ข่าว

"วิษณุ"อยากดู"บิ๊กตู่"ดีเบตรับเป็นห่วงตอบไม่เป็นอันตราย!!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วิษณุ"เผยเป็นเรื่องดี โยน"กกต."ชี้ขาด"บิ๊กตู่"ดีเบตได้หรือไม่ รับอยากดู เตือนพูดเป็นกลาง หลุดคำว่า"พลังประชารัฐ" อันตราย ห่วง สถานะคนนอกพูดชี้นำ

 

                        25 กุมภาพันธ์  2562 นายวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการร่วมเวทีดีเบตของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  

 

                        ว่าสามารถทำได้หรือไม่ว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุว่าจะสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถือเป็นการดี เพราะมีความไม่ชัดเจนอยู่ เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ ต่างจากแคนดิเดตนายกฯของพรรคอื่นที่เป็นผู้สมัคร ตรงนั้นจะไม่มีปัญหา แต่คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคไม่ได้เป็นผู้สมัคร อาจจะมีความหมิ่นเหม่อยู่ แต่ขณะนี้ตนไม่ทราบว่าพปชร.ถามไปหรือยัง และได้คำตอบแล้วหรือยัง ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าแคนดิเดตนายกฯ  ควรรวมดีเบตนั้นไม่มีใครสงสัย เพราะใคร ๆ ก็อยากดู อยากฟัง ตนก็อยากด้วย แต่ปัญหาคือมีข้อจำกัดสำหรับพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ และการที่พปชร.นำรูปพล.อ.ประยุทธ์ ไปขึ้นป้ายตามเวทีปราศรัย เพราะกกต.บอกว่าทำได้ หากไม่บอกมาเช่นนี้ ก็ไม่เชื่อว่าจะมีใครกล้า เช่นเดียวกับเรื่องดีเบต ถ้ากกต.บอกว่าได้ จะได้สบายใจหากมีการฟ้องร้องตรงนี้จะช่วยได้เยอะ ทั้งนี้ หาก กกต.ตอบว่าได้แล้วการจะไปหรือไม่อยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์

 

                        "ที่กฎหมายระบุให้ข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลาง คำว่าเป็นกลางมีความหมายไม่ไปโน้มเอียงกับฝ่ายใดถ้าดีเบตแล้วพูดนโยบายของตัวก็ถือว่าเป็นกลางซึ่งอาจจะคล้ายกับนโยบายพรรคอื่น เพียงแต่อย่าไปขานรับนโยบายพรรคไหนก็แล้วกันจึงยากนิดหนึ่งสำหรับคนที่เป็นนายกฯ อย่างพล.อ.ประยุทธ์ หากจะรับไปดีเบต แต่แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอื่นไม่ยุ่งยากในเรื่องนี้ เพราะไม่มีสถานะเป็นข้าราชการ แต่พล.อ.ประยุทธ์ มีความจำเป็นตรงเป็นกลาง ดีเบตได้ เราก็อยากดู แล้วดีเบตอย่างไรให้เป็นกลางถ้าทำได้ก็โอเค ถ้าทำไม่ได้ก็เสี่ยง และถ้าไปพูดถึงนโยบายพรรคก็ถือว่าเอนเอียงแต่ถ้าตอบให้เป็นนโยบายตัวเองถ้าตอบเป็นมันทำได้"


                        ต่อข้อถามที่ว่า  หากสิ่งที่พูดไปสอดคล้องกับนโยบายพปชร. นายวิษณุ กล่าวว่า
ทำไมไม่คิดว่านโยบายพรรคพปชร.มาสอดคล้องกับรัฐบาล หากพูดเป็นมันไม่ขัดความเป็นกลางของข้าราชการ หากพูดไม่เป็นอันตรายและการดีเบตคือการตั้งคำถามเดียวกันให้ทุกคนตอบ บางคำถามเป็นคุณเป็นโทษ บางคำถามคนอื่น แต่บางคำถามพล.อ.ประยุทธ์ ตอบอย่างไรก็เสียเปรียบ ไม่ใช่ตอบไม่ได้แต่จะถลำไปในสิ่งที่ท่านไม่ควรพูด

 

                      "ส่วนจะพูดคำว่าประชารัฐนั้นพล.อ.ประยุทธ์พูดได้ แต่ถ้าจะพูดว่าพลังประชารัฐนั้นอันตราย"

 

                      ผู้สื่อข่าวถามว่า  พล.อ.ประยุทธ์ มีสถานะเป็นคนนอกพรรคพปชร. การไปร่วมดีเบต เข้าข่ายชี้นำพรรคหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็มีโอกาสที่เป็นอย่างนั้น ตนจึงเป็นห่วงว่าตอบเป็นหรือเปล่า

                       

                       ส่วนสถานะของผู้สมัครส.ส.กับแคนดิเดตนายกฯ เทียบเท่ากันหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เทียบกันไม่ได้ มีความแตกต่างกันมาก

 

                      ต่อข้อถามที่ว่า ความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถอ้างความเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในการร่วมดีเบตใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้ากกต.บอกว่าได้จะได้หมดเรื่องแต่การไปร่วมวงดีเบตตนยังนึกไม่ออกจะพูดนโยบายของตัวของ พล.อ.ประยุทธ์หรือนโยบายของพรรคและโดยนิตินัย พฤตินัย หรืออะไรก็ตาม วันนี้เราพยายามไม่ให้สองอย่างเชื่อมโยงกัน ฉะนั้น เวลาพูดท่านอาจจะตอบในนโยบายของท่านเองอยู่ที่เทคนิคของผู้ร่วมวงดีเบตที่จะทำให้เห็นว่าสิ่งที่พูดเป็นนโยบายตัวเองนโยบายพรรค หรือนโยบายของหลายพรรค

 

                       ส่วนกรณีที่หนังสือกระทรวงมหาดไทยสอบถามกกต.ว่าผู้บริหารท้องถิ่นสามารถช่วยผู้สมัครส.ส.หาเสียงหลังเวลาราชการได้หรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อมีข้อสงสัยสอบถามไปเป็นสิ่งที่ดี เพราะก่อนหน้านี้มหาดไทยเคยมีหนังสือเวียนว่าผู้บริหารและสมาชิกท้องถิ่นทำอะไรได้หรือไม่ได้ ก่อนการประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้ง วันนี้เมื่อกฎหมายเลือกตั้งและพ.ร.ฎ.เลือกตั้งออกมาจึงสอบถามไปอีกรอบ เพราะหนังสือเวียนครั้งแรกบอกว่าทำไม่ได้ แต่มหาดไทยมานึกว่าบางอย่างอาจทำได้จึงสอบถามกกต.ไป ที่ผ่านมามหาดไทย เคยถามกกต.ในส่วนสมาชิกท้องถิ่นได้รับคำตอบว่าทำได้ครั้งนี้จึงถามในส่วนของผู้บริหารท้องถิ่น

 

                    ผู้สื่อข่าวถามถึงคุณสมบัติพล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเป็นหัวหน้าคสช.จะถือว่าขัดต่อการเป็นแคนดิเดตนายกฯ รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าหัวหน้าคสช.ไม่ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามนิยาม ม.98 ของรัฐธรรมนูญเพราะผู้ที่รับเงินเดือนของรัฐไม่ใช่ทุกคนจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตราดังกล่าว และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 57
ว่าคสช.ไม่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เนื่องจากไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีสถานะเป็นองค์กรหนึ่งที่ตั้งขึ้นชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญ

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ