ข่าว

สนช.เอกฉันท์ ผ่านร่างก.ม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สนช.เสียงเอกฉันท์ ผ่านร่างกม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หลัง "กมธ.ฯ" ปรับเนื้อหาคืนเนื้อหาเดิม ยกเว้นเก็บ-เปิดเผย ข้อมูลฝ่ายการเมือง-ความมั่นคง

 

สนช. เสียงเอกฉันท์ ผ่านร่างกม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หลัง "กมธ.ฯ" ปรับเนื้อหาคืนเนื้อหาเดิม ยกเว้นเก็บ-เปิดเผย ข้อมูลฝ่ายการเมือง-ความมั่นคง พบปมคุ้มครองสิทธิ  -เสรีภาพ คนสื่อ ถูกตัดออกจากเนื้อหา หลังกม.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลทันที ยกเว้นบางหมวด เหตุต้องออกกติการองรับ

 

          วันที่ 28 ก.พ. 62 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ของ สนช. เป็นการพิจารณาต่อเนื่องมาจากการประชุม เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ซึ่งที่ประชุมขอเลื่อนเพื่อให้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ ที่มีนาเสาวณี สุวรรณชีพ เป็นประธาน กมธ.ฯ ปรับปรุงแก้ไขในประเด็นที่ถูกท้วงติง รวม 5 ประเด็น

 

          ได้แก่ 1.มาตรา 4 ว่าด้วยข้อยกเว้นการรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล จากเดิมที่กมธ.ฯ แก้ไขสิทธิ์ยกเว้นเฉพาะการเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้ หรือ เปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคลที่ใช้ประโยชน์ส่วนตัวหรือกิจกรรมในครอบครัวเท่านั้น ไปเป็นคืนเนื้อหาตามเดิมที่ได้รับเสนอมาจากวาระแรก คือ ครอบคลุมถึง 1.การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของรัฐ, ความปลอดภัยประชาน การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือนิติวิทยาศาสตร์ และรวมถึงความมั่นคงทางการคลังของรัฐ และ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2.บุคคลหรือนิติบุคคล ที่รวบรวมข้อมูลไว้เพื่อกิจการสื่อมวลชน, งานศิลปกรรม หรืองานวรรณกรรมตามจริยธรรมแห่งการประกอบอาชีพ 3.สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา รวมถึง กมธ. ที่แต่งตั้ง 4.การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลและการทำดำเนนิงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม และ 5.ข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตและสมาชิก

 

          ทั้งนี้กมธ.ฯ ได้เพิ่มความของเนื้อหาด้วยว่ากรณียกเว้นรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูล ต้องกำหนดลักษณะกิจการ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และเพิ่มความด้วยวาให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลและหน่วยงาน กำหนดมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลด้วย               

 

          2.แก้ไขมาตรา 16 (8) ว่าด้วยหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เพิ่มความให้ทบทวนการตราพระราชกฏษฎีกาหรือกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทุกๆ  5 ปี, 3. ตัดมาตรา 21/1 ที่คุ้มครองการใช้สิทธิ เสรีภาพ ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงออก, 4.มาตรา 26 เพิ่มถ้อยคำให้ความคุ้มครองบุคคลตามสภาพความพิการ ต่อการถูกรวบรวมข้อมูลโดยไม่ได้รบอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอย่างชัดเจน จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเช่อ ศาสนา ข้อมูลสุขภาพ เป็นต้น และ 5. ตัดหมวด 3/1 ว่าด้วยข้อจำกัดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ของเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลออกทั้งหมด

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เมื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้มีผลบังคับใช้ทันที ยกเว้น เนื้อหาที่ว่าด้วยการรวบรวม ใช้ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิการเข้าถึงข้อมูล การร้องเรียน การรับผิดทางแพ่ง และบทกำหนดโทษ เนื่องจากต้องให้เวลาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมด้านระเบียบ และการบริหารจัดการ ทำให้ผลบังคับใช้จะมีผลหลังจากวันประกาศใช้ร่างกฎหมาย แล้ว 1 ปี.

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ