ข่าว

เปิดคำพิพากษาฎีกา"คุณหญิงเป็ด" อำพรางใช้งบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลฎีกาชี้ อดีตผู้ว่าฯ สตง. ริเริ่มเองจัดสัมมนาเวลาทับซ้อนจัดถวายผ้าพระกฐิน เปิดช่องเบิกเงินช่วยค่าเดินทางทั้งที่ไม่มีสิทธิ ขัดระเบียบคลัง

          27 ส.ค.62 - ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีหมายเลขดำ 2054/2559 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง "คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา" อายุ 73 ปี อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ "นายคัมภีร์ สมใจ" อายุ 73 ปี อดีต ผอ.สำนักบริหารงานและทรัพยากรบุคคล สตง. (เสียชีวิตแล้ว) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีที่จัดให้มีการสัมมนา ที่ จ.น่าน วันที่ 31 ต.ค.46 ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการสัมมนากันจริง แต่จัดสัมมนาเพื่อให้ข้าราชการที่มีรายชื่อเข้ารับการสัมมนานั้น ได้ไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่จัดขึ้นในวันเดียวกันแล้วให้เบิกค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในงบเดียวกัน 294,440 บาท ทำให้ สตง.เสียหาย ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดคุณหญิงจารุวรรณและนายคัมภีร์

 

      โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พ.ย.58 ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 157 ให้จำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ ขณะที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 ก.พ.60 แก้โทษให้จำคุกเหลือคนละ 1 ปี แต่กรณีไม่สมควรรอลงการลงโทษ ต่อมาระหว่างฎีกา คุณหญิงจารุวรรณและนายคัมภีร์ได้ประกันตัวคนละ 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

     ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้ว 2 ครั้งเมื่อวันที่ 30 ม.ค.62 และวันที่ 22 เม.ย.62 เนื่องจากนายคัมภีร์ จำเลยที่ 2 มีอาการภาวะหัวใจล้มเหลว เสียชีวิตวันที่ 26 มี.ค.62 ด้วยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

       วันนี้ (27 ส.ค.) คุณหญิงจารุวรรณ จำเลยที่ 1 มาศาล ซึ่งมีญาติ คนใกล้ชิด และนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป เดินทางมาให้กำลังใจร่วมลุ้นผลคำพิพากษาด้วย ส่วนนายคัมภีร์ จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยเสียชีวิตแล้ว ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

      คดีในส่วนของคุณหญิงจารุวรรณ จำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ต่อสู้ในประเด็นฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การบรรยายฟ้องของโจทก์ชัดเจนเพียงพอแล้ว ชอบด้วยระเบียบ ส่วนอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. ก็มีการสอบพยานบุคคลครบถ้วนทุกปาก ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกากรณีนายภักดี โพธิศิริ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน โดยยังไม่ได้ลาออกจากบริษัทเอกชน 3 แห่ง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยไม่ได้นำสืบต่อสู้มาตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

      คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดในมาตรา 157 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 ฎีกาสู้ว่า การจัดสัมมนาเรื่อง "สตง.ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา" ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร กับวัดพญาภู จ.น่าน และผ้ากฐินสามัคคีวัดศรีพันต้น จ.น่าน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักในการไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินฯ แต่เป็นการจัดสัมมนาที่แท้จริง เพื่อประโยชน์ต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของ สตง. ซึ่งสามารถเบิกจ่ายได้ตามระเบียบกระทรวงการคลัง

     ศาลฎีกาเห็นว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 1 เห็นว่านายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ส.ว.น่าน เป็นผู้รู้ปัญหาของ สตง. ดีที่สุด จึงจะเชิญมาบรรยายให้ข้าราชการและลูกจ้าง สตง. โดยเมื่อได้หารือกับนายสันติภาพก็มีความเห็นว่าควรนำผ้าพระกฐินฯ ไปถวายที่วัดใน จ.น่าน ซึ่งมีพระอารามหลวงและวัดที่ไม่ค่อยมีคนนำผ้ากฐินสามัคคีไปถวาย จำเลยที่ 1 จึงเห็นสมควรนำผ้าพระกฐินฯ ไปถวาย พร้อมทั้งจัดให้มีการสัมมนาข้าราชการและลูกจ้าง โดยเชิญนายสันติภาพเป็นวิทยากรที่โรงแรมซิตี้พาร์ค จ.น่าน จากนั้นจำเลยที่ 1 อนุมัติให้ ผอ.สตง. กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็น ผอ.บริหารงานบุคคลฯ กับคณะรวม 7 คน เป็นคณะทำงานจัดเตรียมความพร้อม และจำเลยที่ 1 ยังมีหนังสือถึงอธิบดีกรมการศาสนา แจ้งความประสงค์ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินประจำปี 2546 ไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษาใน จ.น่าน จึงแสดงให้เห็นว่าการจัดสัมมนาและการนำผ้าพระกฐินฯ ไปถวาย เป็นความคิดริเริ่มของจำเลยที่ 1 เอง

       ขณะที่ลักษณะการจัดงานสัมมนาก็พบว่า เมื่อมีการตั้งคณะทำงานแล้ว ผอ.สตง. ก็ได้มีบันทึกวันที่ 14 ต.ค.46 แจ้งให้ส่วนราชการใน สตง. ทราบเรื่องงานถวายผ้าพระกฐินฯ กำหนดจัดงานวันศุกร์ที่ 31 ต.ค.46 เวลาตั้งแต่ 08.00 – 15.30 น. ซึ่งหลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ก็มีบันทึกวันที่ 16 ต.ค.46 เสนอจำเลยที่ 1 ขออนุมัติจัดโครงการสัมมนาหัวข้อ "สตง.ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา" ในวันเดียวกันกับการถวายพระกฐินฯ ซึ่งระบุช่วงเวลาสัมมนา 09.00 – 16.00 น. โดยให้ลงทะเบียนเวลา 08.30 น. และให้รับประทานอาหารเย็น 17.00 – 18.00 น. แล้วสรุปผลการสัมมนาในเวลา 18.00 – 19.00 น. โดยจำเลยที่ 1 ก็อนุมัติโครงการดังกล่าว ทั้งที่รู้ดีว่ากำหนดเวลาทั้งสองงานนั้นทับซ้อนกัน ซึ่งในทางปฏิบัติกลุ่มผู้บริหาร, ข้าราชการและลูกจ้างไม่สามารถที่จะร่วมงานทั้งสองพร้อมกัน 

      อีกทั้งตามคำเบิกความของนายสันติภาพก็ระบุว่า การเดินทางจากวัดไปโรงแรมที่อ้างว่าจัดสัมมนาต้องใช้เวลาประมาณ 15 นาที พิธีถวายผ้าพระกฐินฯ ได้เสร็จสิ้นในเวลา 15.30 น. ดังนั้นหากการสัมมนาตามโครงการดังกล่าว เวลาที่จำเลยที่ 1 และกลุ่มผู้บริหารจะเดินทางถึงโรงแรมประมาณ 15.45 น. ที่เป็นเวลาใกล้เคียงที่จะปิดการสัมมนาแล้ว เท่ากับว่ากลุ่มผู้บริหารที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย กำกับดูแลการปฏิบัติงาน สตง. แทบจะไม่มีส่วนร่วมในการสัมมนาเลย เพราะเหลือเวลาเพียง 15 นาที และการที่กลุ่มผู้บริหารแทบจะไม่มีส่วนร่วมในการสัมมนาก็ย่อมทำให้ สตง. ไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานย่อมต้องทราบดี

        นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ก่อนถึงงานสัมมนาประมาณ 3 วัน เจ้าหน้าที่ สตง. ได้แจ้งไปยังโรงแรมขอยกเลิกใช้สถานที่จัดสัมมนา โดยขอชำระค่าใช้จ่ายในการจัดทำป้ายข้อความบนเวทีที่โรงแรมได้จัดทำแล้วเป็นเงิน 300 บาท ในส่วนนี้มีพยานพนักงานโรงแรมเบิกความสอดคล้องกัน ซึ่งเป็นพยานคนกลาง ขณะที่เลขานุการของนายสันติภาพเบิกความว่า ก่อนวันที่ 31 ต.ค.46 นายสันติภาพแจ้งว่า สตง. จะไปถวายผ้าพระกฐินฯ พร้อมจัดให้มีการบรรยายที่มีนายสันติภาพเป็นวิทยากร และเลี้ยงอาหารที่โรงแรม แต่เมื่อใกล้ถึงวันจัดงาน นายสันติภาพแจ้งว่า สตง. เปลี่ยนสถานที่จัดงานเป็นสโมสรสันติภาพ 2 โดยยกเลิกการจัดที่โรงแรมเรียบร้อยแล้ว และให้พยานจัดสถานที่พร้อมสั่งอาหารสำหรับคนกว่า 200 คน ตามคำเบิกความของพยานพบว่า ในวันที่ 31 ต.ค. ก็มีการจัดแสดงรำอวยพรโดยคณะนักเรียนด้วย ซึ่งต้องมีการแจ้งล่วงหน้าอย่างแน่นอน 

       ส่วนที่นายสันติภาพ   เบิกความยืนยันเป็นคนเสนอความเห็นว่าควรเปลี่ยนสถานที่เป็นสโมสรสันติภาพ 2 โดยให้ลูกน้องไปประสานยกเลิกสถานที่ที่โรงแรม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าลูกน้องคนนั้นเป็นใคร คำเบิกความส่วนนี้ขัดกับคำให้การในชั้นไต่สวน ป.ป.ช. ที่นายสันติภาพกลับให้การว่าตัวแทนของ สตง. เป็นผู้เสนอว่าหากจัดสัมมนาที่โรงแรม แล้วไปรับประทานอาหารที่สโมสรสันติภาพ 2 ที่อยู่ห่างกัน 3 กม. จะไม่สะดวก จึงต้องย้ายไปสัมมนาที่สโมสรสันติภาพ 2 แทน ข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่าสภาพของสโมสรเป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างมีสระว่ายน้ำใหญ่ ชั้นบนเป็นระเบียงโล่ง โดยมีข้าราชการ สตง. 36 คน ให้การในชั้น ป.ป.ช. ว่าวันงานมีการจัดเวทีระเบียงชั้นบน จัดโต๊ะกลมแบบโต๊ะจีน มีการเสิร์ฟอาหาร น้ำดื่ม และบางโต๊ะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย พร้อมกับมีการเปิดเพลง ส่วนการบรรยายของนายสันติภาพ เป็นการพูดให้ฟังเพียงฝ่ายเดียว ขณะที่ผู้ฟังรับประทานอาหารไปด้วย 

       ศาลฎีกาเห็นว่า การเปลี่ยนสถานที่โดยต้องมีการจัดเตรียมอาหารสำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน ไม่สามารถที่จะใช้เวลาเตรียมการได้เพียง 1-2 ชั่วโมง จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าต้องมีการเตรียมการนั้นมาก่อน ซึ่งสภาพสถานที่ก็ไม่เหมาะสมกับการสัมมนาที่อาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ สตง. อีกทั้งการจัดสัมมนาก็ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และไม่มีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสัมมนา ไม่เป็นการสัมมนาที่แท้จริงตามนิยามการสัมมนาทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการตามระเบียบการคลังฯ ที่จะมีสิทธิเบิก จึงไม่มีทางที่จะทำให้ สตง. ได้รับประโยชน์

      ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาด้วยว่าการนำเงินงบประมาณแผ่นดินไปใช้จัดสัมมนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐินฯ เพิ่มมากขึ้น และยังมีเงินเหลือจากงบประมาณจัดสัมมนาคืนแก่ทางราชการนับแสนบาทนั้น เห็นว่าการกระทำดังกล่าวนั้นไม่มีระเบียบหรือกฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ ต้องถือว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบ ส่วนที่อ้างเงินเหลือคืนนั้น เมื่อเป็นเงินงบประมาณที่ทางราชการไม่จำเป็นต้องจ่าย การที่มีเงินเหลือคืนไม่ว่าจะมากเพียงใดย่อมไม่อาจลบล้างความผิดของจำเลยที่ 1 ได้

      ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำเรื่องเสนอจำเลยที่ 1 อนุมัติโครงการสัมมนาในวันที่ 31 ต.ค.46 เพื่อให้ข้าราชการและลูกจ้าง สตง. ไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินฯ 3 แห่ง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พัก รวมทั้งได้รับเบี้ยเลี้ยงในการร่วมงานถวายผ้าพระกฐินฯ ที่เป็นการเบิกจ่ายงบประมาณโดยไม่มีสิทธิ หลังจากนั้นมีการจัดเลี้ยงอาหารเย็นไปพร้อมกับการบรรยายของนายสันติภาพ ซึ่งไม่ใช่การสัมมนาอย่างแท้จริง แต่เพื่ออำพรางนำเงินงบประมาณโครงการจัดสัมมนาจำนวน 294,440 บาท ไปใช้เพื่อประโยชน์ดังกล่าว เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ สตง. จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามมาตรา 157 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

     ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ใน สตง. ตั้งแต่เริ่มรับราชการจนเกษียณ ไม่ปรากฏว่าเคยมีประวัติถูกดำเนินการทางวินัย ถือได้ว่ามีคุณงามความดีมาก่อน ประกอบกับการกระทำของจำเลยแม้เป็นความผิดต่อกฎหมายและจริยธรรมของผู้ปฏิบัติในองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานรัฐ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์เป็นการส่วนตัวในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่น อีกทั้งเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนเงินไม่มากนัก เห็นสมควรให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1 โดยให้รอการลงโทษจำคุก แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 หลาบจำ เห็นควรลงโทษปรับเป็นเงิน 20,000 บาท

      พิพากษาแก้เป็นว่า คำให้การของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุก 9 เดือน และโทษปรับลดเหลือ 15,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลา 2 ปี 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการนั่งฟังคำพิพากษาภายในห้องพิจารณาคดีเป็นเวลาร่วม 2 ชั่วโมง คุณหญิงจารุวรรณ มีสีหน้าเรียบเฉย โดยนั่งประสานมือบนตัก ขณะที่เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จแล้วผู้พิพากษาก็ได้อธิบายผลคำพิพากษาให้จำเลยทราบอีกครั้ง 

    ต่อมาเมื่อ "คุณหญิงจารุวรรณ" จ่ายค่าปรับต่อศาลเสร็จสิ้นแล้ว เวลาเที่ยงเศษก็ได้หลบเลี่ยงที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ ต่อสื่อมวลชน โดยขึ้นรถด้านหลังอาคารศาล พร้อมกับญาติกลับทันที

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ