ข่าว

ประชุมไอแพค-ไอแพม กระชับสัมพันธ์ภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"บิ๊กตู่" เปิดประชุมไอแพค-ไอแพม กระชับความสัมพันธ์ ภูมิภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ด้าน ผบ.ทบ.สหรัฐ ย้ำฝึกร่วมไทย-มะกัน ยังจำเป็น ปัดตอบ กระทบสัมพันธ์จีน

 

 

          เมื่อวันที่ 9 ก.ย. เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กทม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดการประชุมกองทัพบกกลุ่มประเทศภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ประจำปี 2562 (IPACC IPAMS SELF 2019) ระหว่างวันที่ 9-11 ก.ย. 62 ภายใต้หัวข้อ "การก้าวไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน มุมมองใหม่ของกองทัพบกภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก"โดยกองทัพบกไทยร่วมกับกองทัพบกสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารบกมิตรประเทศเข้าร่วมจำนวน 25 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย บังกลาเทศ บรูไน กัมพูชา แคนาดา ฟิจิ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ติมอร์-เลสเต ตองกา มัลดีฟส์ เวียดนาม จีน ชิลี ฝรั่งเศส อินเดีย มาเลเซีย มองโกเลีย เนปาล ปาปัวนิวกินี สหราชอาณาจักร วานูอาตู สหรัฐอเมริกา และไทย

 

ประชุมไอแพค-ไอแพม กระชับสัมพันธ์ภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก

 

          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ตนมาใน 2 บทบาท คือนายกรัฐมนตรี และอดีตผบ.ทบ. จึงเข้าใจการประชุมครั้งนี้เป็นอย่างดี ถือเป็นความร่วมมือกันในภูมิภาคของอินโด-แปซิฟิกในบทบาทที่สร้างสรรค์ทำให้ภูมิภาคของเราและทุกภูมิภาคของโลกมีความปลอดภัยมั่นคงยั่งยืน ซึ่งเป็นเวทีที่สร้างสรรค์ความร่วมมือร่วมกัน และในอดีตตนเคยเผชิญปัญหามาหลายประการ โดยในส่วนของด้านความมั่นคงก็ช่วยกันแก้ไขปัญหามาโดยตลอด โดยความร่วมมือของทุกประเทศในขณะนี้ก็กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องในระดับผู้นำของทุกประเทศ ในนามของรัฐบาลขอต้อนรับทุกคนที่ถือเป็นส่วนสําคัญในการสรรสร้างความมั่นคงของภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก เป็นเวทีที่เปิดกว้างสําหรับเครือข่ายผู้นําทางการทหารในทุกระดับให้สามารถ ร่วมกันเสริมสร้างความมั่นคง เพื่อสนับสนุนความเจริญก้าวหน้าของภูมิภาคและของโลกอย่างยั่งยืนด้วยการปรับตัวรองรับความเป็นพลวัตในยุคท่ีเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกก่อให้เกิดความท้าทายและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่สลับซับซ้อน ทั้งนี้การร่วมกันเสริมสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก กองทัพต่างๆ จะเป็นเครื่องมือหลักในฐานะผู้สนับสนุนรัฐบาล สําหรับการดําเนินนโยบายและวางรากฐานการ พัฒนาเพื่ออนาคตที่เชื่อมโยงกับมิติ เศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากร ส่ิงแวดล้อม ทั้งในยามปกติและภาวะวิกฤต โดยกองกําลังทางบกภาคพื้นอินโด - แปซิฟิก ได้แสดงออกถึงศักยภาพในการช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยความสมานฉันท์เสมอมา

 

          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า การประชุมในครั้งนี้นอกจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองที่หลากหลายและเปิดกว้าง สามารถจะนําไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้แล้ว เรายังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิท่ีมานําเสนอแนวทางของกองทัพในการรักษาความมั่นคง การเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทาย และการเอาชนะ อุปสรรคต่างๆ เพื่อก้าวไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง อย่างยั่งยืนของภูมิภาคต่อไป ประเด็นสําคัญที่ตนอยากฝากไว้ให้ช่วยกันคิด ก็คือการแปลงนโยบาย
ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเชื่อว่าเราจะได้รับองค์ความรู้ หรือหลักคิดใหม่ๆ ที่ทรงคุณค่ามากมาย แต่เราจะไม่สามารถบรรลุภารกิจ หรือประสบความสําเร็จได้เลย หากเราไม่มีแผนปฏิบัติการท่ีเป็นรูปธรรม ไม่สามารถสร้างกลไกการขับเคลื่อนร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ และไม่มีเครื่องมือประเมินผลตามเป้าหมายที่จับต้องได้ สิ่งสําคัญอีกประการหนึ่ง คือมิตรภาพหรือความเป็นเพื่อน ซึ่งตนเห็นว่าจะช่วยสร้างบรรยากาศ ในการทํางานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความ สันติสุขในภูมิภาคของเราด้วยการมุ่งเน้นการสร้างความไว้เน้ือเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ ทั้งระหว่างประเทศ ในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกด้วยกันเอง และภาคีภายนอก ดังนั้นการพัฒนา ความไว้วางใจระหว่างกองกําลังทางบก ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก เพื่อขจัดความเสี่ยงและความขัดแย้ง แล้วทํางานเคียงบ่า เคียงไหล่ด้วยความเป็นทหารอาชีพ

 

ประชุมไอแพค-ไอแพม กระชับสัมพันธ์ภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก

 

          "ผมขอยืนยันว่า หลักการสําคัญที่ประเทศไทยยึดมั่นมาตลอด คือการเข้มแข็งไปด้วยกันหรือ Stronger Together ด้วยการกระชับความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด จากทุกภาคส่วน และไม่ทิ้งใครไว้ ข้างหลัง ซึ่งวัตถุประสงค์ของการประชุมนี้เพื่อส่งเสริมมุมมองของกองกําลังทางบกภาคพื้นอินโด – แปซิฟิกให้ก้าวไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืนสอดคล้องกับหลักการข้างต้นด้วย ผมหวังว่าการประชุมนี้ จะสามํารถยกระดับความสัมพันธ์อันดี เพื่อต่อยอดเป็นกลไกความร่วมมือที่แน่นแฟ้นในระดับภูมิภาค และระดับโลกอย่างไร้ขีดจํากัด ซึ่งจะนําไปสู่การพัฒนาที่สมดุลอย่างยั่งยืนต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

          ขณะที่พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อให้ผบ.ทบ.ในภูมิภาคฯ ได้ทำความรู้จักคุ้นเคย แลกเปลี่ยนข่าวสารและข้อคิดเห็น รวมทั้งรับทราบแนวทางในการพัฒนากองทัพของแต่ละประเทศ และร่วมหารือในประเด็นด้านความมั่นคงที่สำคัญในห้วงเวลาโดยการประชุมสัมมนาการบริหารงานของกองทัพบกภาคพื้นอินโด - แปซิฟิก  (IPAMS) เพื่อเป็นเวทีของนายทหารระดับสูงของกองทัพบกภาคพื้นอินโด - แปซิฟิก ระดับชั้นยศพันเอกขึ้นไป ได้มีโอกาสพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการทหาร เพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงในภูมิภาค บนพื้นฐานความร่วมมือและความเข้าใจซึ่งกันและกัน  

 

          สำหรับการประชุมนายทหารประทวนอาวุโส หรือ SELF เป็นการประชุมระดับนายทหารประทวนกองทัพบกภาคพื้นอินโด - แปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อหลักของการประชุม IPACC อย่างไรก็ตามตลอดห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงในปีนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติและความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยได้รับการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนและเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34  ซึ่งไทยในฐานะประธานอาเซียนได้ประกาศแนวคิดหลัก "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยต่อยอดจากสิ่งดีๆ ที่อาเซียนได้สร้างกันมาในอดีต และมองไปสู่อนาคตเพื่อความสุขของชนรุ่นหลังที่จะเห็นภูมิภาคที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรืองต่อไปอย่างยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ 13 เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นพ้องที่จะร่วมกันสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในภูมิภาค ตามแนวคิดดังกล่าวด้วยเช่นกัน

 

ประชุมไอแพค-ไอแพม กระชับสัมพันธ์ภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก

 

          "กองทัพบกไทยตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน โดยมิได้จำกัดกรอบแนวความคิดเฉพาะภายในกลุ่มประเทศอาเซียนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงกรอบความร่วมมืออื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอินโด - แปซิฟิก และมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมในครั้งนี้ จะเป็นเวทีที่สำคัญที่พวกเราทั้งหลายจะได้มีส่วนส่งเสริม ความร่วมมือ ร่วมใจ อย่างยั่งยืน จึงได้เห็นพ้องร่วมกับกองทัพบกสหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพร่วม กำหนดประเด็นหลักของการประชุมในครั้งนี้ว่า การก้าวไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน : มุมมองใหม่ของกองทัพบกภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก ในฐานะประเทศเจ้าภาพร่วม ผมหวังว่าทุกคนจะร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประโยชน์ ซึ่งอาจกลายเป็นความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้การพบปะพูดคุยกันในห้วงระหว่างการประชุม มิตรจะได้กระชับมิตร เพื่อนใหม่จะได้ทำความรู้จักและเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจ อันจะกลายเป็นเครือข่ายความร่วมมือ และเป็นพลังในการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามทุกรูปแบบได้อย่างแน่นแฟ้น และก้าวไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืนต่อไป" พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว

 

          จากนั้น พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. และ พล.อ.เจมส์ แมคคอนวิว (General James C McConville) ผู้บัญชาการทหารบก สหรัฐอเมริกา ร่วมกันแถลงข่าว ภายหลังการประชุม

 

ประชุมไอแพค-ไอแพม กระชับสัมพันธ์ภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก

 

          โดย พล.อ.เจมส์ แมคคอนวิว กล่าวว่า เราขอขอบคุณทางพันธมิตรและประเทศไทยที่ได้มาร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา โดยมีผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกมาร่วม และเป็นการประชุมที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จากที่มีประเทศสมาชิก 9 ประเทศขณะนี้กลายเป็น 27 ประเทศ เนื่องจากประเทศต่างๆได้เห็นถึงความสำคัญ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความคิดต่างๆในเรื่องของการแก้ไขปัญหาในภูมิภาคเพื่อรักษาและธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ โดยเรามีการเตรียมพร้อมอย่างดีในการแก้ไขปัญหาและวิกฤตต่างๆร่วมกัน ซึ่งหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก    

 

          พล.อ.เจมส์ แมคคอนวิว กล่าวต่อว่า ข้อห่วงใยที่มีความสำคัญของภูมิภาค ต้องการให้ทุกประเทศที่มาร่วมประชุมกันมีเป้าหมายและจุดมุ่งหมายร่วมกันคือการเสริมสร้างความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาคอย่างยั่งยืนซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักและเป้าหมายสำคัญ ส่วน การฝึกร่วมในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับประเทศไทยจะส่งผล กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐหรือไม่นั้น พล.อ.โรเบิร์ต กล่าวว่า การฝึกต่างๆมีความสำคัญ เนื่องจากการฝึกเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเพราะฉะนั้นตนเห็นว่าการฝึกร่วมยังต้องดำรงต่อไป 

 

ประชุมไอแพค-ไอแพม กระชับสัมพันธ์ภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก

 

          พล.อ.เจมส์ แมคคอนวิว กล่าวย้ำว่า เช่นเดียวกับการฝึกศึกษาถือเป็นรากฐานและพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ต่อการฝึกศึกษาทำให้นักศึกษามาพบปะและอยู่ร่วมกันเสริมสร้างความสัมพันธ์และมีประสบการณ์เรียนรู้หลักนิยมหรือหลักสูตรต่างๆที่แต่ละฝ่ายจะถ่ายทอดให้กันและกันหรือเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน

 

          ด้าน พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้มีการประชุมมาโดยตลอด โดยเฉพาะกองทัพบกไทยถือว่าเป็นประเทศที่อยู่ในตำแหน่งที่มีความสำคัญในพื้นที่ภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพบกไทยและสหรัฐมีมานาน หลักนิยมที่เราใช้ตั้งแต่โรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า จนถึงหลักนิยมในการรบปัจจุบันเราก็ยังใช้หลักนิยมของกองทัพบกสหรัฐ ซึ่งสิ่งสำคัญของการประชุมครั้งนี้ เปรียบเหมือนเป็นประวัติศาสตร์

 

         พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวต่อไปว่า กองทัพบกไทยมีการฝึกกับสหรัฐอเมริกา อย่างต่อเนื่องเช่น การฝึกร่วมรหัส คอบร้าโกลด์ และ อนุมานการ์เดียน ซึ่งการฝึกแต่ละครั้ง กองกำลังที่อยู่ในภาคพื้น อินโดแปซิฟิกก็เข้ามารับการฝึกร่วมกันเพื่อที่จะทำให้ภูมิภาคมีความมั่นคงยั่งยืนถาวรมีการร่วมมือกันในเรื่องการช่วยเหลือภัยพิบัติ เราไม่ได้มุ่งในด้านความมั่นคงอย่างเดียวแต่มุ่งในเรื่องการช่วยเหลือเมื่อมีภัยพิบัติ ในภูมิภาค

 

          "การประชุมในครั้งนี้ พล.อ.โรเบิร์ต พึ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว และไทยเป็นประเทศแรกที่ท่านมาเยือน จึงต้องขอขอบคุณ พล.อ.โรเบิร์ต บราวน์ ผู้บัญชากองกำลังทางบกประจำภาคพื้นแปซิฟิค ที่เปรียบเสมือนเพื่อนเก่าของตน ยอมรับว่า มีความเป็นห่วง เรื่องภัยคุกคาม ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และ สงครามไซเบอร์ ที่ทุกประเทศมีแนวทางในการที่จะรับมือกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นซึ่งปัจจุบันเป็นภัยคุกคาม เรียกว่า ไฮบริด Warfare ซึ่งไม่ใช่การรบที่ใช้อาวุธอย่างเดียวต้องใช้ความคิด นโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะทำให้เราสามารถทำให้ภูมิภาคเกิดความสงบรวมถึงภายในประเทศด้วยเรื่องพวกนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่" พล.อ.อภิรัตช์ กล่าว 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ