ข่าว

"ซูเปอร์โพล"ชี้ผู้นำเดินสู่จุดเสื่อมแนะทำตาม"สัญญาใจ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ซูเปอร์โพล"มีการเสนอซื้อตัวส.ส.โหวตนายกฯ จัดตั้งรัฐบาลแบ่งเค้กผลประโยชน์ ผู้นำทางการเมืองกำลังเดินไปสู่จุดเสื่อม แนะทำตาม"สัญญาใจ"

 

8 มิถุนายน 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง จุดที่เสื่อม หรือ จุดที่เจริญ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ  

 

จำนวนทั้งสิ้น 1,122 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ระหว่าง 3 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา

 

โดยเมื่อถามถึงการเสนอซื้อตัว ส.ส. เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องจริง หรือ สร้างเรื่อง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.3 คิดว่าเป็นเรื่องจริง ในขณะที่ร้อยละ 16.2 คิดว่าเป็นเกม ทำลายความน่าเชื่อถือ และร้อยละ 11.5 คิดว่าเป็นการสร้างเรื่อง ปั่นราคาค่าตัว นอกจากนี้ เมื่อถามถึงระดับความเป็นธรรมทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.1 ระบุน้อย ถึง ไม่มีเลย ในขณะที่ร้อยละ 12.9 ระบุ มาก ถึง มากที่สุด

 

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.3 ระบุ การจัดตั้งรัฐบาลขณะนี้ ทำเพื่อแบ่งเค้กผลประโยชน์ ในขณะที่ร้อยละ 10.7 ระบุทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.9 ระบุผู้นำทางการเมืองกำลังเดินไปสู่จุดที่เสื่อมต่อตัวเอง ในขณะที่ ร้อยละ 18.1 ระบุผู้นำทางการเมืองกำลังเดินไปสู่จุดที่เจริญ

 

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า จำเป็นต้องดับไฟแต่ต้นลม เพราะอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนไม่เป็นบวกต่อผู้มีอำนาจทางการเมืองตอนนี้ จึงต้องทำการเมืองให้นิ่งมากที่สุด ตามหลักการส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยที่แท้จริงคือ ฝ่ายการเมืองต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาลดความขัดแย้ง ไม่ใช่เป็นต้นตอของความขัดแย้งเสียเอง การเป็นรัฐบาลผสมจึงสะท้อนภาพแท้จริงของสังคมที่หลากหลายแตกต่างกัน 

 

“ทางออกคือ ผู้มีอำนาจฝ่ายการเมืองควรทำตาม “สัญญาใจ” ที่ให้ไว้กับพรรคร่วมรัฐบาลก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การไม่ทำตามสัญญาใจดังกล่าวอาจถูกมองได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการยึดอำนาจที่เรียกว่า ซอฟต์คู (Soft Coup) และจะไม่เป็นผลดีต่อการเริ่มต้นในการแก้ปัญหาของชาติและประชาชน บ้านเมืองจะเดินหน้ายากเพราะขาดการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลและมวลชนแตกต่างจาก ฮาร์ดคู (Hard Coup) ในปี 57 เพราะตอนนั้นได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ” ผศ.ดร.นพดล กล่าว
 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ