ข่าว

" ธีระชัย"จม.เปิดผนึกถึงกกต.วันเลือกตั้ง 24 มี.ค. ส่อผิด กม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

" ธีระชัย"จม.เปิดผนึกถึงกกต. ชี้ วันเลือกตั้ง 24 มี.ค. ส่อผิด กม. เพราะกำหนดเกิน 60 วันนับแต่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง

       นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” หัวข้อ “จดหมายเปิดผนึกถึง กกต. รายตัว เรื่องวันเลือกตั้งอาจจะผิดกฎหมาย” มีเนื้อหาดังนี้     

      ด่วนที่สุด​​

    วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๒

    เรื่อง  การกำหนดวันเลือกตั้งที่อาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

    เรียน  ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

     ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศเรื่อง กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๒ ซึ่งข้อ ๑. กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ นั้น

    ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าอาจเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ จึงขอเรียนแก่ท่าน ดังนี้

   ข้อ ๑. ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับวันเลือกตั้ง

    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ บัญญัติว่า “มาตรา๑๐๒ เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ

   การเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนดในราชกิจจานุเบกษา” และ

                           " ธีระชัย"จม.เปิดผนึกถึงกกต.วันเลือกตั้ง 24 มี.ค. ส่อผิด กม

    “มาตรา๑๐๓ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป

      การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทําโดยพระราชกฤษฎีกาและให้กระทําได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

      ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ วันเลือกตั้งนั้นต้องกําหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร”

     เหตุผลเพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวผู้สมัครและการหาเสียงที่พอเพียง แต่ในเวลาเดียวกันมิให้เนิ่นนานเกินกว่าสมควร

     สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากการปฏิวัติรัฐประหารนั้น ไม่ว่ากระบวนการเกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อการแบ่งเขต และวิธีการจัดการเลือกตั้ง มิได้มีข้อบัญญัติใดเป็นการเฉพาะ จึงต้องใช้ข้อบัญญัติทั้งหลายในรัฐธรรมนูญ

      และถึงแม้ในบทเฉพาะกาล มาตรา ๒๖๘ จะบัญญัติให้ดําเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๖๗ (๑) (๒) (๓) และ (๔) มีผลใช้บังคับแล้ว ก็เป็นเงื่อนไขเพิ่มเติม มิใช่เงื่อนไขที่ยกเว้นการปฏิบัติตามข้อบัญญัติทั้งหลายในรัฐธรรมนูญ

     นอกจากนี้ เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากการปฏิวัติรัฐประหาร ย่อมไม่มีเหตุการณ์สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๒ หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๐๓ นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วยในฐานะเป็นผู้ถือรัฏฐาธิปัตย์ จึงเป็นผู้ใช้อำนาจเสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๖๒ จึงย่อมมีฐานะเป็นพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๑๐๓ และการกำหนดวันเลือกตั้งก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๑๐๓ คือต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ

    ข้อ ๒. วันเลือกตั้งเป็นวันที่หกสิบเอ็ดนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ

    เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๖๒ ประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๒ และบัญญัติว่า

   “มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป”

    วันเลือกตั้งซึ่งกำหนดเป็นวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒จึงเกินกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ ซึ่งอาจจะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐

    ข้าพเจ้าจึงขอแนะนำให้ท่านพิจารณาข้อมูลนี้โดยรอบคอบในการประกาศผลการเลือกตั้ง

   จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

  ขอแสดงความนับถือ​​​​​

  (นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    สำเนาเรียน

ศาสตราจารย์ ดร. สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กรรมการการเลือกตั้ง

นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย กรรมการการเลือกตั้ง

นาย ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี กรรมการการเลือกตั้ง

นาย ปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง

นาย เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ กรรมการการเลือกตั้ง

ดร. ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ