ข่าว

ลุ้นพิพากษาคดี24 แกนนำ นปช. ก่อการร้ายวันนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลอาญานัดชี้ชะตา 24 แกนนำ นปช. ก่อการร้าย วันนี้ เหตุการณ์ความไม่สงบปี 53

      วันนี้ (14 ส.ค.62) ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ณ ห้องพิจารณาคดี 701 เวลา 09.00 น. ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีกล่าวหา "24 แกนนำแนวร่วมประชาชานต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ร่วมกันก่อการร้าย หลังจากสืบพยานนัดสุดท้ายเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา

   ซึ่งคดีนี้ พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 และกลุ่มผู้ค้าที่ได้รับความเสียหายรวม 42 ราย ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อายุ 71 ปี อดีตประธาน นปช. จำเลยที่ 1 , นายจตุพร หรือตู่ พรหมพันธุ์ อายุ 54 ปี ประธาน นปช และผู้สนับสนุนพรรคเพื่อชาติ ที่ 2 , นายณัฐวุฒิ หรือเต้น ใสยเกื้อ อายุ 44 ปี เลขาธิการ นปช. และอดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียง พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่ 3 

    กลุ่มแกนนำ-แนวร่วม นปช  นพ.เหวง โตจิราการ อายุ 68 ปี อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ทษช. ที่ 4  , นายก่อแก้ว พิกุลทอง อายุ 54 ปี อดีตสมาชิกพรรค ทษช. ที่ 5  , นายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา อายุ 67 ปี ที่ 6 , นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก อายุ 61 ปี ที่ 7 , นายนิสิต สินธุไพร อายุ 63 ปี อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ที่ 8 , นายการุณ หรือเก่ง โหสกุล อายุ 52 ปี ส.ส.เพื่อไทย ที่ 9 , นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 68 ปี ที่ 10 , นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุจินดาทอง อายุ 59 ปี อดีตลูกน้อง คนสนิทพล.ต.ขัตติยะ หรือเสธ.แดง สวัสดิผล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ที่ 11, นายสุขเสก หรือสุข พลตื้อ อายุ 43 ปี ที่ 12 , นายจรัญ หรือยักษ์ ลอยพูล อายุ 48 ปี การ์ด นปช. ที่13  , นายอำนาจ อินทโชติ อายุ  63 ปี ที่ 14 , นายชยุต ใหลเจริญ อายุ 46 ปี หัวหน้าการ์ด นปช. ที่ 15  , นายสมบัติ หรือผู้กองแดง มากทอง อายุ 57 ปี ที่ 16 , นายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ อายุ 34 ปี อดีตคนสนิท เสธ.แดง ที่ 17 , นายรชต หรือกบ วงค์ยอด อายุ 38 ปี ที่ 18 , นายยงยุทธ ท้วมมี อายุ 63 ปี แนวร่วม นปช. ที่19 

นายอร่าม แสงอรุณ อายุ 58 ปี หัวหน้าการ์ด นปช.อดีตลูกน้องคนสนิท เสธ.แดง ที่ 20 , นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ อายุ 38 ปี อดีตคนสนิท เสธ.แดง ที่ 21  , นายสมพงษ์ หรืออ้อ หรือแขก หรือป้อม บางชม ที่ 22 , นายมานพ หรือเป็ด ชาญช่างทอง อายุ 58 ปี กลุ่มการ์ด นปช.ที่ 23 , นายอริสมันต์ หรือกี้ พงศ์เรืองรอง อายุ 55 ปี แกนนำ นปช. ที่ 24

  ในความผิด 6 ข้อหา ฐานร่วมกันก่อการร้าย โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ โดยมีความมุ่งหมายขู่เข็ญรัฐบาลไทยให้กระทำการใด หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 , ขู่เข็ญว่าจะทำการก่อการร้าย โดยสะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือตระเตรียมการสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ตาม ม.135/2 , ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินฯ ม.116 , มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ หรือเป็นหัวหน้าสั่งการฯ ม.215 , เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำแล้วไม่เลิก ม.216 ,ร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในท้องที่ผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 

   โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาขณะที่จำเลยส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัวชั้นพิจารณาด้วยหลักทรัพย์ 600,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ลักษณะดูหมิ่นผู้อื่น ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ของผู้อื่น หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กับห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

สำหรับคดี อัยการทยอยยื่นฟ้องกลุ่มแกนนำ นปช. เป็นชุดๆ 4 สำนวน ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.53 เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2542/2553 ,  อ.4339/2553 ,  อ.757/2554 , อ.4958/2554 จนครบ 24 คน และมีการรวมพิจารณาคดีเดียวกัน ซึ่งใช้เวลาพิจารณาพยานหลักฐานและสืบพยานบุคคล มานานร่วม 9 ปี โดยระหว่างการสืบพยานศาลจะพิจารณานัดดพร้อมเป็นระยะๆ เพื่อร่วมคู่ความกำหนดกรอบประเด็นสืบและระยะเวลาสืบพยานเนื่องจากทั้งโจทก์-จำเลย ต่างเสนอขอสืบพยานนับร้อยปาก โดยทำการสืบพยานต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มสืบพยานโจทก์ตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.55 และเริ่มสืบพยานจำเลยปี 2562 กระทั่งได้นัดฟังคำพิพากษาวันนี้ (14 ส.ค.62) 

โดยฟ้องของโจทก์ ระบุพฤติการณ์กล่าวหาสรุปว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ. - 20 พ.ค.53 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งหมดกับพวก ร่วมกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ซึ่งถึงแก่ความตาย โดยนายวีระกานต์ จำเลยที่ 1-ที่ 11 ซึ่งเป็นแกนนำ นปช. (กลุ่มคนใส่เสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์) ได้ยุยงปลุกปั่นประชนทั่วราชอาณาจักรไทย ให้เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและบังคับขู่เข็ญ "นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ" นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ให้ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ อ้างว่านายอภิสิทธิ์ มาเป็นนายกฯ โดยมิชอบ และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2550 ซึ่งพวกจำเลยได้ร่วมกันจัดการชุมนุมจำนวนหลายหมื่นคนที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ , ฝั่ง ถ.ราชดำเนิน ตั้งแต่สี่แยกคอกวัว ถึงสี่แยกมิสกวัน , ฝั่ง ถ.พิษณุโลกจากสะพานชมัยมรุเชษฐ ถึงสี่แยกวังแดง และยริเวณแยกราชประสงค์ และยังมีการเดินขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆด้วย ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) , อาคารรัฐสภา , กรมทหารราบที่ 22 และบ้านพักของนายอภิสิทธิ์ นายกฯ (ย่านสุขุมวิท) โดยมีการใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ยิงใส่บ้านพักประชาชนด้วย


นอกจากนี้จำเลยกับพวก ยังได้สะสมกำลังพลและอาวุธสงครามร้ายแรง มีการฝึกกำลังคนและฝึกการใช้อาวุธใช้ชื่อ "กลุ่มนักรบพระเจ้าตาก" , "กลุ่มนักรบโรนิน" ,  "กลุ่มนักรบพระองค์ดำ" เพื่อการก่อการร้าย สร้างความปั่นป่วนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน โดยใช้ยานพาหนะเคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมไปตามถนนใน กทม. แบบดาวกระจาย เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความเสียหายแก่การคมนาคม ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนเกรงกลัวอันตรายต่อชีวิต-ร่างกาย-ทรัพย์สิน และยังขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน ซึ่งพวกจำเลยและกลุ่มผู้ชุมนุม ยังได้ใช้เลือดจำนวนมากไปเทราดที่หน้าทำเนียบรัฐบาล , หน้าพรรคประชาธิปัตย์ และบ้านพักนายกรัฐมนตรี กับมีการใช้เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่กองรักษาการณ์ของกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ , กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุม ครม. กับยิงใส่กองบัญชาการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) มีทหารได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ใช้เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี ยิงใส่กระทรวงกลาโหม , ขว้างระเบิดใส่กรมบังคับคดี และอาคารมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ , ยิงปืนใส่ธนาคารกรุงเทพ ,  ขว้างระเบิดใส่ประตูทางเข้าทำเนียบรัฐบาลและสถานที่ราชการต่างๆ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐและผู้อื่น เพื่อบีบบังคับกดดันรัฐบาลให้ทำตามข้อเรียกร้อง ซึ่งการกระทำของจำเลยกับพวกในการเดินขบวนชุมนุมประท้วงรัฐบาลดังกล่าวไม่เป็นการกระทำโดยใช้สิทธิเสรีภาพตามขอบเขตของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการกีดกั้นกีดขวางการใช้เส้นทางคมนาคมส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ที่สำคัญเกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตปกติสุขของประชาชน กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ม.34 , 36 

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 "นายอภิสิทธิ์" นายกฯ ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 ม.5 ,11 โดยความเห็นชอบของ ครม. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กทม , ปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆ โดยห้ามไม่ให้ชุมนุมหรือมั่วสุมเกิน 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการอันใดเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือ กีดขวางการจราจร ปิดทางเข้าออกอาคารหรือสถานที่ ที่จะเป็นการขัดขวางการปฎิบัติงาน หรือประกอบกิจการหรือการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนทั่วไป , ห้ามประทุษร้ายหรือใช้กำลังทำให้ประชาชนเดือดร้อนเสียหายเกรงกลัวอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน 

โดยจำเลยกับพวก รู้อยู่แล้วว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรม ซึ่งรัฐบาลสั่งให้ยุติการชุมนุมแล้ว แต่จำเลยกับพวกไม่ยุติ มีการนำกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปที่ทำการรัฐสภาทำร้ายร่างกายทหาร แย่งชิงอาวุธปืนเอ็ม 16 ไป 1 กระบอก , บุกรุกไปในสถานีดาวเทียมไทยคม 2 อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี กระทั่งวันที่ 10 เม.ย.53 จำเลยกับพวก และผู้ชุมนุมได้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปฎิบัติการกดดันผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และแยกราชประสงค์ โดยมีการใช้กำลังประทุษร้ายและใช้อาวุธปืนสงคราม , ระเบิดขว้าง , เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่ทหารประชาชน เป็นเหตุให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวกรรม และประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก หลังจากนั้นมีการลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อต้องการให้ไฟฟ้าดับทั่ว กทม. อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ

ต่อมาวันที่ 14 เม.ย.53 จำเลยกับพวก ยังได้ไปร่วมตัวชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ปิดเส้นทางการจราจร , สร้างเครื่องกีดขวางรอบพื้นที่ชุมนุม โดยดัดแปลงใช้ไม้ไผ่ ไม้ปลายแหลม ยางรถยนต์ปิดกั้นเส้นทางบริเวณแยกศาลาแดง , แยกหลังสวน , แยกเพลินจิต , แยกชิดลม , แยกประตูน้ำ , แยกปทุมวัน , แยกเฉลิมเผ่า มีการยิงระเบิดใส่ธนาคารกรุงเทพฯ สาขาสีลม และสาขาอื่นๆ กับสถานที่ต่างๆ ไม่น้อยกว่า 50 แห่ง เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวแก่ประชาชนและระบบเศรษฐกิจ โดยวันที่ 28 เม.ย. จำเลยกับพวก ได้ยุยงให้ผู้ชุมนุมไปที่ตลาดไท และได้ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร บริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน และสนามบินดอนเมือง มีการใช้อาวุธยิงทหารเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 2 คน และยังมีผู้อื่นบาดเจ็บอีก 16 คน นอกจากนี้ในต่างจังหวัดก็ได้ทำการปิดถนน ตั้งด่านตรวจพาหนะ , บังคับให้ขบวนรถไฟที่บรรทุกยุทธภัณฑ์ทางทหารไม่ให้เดินทางต่อ จากนั้นวันที่ 29 เม.ย.จำเลยกับพวกยังได้นำผู้ชุมนุม 200 คน ไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อ้างว่ามีทหารแอบซ่อนตัวอยู่ ทำให้แพทย์ พยาบาลไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ ซึ่งนอกจากการกระทำของพวกจำเลยดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วยังก่อให้เกิดความวุ่นวาย นำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ มีการใช้กำลังขัดขืนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีเจตนาบิดเบือนให้เกิดการเข้าใจผิดเพื่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ต่างๆทั่วราชอาณาจักร กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ


จนเมื่อวันที่ 19-20 พ.ค.53 รัฐบาลได้ดำเนินการกระชับพื้นที่และกดดัน ให้จำเลยกับพวกผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่และยุติการชุมนุม แต่จำเลยกับพวกมีการสะสมกำลังพลและมีอาวุธสงครามร้ายแรงต่อสู้ขัดขวาง ใช้ปืนยิงต่อสู้เจ้าพนักงาน และวางเพลิงเผาทรัพย์สินของรัฐ-เอกชน , เผาห้างสรรพสินค้าและอาคารพาณิชย์ต่างๆ ทั่วกรุงเทพ , เผาศาลากลาง-สถานที่ราชการต่างจังหวัดหลายแห่ง เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก ซึ่งหลังเกิดเหตุ เจ้าพนักงานยึดอาวุธปืน กระสุน และวัตถุระเบิดซึ่งเป็นของจำเลยกับพวกได้หลายรายการ ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งหมดให้การปฎิเสธ


/////////////////////////////////

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ