ข่าว

"เพื่อไทย" ได้ ส.ส.เขตเกินคะแนนนิยม พรรคอื่นต้องถูกทอนส.ส.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อดีตที่ปรึกษา กรธ." ชี้ "เพื่อไทย" ได้ ส.ส.เขตเกินคะแนนนิยม พรรคอื่นต้องถูกทอน "ส.ส.บัญชีรายชื่อ"

 

"อดีตที่ปรึกษา กรธ." ชี้ "เพื่อไทย" ได้ ส.ส.เขตเกินคะแนนนิยม พรรคอื่นต้องถูกทอน "ส.ส.บัญชีรายชื่อ" เหตุ รธน.กำหนดให้มี ส.ส.ไม่เกิน 500 คน แนะ "กกต." แจงวิธีคำนวณให้ดี ประเมินพรรคใหญ่ถูกทอน กระทบฟอร์มรัฐบาล แต่ไม่เกิดปัญหาใหญ่ ยันระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ยังใช้ได้ ชี้ปมปัญหาที่ถูกท้วงติง เกิดจากกระบวนการเลือกตั้ง

 

          วันที่ 25 มี.ค. 62 - นายเจษฎ์ โทณะวนิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวยืนยันว่าระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ใช้ในการเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม ไม่เป็นปัญหาที่ทำให้การเลือกตั้งถูกท้วงติงจากหลายฝ่าย และมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากกระบวนการ อย่างไรก็ตามตนแปลกใจว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเชี่ยวชาญด้านจัดการเลือกตั้ง ทำไมไม่ใช้ประสบการณ์ช่วยให้การจัดการเลือกตั้งไม่มีข้อท้วงติง เช่น การส่งบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จาก ประเทศนิวซีแลนด์มาถึงหน่วยเลือกตังในประเทศไทย เป็นต้น

 

          นายเจษฎ์ ยังกล่าวถึงผลการนับคะแนน ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการ ที่ล่าสุดพบว่า พรรคพรรคพลังประชารัฐ มีคะแนนเลือกตั้งสูงสุด ที่ 7.9 ล้านคะแนน ได้ ว่าที่ ส.ส. จำนวน 119 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทย ที่ได้คะแนนเลือกตั้งรองลงมา คือ 7.4 ล้านคะแนน ได้ ว่าที่ ส.ส. จำนวน 135 คน ว่า การออกแบบการเลือกตั้งที่เน้นให้ทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ และให้คะแนนส่วนเกินจากระบบเขตเลือกตั้งเติมเต็มส.ส.ที่พึงมีในระบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้นตามกติกา เมื่อพรรคเพื่อไทยแม้ได้คะแนนนิยมเป็นอันดับสอง แต่ประชาชนเลือกให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตชนะ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยต้องได้รับสิทธิ์ในคะแนนนิยมดังกล่าว แม้จำนวน ส.ส.เมื่อนำมาคำนวณนิยมต่อส.ส.ที่พึงมีจะเกินกว่าค่าเฉลี่ยก็ตาม

 

          "ต้องเคารพเสียงของประชาชนที่เลือกตั้งส.ส.ในระบบเขต ดังนั้นแม้พรรคเพื่อไทยจะได้ จำนวน ส.ส.เกินกว่าค่าเฉลี่ยคะแนนนิยม ประมาณ 6.4 หมื่นคะแนนต่อ ส.ส.1 คน ไปกว่า 12 - 13 คน ต้องยกให้พรรคเพื่อไทย โดยจะตัด ส.ส.เขตออกไม่ได้ เพราะประชาชนเลือก ในขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ส่วนพรรคพลังประชารัฐ แม้คะแนนนิยมจะสูง แต่พบว่าเขตเลือกตั้งชนะน้อยกว่าพรรคพลังประชารัฐ จึงได้การเติมเต็มส.ส.ในแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้คงเจตนารมณ์ว่าทุกคะแนนของประชาชนไม่ตกน้ำ" นายเจษฎ์ กล่าว

 

          อดีตที่ปรึกษา กรธ. กล่าวด้วยว่า กรณีที่ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยได้เกินกว่าคะแนนนิยม ผลที่ต้องพิจารณา คือ จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีไม่เกิน 150 จะถูกลดทอนลงไปตามจำนวน ส.ส.ที่เกินมา เช่น คะแนนเบื้องต้นพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เกิน 13 คน ดังนั้นเพื่อให้จำนวน ส.ส.ไม่เกิน 500 ที่นั่ง ต้องทอนส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองอื่นออก 13 คนเช่นกัน อาทิ พรรคพลังประชารัฐ ที่อาจได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 21 คน อาจถูกทอนลงประมาณ 2-3 คน, พรรคอนาคตใหม่ ที่อาจได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 58 คน อาจถูกทอนลง 4-5  คน, พรรคภูมิใจไทย อาจได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13 คนอาจถูกทอนลง 1 คน เป็นต้น ทั้งนี้การคิดสัดส่วนดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ กกต. ต้องพิจารณา
 

          "กรณีทอนส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองอื่น เพื่อไม่ให้ จำนวนส.ส.เกิน 500 คนนั้น กกต. ต้องมีคำอธิบายให้ดีและให้สังคมเข้าใจว่า มีระบบคิดคำนวณอย่างไร อย่างไรก็ตามผมมองว่าการทอนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดๆ จะมีผลต่อการฟอร์มทีมร่วมรัฐบาลบ้างเล็กน้อย แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาหนัก" นายเจษฎ์ กล่าว.


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ