ข่าว

"สุขุม" ชี้ เลือกตั้งไม่มีอนาคตเพราะรู้ตัวนายกฯล่วงหน้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สุขุม" ชี้เลือกตั้งไม่มีอนาคตเพราะรู้ตัวนายกฯล่วงหน้า แนะปชช.ตัดสินใจเลือกระหว่างอยู่กับปัจจุบันหรือเลือกอนาคต ขณะที่ "สดศรี"ห่วงกกต.เป็นตำบลกระสุนตก โดนถล่ม



          โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ – 18 ธ.ค.61-"สุขุม" ชี้เลือกตั้งไม่มีอนาคตเพราะรู้ตัวนายกฯล่วงหน้า แนะปชช.ตัดสินใจเลือกระหว่างอยู่กับปัจจุบันหรือเลือกอนาคต ขณะที่ "สดศรี"ห่วงกกต.เป็นตำบลกระสุนตก โดนถล่ม แนะไม่กล้าความเสื่อมจะตามมา ให้บอกนายกฯไปตรงๆ เดินเองได้ ไม่ต้องใช้ม.44 ช่วย  ด้านรองเลขาฯกกต. แจง กกต.ทั้ง 7 ทุ่มเททำงานเป็นกลาง แต่ถูกติชมตลอด  พร้อมเปิดรับผู้สังเกตการณ์ต่างชาติ  "นิกร-วันนอร์" ค้านพรรคเดียวเบอร์เดียว มั่นใจปชช.กาถูกช่อง

           ในการเสวนาการเลือกตั้งคุณภาพกับอนาคตประเทศไทยภายหลังการเลือกตั้ง   นายสุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ตนผ่านการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง การเลือกตั้งปี 2500 ไม่มีคุณภาพและไม่อนาคตที่สุด มีทั้งไพ่ไฟ พลร่ม  รู้ล่วงหน้าว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเป็นนายกฯแน่ ๆ  ดังนั้นการเลือกตั้งที่มีอนาคตคือการเลือกตั้งที่เรามีสิทธิลุ้น การเลือกตั้งครั้งนี้เรารู้แล้วว่าใครเป็นนายกฯและยังมียุทธศาสตร์ 20 ปีค้ำอยู่อีกชั้น ดังนั้นคำว่าการเลือกตั้งของบ้านเราไม่เหมือนที่อื่น ของเราเลือกแค่ผู้แทนฯ ทำให้มีผู้แทนฯมารับฟังเสียงประชาชน การเลือกตั้งจะขาดคุณภาพอย่างสูงเมื่อคนจัดการทำให้การเลือกตั้งบรรลัย เราจึงต้องการให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นอิสระ ที่ผ่านมาตนตั้งความหวังกับ กกต.ไว้มาก เพราะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กกต.ทั้ง 7 คน จึงต้องแข็งขัน ไม่ใช่เป็นกกต.แล้วแต่คสช.จะเรียกประชุม ถ้า กกต.ยอมให้คนอื่นเข้ามายุ่งใบประกันคุณภาพก็ไม่มีเหลือ

 

              "การเลือกตั้งครั้งนี้ ให้เลือกมาผู้แทนฯ ส่วนนายกฯไม่ต้องห่วงจัดไว้ให้แล้ว ก่อนหน้านี้นายกฯเกลียดประชานิยม พอกำลังจะเปลี่ยนฐานความนิยมเลยต้องเปลี่ยน แต่เชื่อได้ว่าคนที่เคยศรัทธานายกฯ ในรูปแบบที่ผ่านมาจะมองนายกฯไม่เหมือนเดิม ถ้าพลังประชารัฐไม่ชนะ ไม่ได้มาเป็นที่ 1 นายกฯก็ยังต้องพึ่งพิงอำนาจอำมาตยาธิปไตย อย่าลืมพรรคที่มีอยู่แล้ว 250 เสียง เขาต้องการอีกแค่ 176 เสียง ซึ่งได้แน่  ผมไม่คิดว่าพลังประชารัฐจะชนะ แต่เขามีเกิน 176 แน่นอน นายกฯจึงยังปลอดภัยในแง่บริหารโดยไม่ต้องพึ่งพิงนักการเมือง และทันทีที่รวมพรรค รวมคะแนนได้เป็นนายกฯ ก็จะมีคนยกป้ายให้เพิ่มอีก จากพรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ซึ่งเป็นพรรคทางหนีไฟ นั่นเป็นเพราะพรรคการเมืองมีอุดมการณ์เพื่อเป็นฝ่ายรัฐบาล จะได้ทำประโยชน์ให้ประชาชน ไม่ได้มองว่าอดอยากปากแห้ง นอกจากนี้ผมยังมองว่า นายกฯยังมีโอกาสร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจจะเป็นอดีตหัวหน้าพรรค  อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแค่น้ำครึ่งแก้วก็ยังดีกว่าไม่มีเลย ถ้าตัดสินใจแบบอยู่กับปัจจุบันก็เลือกผู้แทนฯ แต่ถ้าคิดว่าการเลือกตั้งชี้อนาคตก็เลือกระหว่างจะให้สืบทอดอำนาจหรือไม่ให้สืบทอดอำนาจ" นายสุขุมกล่าว

             ด้าน รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่ออกไปในทาง 3 แพร่ง  แพร่งแรกเป็นการเลือกตั้งที่มีคุณภาพเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แพร่งที่ 2 การเลือกตั้งที่นำไปสู่เขาวงกต เป็นหน้ากากประชาธิปไตยของผู้นำอำนาจนิยม และแพร่งที่ 3 การเลือกตั้งจะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเมืองรอบใหม่ ซึ่งจะออกมาในรูปแบบใดขึ้นอยู่กับประชาชนและ กกต.  ดังนั้นกติกาการเลือกตั้งที่ถูกสร้างขึ้นจะต้องมีคุณภาพ รวมถึงการสร้างเสถียรภาพให้พรรคการเมือง ไม่ใช่ทำให้พรรคแข็งแรงพรรคเดียว แต่ต้องทำให้พรรคมีระบบที่เป็นคุณภาพ ไม่ถูกควบคุมโดยฝ่ายบริหาร ข้อกังวลคือหากประชาชนเลือกไปแล้ว เขาก็หวังให้พรรคที่มีเสียงข้างมากจะเป็นรัฐบาล แต่ชนชั้นนำทางการเมืองอาจต่อรองให้ผลการจัดตั้งรัฐบาลให้ออกมาเป็นอีกอย่าง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจะลดทอนการความต้องการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง  ไม่เหลือสถาบันทางการเมืองใดเลยที่ประชาชนหวงแหนศรัทธา และอาจนำไปสู่วิกฤตการเมืองรอบใหม่

               "ทุกวันนี้รู้สึกสงสาร กกต.ซึ่งถูกตั้งคำถามตลอดเวลาว่าจะโกงมั้ย บัตรเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร โครงสร้างการเลือกตั้งที่ออกมา เป็นระบบจัดสรรผสม ซึ่งเยอรมันเคยใช้ในปี 1949 หลังสงครามโลก และหยุดใช้ในปี 1953 อาจเป็นเพราะนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อาจอยากกลับไปเป็นออเจ้า ระบบนี้ไม่ส่งเสริมการแข่งขันของพรรคการเมือง ทำให้พรรคอ่อนแอ ตอบโจทย์คนที่ไม่ศรัทธาพรรค  พรรคการเมืองอาจแก้ไขได้โดยตกลงกันจับสลากหมายเลขเพื่อเลือกพรรคการเมืองทั้งประเทศเบอร์เดียว ซึ่งจะทำให้ความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองกลับมา โดยวิธีนี้พรรคต้องร่วมมือกับ กกต.ดัดหลังกฎหมาย"รศ.สิริพรรณกล่าว

            รศ. สิริพรรณ กล่าวอีกว่า  สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นเมื่อมองไปที่ตัวผู้เล่นทางการเมือง จะเห็นผู้แสดงกลุ่มหนึ่งอยู่นอกกติกา โดย คสช.เป็นผู้ออกแบบกติกา เลือกผู้ร่างกติกา และเป็นผู้เล่นที่สามารถเปลี่ยนกติกาได้ระหว่างเกม จึงเป็นผู้เล่นที่ได้เปรียบคนอื่น รวมทั้งยังมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมีที่มาจากนอกกติกาเป็นตัวช่วย  ดังนั้นหากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดทนายกฯ คนต่อไป ก็ควรเลิกรายการนายกฯพบประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเกินไป จนถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรม  และไม่ควรห้การเลือกตั้งอยู่ในบริบททางการเมืองที่อยู่ภายใต้ ม.44  และทหารกับหน่วยความมั่นคง  เชื่อว่าประชาชนคาดหวังรัฐบาลผสมที่มีคุณภาพและเสถียรภาพ และหวังให้นำนโยบายพรรคการเมืองมาใช้เพื่อตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ

           ขณะที่ นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการ กกต. กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการปฏิวัติของ คมช. มีบทบาทควบคุม กกต.มากกว่า คสช.  แม้ที่ผ่านมาจะมี มาตรา 44 แต่ก็เชื่อว่าคำสั่ง คสช. ที่ 16/61  เรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่เราขอร้องเขามากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่แก้ปัญหาลำบาก ส่วนประเด็นบัตรเลือกตั้งแบบโหล ที่หลุดออกมาเนื่องจาก กกต.จะทำบัตรยากมาก การพิมพ์บัตร 350 แบบ มีโอกาสพลาด ถ้าพลาด กกต.ทั้ง 7  คน ต้องโดนก่อน อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้ง กกต.ต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเรื่องยาก กกต.เป็นองค์กรที่ต้องชี้ขาดว่าอะไรทำได้-ทำไม่ได้ ซึ่งครั้งนี้ไม่ค่อยได้ยินเสียงกกต.ทั้ง 7 คน แต่กลับได้ยินแต่เสียงเลขาธิการ กตต. และรองเลขาธิการ กกต.  

           "กกต.กลายเป็นตำบลกระสุนตก บางครั้งอาจได้รับคำสั่งอะไรมา แต่ต้องใช้ดุลพินิจว่าคำสั่งใดจะทำให้ติดคุกหรือไม่ ถ้าติดคุกก็อย่าทำ ความกล้าเป็นเรื่องสำคัญ  เมื่อไม่กล้าความเสื่อมจะตามมา การทำงานครั้งนี้ กกต.ต้องแสดงฝีมือ อย่าให้เสียเปล่า ต้องชี้ขาดในสิ่งที่ถูกต้อง การเฉยไม่ทำให้สถานภาพของกกต.ดีขึ้น อาจถูกมองว่าอ่อนแอ ไม่เป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง ต้องจัดการเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรม   เพื่อชี้ชะตาบ้านเมือง ประชาธิปไตยจะเดินทางไปด้วยดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับกกต. 

          นางสดศรี กล่าวอีกว่า อยากฝากถึงนายกฯ ว่า การใช้ม.44 แม้จะใช้ด้วยความหวังดี  แต่สิ่งที่ตอบแทนกลับมาอาจจะลบสิ่งดีๆ ที่ท่านสร้างไว้ 5 ปี  หลังจากนี้ขอให้สงสารกตต.  ท่านเซ็ตซีโร่ กกต.ไปแล้ว 1 คณะ ขอให้คณะนี้ได้เดินต่อไป  ซึ่งเชื่อว่า กกต.ทั้ง 7 คน จะสามารถทำได้ ขอให้กกต.พูดกับนายกฯตรงๆ ว่าขอบคุณที่ช่วยใช้ ม.44   แต่หลังจากนี้กกต.เดินต่อเองได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ ม. 44 หรือเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆมาช่วยแล้ว

         สำหรับประเด็นป้ายหาเสียงที่ห้ามขึ้นภาพบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง นางสดศรี กล่าวว่า เป็นเรื่องที่กกต.หวังดีไม่อยากให้พรรคการเมืองถูกตีความกฎหมาย กรณีนายชวน หลีกภัย ยังเป็นสมาชิกพรรค การติดภาพสามารถได้เพราะไม่ใช่การชี้นำ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ การนำภาพที่ถ่ายคู่กับบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมือง กกต.อาจตีความว่าเป็นการครอบงำพรรคหรือผู้สมัคร ซึ่งเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคทันที  แต่ที่ผ่านมาการอธิบายของกกต.ไม่ได้พูดให้ชัดว่าทำไมจึงใช้รูปนายทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้  ส่วนพรรคชาติไทยหรือพรรคชาติพัฒนา  จะใช้ภาพนายบรรหาร ศิลปะอาชา หรือพล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ  ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วถือเป็นปูชนียบุคคล สามารถนำมาใช้ได้ เปรียบเทียบคล้ายกับการนำภาพพระเกจิ เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่มั่น มาติดในป้าย  

           ขณะที่นายเมธา ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการกกต. กล่าวว่า การเลือกตั้งคุณภาพอาจวัดได้ยาก ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ คุณภาพจะมองคู่กับปริมาณ กกต.จึงตั้งเป้ารณรงค์ให้มีผู้มีสิทธิไปลงคะแนนไม่น้อยกว่า 80% บัตรเสียไม่เกิน 2% เพราะถ้าขยับเป็น 3 % คือ มีเสียเป็นล้านใบ  ถ้ามองการเลือกตั้งคล้ายแข่งกีฬา ต้องมีผู้เล่น กองเชียร์ และกรรมการ  โดยทั้ง 3 ส่วนต้องอยู่ในกรอบกติกา ซึ่งเขียนเอาไว้แล้วว่าต้องแข่งกันแบบนี้ เชียร์กันแบบนี้  รัฐธรรมนูญปี  60 เขียนเรื่องการไปเลือกตั้งต่างจากฉบับปี 40 และ 50 โดยเขียนว่า ให้ไปสิทธิเลือกตั้งอย่างอิสระ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ แปลว่าแม้ว่าเราจะชอบใครเป็นพิเศษไม่ได้หมายความว่าต้องเลือก แม้ว่าเขาจะบริการเราเป็นพิเศษ ฝากลูกเข้าโรงเรียน เวลาต้องเสียค่าปรับก็จ่ายน้อยลง แต่สิ่งเหล่านั้นอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

          "ผมในฐานะคนข้างใน เข้าประชุมกกต.ค่อนข้างบ่อยเห็นบรรยากาศความทุ่มเท ไม่เข้าใครออกใคร มีประโยคที่พูดกันเสมอว่า เราจะไปฟังคนอื่นทำไม เรามีอำนาจ หรือถ้าเราทำอย่างนี้จะไปเอื้อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่ ประเด็นเขตเลือกตั้งที่ใช้ ม.44  อาจเป็นเพราะกกต.ทำงานไปแล้วไม่สบายใจ เช่น ในจ.ตาก มีผลต่างจำนวนประชากรระหว่างเขต 3-4 หมื่นคนหรือมีเรื่องร้องเยอะจนพิจารณาไม่ทัน  ม. 44 จึงอาจเป็นความต้องการของหลายฝ่าย ส่วนเรื่องบัตรโหล ก็ชี้แจงหลายครั้งว่า ไม่ใช่ กกต.เตรียมไว้ 2 แบบ แต่ก็ถูกติชมมาโดยตลอด วันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า กกต.มีมติเลือกบัตรที่มีครบทุกอย่าง

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการเสวนาเปิดให้ตัวแทนพรรคการเมืองได้แสดงความคิดเห็น โดยนายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทย กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้พรรคการเมืองใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ เพราะในบางเขตเลือกตั้ง อาจมีผู้สมัครแค่ 5-6 คน จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีบัตรลงคะแนน 50-60 เบอร์ ซึ่งจะยากต่อการจดจำของประชาชน ขณะที่นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า มั่นใจว่าประชาชนกาถูกเบอร์ จึงไม่เห็นกับประเด็นพรรคเดียวเบอร์เดียว ส่วนข้อกังวลนั้นอยากให้กรรมการใช้กติกาอย่างเข้มข้น การเลือกตั้งจะบริสุทธิ์และยุติธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้เล่นแต่เป็นกกต.ที่ต้องใช้งบมหาศาลในการจัดการเลือกตั้ง อีกทั้งเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศ โดยตอนนี้กกต.มีเขี้ยวเล็บแล้ว แต่ถ้ามีการเกรงใจกันการเลือกตั้งจะไม่สนุก อยากให้กกต.เป็นวีรบุรุษ สร้างประชาธิปไตยของประเทศ

             จากนั้นรองเลขาธิการ กกต. ได้ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการสังเกตการณ์เลือกตั้งขององค์กรระหว่างประเทศ ที่ผ่านมา กกต.ก็อนุญาตให้เข้ามา ไม่มีปัญหาและคิดว่าถ้าเข้ามาก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน ซึ่งพิธีกรถามย้ำว่า อำนาจในการพิจารณาให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้งเป็นของ กกต.หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งนายเมธายืนยันว่าเป็นอำนาจ กกต. ที่สามารถพิจารณาได้เอง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ