ข่าว

"วิษณุ" เปิด 10 รายชื่อกรรมการสรรหาส.ว.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วิษณุ" เปิด 10 รายชื่อกรรมการสรรหาส.ว. ยืนยันไม่มีกรรมการคนใดเสนอชื่อตนเองเป็น ส.ว.

 

          นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยถึงกรณีการเปิดเผยรายชื่อส.ว.สำรองทั้ง 50 คน จากกลุ่ม ส.ว.สรรหา 194 คน ซึ่งเป็นคนละส่วนกับรายชื่อสำรอง 50 คนของส.ว.จากกลุ่มอาชีพ พร้อมระบุว่าส.ว.สำรองทั้ง 50 คนไม่มีปัญหาเรื่องการขาดคุณสมบัติ หากต้องได้รับการดำรงตำแหน่ง ต้องเคลียร์คุณสมบัติให้จบภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมยืนยันว่ากรณีที่มีชื่อของ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เป็นรายชื่อ ส.ว.สำรองจะไม่มีปัญหา

 

          นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ถ้าหากยังดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีจะต้องลาออกก่อน หากต้องไปดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว. และสามารถสละสิทธิ์ได้ แต่ไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งอีกได้หากข้ามรายชื่อไปแล้ว ส่วนกรณีที่รายชื่อของนายดอนขึ้นมาเป็นรายชื่อสำรองอันดับ 1 เพราะให้เกียรติ และเหมาะสมจะเป็น ส.ว.ตัวจริง แต่เหตุที่ไม่ได้แต่งตั้งเป็นตัวจริง เนื่องจากต้องปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมอาเซียน ส่วนการประกาศรายชื่อ ส.ว.สำรอง 50 คนล่าช้านั้นไม่เข้าข่ายผิดตามข้อกฎหมาย

 

          ส่วนรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. นายวิษณุ ระบุว่า ตามกฎหมายแล้วคณะกรรมการสรรหาจะมีจำนวน 9-12 คน ซึ่ง คสช.ได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสรรหาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 โดยมีคณะกรรมการสรรหาทั้งสิ้น 10 คน ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเป็นประธาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และตน

 

          ขณะที่รายชื่อจากสายที่ คสช.เลือกมามีจำนวน 5 คนประกอบด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งเป็นสมาชิกของ คสช และนายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธาน สนช. ซึ่งคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ทั้งหมดจะต้องเป็นกลางทางการเมือง และต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ต่อมานายพรเพชรได้ลาออกโดยไม่ได้เข้าประชุมแม้แต่ครั้งเดียว

 

         โดย นายวิษณุ ยังเปิดเผยว่า การประชุมของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. มีการประชุมทั้งหมด 6 ครั้งแบ่งเป็นแบบทางการ 3 ครั้ง โดยมีการประชุมที่ มูลนิธิป่ารอยต่อ 1 ครั้งและทำเนียบรัฐบาล 2 ครั้ง และไม่เป็นทางการ 3 ครั้ง ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งการประชุมที่มูลนิธิป่ารอยต่อเป็นการประชุมนอกเวลาราชการ ส่วนที่เหลือเป็นการประชุมในเวลาราชการลับ โดยส่วนใหญ่ในการประชุมดังกล่าวไม่ใช่การประชุมลับเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมรับฟัง โดยคณะกรรมการทั้งหมดได้รับมอบหมาย สรรหารายชื่อ ส.ว.ในแต่ละสายจำนวนคนละ 50 รายชื่อ ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร สรรหาในสายความมั่นคงจำนวน 50 รายชื่อ พล.อ.อ.ประจิน สรรหาในสายวิทยาศาสตร์ การศึกษาและยุติธรรม และสื่อมวลชน 50 รายชื่อ

 

          นายสมคิด สรรหาในสายเศรษฐกิจ 50 รายชื่อ พล.อ.ฉัตรชัย สรรหาในสายเกษตรและสังคม 50 รายชื่อ ส่วนตนเอง สรรหาในตำแหน่งกฎหมาย 50 รายชื่อ ซึ่งจากรายชื่อทั้งหมด 400 กว่ารายชื่อเหลือเพียง 395 รายชื่อ โดย 194 รายชื่อ เป็นตัวจริง และอีก 50 รายชื่อ จะเป็นรายชื่อสำรอง และรวบรวมรายชื่อทั้งหมดส่งให้ คสช. ซึ่งคสช.มีการพิจารณาทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งเป็นการไล่ดูรายชื่อแบบรายบุคคลรวมไปถึงประวัติ โดยหากพบว่ารายชื่อใดมีส่วนได้เสียก็จะถูกคัดออก โดยหลักเกณฑ์การคัดเลือกรายชื่อส่วนใหญ่จะอิงจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็น 2 สนช. สปท. และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ส่วนรายชื่อของส.ว.ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาผู้ใด ผู้นั้นจะงดออกเสียงหรือไม่อยู่ในที่ประชุม โดยทุกอย่างถูกจดลงในวาระการประชุม พร้อมยืนยันว่าไม่มีคณะกรรมการคนใดเสนอรายชื่อของตนเอง เป็นหนึ่งในส.ว.สรรหา ส่วนที่ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหาก่อนหน้า เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการวิ่งเต้น พร้อมกับยืนยันว่ารายชื่อที่มีผู้ร้องเรียนได้ส่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ