ข่าว

ปัญหากระบวนการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นจากผลพวงวิวัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบควบคุมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิให้ใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบ

โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้ศาลฎีกาประสานการทำงานควบคู่ไปกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติจัดตั้งขึ้นในคราวเดียวกันคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินคดีเอาผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยมิชอบโดยใช้ระบบการไต่สวน

 สังคมคาดหวังให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถพิจารณาการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น กระบวนพิจารณาในศาลแห่งนี้จึงแตกต่างกว่าศาลยุติธรรม ที่ให้คู่ความในคดี จะต้องแสดงบทบาทสำคัญในการต่อสู้คดี ผู้พิพากษาจะต้องวางตัวเป็นกลางคอยควบคุมกฎเกณฑ์การต่อสู้มิให้คู่ความดำเนินคดีเอาเปรียบซึ่งกันและกัน เรียกว่า “ระบบกล่าวหา” ทั้งระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนมีวิวัฒนาการมาจากการปฏิบัติเกี่ยวกับการตัดสินความในประเทศแถบตะวันตกโดยระบบกล่าวหาใช้อยู่ในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ส่วนระบบไต่สวนใช้อยู่ในกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์

 กระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น โจทก์ไม่ต้องนำสืบเหมือนคดีอาญาทั่วไป เพราะบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลฎีกายึดสำนวนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหลัก หลังจากนั้นศาลจะแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างอื่น การไต่สวนพยานจึงเป็นหน้าที่ของศาลจะเป็นผู้ถามก่อน โดยไม่ต้องรอให้พยานอ้างอิงเอกสาร การทำหน้าที่ของศาลจึงเป็นการทำหน้าที่ “พิจารณาทบทวนสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.” และมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ด้วย หากสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.สมบูรณ์แล้วก็สามารถตัดสินคดีได้เลย

 ผู้เขียนเห็นว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน

 เป็นเหตุให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องอาศัยการตีความในปัญหาข้อกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ การใช้ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมศาลสูงสุดเป็นผู้รับภาระดูแลคดีนั้น ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะทั้ง 9 คน มาจากผู้พิพากษาระดับชั้นศาลฎีกา แม้จะเป็นบุคคลที่เป็นมืออาชีพ มีความรู้ มีประสบการณ์ในการทำงานสูงพอที่จะอำนวยความยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ก็ตาม แต่การพิจารณาพิพากษาคดีก็ยังไม่สามารถถ่วงดุลกันได้ การที่ศาลสูงสุดส่งปัญหาข้อกฎหมายไปยังศาลอื่นตีความนั้นย่อมมีผลกระทบต่อกระบวนการพิจารณาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายได้ และอาจถูกมองว่ากระบวนการพิจารณาของศาลถูกแทรกแซงจากอิทธิพลของนักการเมืองได้ องค์คณะเพียง 9 คน ยังไม่เพียงพอต่อการอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง

 ด้วยสาเหตุดังกล่าวนี้ การตีความของศาลเองอาจถือเป็นบรรทัดฐานให้องค์คณะอื่นในศาลฎีกาคดีต่อๆ ไปยึดถือเป็นบรรทัดฐานได้ ปัญหาเหล่านี้จึงสมควรมีการปรับปรุงแก้ไขให้ชัดเจน ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายในคดีทุจริตรัฐธรรมนูญในอดีตไม่ได้ให้หลักประกันในเรื่องการปราบปรามปัญหาทุจริตเท่าที่ควร เป็นการให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มากเกินไป โดยจะเห็นได้ว่าคณะกรรมการชี้มูลความผิดแล้ว จะมีมูลหรือไม่มีมูลก็ตาม ผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถเป็นผู้เสียหายหรือร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยตนเองได้ เป็นการขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

 จึงทำให้เห็นว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีอำนาจเกินกว่าความจำเป็นในการอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง การให้อำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีเพียงชั้นเดียวของไทยนั้น แม้จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่มีศาลไหนในโลกที่ให้ศาลเดียวชี้ขาดอย่างศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แม้จะเป็นความรวดเร็ว แต่ความละเอียดยังไม่เพียงพอต่อการอำนวยความยุติธรรมในระบบพื้นฐานเป็นที่หวาดระแวงของนักการเมือง และเป็นการขัดต่อหลักประกันด้านสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอันพึงจะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร เรื่องความเสมอภาคกันในทางกฎหมาย แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะให้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังประธานศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกากรณีดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานใหม่จึงจะกระทำได้ และการอุทธรณ์ก็มีเงื่อนกำหนดระยะเวลาไว้

 ปัญหาดังกล่าวจึงควรเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย นอกจากนี้ยังต้องเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายหรือผู้กระทำความผิดสามารถร้องต่อศาลหรือฟ้องต่อศาลด้วยตนเองได้ ต้องไม่เลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคลอันเป็นการขัดต่อปริญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ดร.สุกิจ พูนศรีเกษม นักกฎหมายอิสระ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ