ข่าว

วิพากษ์อภิมหาโครงการประมูลหลุมก๊าซ - รถไฟความเร็วสูงน่าสงสัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กลุ่มญาติวีรชน - คณะตรวจสอบ ปชช. วิพากษ์อภิมหาโครงการประมูลหลุมก๊าซ - รถไฟความเร็วสูง น่าสงสัย ประโยชน์ไม่ถึง ปชช. - ประเทศ เต็มหน่วย

 

               21 ธ.ค. 61 ที่ ห้องประชุมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 13.30 น. นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 35 และคณะตรวจสอบภาคประชาชน ร่วมแถลงข่าววิพากษ์การทุจริตฉ้อฉลและประพฤติมิชอบของรัฐบาลในโครงการขนาดใหญ่ก่อนการเลือกตั้ง

 

 

 

               นางรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. และนักรณรงค์ด้านสิทธิผู้บริโภค - ด้านพลังงาน ซึ่งเป็น 1 ในคณะตรวจสอบภาคประชาชน ได้กล่าวถึงโครงการประมูลแหล่งปิโตรเลียมหลุมก๊าซบงกช - เอราวัณ ว่า ที่รัฐบาลเพิ่งประกาศไป เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ว่า ครม. มีมติเรียบร้อยแล้วที่จะให้ ปตท.สผ. เป็นผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แปลง ประเด็นที่ รมว.พลังงาน ได้พูดถึงประโยชน์ต่างๆ ว่าการประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกช - เอราวัณ จะทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์นั้น ที่จริงต้องบอกว่าประโยชน์เหล่านี้ยังไม่เคยมีการวิเคราะห์อย่างจริงจังว่าได้ประโยชน์จริงหรือไม่ แต่สิ่งที่ตนอยากจะบอกคือ การประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกช - เอราวัณ นี้ที่ถือว่าเป็นแปลงใหญ่ที่สุดที่ผลิตก๊าซในประเทศไทย 75% ของอ่าวไทย กรณีนี้ต้องถือว่านำไปสู่การผูกขาดแบบครบวงจรของบริษัทในเครือ ปตท. เพราะว่า บริษัท ปตท. นั้นยังครอบครองท่อก๊าซในทะเลทั้งระบบ ซึ่งท่อก๊าซนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างขาดกันไม่ได้กับแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่งนี้

               การประมูลของ ปตท. ที่ประกาศว่ามีชัยชนะเหนือบริษัท เชฟรอนฯ โดยการที่กระทรวงพลังงานกำหนดการให้คะแนนสูงสุดคือ 65 คะแนน สำหรับผู้ที่เสนอราคาก๊าซต่ำสุด โดยราคาที่กลุ่ม ปตท. เสนอคือ 116 บาท / ล้านบีทียู ขณะที่สัมปทานปัจจุบันของบริษัท ปตท. และ ปตท.สผ. แหล่งบงกช เสนอขายก๊าซปากหลุมอยู่ที่ 214 บาท ดังนั้น การเสนอราคาดังกล่าวพบว่ามีราคาต่างกันถึง 98 บาท / ล้านบีทียู ซึ่งหลายคนอาจเห็นว่าการเสนอราคาก๊าซที่ต่ำนี้ ประชาชนจะได้ประโยชน์ แต่สิ่งที่เราไม่เคยตั้งคำถามคือว่า ค่าภาคหลวง (ภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากการทำเหมืองและขุด ผลิตแร่ ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน โดยกำหนดอัตราค่าภาคหลวงตามราคา แร่ หรือราคาโลหะแร่) จำนวน 10% ของราคาขายก๊าซลดลงไปเท่าใด ซึ่งนี่คือผลประโยชน์ตรงๆ ที่รัฐได้ ที่จะลดลงมาจากราคาขาย 214 บาท จากแหล่งบงกช และ 165 บาท จากแหล่งเอราวัณ จะเหลือ 110 กว่าบาท

 

 

 

               ดังนั้น ต้องไปคำนวณตัวเลขอีกทีว่าผลประโยชน์ที่เป็นค่าภาคหลวง ซึ่งรัฐจะได้รับลดลงไปเท่าใดตลอดอายุสัญญา 30 ปี โดยรัฐมนตรีประกาศมาแล้วว่า สัญญาแรก คือ 20 ปี และต่อได้อีก 1 ครั้ง 10 ปี ก็เป็น 30 ปี และที่อ้างว่าจะทำให้ราคาค่าไฟถูกลง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่จริง เพราะหากว่ารัฐบาลต้องการให้ค่าไฟถูกลง เขาก็ยังไม่ยอมขายก๊าซในส่วนของรัฐบาลให้กับ กฟผ. ใช่มั้ย เหตุใดจึงต้องฝากให้ ปตท. เป็นผู้ขาย ดังนั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือ ปตท. เพราะว่าจะได้ก๊าซในราคาถูก แต่เวลาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเขาไม่ได้ใช้ก๊าซจากอ่าวไทยล้วนๆ แต่มีสูตรของเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟจะมาจากอย่างน้อย 3 - 4 ส่วน คือ ก๊าซจากเมียนมา , ก๊าซจากแหล่งเจดีเอไทย - มาเลเซีย , ก๊าซแอลเอ็นจี (LNG) ราคาแพงที่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพียงเล็กน้อย ดังนั้น ที่อ้างว่าจะมีราคาถูกลงไป 29 สตางค์ต่อหน่วย หรือ 17 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน เพราะสูตรในการคำนวณต้นทุนเชื้อเพลิงสำหรับ กฟผ. ก็จะมีก๊าซจาก 3 - 4 แหล่ง มาถ่วงน้ำหนักกัน แล้วก็บวกด้วยค่าผ่านท่อ ดังนั้น การที่กลุ่ม ปตท. ชนะการประมูล เขาสามารถดัมพ์ราคาได้ เพราะเขาสามารถเอาราคาค่าผ่านท่อมายืด - หดได้

 

 

 

               น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าการประมูลทั้ง 2 แหล่งนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่การประมูล มันเป็นการประเคนผลประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทในเครือ ปตท. ดังนั้น ประเด็นที่รัฐมนตรีอ้างว่าจะได้ประโยชน์นั้น ก็จะไม่ได้ประโยชน์ ในกรณีของระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น ที่อ้างว่ากลุ่มบริษัท ปตท. ได้เสนอผลตอบแทนให้กับรัฐสูงกว่าในอดีต เช่น กล่าวว่าแหล่งบงกชส่วนแบ่งให้รัฐคือ 70% , เอราวัณแบ่งให้ 68% โดยอ้างว่าเอกชนจะได้ผลประโยชน์เพียง 30 - 32% ก็เป็นข้อมูลที่ไม่ได้บอกอย่างครบถ้วน เพราะว่าผลตอบแทนนั้นคือส่วนแบ่งกำไรที่หักต้นทุนแล้ว 50% ซึ่งโดยปกติแล้วในการประมูลที่แท้จริง ยกตัวอย่างประมูลคลื่น ก็จะเสนอเพียงตัวเดียว คือ เสนอราคาให้รัฐเท่าใด เช่น เสนอให้ 70,000 ล้านบาท รัฐบาลไม่ต้องสนใจเลยว่าบริษัทที่เสนอนั้นมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเท่าใด แต่กรณีของปิโตรเลียมไม่ใช่ปิโตรเลียมเมื่อขุดขึ้นมาจะให้หักค่าใช้จ่ายได้ถึง 50% ขณะที่ตัวเลขนั้นไม่เคยมีการตรวจสอบ จริงๆ ถ้าบริหารให้ดีตัวเลขที่หักอาจไม่จำเป็นต้องถึง 50% ก็ได้

               แต่การที่ให้เอกชนหักได้ถึง 50% เอกชนสามารถที่จะกินกำไรในส่วนที่เหลือ เช่น หากเขาสามารถบริหารต้นทุนเหลือ 30% แต่ว่าเขาสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ดังนั้น หักส่วนแล้วอีก 20% คือกำไรของเขา ดังนั้น ส่วนที่รัฐจะได้กำไรหรือได้ผลตอบแทนตรงนั้นจะไม่มีประโยชน์เลย แต่ผลตอบแทน 68% หรือ 70% จะมีประโยชน์ต่อเมื่อเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่แท้จริง ในการแบ่งเป็นของโดยที่ไม่ต้องพูดเรื่องต้นทุน สมมติน้ำมันขุดขึ้นมาได้ 100 รัฐก็แบ่งส่วนมาเลย 70% แล้วรัฐมีหน่วยงานของตัวเองในการขาย ดังนั้น ในการขายรัฐต้องขายในราคาสูงสุด คือราคาตลาดโลก แต่ถ้ารัฐจะให้ประชาชนใช้หรือหน่วยงานของรัฐใช้จะใช้ราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลกประชาชนก็ได้ประโยชน์ ขณะที่ส่วนที่ขายอิงราคาตลาดโลก เงินก็จะเข้าหลวงสูงสุด แต่กรณีก๊าซนี้เมื่อไปกดราคาขาย 116 บาท แล้วยังฝาก ปตท. ขายอีก ก็แสดงว่ารัฐต้องขายในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดโลก ประโยชน์นั้นก็จะไปที่กลุ่มบริษัทในเครือ ปตท. เท่านั้น เพราะ ปตท. เองก็มีโรงแยกก๊าซ มีการขายปลีก ดังนั้น คือการผูกขาดแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำ รัฐ - ประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์ โดย 1. รัฐจะได้เงินที่เป็นค่าภาคหลวงน้อยลง 2. ส่วนแบ่งผลกำไรที่ได้ ซึ่งรัฐออกหลักเกณฑ์ให้เขาหักต้นทุนได้ 50% โดยไม่ได้ดูตัวเลขที่แท้จริง แล้วจะกลายเป็นการกลับไปหาระบบสัมปทานเหมือนเดิม

 

 

 

               น.ส.รสนา ยังกล่าวอีกว่า นับตั้งแต่รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ในอดีตก๊าซหุงต้มรัฐบาลมีการกำหนดเพดานราคาไว้ที่ 333 เหรียญ / ตัน คือกิโลกรัมละประมาณ 10 บาท แต่ปรากฏว่าหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2557 เปิดเพดานเลย คือไม่ใช่การอิงราคาที่มีการควบคุมไว้ดังกล่าว โดยเปิดโอกาสให้ใช้ราคานำเข้า 100% ทั้งที่ก๊าซหุงต้มผลิตในประเทศไทย แต่อิงราคาซาอุดิอาระเบีย บวกค่าขนส่งและค่าโสหุ้ย (คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการผลิตสินค้าและบริการ เป็นต้นทุนแฝงที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับลด) ซึ่งค่าโสหุ้ยช่วงปีที่ผ่านมาในอดีตคิด 85 เหรียญ / ตัน ขณะที่ ปตท. เป็นผู้นำเข้าเพียงเจ้าเดียว ซึ่งไม่ต่างจากราคาน้ำมันที่กลั่นในประเทศไทย แต่ใช้ราคานำเข้าจากสิงคโปร์ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไทยไม่มีโอกาสได้ใช้ก๊าซจากอ่าวไทยที่เปิดทำสัญญาจาก 2 แหล่งนี้ที่เป็นประโยชน์กับคนไทยเลย และรัฐบาลด้วย สิ่งที่รัฐมนตรีไม่เคยพูดเลยก็คือ ราคาก๊าซหุงต้มจะใช้ราคาอะไรทำให้ประชาชนต้องใช้ก๊าซในราคานำเข้า

               การเร่งรีบในการเปิดประมูลบงกช - เอราวัณ ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน แต่อาจจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจ และการที่มีการเร่งรีบทำสัญญาให้เสร็จภายในเดือน ก.พ. 62 ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ก็ต้องเกิดความสงสัยว่างานนี้มีเงินทอนหรือไม่ คิดดูว่า 30 ปี ก๊าซ 2 แหล่งนี้ แหล่งละ 1 แสนล้าน 2 แหล่ง คือ 2 แสนล้านต่อปี , 30 ปี คือ 6 ล้านล้าน ถ้าสมมติว่าจะมีเงินทอน สักกี่เปอร์เซ็นต์ดี ถ้า 10% ก็ 6 แสนล้าน ถ้า 5% ก็ 3 แสนล้าน 2.5% ก็ 1.5 แสนล้าน ลองคำนวณดูว่าเป็นเท่าใด และการที่เอาเชฟรอนฯ ออกไปโดยไม่อธิบายว่าประมูลแพ้ที่ส่วนไหนราคาก๊าซ หรือคุณสมบัติไม่ผ่าน แล้วเอาบริษัท มูบาดาลา เข้ามา ทำให้ประชาชนเกิดคำถามว่า รัฐบาล คสช. กำลังจับมือกับ ทักษิณ ใช่หรือไม่ เป็นการแบ่งเค้กกันบนทรัพยากรปิโตรเลียมของอ่าวไทยใช่หรือไม่

 

 

 

               น.ส.รสนา กล่าวตอนท้ายว่า สัปดาห์หน้า เครือข่ายภาคประชาชน จะเดินทางไปพบพรรคการเมือง ก่อนปีใหม่นี้เรานัดไว้ 4 - 5 พรรค โดยพรรคแรกที่ตอบรับคือ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะไปพบกันวันพุธที่ 26 ธ.ค. นี้ เวลา 10.00 น. นอกจากนี้ยังมีที่ติดต่อไว้ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคอนาคตใหม่ ก็ตอบรับแล้วเช่นเดียวกัน โดยกำลังรอกำหนดเวลา และยังมีพรรคสามัญชนด้วย โดยเราจะไปตั้งคำถามกับพรรคการเมือง เกี่ยวกับจุดยืนของพรรคเรื่องพลังงาน และเรื่องกัญชา ว่ามีนโยบายอย่างไรบ้างที่ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ จะมีการปฏิรูปอย่างไร และจะมีพรรคไหนที่จะตรวจสอบกระบวนการประมูลที่ดูพิลึก ดูน่าสงสัยของรัฐบาล คสช. ที่เร่งรีบมาก

               นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ซึ่งร่วมวิพากษ์เกี่ยวกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน และการใช้ที่ดินบริเวณมักกะสัน กับการประมูลหลุมก๊าซ ว่า การใช้ที่ดินบริเวณมักกะสันนั้น ตนเคยยกประเด็นมาว่าที่ดินข้างเคียงเคยมีการซื้อขายกันในราคาตารางวาละ 1.8 - 2 ล้านบาท แต่ถ้าการให้เช่าแบบ 50 ปี ราคาก็อาจไม่ถึงแน่นอน แต่ก็ควรไม่ต่างจากนั้นมาก แต่ปรากฏว่าการตีราคาที่ดินหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคยออกมาชี้แจงว่าเขาตีราคา 600,000 บาท / ตารางวา ซึ่งเวลา 50 ปี คำนวณแล้วให้เอกชนใช้ราคาเพียง 170,000 บาท / ตารางวา ตนคิดว่าอย่างนี้ผิดกฎหมายเรื่องการตีราคาทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ ตนขอเรียกร้องว่า การทุจริตไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากปฏิวัติ หรือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง การทุจริตในประเทศไทยจะเกิดไม่ได้ถ้าหากข้าราชการเข้มแข็ง ยืนหยัด และต่อสู้ และไม่เอา ไม่ยอม เราต้องการให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองเสียที รักษาความถูกต้อง และขอเรียกร้องว่า เมื่อผ่านการเลือกตั้งแล้วไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลขอความกรุณาโปรเจกต์ บิ๊กโปรเจกต์ที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการไป ขอให้หยิบยกมาเพื่อจะทบทวนตรวจสอบ เพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปโดยชอบ ทั้งหมดนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

 

 

 

               นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งได้ติดตามโครงการรัฐขนาดใหญ่ต่างๆ ก็ระบุว่า การตั้งข้อสังเกตเรื่องการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ตนจะรับหน้าที่ไปเขียนรายละเอียดเชิงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แล้วจะนำไปยื่นต่อ นายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันอังคารที่ 25 ธ.ค. นี้ เวลา 10.00 น. เพื่อให้ นายกฯ ใช้อำนาจทบทวนปัญหา แต่ถ้ายื่นแล้วไม่มีการทบทวน เป้าหมายต่อไปก็จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนโครงการนี้หรือมติดังกล่าว

               นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 35 ได้แถลงปิดว่า จะขอเรียกร้องตั้ง 3 คำถาม ว่า 1. ก่อนหน้านี้ที่มีเจ้าสัวรายที่กำลังจะชนะประมูลพูดว่าได้รับการขอร้องจาก นายกฯ ประกาศว่าให้ช่วยรับอภิมหาโครงการนี้ทางภาคตะวันออกไว้ด้วย ส่วนภาคตะวันตกก็ให้อีกท่านหนึ่ง ก็ขอตั้งคำถามว่า นายกฯ ท่านจะยืนยันต่อสาธารณะได้หรือไม่ว่า ท่านพูดกับเจ้าสัวรายนั้นจริงตามภาพที่ปรากฏทางทีวี หากท่านพูดก็ต้องมาบอกประชาชนว่าได้พูดอย่างนั้น ถ้าไม่ได้พูดแต่เกิดความเสียหายมาในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำประเทศก็ต้องจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง 2. หากท่านพูดจริง ท่านตอบคำถามให้ประชาชนทราบหน่อยว่า ท่านพูดในฐานะผู้มีอำนาจอะไร หนึ่งท่านเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้ถึงได้แบ่งสันปันส่วนให้กับใครก็ได้ หรือท่านพูดในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ใช้อำนาจแบ่งให้ใครก็ได้ หรือท่านพูดในฐานะ นายกฯ ที่ใช้อำนาจพิจารณาเอางบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นภาษีจากประชาชนไปสนับสนุนกลุ่มทุนไหนก็ได้ 3. ฝากถึงท่านว่า ในฐานะที่ท่านแสดงเจตนาจะกลับเข้ามาเป็น นายกฯ ของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งหลังการเลือกตั้ง ท่านได้ทำหน้าที่ของการเป็น นายกฯ ในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนได้ครบถ้วนหรือไม่ เพื่อว่าประชาชนจะได้พิจารณาสนับสนุนท่านให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง คำถาม 3 ข้อนี้ ท่านต้องตอบผ่านประชาชน ผ่านสาธารณะ เพื่อว่าเราจะได้เลือก นายกฯ ถูกคน
 

 

 

วิพากษ์อภิมหาโครงการประมูลหลุมก๊าซ - รถไฟความเร็วสูงน่าสงสัย

 

 

 

วิพากษ์อภิมหาโครงการประมูลหลุมก๊าซ - รถไฟความเร็วสูงน่าสงสัย

 

 

 

วิพากษ์อภิมหาโครงการประมูลหลุมก๊าซ - รถไฟความเร็วสูงน่าสงสัย

 

 

 

วิพากษ์อภิมหาโครงการประมูลหลุมก๊าซ - รถไฟความเร็วสูงน่าสงสัย

 

 

 

วิพากษ์อภิมหาโครงการประมูลหลุมก๊าซ - รถไฟความเร็วสูงน่าสงสัย

 

 

 

วิพากษ์อภิมหาโครงการประมูลหลุมก๊าซ - รถไฟความเร็วสูงน่าสงสัย

 

 

 

วิพากษ์อภิมหาโครงการประมูลหลุมก๊าซ - รถไฟความเร็วสูงน่าสงสัย

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ