ข่าว

กกต.ถกร่วม 77 พรรค เตรียมพร้อมเลือกตั้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กกต.ปิดห้องถก 77 พรรคการเมืองวางกรอบค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง  ป้ายหาเสียง การหาเสียงผ่านโซเซียลมีเดีย

 

          ห้องประชุมวายุภักดิ์ ศูนย์ราชการ – 19 ธ.ค.61-กกต.ปิดห้องถก 77 พรรคการเมือง วางกรอบค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง  ป้ายหาเสียง การหาเสียงผ่านโซเซียลมีเดีย เผยเบื้องต้น 11 พรรคเห็นชอบวงเงินหาเสียงคนละ 2 ล้าน พรรคการเมืองไม่เกิน 70 ล้าน   

          สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการประชุมหารือระหว่างกกต. พรรคการเมือง และสื่อมวลชน ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง โดยมีพรรคการเมืองตอบรับเข้าร่วมหารือจำนวน 77 พรรค อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่  พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังชล           

 

             ทั้งนี้ในการหารือกกต.ได้กำหนดประเด็นหารือไว้ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแบบแบ่งเขตคนละไม่เกิน 2 ล้านบาท และกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองตามสัดส่วนการส่งผู้สมัคร ตั้งแต่ 10 – 70 ล้านบาท  ทั้งนี้จากการสอบถามไปยังพรรคการเมือง 13 พรรค โดย 11 พรรค เห็นชอบตามวงเงินที่ กกต.เสนอ มีเพียง 2 พรรคที่เสนอให้ลดกอรบค่าใช้จ่ายลง

             2.การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำ การกำหนดสถานที่ หรือที่ปิดประกาศแผ่นป้ายโฆษณาการเลือกตั้ง โดยกำหนดขนาดป้ายหาเสียงให้เป็นแนวตั้งกว้างไม่เกิน 30 ซ.ม. สูงไม่เกิน 42 ซ.ม. หรือกระดาษขนาดเอ 3 รวมแล้วไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง สำหรับเนื้อหาในป้ายหาเสียง สามารถระบุชื่อ ภาพถ่ายผู้สมัคร ภาพถ่ายผู้สมัครคู่กับหัวหน้าพรรค หรือบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อพรรคการเมืองและโลโก้พรรค หมายเลขผู้สมัคร ข้อความอื่นได้เท่าที่จำเป็น สำหรับการติดแผ่นป้ายหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมือง กำหนดให้เป็นแนวตั้งขนาดความกว้างไม่เกิน 130 ซ.ม. สูงไม่เกิน 245 ซ.ม. กรณีผู้สมัครจัดทำจำนวนไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ส่วนพรรคการเมืองจัดทำจำนวนไม่เกิน 1 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเฉพาะที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเนื้อหาในป้ายหาเสียง สามารถระบุชื่อ ภาพถ่ายผู้สมัคร ภาพถ่ายผู้สมัครคู่กับหัวหน้าพรรค หรือบุคคลที่นักการเมืองมีมติเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อพรรคการเมืองและโลโก้พรรค หมายเลขผู้สมัคร ข้อความอื่นได้เท่าที่จำเป็น 

        และ 3.การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง และระยะเวลาการหาเสียงให้กกต.ทราบ ส่วนบุคคลที่ไม่ใช่ผู้สมัครและพรรคการเมือง สามารถช่วยผู้สมัครและพรรคหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยต้องระบุข้อมูลผู้ดำเนินการที่สามารถเจาะจงตัวตนได้ ระบุผู้จัดทำ และหากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกิน 10,000 บาท ให้ผู้นั้นแจ้งต่อผู้สมัครและพรรคการเมืองทราบ กรณีผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด กระทำการต้องห้ามตามระเบียบให้กกต.สั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูล และให้สำนักงานกกต.แจ้งคำสั่งให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด ดำเนินการตามคำสั่งนั้นโดยเร็ว กรณีผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดไม่ดำเนินการตามคำสั่งให้สำนักงาน กกต. แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

          ทั้งนี้ภายหลังการหารือเสร็จสิ้นทั้ง 3 วาระ สำนักงานกกต. จะสรุปการหารือและแถลงข่าวกับสื่อมวลชน

 

"ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา หวั่นปมพรรคเดียวเบอร์เดียวทั้งประเทศต้องแก้กฎหมาย ดึงดันอาจเป็นปัจจัยเลื่อนเลือกตั้ง เผยพอใจบัตรเลือกตั้งมีครบทั้งชื่อ หมายเลข โลโก้พรรค      

        ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกร่างระเบียบหาเสียง ที่มีการห้ามนำรูปคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคใส่ในป้ายหาเสียงนั้น ว่า พรรคภูมิใจไทยคิดว่าเรามีวิธีการที่จะนำเสนอโดยเน้นการเสนอนโยบายของพรรค ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องเสนอภาพบุคคล ต่างจากพรรคอื่นที่อาจจะมีความจำเป็นต้องนำเสนอบุคคลอื่น ดังนั้นเรื่องดังกล่าวเราจึงเห็นว่าไม่มีปัญหา และไม่คิดว่าการนำภาพบุคคลอื่นไปใส่ในป้ายหาเสียงจะเป็นการหาคะแนนเสียงที่ได้ผล เพราะวันนี้ประชาชนเข้าใจดีว่าพรรคไหนมีใครและเกี่ยวข้องกับพรรคอย่างไร เรื่องนี้จึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ อีกทั้งวิธีการหาคะแนนเสียงในปัจจุบันมีหลายช่องทางที่จะสื่อสารไปยังประชาชนได้ อาทิ ช่องทางออนไลน์ ซึ่งเข้าถึงประชาชนได้แบบตัวต่อตัว และยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวผู้สมัครพรรคภูมิใจไทยจะไม่นำไปเป็นประเด็นฟ้องร้องผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม เพราะวันนี้พรรคภูมิใจไทยตั้งหน้าตั้งตาหาคะแนนนิยมอย่างเดียว ไม่คิดจะฟ้องใคร       

         "คิดว่าเรื่องนี้ กกต.คงมองที่ความเหมาะสมว่าการนำเสนอภาพบุคคลอื่นมาอยู่ในป้ายหาเสียงอาจจะเป็นปะโยชน์แค่บางพรรค แต่บางพรรคก็ไม่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตาม กกต.เป็นผู้กำหนดกติกาให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หากมีเสียงสะท้อนว่าไม่เที่ยงธรรม กกต.ก็ต้องมีเหตุผลชี้แจง"นายศุภชัยกล่าว

            สำหรับข้อเสนอให้พรรคการเมืองใช้เบอร์เดียวทั้งประเทศ นายศุภชัย กล่าวว่า เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือการแก้ไขเรื่องดังกล่าวจะมีกระบวนการอย่างไร ต้องมีการแก้ไขกฎหมายหรือไม่ และหากต้องแก้ไขกฎหมายแล้วการเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไปหรือไม่ ซึ่งหากในที่สุดบอกว่าจะให้เป็นเบอร์เดียวกันทั้งประเทศแล้วการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป ก็จะเป็นการกระชากอารมณ์ประชาชน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยก็ไม่คิดจะเป็นประโยชน์ ส่วนเรื่องบัตรเลือกตั้งที่มีโลโก้และชื่อพรรคนั้นมองว่าหากเป็นติกาที่เท่าเทียมกัน ก็ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ 

            ด้านนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่กกต.ปรับเปลี่ยนรูปแบบบัตรเลือกตั้งให้มีทั้งหมายเลขผู้สมัครชื่อพรรคและโลโก้พรรค เพราะเป็นการรวม 2  ระบบในบัตรเดียว ส่วนข้อเสนอที่ให้พรรคการเมืองใช้หมายเลขเดียวในทุกเขตทั่วประเทศนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากถูกกำหนดโดยกฎหมาย ดังนั้นหากจะแก้ไขก็จะต้องแก้ไขกฎหมาย ที่ต้องใช้เวลาและจะเป็นปัจจัยที่ทำให้วันเลือกตั้งเลื่อนออกไปหรือไม่ นอกจากนี้ยังทำให้บัตรเลือกตั้งมีช่องว่างหากพรรคการเมืองไม่ส่งผู้สมัครในเขตนั้นๆ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ