ข่าว

รับรอง ส.ส. ไม่ทัน "เดดล็อก" หรือไม่ถึงเวลาค่อยคิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วิษณุ" ชี้ หาก "ศร." รับวินิจฉัยวิธีคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ก็หมดเรื่อง แนะ ควรถามกรอบเวลารับรองผลพ่วงไปด้วย ชี้ พ.ร.บ.งบฯ ไม่ใช่ ก.ม.ปฏิรูป

 

               เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 62 เวลา 09.00 น. ที่ ทำเนียบรัฐบาล  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมยื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ (ศร.) ให้ตีความหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีได้ ตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ว่า ถ้าศาลไม่รับเรื่อง กกต. ต้องชี้แจงรายละเอียดเอง ถ้าชี้แจงแล้วมีใครไม่เห็นด้วยก็ไปร้องต่อศาลได้ เรื่องนี้ต้องรอดูว่าศาลจะว่าอย่างไร ถ้ารับเรื่องเอาไว้ก็หมดเรื่อง และเมื่อรับแล้วจะพิจารณาช้าหรือเร็วก็ต้องว่ากันไป

 

 

 

               “ผมคิดว่าศาลต้องเร่งทำให้เสร็จก่อนวันที่ 9 พ.ค. นี้ ตามที่ กกต. ระบุว่าต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่กฎหมายเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ เห็นว่า กกต. ควรถามเรื่องกรอบเวลาการรับรองผลไปในคราวเดียวกันด้วยว่าจะเป็น 150 วัน หลังกฎหมายเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ หรือภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง”

               ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเร่งให้ กกต. รีบพิจารณาการให้ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน การให้ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง เป็นเรื่อง ส.ส. เขต ไม่เกี่ยวกับ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ กกต. สามารถทำควบคู่ไปได้เลย แต่ถ้าศาลมีคำวินิจฉัยแล้วยังมาติดเรื่องใบเหลือง ใบแดง อย่างนั้นถือเป็นความบกพร่องของ กกต. เอง

               เมื่อถามว่า ถ้า กกต. ประกาศรับรอง ส.ส. ไม่ทันในวันที่ 9 พ.ค. นี้ จะทำให้เกิดการเดดล็อกขึ้นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ไม่ทราบ ผมไม่รู้ ไว้ถึงเวลาค่อยบอก ค่อยคิดกันต่อ”

               นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอ นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ให้ใช้ช่องทางตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ ส.ว. ร่วมโหวตกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปได้ เพื่อแก้ปัญหาเสียงไม่พอในสภาฯ ว่า เรื่องดังกล่าวใช้ไม่ได้ทั้งหมด ช่องทางดังกล่าวสามารถแก้ได้บางส่วน แต่ไม่ได้ทั้งหมด จะใช้ได้กับกฎหมายบางฉบับเท่านั้น และแก้ไม่ได้ตลอดไป สมมติกฎหมายทั้งหมดมี 100 ฉบับ ที่จะเสนอ ถ้ารัฐบาลบอกว่า 30 ฉบับ เป็นกฎหมายปฏิรูป 30 ฉบับนั้นต้องประชุมร่วมรัฐสภา ก็จะเหลืออีก 70 ฉบับ ถ้าบอก 70 ฉบับ เป็นกฎหมายปฏิรูปก็เหลืออีก 30 ฉบับ รัฐบาลคงไม่กล้าบอกว่าทั้ง 100 ฉบับ เป็นกฎหมายปฏิรูปแล้วให้มีการประชุมร่วม ดังนั้น มาตราดังกล่าวถือเป็นทางออกของปัญหาแต่ไม่ใช่ทั้งหมด และไม่มีมาตราใดที่จะเป็นทางออก เพราะบางเรื่องต้องเสนอเข้าสภาแต่ละสภาแยกกันพิจารณาไป

 

 

 

               “กฎหมายใดที่รัฐบาลบอกไปยังสภาว่าเป็นกฎหมายปฏิรูป ต้องประชุมร่วมกันอยู่แล้ว แต่มีบางฉบับที่ไม่ใช่กฎหมายปฏิรูป เช่น พ.ร.บ.งบประมาณ เป็นต้น ดังนั้น ไม่ใช่ว่าต้องไปดึง ส.ว. มาร่วม หรืออันธพาลเสียงมากลากไป เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่าถ้าเป็นกฎหมายปฏิรูปต้องประชุมร่วม ไม่เช่นนั้นการประชุมจะเป็นโมฆะอยู่แล้ว แต่คงไปทำแบบนี้กับกฎหมายทุกฉบับไม่ได้ มาตราดังกล่าวไม่ใช่ทางออกที่หมดจด แต่การมีเสียงข้างมากนั่นแหละที่จะเป็นทางออกที่หมดจด” นายวิษณุ กล่าว

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ