ข่าว

บัวแก้วแจงเรียกทูตไทยกลับตามหลักสากล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เลขารมว.กต.”แจงเรียกทูตไทยกลับทำตามหลักสากล เปิดทางเจรจาได้ตลอด"ขู่"เตรียมทบทวนยกเลิก-ชะลอข้อตกลงร่วมต่าง ๆ คาดสัปดาห์หน้ารู้ผล"ลั่น" ต้องรักษาศักดิ์ศรีของ“ไทย”จี้“ฮุนเซน”คิดถึงประโยชน์ชาติ” มากกว่าความสัมพันธ์ส่วนตัว"ยัน"ไม่ทำให้ประชาชน 2 ประเทศเดือดร้

(6พ.ย.)นายชวนนท์  อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรมว.การต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา หลังจากที่สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นที่ปรึกษาว่า เราต้องยืนยันมาตรการ 3 ข้อของเราเหมือนเดิมคือ 1. เรื่องการเรียกทูตกลับมาจากกรุงพนมเปญ ซึ่งได้เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อคืนนี้ ( 5 พ.ย.) 2. เรื่องการทบทวนพันธกรณี ข้อตกลง ความร่วมมือต่าง ๆ  ซึ่งกระทรวงต่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนความร่วมมือ เรื่องเงินข่วยเหลือต่างๆ ในอนาคตคงต้องมีการทบทวนว่าสถานการณ์ลักษณะนี้เหมาะสมหรือไม่ที่รัฐบาลไทยจะให้การช่วยเหลือหรือสนับสนุนรัฐบาลกัมพูชา

 ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการพิจารณาตัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ เลขานุการรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เราพยายามหลีกเลี่ยง ตั้งแต่ครั้งที่มีการประชุมอาเซียนซัมมิทที่มีการหยิบยกประเด็นนี้มาพูด ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้กล่าวขอร้องให้สมเด็จฯ ฮุนเซนทบทวนพิจารณา หรือคิดให้ดีในการแลกผลประโยชน์ของชาติกับความสัมพันธ์ส่วนบุคคล นั่นถือเป็นครั้งแรก อีกครั้งหนึ่งคือ เรื่องที่ไทยจำเป็นต้องมีท่าทีที่ชัดเจนจึงเป็นที่มาของแนวทาง 3 มาตรการดังกล่าว ซึ่งเราก็หวังว่ากัมพูชาจะรับฟังและคิดได้ว่าผลประโยชน์ของประชาชน และรัฐบาลของเขาเองจะอยู่เหนือความส่วนตัว และคิดว่าเขาจะฟังเรา และทำให้เรื่องราวที่มีความตึงเครียดอยู่ในขณะนี้คลี่คลายลงได้

 ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะทำให้สถานการณ์บริเวณชายแดนปะทุขึ้นหรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า เรื่องนี้ย้ำหลายครั้งว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การขัดกันของผลประโยชน์ระหว่างประเทศชาติ ไม่ใช่เรื่องของความขัดกันด้านการลงทุน หรือประชาชนไปทะเลาะกัน แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจไม่ตรงกันด้านกฎหมาย และเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล ตนไม่อยากคิดว่าชาวกัมพูชาจะเสียสละผลประโยชน์ความเจริญของตัวเองในทุกลักษณะเพื่อแลกกับความสัมพันธ์ส่วนตัวของคนๆ เดียว

 ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่าทีที่กระทรวงการต่างประเทศคาดหวังกับกัมพูชาอย่างไร เลขาฯ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า คิดว่าเราก็มีโจทย์อยู่เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะ 2 เรื่องคือ การแต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษา กับการมองข้ามกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยที่ตัดสินกระบวนการยุติธรรมไทยเอง โดยไม่รับฟังเหตุผลจากฝ่ายไทย ในกรณีถ้ามีการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งกัมพูชาก็ยืนยันว่าจะไม่ส่งตัวให้ในทุกกรณี ก็แปลว่าเขาไม่ฟังกระบวนการยุติธรรมของไทย

 ผู้สื่อข่าวถามว่า หากจะยกเลิกปัญหาได้ทางกัมพูชาต้องไม่แต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษา นายชวนนท์ กล่าวว่า คงต้องดูแนวทางอีกครั้งหนึ่ง จะกำหนดชัดเจนเลยก็คงจะไม่ได้ เรื่องที่เกิดขึ้นเกิดจาก 2 เรื่องดังกล่าว และความรู้สึกของประชาชนคนไทยที่รู้สึกไม่ดีขึ้นมา ทั้งนี้ ตนคิดว่าเรื่องใดที่จะบรรเทาลงได้ และทำให้คนไทยรู้สึกว่ามีการให้เกียรติซึ่งกันและกันในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ก็น่าจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้

 เมื่อถามย้ำว่า ทางกัมพูชาก็ได้มีการเรียกฑูตของตัวเองกลับเช่นกัน เลขาฯ รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า เรื่องนี้แป็นเรื่องปกติ เพราะเราก็ได้เรียกฑูตเรากลับ อาจจะเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ทางการฑูต ซึ่งตนไม่คิดว่าเป็นการแสดงออกในการปฏิเสธการเจรจา หรือเป็นการท้าทายให้ใช้ความรุนแรง คิดว่าไม่เกี่ยวข้องกัน

 ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นต้องมีประเทศอื่นเข้ามาไกล่เกลี่ยหรือไม่ เลขาฯ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า เป็นเรื่องทวิภาคระหว่างไทยกับกัมพูชาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นคงต้องรอดูสักระยะหนึ่ง เพราะเราเพิ่งประกาศไปเมื่อวาน ( 5 พ.ย.) และวันนี้เรากำลังดูเรื่องการพิจารณา ทบทวนความตกลงต่างๆ และที่เรายกความตกลงต่างๆ ขึ้นมาไม่ได้นำมาเป็นข้อต่อรอง แต่เราเห็นว่าเรื่องดังกล่าวท่าทีของสมเด็จฯ ฮุนเซนในระยะหลังเปลี่ยนไปกับประเทศไทย โดยเฉพาะการมีท่าทีที่แข็งกร้างต่อเนื่อง

 ดังนั้นถ้าไม่เป็นเหตุที่มีการเข้าใจผิดในข้อมูลตามธรรมดาแล้วก็อาจจะมีเหตุที่มีความไม่ลงตัว หรือมีความไม่สบายใจในการดำเนินงานของรัฐบาล หรือเป็นเรื่องของผลประโยชน์ใดๆ ก็แล้วแต่ จึงต้องมามองว่าเป็นเรื่องระหว่างความตกลงของไทยและกัมพูชา เราต้องย้อนดูว่าอะไรที่มีปัญหา อะไรที่มีที่มาที่ไปไม่ชอบมาพากล ตรงนี้ต้องกำจัดออกไปให้พ้น เพราะถ้าเรายังค้างเรื่องเหล่านี้ไว้สักวันปัญหาลักษณะนี้ก็จะเกิดขึ้นอีก เพราะถึงวันนี้อะไรที่เป็นประโยชน์ โปร่งใส เราจะผลักดันเดินหน้าเต็มที่ แต่อะไรที่คิดว่ายังไม่ชัดเจนรัฐบาลก็อาจจะชะลอเอาไว้ก่อน

 ผู้สื่อข่าวถามว่าอะไรที่มีที่มาที่ไปไม่ชัดเจน นายชวนนท์ กล่าวว่า มีหลายทางทั้งเรื่องการไปเซ็นต์ยินยอมในข้อตกลงต่างๆ ต้องดูว่าคนไปเซ็นต์ ไปเซ็นต์กันเมื่อไหร่ มีความเรียบร้อยหรือไม่ หลักฐานเอกสารต่างๆ ในขณะนั้นมีความครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ มันมีหลายประเด็นที่เจ้าหน้าที่กำลังดูอยู่

 เมื่อถามย้ำว่าคิดว่าแถลงการณ์ร่วมที่ทำไว้ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม เลขาฯ รมว.การต่างประเทศกล่าวว่า เป็นอีก 1 สมมุติฐานที่กระทรวงต่างประเทศได้ตั้งไว้ เพราะเราพยายามหาคำตอบว่าทำไมสถานการณ์อย่างนี้ถึงเกิดขึ้น สมเด็จฯ ฮุนเซนมีปฏิริยาตอบโต้กับเรารุนแรง ดังนั้น จึงต้องกลับไปดูว่าความสัมพันธ์ที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกันต่างๆ มีอะไรบ้าง หากเป็นเรื่องดีมีประโยชน์เราก็จะรีบผลักดันออกไป เขาอาจจะบอกว่าทำไมเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับ 2 ประเทศ ทำไมถึงไม่ทำ แต่หากเรื่องอะไรที่เราคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะสมเหตุสมผล ที่มาที่ไปไม่ชัดเจน เราก็อาจจะต้องขอชะลอไว้ก่อน ขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่กำลังดูข้อตกลงต่างๆ ว่าอะไรที่เราสามารถยกลิกได้ก็จะรีบทำ ซึ่งตนคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะพอบอกได้ว่าจะมีข้อตกลงเรื่องใดที่จะยกเลิกหรือชะลอออกไปก่อนได้ หรือหยุดไว้ชั่วคราว

 เมื่อถามว่าเรื่องข้อตกลงต่าง ๆ ที่จะมีการเข้าการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 9 พ.ย.นี้ จะมีการชะลอออกไปก่อนหรือไม่ เลขาฯ รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า เรื่องผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา ที่จะเข้าสู่สภาในวันที่ 9 พ.ย.นี้ เราจะไม่ชะลอออกไปและที่ตัดสินใจไม่ชะลอเพราะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาบริเวณเขตแดน ซึ่งเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนคนไทยและพี่น้องทหารบริเวณขายแดน เพราะหากเราเลื่อนเรื่องนี้ออกไปก็เท่ากับเป็นการเลื่อนการแก้ไขปัญหานี้ออกไปอีก พี่น้องประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้นก็จะได้รับผลกระทบ เรื่องนี้รัฐบาลและนายกฯ ได้ย้ำมาตลอดว่า มาตรการใดก็แล้วแต่ที่กระทรวงการต่างประเทศจะพิจารณาดำเนินการต้องไม่กระทบผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทั้ง 2 ประเทศ

 ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่าทีในขณะนี้จะนำไปสู่การปิดชายแดนหรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า เป็นทางเลือกของกัมพูชา เพราะเขาทราบอยู่แล้วว่าทางออกอยู่ตรงไหน เราเปิดทางออกไว้ให้ตลอด และเรื่องทำมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในการปกป้อง รักษาหน้าตา ศักดิ์ศรี และเกียรติภูมิของประเทศ ส่วนเรื่องนี้จะลามปามบานปลายไปอย่างไรไม่ใช่สิ่งที่ประเทศไทยเป็นผู้กำหนดแน่นอน เมื่อถามว่าเราจะมีระดับในการตอบโต้มากขึ้นหรือไม่ หลังจากที่มีการเรียกฑูตกลับมา นายชวนนท์ กล่าวว่า เรื่องมาตรการตอบโต้ครั้งนี้เป็นเรื่องที่กัมพูชาได้ดำเนินการใน 2 เรื่องดังกล่าว ถ้าไม่มีเรื่องอื่นเข้ามาแทรกอีกเราก็ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นอีก เพราะมาตรการที่ออกมาก็เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว หากเรื่องยังคาอยู่ เราก็ต้องคากันอยู่ทั้งคู่ คงยังไม่ยกระดับความรุนแรงของมาตรการขึ้นไป เพราะหากทางกัมพูชายังไม่เปลี่ยนท่าที เราก็จะไม่เปลี่ยนท่าทีเหมือนกัน

 ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ทางฑูตที่เรียกกลับมาได้มีการเข้ารายงานตัวต่อกระทรวงการต่างประเทศหรือยัง นายชวนนท์ กล่าวว่า เนื่องจากตอนนี้รมว.การต่างประเทศ และปลัดกระทรวงไม่อยู่ จึงยังไม่ได้เข้าพบกัน

 ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเสริมกำลังที่สถานฑูตไทยในกัมพูชาหรือไม่ เลขาฯ รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า ทางสถานฑูตมีการประสานขอตำรวจให้มีการดูแลแล้ว

 ผู้สื่อข่าวถามว่า ระดับการเจรจาจะอยู่ในระดับไหน นายชวนนท์ กล่าวว่า ช่องทางการเจรจายังเปิดอยู่ สถานฑูตทั้งไทยและกัมพูชายังเปิดอยู่ เพียงแต่ฑูตไม่อยู่ ช่องทางการสื่อสารยังมีอยู่จะผ่านสถานฑูตหรือกระทรวงการต่างประเทศโดยตรงก็ได้ ส่วนระดับผู้นำคงต้องรอความชัดเจนหลังจากนายกฯ เดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่งว่าจะมีแนวนโยบายอย่างไร

 ผู้สื่อข่าวถามว่า การตอบโต้กันแบบนี้ได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศ รัฐบาลของมิตรประเทศอื่นให้ความสนใจสอบถามมายังรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน เลขาฯ รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า พัฒนาการของปัญหาเรื่องนี้มีมาพอสมควร และรัฐบาลของอาเซียนที่มาประชุมก็รับทราบเรื่องนี้อย่างดี การเลือกแนวทางการตอบโต้ของเราก็เป็นแนวทางปฏิบัติตามสากล ตนคิดว่าเรื่องเหล่านี้นานาชาติมีความเข้าใจดี อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ตนคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำหนังสือชี้แจงไปยังนานาชาติ เพราะยังไม่มีใครสงสัย หรือแสดงความไม่เข้าใจในการดำเนินการของเรา ที่มาที่ไปของปัญหาทุกประเทศก็คงจะมีรายละเอียดอยู่

 ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีการเตรียมกำลังเพื่อไปรับประชาชนที่อยู่ในประเทศกัมพูชาตามแนวชายแดนแล้วหรือยัง นายชวนนท์ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีการดำเนินการไปถึงขั้นนั้น แต่ได้ย้ำไปยังสถานฑูตไทยในกัมพูชาให้ติดตามสถานการณ์ข่าวเรื่องการเคลื่อนไหวต่าง ๆ หากมีการเคลื่อนไหวอย่างไรก็ขอให้มีการรายงานเข้ามาที่กระทรวงต่างประเทศโดยด่วน ส่วนเรื่องนักธุรกิจไทยที่อยู่ในประเทศกัมพูชาเราก็ได้ให้ทางสถานฑูตไทยเรียกประชุมชี้แจงสถานการณ์ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลที่มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของข้อกฎหมาย เป็นเรื่องของตัวบุคคลเพียงคน ๆ เดียว

 ดังนั้น รัฐบาลไม่มีแนวคิดจะยกระดับปัญหานี้ให้บานปลาย เกิดเหตุปะทะ หรือต้องมีการถอนอพยพคนออกจากกัมพูชา จึงขอให้มั่นใจได้ และช่วยอธิบายให้ประชาชนกัมพูชาได้เข้าใจด้วย เพราะเราก็มองไม่เห็นว่าประชาชนชาวกัมพูชาจะมาโกรธเคืองประเทศไทยเพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ไปแตะต้องผลประโยชน์หรือไปทำลายบรรยากาศการลงทุน ไม่ได้เข้าไปกล่าวหาอะไรที่เกี่ยวข้องกับประชาชนชาวกัมพูชาเลย ตอนนี้เราให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศอยู่ห่างจากปัญหานี้ให้มากที่สุด เราพยายามประคับประคองการแก้ไขปัญหาให้อยู่ในช่องทางการฑูต และคิดว่าเรื่องนี้จะจบลงได้ด้วยดี

 ต่อข้อข่าวถามที่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณออกมาระบุว่านายกฯ ว่าโอเว่อรีแอคติ้ง เลขาฯ รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า ท่านต้องทบทวนว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการกับประเทศเพื่อนบ้านให้เข้ามามีปัญหากับประเทศไทยถึงขนาดนี้ ตนคิดว่าพ.ต.ท.ทักษิณไม่ควรจะวิจารณ์อะไรอีก เหตุการณ์ตอบโต้ของเราในครั้งนี้เกิดจากการที่เราอดกลั้นมาแล้วหนึ่งครั้ง นายกฯ ก็หลีกเลี่ยงทำลายบรรยากาศการประชุมอาเซียนซัมมิท แต่ครั้งนี้เป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องปกป้องรักษาศักดิ์ศรีของประเทศ คิดว่าคงไม่มีรัฐบาลประเทศไหนที่ยอมให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในประเทศของเขาได้ ไม่ใช่แต่เฉพาะรัฐบาลไทย

 ผู้สื่อข่าวถามว่า เราต้องมองไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-มาเลเซีย และไทย-พม่าด้วยหรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า เรื่องนี้อาจจะทำให้ใครที่คิดจะทำอะไรกับประเทศเพื่อนล้าน หรือคิดเดินสายชักศึกเข้าบ้านก็คงต้องทบทวนให้หนัก เพราะมี่ตัวอย่างแล้วว่า เรารัก ษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันเราก็ต้องรักษาเกียรติภูมิของประเทศด้วย เชื่อว่าประเทศเพื่อนบ้านหลาย ๆ ประเทศมีความเข้าใจ และมีศักดิ์ศรีคงไม่ปล่อยให้ประเทศของเขาโดนชักนำให้มีปัญหากับเราโดยไม่ชอบธรรมได้

 ส่วนที่มีการมองว่ารัฐบาลไทยเต้นตามเกมส์นั้น สู้กับเหตุการณ์แบบนี้คงไม่มีใครเจอ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย จะบอกว่าตกหลุม ไม่ตกหลุมยังไงเราก็ต้องเดินหน้ารักษาศักดิ์ศรีของเรา ต้องดูว่าทะเลาะกันด้วยเรื่องอะไร และหากถูกระงับการช่วยเหลือการสร้างถนนอะไรต่าง ๆ ที่เราได้อนุมัติไว้แล้ว ถ้าไม่ออกไปก็ช่วยอะไรไม่ได้ โดยล่าสุดขณะนี้ที่ครม.อนุมัติกรอบงบประมาณ 1,400 ล้านบาท ในการสร้างถนนเส้นที่ 68 แล้วก็ต้องดูอีกที ขอย้ำว่าทุกมาตรการไม่ใช่ข้อต่อรอง แต่ต้องดูว่าสถานการณ์อย่างนี้ หากรัฐบาลไทยช่วยเหลือรัฐบาลกัมพูชา แล้วเราจะตอบประชาชนคนไทยในประเทศอย่างไร คือ กัมพูชาก็ต้องเห็นใจเรา หากอยากให้เราเข้าไปช่วย เขาก็ต้องให้บรรยากาศระหว่างประเทศมันเหมาะแก่การช่วยเหลือ

ประธานเจบีซีไทยห่วงมีเหตุปะทะแนวชายแดนไทย-เขมร

 นายวศิน ธีรเวชญาณ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศด้านกฎหมายและเขตแดน ในฐานะประธานฝ่ายไทยคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ถึงกรณีการตอบโต้ทางการทูตของฝ่ายไทยต่อกัมพูชาที่แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาด้านด้านเศรษฐกิจ และที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่า เป็นการตอบโต้ธรรมดา ที่รุนแรงกว่าขั้นทำหนังสือประท้วง ส่วนการที่กัมพูชาเรียกเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับ ถือเป็นการตอบโต้กลับไทยในระดับเดียวกัน อย่างไรก็ตามการฟื้นคืนความสัมพันธ์ทางการทูตไม่มีอะไรต้องดำเนินการเป็นพิเศษ เพราะขึ้นอยู่กับว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายอย่างไร ถ้าคลี่คลายไปในทางที่ดีความสัมพันธ์ก็จะกลับคืนโดยอัตโนมัติ

 “สมมุติว่ากัมพูชาประกาศยกเลิก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาฯ ก็เป็นที่เข้าใจได้ ไม่ต้องพูดอะไร ก็ส่งทูตเดินทางกลับไปทำหน้าที่” นายวศิน กล่าว

 นายวศิน ยอมรับว่า กรณีดังกล่าวอาจทำให้การทำงานในกรอบเจบีซีในอนาคตยากขึ้น จากเดิมที่ยากอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรง เพราะบันทึกการประชุมเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับ ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา จึงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ต่อได้ อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาภายใต้กรอบเจบีซี จะล่าช้าหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลและรัฐสภา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งใดๆ จากรัฐบาลว่าจะให้ตนดำเนินการอย่างไรต่อไป

 นายวศิน กล่าวว่า มีความเป็นห่วงเรื่องการปะทะกันตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพราะถือว่าสถานการณ์ค่อนข้างตึงเครียด การตัดสินใจใดๆ ในการใช้กำลังอาจก้าวข้ามเส้นที่เคยตกลงกันไว้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ