ข่าว

วันเลือกตั้งมีจุดเปลี่ยน หาก "บิ๊กตู่" ยอมถอยการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปริญญา" ชี้เลือกตั้ง 62 มีจุดเปลี่ยน หาก "บิ๊กตู่" ยอมถอย ประเมินการเมืองเดินเกมยาว "โคทม" ปลุกคนไทย-นักการเมือง ทำการเลือกตั้งไม่สกปรก

 

เวทีเลือกตั้ง 62 จุดเปลี่ยนประเทศไทย "ปริญญา" ชี้มีจุดเปลี่ยน หาก "บิ๊กตู่" ยอมถอยการเมือง ประเมินการเมืองเดินเกมยาว-ประณีประนอมของรัฐสภา ด้าน "โคทม" ปลุกคนไทย-นักการเมือง ร่วมมือทำการเลือกตั้งไม่สกปรก - "บรรยง" แนะให้รื้อยุทธศาสตร์ชาติ หวั่นทำประเทศติดกับดัก ชี้หลายเรื่อง รบ.คสช.ยังทำไม่ได้ - "สุรชาติ" กระแซะ "บิ๊กตู่" อย่าแพ้เลือกตั้ง ก่อนลองใช้ รธน. ของ "มีชัย" 

 

          วันที่ 30 ม.ค. 62 - บมจ. มติชน จัดเสวนา เลือกตั้ง 62 จุดเปลี่ยนประเทศไทย เนื่องในวันครบรอบ 42 ปีบริษัทมติชน โดยมีนักวิชาการ และนักธุรกิจที่ติดตามการเมืองร่วมเวทีและแลกเปลี่ยนความเห็น
 
          โดย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าจากที่หลายฝ่ายประเมินว่า สภาพการเมืองไทย ในยุคของพล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกฯ​และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  จะเป็นเหมือนโมเดลผู้นำทางการเมืองที่เป็นทหาร เช่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ ตนมองว่าไม่สามารถเทียบได้ เพราะสถานะของพล.อ.เปรมในยุคนั้น คือ เป็นคนกลาง ไม่สังกัดพรรค ไม่อยู่ในบัญชีนายกฯ อีกทั้งไม่ใช่ผู้นำที่มาจากการปฏิวัติ และไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ยกโมเดลของ พล.อ.คึกฤทธิ์ ปราโมช เปรียบเทียบ ตนมองว่าเป็นเรื่องยากเช่นกัน เนื่องจาก พล.อ.คึกฤทธิ์ สามารถบริหารจัดการการเมืองในสภาได้​

 

วันเลือกตั้งมีจุดเปลี่ยน หาก "บิ๊กตู่" ยอมถอยการเมือง

 

          "สิ่งที่หลายฝ่ายมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ​จะถูกพรรคการเมืองเสนอชื่อและเลือกให้เป็นนายกฯ ผมประเมินจะมีเพียง 5 พรรคเท่านั้นที่ได้ ส.ส.เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ที่ได้สิทธิเสนอชื่อนายกฯ ได้ และสิ่งที่ผมเป็นห่วงคือ กรณีที่ได้พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ อาจทำให้เกิดปรากฎการณ์คุม ส.ส.ในสภาไม่ได้ และอาจซ้ำรอยเหตุการณ์ทางการเมือง ในปี 2516 ที่มีการปฏิวัติซ้ำ ยึดอำนาจตัวเอง จนกลายเป็นปรากฎการณ์เรียกร้องชุมนุมครั้งใหญ่" นายปริญญา กล่าว

 

          นายปริญญา กล่าวด้วยว่า สำหรับการเลือกตั้ง ที่ตามกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มากกว่ากฎหมายในอดีต เช่น การสั่งให้เขต หรือ หน่วยเลือกตั้งบางหน่วยเลือกตั้งใหม่ จากกฎหมายเดิม กำหนดให้ใช้รูปแบบมติของคณะ กกต. แต่กฎหมายใหม่ กำหนดให้ กกต. เพียงหนึ่งคนตัดสินได้และออกคำสั่งให้เลือกตั้งใหม่ได้ ดังนั้นประเด็นที่จะเกิดขึ้น คือ การใช้อำนาจดังกล่าวจะกระทบกับความรู้สึกของคนหรือไม่ ที่หลายฝ่ายมองว่า กกต. มีท่าทีเกรงใจ คสช. 

 

วันเลือกตั้งมีจุดเปลี่ยน หาก "บิ๊กตู่" ยอมถอยการเมือง

 

          นายปริญญา ยังกล่าวเรียกร้องไปยังพรรคประชาธิปัตย์ให้แสดงท่าทีต่อการใช้สิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ​ในสภา เพราะล่าสุดท่าทีของพรรค คือ สงวนท่าที และอาจถูกนับข้างรวมกับพรรคพลังประชารัฐได้ ดังนั้นขอให้ประกาศท่าทีให้ชัดเจน อย่าสงวนท่าทีเหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในวันที่ 24 มีนาคม ถือเป็นจุดเริ่มเปลี่ยนทางการเมือง ทั้งนี้หาก พล.อ.ประยุทธ์ยอมถอยจากการเมือง จะทำให้บรรยากาศการเมืองเป็นภาพของการประณีประนอม ระหว่างสภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา และจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ดีของการเมืองไทย

 

          ด้าน นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล ฐานะอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ตนไม่อยากเห็นบรรยากาศการเลือกตั้งเป็นภาพจ้องจับผิด เพราะการเลือกตั้ง ควรเป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพ และแสดงความเห็นภายใต้กรอบของกฎหมาย และไม่ใช้การแสดงความเห็นเพื่อสร้างความเกลียดชังแบบเหมารวม ทั้งนี้ตนไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึง เป็นการเลือกตั้งที่สปรก เพราะมีประเด็นที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เหมือนในรูปแบบเดิม เช่น การตรวจสอบ ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยของโทรศัพท์มือถือ

 

วันเลือกตั้งมีจุดเปลี่ยน หาก "บิ๊กตู่" ยอมถอยการเมือง

 

          "ผมว่าคิดไปไกลเกินไป ที่ว่าการเลือกตั้งจะสกปรก เพราะปัจจุบันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง กกต. และนักการเมือง ต้องร่วมมือกัน ไม่ให้การเลือกตั้งขาดความชอบธรรม อย่างไรก็ตามผมคิดว่าผู้จะออกมาเลือกตั้ง 75 เปอร์เซ็นต์เป็นตัวเลขที่พอเป็นไปได้และน่าชื่นชม" นายโคทม กล่าว

 

          ส่วนนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการเกียรตินาคิน จำกัด กล่าวว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ ตนมองว่ารัฐบาลปัจจุบันตั้งใจไม่ปฏิบัติตามหลายเรื่อง ตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ขณะที่งานปฏิรูปด้านกฎหมายกำหนดให้ตรา พ.ร.บ.ความเหลื่อมล้ำ รวมถึงตั้งสำนักงานแก้ความเหลื่อมล้ำ ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงออกมติล่าสุด ว่าบางเรื่องให้ยับยั้งการดำเนินงานของแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งกรณีดังกล่าวตนมองว่าเป็นความเลอะเทอะ

 

 

          "ประชาชนติดอยู่ในแห เหมือนกับเป็นลิงแก้แห ขณะที่รัฐบาลพยายามจะแกะแห ดังนั้นผมมองว่าต้องเลิกยุทธศาสตร์ชาติให้ได้ ไม่อย่างนั้นประเทศจะติดกับดัก ทั้งนี้แผนยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นแม่แบบ และรอการออกแนวทางปฏิบัติทีหลัง ผมมองว่าเพราะไม่สามารถเขียนได้จริง และพบความเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนการทำงาน โดยล่าสุดแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลต้องการบอกประชาชน จึงเป็นเพียงการจัดอีเว้นท์ที่ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาทเท่านั้น" นายบรรยง กล่าว

 

วันเลือกตั้งมีจุดเปลี่ยน หาก "บิ๊กตู่" ยอมถอยการเมือง

 

          ส่วน นายสุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กติกาที่ออกแบบให้กับการเลือกตั้งปัจจุบัน ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูก มีรายละเอียดที่ซับซ้อน และตนมองว่าสถาปนิกของคสช. ออกแบบกฎหมายเพื่อให้การเมืองไทยยุ่งเหยิง ซึ่งหมายถึง ทำให้เกิดความวุ่นวาย โกลาห และปั่นป่วน แต่จะเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเงื่อนไขแตกต่างจากเดิม อย่างไรก็ตามการเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม ตนไม่อยากให้เห็นภาพของปรากฎการณ์โกงเลือกตั้งเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามตนมองการเมืองด้วยความฝัน เหมือนกับเหตุการณ์ในฤดูกาลใบไม้ร่วง โดยที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้นในปี 2516 และปี 2535 ซึ่งตนยังมีความหวังว่าฤดูใบไม้ผลิของประเทศไทยจะหวนกลับมา 
 

          "สิ่งที่ผมเป็นห่วงอีกเรื่องที่สำคัญว่าหลังการเลือกตั้ง คสช.​จะแพ้เลือกตั้ง และ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นนายกฯ ภายใต้ปฏิมากรรมทางกฎหมาย ซึ่งออกแบบโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อย่างไรก็ตามหากผู้นำทหารยืนยันจะอยู่ในเส้นทางการเมือง ผมขอให้โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เตรียมยา 3ชนิด คือ ยาบำรุงปราสาท ยาบำรุงหัวใจ และยากล่อมปราสาทไว้ให้กับผู้นำด้วย" นายสุรชาติ กล่าว.
 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ