ชื่อว่า จ่ายเงินไปก้อนโตที่สุด รวมทั้ง "อดีตบิ๊ก" บางคนในกองทัพอากาศที่มีข่าวว่าคนใกล้ชิดไปเกี่ยวข้องกับบริษัทนำเข้าด้วย

 น่าสนใจจริงๆ ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะกล้าพอที่จะรื้อฟื้นเส้นทางการจัดซื้อจีที 200 ที่เกี่ยวพันกับบิ๊กๆ สีเขียวแค่ไหน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ