ข่าว

"อดีต กรธ." ย้ำ รธน.วางบทบาท ส.ว.ตรวจสอบรัฐบาล-ถ่วงดุล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อดีต กรธ." ย้ำ "รธน." วางบทบาท "ส.ว." ตรวจสอบรัฐบาล-ถ่วงงานสภาฯ คาดหวัง ส.ว. จะทำตามบทบาท-ยึดประโยชน์ชาติ

 

           รัฐสภา ทีโอที 2 ก.ค. 62 - ในงานสัมมนาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประจำปี 2562 นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวตอนหนึ่งถึงความสำคัญของวุฒิสมาชิก ว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บัญญัติให้อำนาจของส.ว. โดยมีเจตนาให้ ส.ว.เป็นฝ่ายตรวจสอบ, กลั่นกรอง และถ่วงดุลการทำหน้าที่ของ ส.ส. เพราะส.ส. ที่มาจากพรรคการเมืองที่บริหารจัดการโดยคำนึงถึงกลุ่มผลประโยชน์ และพรรคการเมืองของตนเองเป็นหลัก

 

          อย่างไรก็ตามไม่ได้แปลว่า ส.ว. ต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้านกับรัฐบาล ในบทบาทของส.ว.ที่สำคัญ และแตกต่างจากเดิม คือ ต้องทำหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ผ่านคณะกรรมาธิการฯ คณะต่างๆ แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากจะเป็นผู้เลือกรัฐบาลบริหารประเทศ แต่ส.ว.มีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้ เพื่อให้รัฐบาลดำเนินกิจการต่างๆ ไปในทิศทางที่สนองต่อประโยชน์ของประชาชน รวมถึงติดตามการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลรวมถึงการบริหารราชการแผ่นดิน, มีหน้าที่กลั่นกรองบุคคลก่อนเข้ารับตำแหน่ง อาทิ ศาลปกครองสูงสุด, ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตัดอำนาจส.ว. ต่อการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง เนื่องจาก ผู้ทำร่างรัฐธรรมนูญมองว่าเป็นประเด็นที่ทำให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงการทำงานของส.ว. จนขาดความเป็นอิสระ

 

          นายอุดม กล่าวด้วยว่า ขณะที่บทบาทที่สำคัญ ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ส.ว.ต้องติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัด ให้การปฏิรูปเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้บทเรียนของการปฏิรูปที่เกิดขึ้น หากจะให้ประเทศพัฒนาโดยรอฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งคงไม่สามารถทำได้ เพราะไม่ทราบว่าจะถูกดึงให้การปฏิรูปไปในทิศทางใดไม่ชัดเจน ดังนั้นบทบาทที่ผู้ทำร่างรัฐธรรมนูญ ต้องทำให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จ ผ่านการกำหนดเป้าหมายไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ

 

          "บทบาทของส.ว. ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 5 ปีแรก ต้องกำหนดทิศทาง วางกรอบให้การเดินไปข้างหน้าเป็นไปอย่างมีกิจลักษณะ มีแบบแผน วางแผนเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่ว่าใครจะมองส.ว. หรือวิจารณ์ว่าส.ว.ไปในทิศทางใด แต่ความปรารถนาของรัฐธรรมนูญ คือ การสร้างให้เกิดความเชื่อมต่อระหว่างการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและการเมืองที่เตรียมมา ซึ่งส.ว.มีบทบาทสำคัญที่จะนำการเมืองไปสู่ระบบที่สมควรจะเป็น หากส.ว.พบสิ่งที่เป็นปัญหาต้องควรให้คำแนะนำ รวมถึงส.ว.ต้องทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ"​ นายอุดม กล่าว.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ