ข่าว

'ธีรยุทธ' วอนเลิกใช้กฏหมายเอื้อโกงเลือกตั้งแบบเผด็จการทหาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ธีรยุทธ'ตอกย้ำเหลื่อมล้ำรวยกระจุกจนกระจาย เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤตการเมืองหลังเลือกตั้ง ไทยแลนด์ 4.0 โฟกัสพัฒนาผิดจุด

ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ และนักวิพากษ์วิจารณ์ด้านการเมือง เตรียมปาฐกถา 45 ปี 14 ตุลา ครั้งที่ 4 เรื่อง มองประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤตการเมือง  ความว่า 

 

ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤติการเมือง

 

สังคมประชาชาติไทยเป็นเสมือนระบบฟันเฟืองขนาดใหญ่ ที่ทุกนาทีทุกชั่วโมงเคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นเกือบ 20 ปีที่คนไทยหมกมุ่นกับปัญหาการเมือง ก็เท่ากับว่าเราได้ปล่อยให้กลไกเศรษฐกิจ สังคม ทำงานไปโดยไม่มีการปรับทิศทางให้มันเลย เราจึงพบปัญหาใหญ่มหึมาเพิ่มขึ้นมากมาย เช่น ช่องว่างคนจนคนรวยกว้างมากยิ่งขึ้น ๆ เรื่อย ๆ อยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลก คือคนรวย 1% คุมความมั่งคั่งประมาณ 50-60% ของประเทศ ขณะที่คนชั้นล่างซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่มากมีรายได้รวมกันไม่ถึง 10% ของประเทศ (1) คุณภาพการศึกษาทุกระดับลดค่าลงอย่างน่าใจหาย งานศึกษาวิจัยด้าน STEM (STEM คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และการแพทย์) อ่อนด้อยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ทรัพยากรมนุษย์ด้อยประสิทธิภาพ เด็กเกิดน้อยแต่คนแก่เพิ่มมากขึ้น คอร์รัปชั่นขยายตัวลงสู่รากหญ้า กลุ่มทุนใหญ่ก่อตัวแข็งแกร่งขึ้นจนคล้ายมีสถานะเหนือรัฐบาลและกฎหมาย ในแง่ที่ว่า “คนจนติดคุก คนรวยไม่ติดคุก” ยังเป็นเรื่องเล็ก แต่กลุ่มทุนใหญ่ไทยสามารถขยายอำนาจอิทธิพลผูกขาดทางเศรษฐกิจได้อย่างเกือบเด็ดขาด และขยายมาสู่อิทธิพลด้านอื่น ๆ เช่น สะกดไม่ให้มีเสียงคัดค้านหรือไม่ให้มีกฎหมายออกมาจำกัดการผูกขาดสัมปทาน การค้า อิทธิพลเหนือตลาด หรือขยายตัวเข้าคุมทุกมิติของเศรษฐกิจและทุกจังหวะชีวิตประจำวันของคนไทย หากเทียบกับการเลี้ยงไก่หรือหมู ซึ่งถูกป้อนอาหารตามชนิดและขนาดเป็นเวลาตั้งแต่เกิดจนถูกเชือด คนไทยก็กำลังมีพฤติกรรมคล้าย ๆ กันคือตื่นเช้ามาก็ต้องกินโจ๊กหรือแซนวิชจากร้านสะดวกซื้อ กลางวันออกไปกินกะเพราไก่ในร้านสะดวกซื้อ ตอนเย็นอุ่นข้าวแกงไก่ เกี๊ยวน้ำยี่ห้อของร้านสะดวกซื้อ แถมยังจะจ่ายเงิน เติมเงินค่าโทรศัพท์ บัตรเครดิต ซื้อตั๋วรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ก็ได้อีก จึงอาจขออนุญาตยืมชื่อวิธีเลี้ยงไก่สมัยใหม่ที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าไก่ซีพี มาตั้งชื่อคนไทยอนาคตว่าคือ “คนไทยซีพี” ซึ่งก็น่าจะให้ภาพใกล้เคียง นี่เป็นปัญหาใหญ่กว่าวิกฤติทางการเมืองอย่างชัดเจน

 

เศรษฐกิจ ทุ่มเทกับโครงการยักษ์และ 4.0 มากเกินไป อาจเป็น “เราจะทิ้งทุกคนที่ตามไม่ทันให้อยู่ข้างหลัง ไม่รอใครแม้แต่เพียงคนเดียว”

 

ความไม่พร้อมของไทยในเรื่องอุตสาหกรรม 4.0

 

เศรษฐกิจ 4.0 คือ การเชื่อมโยงทั้งชีวิตประจำวัน ชีวิตสังคม ระบบการผลิต ออฟฟิศ โรงงาน บ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ รถ การจับจ่ายซื้อขาย เข้าด้วยกันผ่านอินเทอร์เน็ตและระบบดิจิตอลความเร็วสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ AI ช่วยในการตัดสินใจ ประสานงานต่าง ๆ เพิ่มความสะดวกให้กับมนุษย์ แต่ถ้ามองเชิงระบบคิด เศรษฐกิจ 4.0 จะเกิดขึ้นได้เมื่อสังคมได้กลายเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร คือการแปลงทุกมิติของมนุษย์ให้เป็น data มีการประมวล (Big) data เหล่านี้ให้เป็น “ความรู้” (knowledge society) และให้สมาชิกสังคมนั้นใช้ความรู้นี้เป็นประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ (เช่น มีข้อมูลราคาวัตถุดิบ ตั๋วเครื่องบิน โรงแรม ให้ตรวจสอบ)

 

นโยบาย 4.0 ของรัฐบาลประยุทธ์มีข้อดีในส่วนกระตุ้นให้ภาคธุรกิจ สังคม ตื่นตัวและปรับตัวต่อผลกระทบของ supply chain หรือเศรษฐกิจแบบรื้อสร้าง (disruptive economy) ความพยายามพัฒนา E-government โครงการรถไฟรางคู่ซึ่งควรจะมีมานานแล้วก็น่าชมเชย แต่ที่ควรวิจารณ์มีหลายประเด็น เช่น

 

1. ไม่มีการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ เพราะรัฐบาลไม่เริ่มต้นด้วยการทำให้ตัวเราเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นพื้นฐานให้เกิดเศรษฐกิจความรู้ นโยบาย smart ต่าง ๆ เกือบทั้งหมดของรัฐบาลจึงไม่ได้ผลจริง เพราะข้าราชการใช้ความรู้แบบขาดวิ่น มองเทคโนโลยี 4.0 เป็นแค่เครื่องมือใช้สอย ตั้งเป้าหมายเกินจริง อุปกรณ์คุณภาพต่ำ ล้าสมัย เป็นเพียงผักชีโรยหน้า หรือสักแต่ให้เกิดโครงการขึ้นเท่านั้น แม้จะมีคนรุ่นใหม่ที่เก่งด้านคอมพิวเตอร์จำนวนหนึ่ง แต่พื้นฐานเบื้องต้นของประเทศไม่พร้อมไม่เพียงพอ startup จึงเกิดได้ยาก

 

2. มีดัชนีชี้วัดความพร้อมในการเข้าสู่ยุค 4.0 หลายแบบ เช่น VDMA ใช้ 6 เกณฑ์คือ แผนยุทธศาสตร์ประเทศ ผู้นำ องค์กร กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ การจัดการ และการบริการที่เป็นสมาร์ท ใช้ Big Data ดัชนี Roland Berger วัดจาก “ความเป็นเลิศในการอุตสาหกรรม” เช่น การผลิตและกระบวนการปฏิบัติการขั้นสูง ระบบอัตโนมัติ นวัตกรรม ความพร้อมของแรงงาน อีกด้านคือ “เครือข่ายแห่งมูลค่าเพิ่ม” อุตสาหกรรมที่เปิดกว้าง ขอบเขตเครือข่ายการศึกษาวิจัย “นวัตกรรม” ประสิทธิภาพอินเทอร์เน็ต ซึ่งหากใช้มาวัดประเทศไทย อาจมีเพียงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่พอใช้ได้ อย่างอื่นยังขาดอยู่อีกมาก โดยเฉพาะทรัพยากรบุคคล นวัตกรรม การค้นคว้าวิจัย ระบบการผลิต ระบบอัตโนมัติ ล้วนอยู่ในขั้นต่ำทั้งสิ้น ประเทศที่อยู่แถวหน้าสุดในโลกคือเยอรมันก็ยังยอมรับว่าความรู้เกี่ยวกับ 4.0 ของเขายังไม่พอ และจำนวนบุคลากรที่จบด้าน “สเต็ม” ของตนยังขาดอยู่ประมาณ 1-1.5 แสนคน และมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก ก็ยังแค่อยู่ในประเภทประเทศที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เท่านั้น ส่วนประเทศที่คล้ายประเทศไทยเพราะขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและมีอุตสาหกรรม SME มาก เช่น อิตาลี สเปน ยังลังเลที่ทุ่มเทไปสู่ 4.0 เพราะไม่แน่ใจว่าจะเหมาะสมกับเศรษฐกิจสังคมของตนเองหรือไม่ ไทยกลับทุ่มตัวเข้าสู่ 4.0 เหมือนคนบ้าคลั่ง

 

โครงการ EEC ซึ่งอ้างว่าคือการสร้างประเทศให้เป็น 4.0 ประเมินดูแล้วอาจมีเพียงไม่กี่ด้านที่มีศักยภาพ เช่น Biotech โครงการศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ซึ่งล้วนอยู่ในระดับ 2.0 3.0 ที่เหลือคือการสร้างโรงงานตามคำสั่ง สร้างถนน ท่าเรือ ฯ แม้แต่วัตถุดิบชิ้นส่วนของอุตสาหกรรม 4.0 จริง ๆ เราอาจไม่มีศักยภาพพอจะผลิต บุคลากรช่างเทคนิคระดับสมองคนไทยยังไม่พร้อม ต้องยินยอมให้ว่าจ้างมาจากต่างประเทศ อุดมการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้แท้ที่จริงก็คือการสืบสานนโยบายเปิดเสรีการค้าการเงิน (Neoliberalism) ซึ่งชัดเจนจากการที่รัฐบาลเสนอให้ EEC เกือบเป็นดินแดนอิสระที่มีอิสรภาพด้านการใช้เงินตราของตัวเอง การศึกษา กฎหมายหลาย ๆ ด้าน การเช่าที่ดินได้ 100 ปี

บทเรียนจากในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่คนจนบางส่วนได้ประโยชน์จากการขายที่ดิน คนชั้นกลางได้จากการเก็งกำไร คนรวยรวยมหาศาลจากตลาดเงิน แต่พอเกิดเป็นวิกฤติต้มยำกุ้งรัฐต้องมาแบกรับภาระหนี้ เที่ยวนี้นายทุนถือครองที่ดินไว้เต็มที่แล้ว ยังได้ประโยชน์จากการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ นิคมอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า ดิวตี้ฟรี ด้านรถไฟฟ้า ท่าเรือ สนามบิน โลจิสติกส์ คนกลุ่มอื่นยังไม่ได้รับประโยชน์ การทุ่มเทงบประมาณก้อนใหญ่ของรัฐบาลครั้งนี้ถ้าจะเกิดผลเชิงลบก็อาจจะไม่ส่งผลมากนัก เพราะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่เนื่องจากทำกันอย่างเร่งรีบ ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีส่วนร่วมจากสื่อ ประชาชน อนาคตจะเป็นอย่างไรยังต้องรอกันต่อไป

 

โดยภาพรวมชนชั้นล่างถูกแรงอัดบีบจากแรงงานต่างชาติ ส่วนคนชั้นกลางส่วนมากขาดทักษะฝีมือทำงานในด้าน STEM การศึกษาที่ได้รับก็ไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะรองรับเศรษฐกิจดิจิตอลหรือเป็นสตาร์ทอัพแบบ 4.0 จะมีการแข่งขันจากบุคลากรที่มีคุณภาพดีกว่าจากเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ ดังนั้นคำขวัญรัฐบาลที่ว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว” ที่จริงแล้วจะเป็นการก้าวเดินไปเฉพาะอภิสิทธิ์ชนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น คนส่วนใหญ่อาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

 

รัฐบาลประยุทธ์โฟกัสการพัฒนาผิดจุด

 

การทุ่มเทสุดตัวให้ 4.0 ของรัฐบาล โดยที่ระดับเทคนิค บุคลากร พื้นฐานต้นทุนอุตสาหกรรมที่มี การศึกษาวิจัย ยังไม่พร้อม อาจไม่เป็นไปตามเป้า จะเป็นประโยชน์ยั่งยืนกว่าไหมถ้ารัฐบาลเฉลี่ยเป้าหมายอย่างเลือกสรร เศรษฐกิจ 1.0 (เกษตรกรรม) 2.0 (อุตสาหกรรมธรรมดา) ที่ยังมีคุณค่ามีความจำเป็นก็ดำรงไว้ ส่วนที่จะก้าวเป็น 3.0 (โรงงานที่มีออโตเมชั่นเต็มที่) หรือ 4.0 ก็เลือกทำอย่างเข้าใจและมั่นใจ

 

เปลี่ยนเศรษฐกิจบริกร (servant economy) ให้เป็นเศรษฐกิจบริการ (service economy) เศรษฐกิจบริกรคือการอาศัยแรงงานมาให้บริการ ขายผลผลิตชั้นต้น จนเป็นสิ่งที่เลิกใช้หรือถูกทดแทนได้ (dispensable) เช่น เอาแรงงานต่างชาติ เอาช่างเทคนิค วิชาชีพ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ มาแทนแรงงานไทยได้ หรือย้ายฐานการผลิต เป้าหมายการท่องเที่ยวไปเวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย ฯ ได้ แต่เศรษฐกิจบริการหมายถึงการมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เทคโนโลยีเฉพาะ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งขายผลผลิตชั้น 2 หรือ 3 เช่น โปรดักทางการเงิน ข้อมูลการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิตอลใหม่ ๆ จึงมีมูลค่าสูงและเอาสิ่งอื่นมาทดแทนได้ยาก

 

เศรษฐกิจบริการของเราตั้งแต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมวัฒนธรรม อุตสาหกรรมด้านน้ำใจ (hospitality) อุตสาหกรรมอาหารการกิน ผลไม้ ยา ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของเรา สร้างรายได้หลักให้ประเทศ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการบริการชั้นต้นหรือจะเรียกเป็นเศรษฐกิจบริกร

 

ปัญหาหรือเรื่องที่ต้องทำยังมีอยู่ทุกด้าน บางอย่างอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในโลกยุคโซเชียลมีเดียเป็นสังคมโลกแบบความเสี่ยงสูง (high risk society) ก็อาจเป็นความเสียหายร้ายแรงได้ หรือบางเรื่องถ้ารีบเร่งทำก็อาจเป็นรายได้มหาศาลได้ เช่น คนอินเดีย ฟิลิปปินส์ ภาษาอังกฤษดี เศรษฐกิจเสียง (voice economy) คือเป็นโอเปอร์เรเตอร์ พนักงานรับตรวจสอบข้อมูล ตอบข้อสงสัยคำถามด้านการแพทย์ การเงิน การศึกษา ฯ ถือเป็นเศรษฐกิจใหญ่ของทั้ง 2 ประเทศในปัจจุบัน

 

เรื่องที่พึงทำและพึงระวังมีอาทิ

 

(ก) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง อินเดีย มีหรือเคยมีอุตสาหกรรมวัฒนธรรม เช่น เจป๊อป เคป๊อป ดนตรี ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ส่งขายไปทั่วโลก เราก็มีศักยภาพที่จะให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ขยายตัวได้ มีศักยภาพที่จะสร้างผู้ริเริ่มประกอบการ (entrepreneur) ด้านวัฒนธรรม อาหาร แฟชั่น เครื่องใช้มี design มากกว่าด้านอื่น ๆ

 

(ข) เรามีวัฒนธรรมน้ำใจซึ่งสามารถสร้างอุตสาหกรรมน้ำใจ (hospitality industry) ทั้งด้านสุขภาพ ความรู้ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ การแพทย์ พยาบาล การอบรมสัมมนา เป็นต้น

 

(ค) ต้นทุนทางธรรมชาติ วัฒนธรรม จิตใจบริการ ของเราเสื่อมโทรมลง เช่น ทะเล ชายหาด เริ่มสกปรก ปะการังทรุดโทรม เกาะถูกบุกรุก แออัด ความปลอดภัยต่ำ แท็กซี่ เจ้าหน้าที่ โจร ทำร้าย ข่มขืนนักท่องเที่ยว ฯ ปัญหาเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อาจทำให้ทั้งภาคอุตสาหกรรมนั้นพังได้

 

(ง) นักท่องเที่ยวปัจจุบันเสพประสบการณ์ ภาพลักษณ์ ภาพตัวแทนประเทศที่ไปท่องเที่ยว ยิ่งหลากหลายเติมเต็มได้ยิ่งดี ไทยได้เปรียบเพราะมีพื้นที่ต่าง ๆ ให้เป็นภาพลักษณ์ ภาพตัวแทน เช่น ตัวแทนชุมชนจีน (เยาวราช) ตัวแทน “เมืองเล็ก” (ปาย) ตัวแทนพืชพรรณไม้ดอกไม้ ตัวแทนป่าร้อนชื้น (tropical forest) เราสามารถเพิ่มพื้นที่เหล่านี้ได้อีกมหาศาล

 

(จ) เราสามารถสร้างพื้นที่ท่องเที่ยวจากพื้นที่ข้างต้นได้อีกมาก การยกระดับบุคลากรของเราให้เป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม เป็นช่างฝีมือ พ่อครัว แม่ครัว ศิลปิน ผู้เชี่ยวชาญ ตำนานระดับประเทศ การยกระดับให้มีวิถีชีวิตชุมชนที่ดี เช่น สะอาด ปลอดภัย จิตใจดี ทำให้เป็นคลาสสิก คือ สวยงาม ดี สะอาด ประณีต (แบบญี่ปุ่นหรือสวิสเซอร์แลนด์) เป็นสิ่งจำเป็นระดับต้น ๆ
คำถามมีง่าย ๆ คือ รัฐบาลประยุทธ์ทุ่มเทงบประมาณ 5-6 ล้านล้านบาทเพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจใหญ่อย่างเต็มที่ เหตุใดจึงไม่ทุ่มเทแบบเดียวกันหรือสักครึ่งหนึ่งให้กับธุรกิจซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ให้เป็นเศรษฐกิจชั้นนำ เป็นเป้าหมายการพัฒนาของชาติ ทั้งที่ธุรกิจเหล่านี้ต้องเผชิญความสุ่มเสี่ยงจากการบริหารจัดการที่ไม่ดี ความเสื่อมโทรม รวมทั้งการเผชิญการแข่งขันอย่างเข้มข้นจากประเทศเพื่อนบ้าน?

ภาคสังคม คนรวย 1% รวยล้นฟ้า คนจนท่วมประเทศ รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน

 

สังคมไทยมี 2 ชนชั้นครึ่ง

 

20 ปีหลังวิกฤติเศรษฐกิจภาพที่ปรากฏชัดเจนขึ้นคือ ไทยมีความต่างทางรายได้สูงเป็นลำดับนำของโลก คนรวยรวยล้นพ้น คนจนพอมีอยู่มีกินมีมากที่สุด ส่วนหนึ่งมีรายได้ดีขึ้นจากผลผลิตเกษตรบางประเภท จากการขยับเป็นผู้ประกอบการอิสระ แต่มีส่วนน้อยที่ก้าวไปเป็นชนชั้นกลางได้ ส่วนชนชั้นกลางที่คาดว่าจะขยายตัวมีรายได้สูงขึ้น จนนำพาประเทศพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ไปเป็นประเทศร่ำรวย ก็เป็นเพียงความฝันกลางวัน เพราะคนชั้นกลางไม่มีทั้งทุนเศรษฐกิจและทุนเครือข่ายสังคมเหมือนครอบครัวคนรวย ช่วง เวลาที่ว่ารายได้ชนชั้นกลางอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 60-70% แต่ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือที่พัก ค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นหลายเท่า จนอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันมีแต่ชนชั้นกลางบนคือคนทำงานด้านการเงิน ครีเอทีพ หรืออาชีพหมอ วิศวกร ฯ ส่วนชั้นกลาง-กลางยุบตัวลงไปเป็นชั้นกลางล่าง ทับซ้อนกับชนชั้นล่างที่ขยายตัวขึ้นบน สังคมไทยปัจจุบันมีโครงสร้างเพียงสองชนชั้นครึ่ง และต้องเปลี่ยนคำขวัญเป็น “รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน (แปลว่าไม่โต แคระแกร็น)”

 

คอร์รัปชั่นขยายไปทุกระดับชั้น

 

การคอร์รัปชั่นขยายลงสู่รากหญ้า เช่น คอร์รัปชั่นในวงการศึกษาตั้งแต่เด็กเล็กไปถึงอุดมศึกษา ในวงการสงฆ์ สหกรณ์ครู อาจารย์ ตำรวจ จนถึงการคอร์รัปชั่นในส่วนคนพิการ คนด้อยโอกาส องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ฯลฯ สาเหตุของการขยายตัวของคอร์รัปชั่นน่าจะเกิดจากโรคระบาดทางคุณธรรม คือคนรวยโกงได้ คนชั้นกลาง คนชั้นล่างก็โกงได้ อีกสาเหตุคือแรงบีบคั้นความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น ชาวบ้านระดับล่างจึงต้องกดดันเรียกร้องให้ ส.ส. รัฐบาล จัดนโยบาย “ประชานิยม” ลดเลิกชำระหนี้ ประกันราคาพืชผล ส่วนชนชั้นกลางข้าราชการจำเป็นต้องรักษาสถานะชีวิตแบบเดิม เช่น ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย รักษาพยาบาล ให้ลูกได้รับการศึกษาในเขตเมือง จึงต้องหันเข้าหาการคอร์รัปชั่น เกิดความนิยมสร้างเครือข่ายในแนวราบ เช่น กลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกัน กลุ่มสำเร็จโครงการอบรมพิเศษของ วปอ. ตลาดหลักทรัพย์ ศาล ฯ เพื่อสร้างระบบ connection สร้างเครือข่ายหรือเพิ่มอำนาจต่อรองกับชนชั้นสูงซึ่งมีเครือข่ายสังคมและเศรษฐกิจพร้อมอยู่แล้ว นำไปสู่การคอร์รัปชั่นแบบใหม่ คือคอร์รัปชั่นคอนเนกชั่นในที่สุด

 

คนจนไทยจนอัตลักษณ์แล้วจะรักประเทศไทยได้อย่างไร

 

ความจนมีทั้งด้านความหวัง สังคม พื้นที่ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อาจเรียกรวม ๆ ว่าจนทางอัตลักษณ์ อาจจะเป็นปัญหาการเมืองใหญ่สุดของประเทศ นักเศรษฐศาสตร์วัดความจนจากค่าเฉลี่ยรายได้ที่พอเพียงจะดำรงชีพอยู่ได้ แต่นักสังคมศาสตร์ไม่ได้มองแค่ปัจจัย 4 แต่มองรายได้ที่พอเพียงที่จะทำให้เกิดความสามารถในการเข้าถึงและมีส่วนร่วมในวิถีชีวิตทางสังคม วัฒนธรรม ร่วมกับคนส่วนอื่น ๆ ของประเทศด้วย

 

คนจนไทยจนความหวัง เป็นเหตุให้หมดไฟในการทำงาน เพราะไม่มีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคม คนจนอาจพอเพียงทางวัตถุ แต่ไม่พอเพียงทางโอกาส คุณภาพและวิถีชีวิต คนจนเป็นกลุ่มเดียวที่ดิ้นรนทำอาชีพหลากหลายมากที่สุด ตั้งแต่เป็นกุ๊กอาหารญี่ปุ่นหรืออิตาลี ขับแท็กซี่ ขายอาหาร ขายผักผลไม้รถเข็นหรือแผงลอย แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ไม่สามารถยกระดับเป็นชนชั้นกลางได้ เพราะคุณภาพการศึกษาที่เขาได้รับก็ไม่ดีพอ ด้านล่างถูกกดดันจากแรงงานต่างชาติ ด้านบนหมดความหวัง มีจำนวนมากที่ไม่ยอมทำงานใช้แรงงานหันกลับไปทำนาที่บ้านซึ่งก็ไม่ดีขึ้น คนจนบางส่วนที่โชคดีอาจยังมีความหวังจากการเติบโตของการท่องเที่ยว การขายของทางอินเทอร์เน็ต เกษตรกรรม ผัก ผลไม้หลายประเภท ฯ

 

คนจนไทยจนทางประวัติศาสตร์ เพราะเราไม่เคยให้ความสำคัญหรือเกียรติกับบทบาทคนจน ไม่ว่าจะในฐานะชาวนา ประมง ช่างไม้ ช่างต่อเรือ ช่างก่อสร้าง พ่อค้าแม่ค้า คนกวาดถนน ฯ แม้แต่ชนชั้นกลางก็เกือบไม่มีใครได้ใครได้รับเกียรติระดับสูงของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาระดับยอดเยี่ยมของโลก นักเขียน นักประพันธ์ ศิลปิน ดารา นักร้อง ปัญญาชน แพทย์ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

 

คนจนไทยจนทางพื้นที่ มีพื้นที่ไม่กี่แห่งในประเทศไทย คือใจกลางของเมืองใหญ่ ๆ ที่ถือได้ว่ามีความพอเพียงในตัวเอง คือเพียบพร้อมทั้งในด้านที่พักอาศัย อาหารการกิน โรงเรียน โรงหนัง โรงละคร โรงพยาบาล พื้นที่อื่น ๆ ไม่มีความพอเพียง จึงนิยามได้ว่าเป็นความจนทางพื้นที่ โครงการสร้างรถไฟฟ้าช่วยคนชั้นกลางแต่ขับไล่คนจนออกจากกรุงเทพฯ ไกลออกไปเรื่อย ๆ จนไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ สัญลักษณ์ วัฒนธรรม หรือบริการที่ดีทางการศึกษา การแพทย์ อาชีพ การกินอยู่ที่เหมาะสม ฯลฯ หรือโอกาสเข้าถึงน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะการขาดแคลนบริการรถสาธารณะ รถไฟฟ้า บริการทางด่วนก็ราคาสูง การก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเพิ่มเติมเป็น 11 สาย เป็นวงเงินอย่างต่ำ 5 แสนล้านบาท แม้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะพอใจเพราะเกิดความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น แต่ยังนิยมใช้รถเพราะมีความสะดวกและค่าใช้จ่ายที่ไม่ต่างจากรถไฟฟ้า ปัญหารถติดจึงแก้ไม่ได้ คนจนคือหาบเร่แผงลอย ร้านขายของชำ ตลาดนัดคนจน จะยิ่งถูกผลักไสออกไปขอบนอกกรุงเทพฯ สังเกตได้จากราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้า การรื้อห้องแถว ผุดตึกสูงและคอนโดที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนที่สุด ซึ่งจะนำมาซึ่งความจนด้านต่าง ๆ

 

การจนทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และพื้นที่ (คือการไม่สามารถเข้าถึง) เป็นที่มาของความจนทางอัตลักษณ์ ในความหมายว่าถ้าเยาวชนของเราไม่มีโอกาสชื่นชมความงาม คุณค่าของศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ประเทศหรือผู้คนของตนเอง ไม่สามารถชื่นชมวัดพระแก้ว วัดอรุณ วัดราชบพิธ ดอยสุเทพ วัดพระธาตุเมืองคอน เพราะฐานะยากจน ค่าเดินทางแพง เพราะอยู่ห่างไกล ฯลฯ เราจะคาดหวังให้เขารักประเทศของเราได้อย่างไร? คนที่ต้องใช้แรงงาน เดินทางไปกลับที่ทำงานวันละ 3-4 ชั่วโมง จะมีพลังกาย ใจ สมองที่ไหนไปสตาร์ทอัพ?

 

บิ๊กตู่หรือรัฐบาลหน้าปฏิรูปแบกะดินบ้าง

 

1. พลเอกประยุทธ์ละเลยคนจนเมือง สนับสนุนกลุ่มธุรกิจอิทธิพลใหญ่อย่างเต็มที่จนไม่น่าเชื่อ เพราะโครงการรถไฟฟ้าสีต่าง ๆ 11 สาย รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อมดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ได้รับอนุญาตให้ดำเนินงานภายใน 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง 1 ปีบ้าง ขณะที่โครงการรถเมล์ 3,000 คันดำเนินมาเป็น 10 ปี ได้ยังไม่กี่ร้อยคัน รถไฟฟ้า 10 กว่าสายปกติทำหน้าที่กระจายความหนาแน่นของเมือง ต้องมีการบริหารจัดการให้มีความพอเพียงและยั่งยืน (sufficiency and sustainability) ทางพื้นที่ คือมีเครือข่ายถนน รถสาธารณะ เชื่อมโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด สวนสาธารณะ มีการวางผังจัดโซนที่อยู่อาศัย การค้า ฯ ให้ชัดเจน จึงจะแก้ปัญหาการขยายตัวของเมืองและปัญหารถติดได้ ไม่ใช่สร้างรถไฟฟ้าให้เมืองขยายตัว แล้วสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มเข้าไปอีกไม่รู้จบสิ้น และทุกสายที่สร้างก็ไม่เคยเชื่อมโยงการบริการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

 

2. ทุกฝ่ายพูดถึงการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาเบื้องต้น ด้านงานฝีมือ ด้าน STEM แต่ไม่มีใครทำจริง ปัจจุบันความจำเป็นนี้ยิ่งกว่าเร่งด่วน รัฐบาลต้องระดมงบประมาณ หน่วยงาน บุคลากร ที่พอเพียงและเป็น The Best ทั้งภาคเอกชน มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ข้าราชการ ทหาร NGOs ชาวบ้าน เข้ามาแก้ปัญหาอย่างถูกวิธีและได้ผล เลิกตั้งกรรมการที่จบลงด้วยรายงานชุดละหลายพันหน้า และใช้เงินชุดละหลายร้อยล้านบาท เปลี่ยนมาคิดเชิงยุทธศาสตร์เลือกที่จำเป็นลงมือปฏิบัติจากจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุด จนเกิดมวลวิกฤติ (critical mass) ที่จะสร้างปฏิกิริยาขยายตัวต่อไปได้

 

3. รัฐบาลประยุทธ์หรือรัฐบาลหน้าควรแบกะดินให้ครบทุกภาค เช่น เติมรถไฟรางคู่เติมถนนให้ภาคเหนือ ภาคใต้ เพราะเมื่อเทียบแล้วเงินสร้างรถไฟฟ้าสายเดียวจะช่วยสร้างโครงการชลประทาน ดึงน้ำจากแม่น้ำโขงซึ่งเราถูกกลั่นแกล้งจากประเทศเจ้าอาณานิคมไม่ให้มีสิทธิได้ใช้เหมือนประเทศอื่น ๆ มากระจายทั่วภาคอีสาน งานนี้วิศวกรไทยกลุ่มหนึ่งออกแบบให้ใช้งานได้ในวงเงิน 1 แสนล้านบาท แต่หน่วยงานรัฐออกแบบใช้วงเงิน 1 ล้าน 6 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าผ่านเกณฑ์เรื่องสภาพแวดล้อมเราจะได้ทรัพยากรน้ำฟรีจากแม่น้ำโขงมาใช้ได้ทั้ง 16 จังหวัด

 

อนาคตการเมืองประชาธิปไตยอิทธิพลใต้อำนาจกลุ่มทุนใหญ่

 

1. มองวิกฤติการเมืองใหม่ วิกฤติการเมืองเกิดความพยายามของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่จะสถาปนาอำนาจของตนเอง ก่อนเกิดวิกฤติการเมืองไทยมีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นใน 2 อย่าง คือ ในทางการเมืองเกิดกระแสการเรียกร้องปฏิรูปการเมืองปี 2540 อีกมิติเกิดขึ้นพร้อมกันคือวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งเกิดจากกระแสเสรีนิยมใหม่ในโลกที่บังคับให้ไทยเปิดเสรีทางการเงิน สองเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา เช่น เกิดฉันทามติว่าปัญหาใหญ่การเมืองไทยคือการแตกแยกเป็นกลุ่มก๊วน ทางแก้คือการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ให้พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้นเป็นศูนย์กลางที่จะรวมกลุ่มก๊วนต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้ได้ พลังที่จะมีศักยภาพดังกล่าวในประเทศมีเพียงบุคคลที่มีบารมี กองทัพ และกลุ่มทุนใหญ่ ความคิดนี้ทดลองใช้ครั้งแรกผ่านกลุ่มทุน พ.ต.ท.ทักษิณ อาศัยพลังเงินทุนรวบรวม ส.ส. มาเข้าพรรค และเพิ่ม “ประชานิยม” ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวบ้านสูงมาก แต่พรรคของ “ทักษิณ” รวมศูนย์อำนาจและคอร์รัปชั่นแบบสุดขั้ว คุกคามอำนาจทหาร ฝ่ายอนุรักษ์ และกลุ่มทุนใหญ่อื่น ๆ จนเกิดการต่อต้านรุนแรง เกิดรัฐประหารขึ้น 2 หน

 

ช่วง 10 กว่าปีที่บ้านเมืองวุ่นวายมีการก่อตัวของกลุ่มทุนใหญ่ขึ้นประมาณเกือบ 10 กลุ่ม มีอิทธิพลครอบงำภาคเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ไว้ได้เกือบทั้งหมด เช่น บางกลุ่มคุมสนามบิน บางกลุ่มคุมเครื่องดื่มทุกชนิด บางกลุ่มคุมพลังงาน บางกลุ่มคุมสินค้าเกษตร บางกลุ่มคุมการขายปลีก-ส่ง กลุ่มทุนอิทธิพลใหญ่นี้มักเกิดขึ้นในประเทศที่มีการพัฒนาทุนนิยมรวดเร็ว เช่น ญี่ปุ่น ตามด้วยไต้หวัน เกาหลีใต้ รัสเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย และมักเข้าไปมีอิทธิพลครอบงำการเมืองจนเกิดศัพท์เฉพาะเรียกการปกครองใต้อำนาจโดยตรงหรืออ้อมของคนกลุ่มน้อยคือทุนอิทธิพล (oligarchy) มีดัชนีชี้วัดที่เรียกว่าดัชนีอำนาจทางวัตถุ (MPI-Material Power Index) คือดัชนีอำนาจเงินที่จะโน้มน้าว จูงใจ บังคับ ฯ ให้รัฐ พรรคการเมือง ข้าราชการ สื่อ สังคม ผู้บริโภค คล้อยตาม โดยวัดจากจำนวนเท่าของความมั่งคั่งของกลุ่มเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งไทยวัดได้เป็น 221,316 เท่า มาเลเซีย 189,881 เท่า ไต้หวัน 106,207 เท่า เกาหลีใต้ 68,896 เท่า สิงคโปร์ 27,557 เท่า ฮ่องกง 112,276 เท่า (2) ไทยเป็นรองเพียงฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

 

2. คสช. ตั้งใจสืบทอดอำนาจมานานแล้ว ตั้งแต่ล้มรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์มาเป็นร่างฉบับมีชัย ให้พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอชื่อคนนอกที่ไม่ใช่ ส.ส. หรือปาร์ตี้ลิสต์ เพิ่มทั้งจำนวนและอำนาจ ส.ว. ตั้งโดยทหาร 250 คน มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี การดึงกลุ่มการเมือง “ยี้” “มาร” มารวมเป็นพรรคพลังประชารัฐโดยไม่กังวลเสียงวิจารณ์ เป็นการการันตีเกือบ 100% ว่าพลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ถ้าจะหาคำอธิบายซึ่งไม่ใช่ว่าเพราะทหารอยากอยู่ในอำนาจ อยากมีผลประโยชน์แล้ว ก็ต้องมองเชิงอุดมการณ์ของชนชั้นนำไทย ซึ่งปัจจุบันคืออุดมการณ์เสรีนิยมทางเศรษฐกิจกับอนุรักษ์ทางการเมืองสุดขั้ว ในทางนโยบายก็คือ “รัฐเข้มแข็ง ตลาดเติบโต” (ซึ่งก็คือทำให้การเมืองอ่อนแอ สังคม ชุมชนอ่อนแอ ไม่ออกมาคัดค้านเสรีภาพของกลุ่มธุรกิจ) เพราะความเชื่อว่าถ้าทหารกำกับการเมืองให้มั่นคง ไม่สนใจการกระจายอำนาจ เน้นความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งของรัฐ แล้วปล่อยให้กลุ่มธุรกิจอิทธิพลใหญ่มีเสรีภาพในการขยายธุรกิจเต็มที่ไม่ต้องไปสกัดกั้น ก็พอเพียงที่ทำให้ประเทศมั่นคง เศรษฐกิจก้าวหน้าไปได้ การเมืองไทยอนาคตจึงจะเป็นประชาธิปไตยอิทธิพล ของทหาร ข้าราชการ ชนชั้นนำทางความคิด และกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งมีโอกาสพัฒนาเป็นการเมืองใต้เงื้อมมือทุนอิทธิพล (oligarchy) ได้ในที่สุด

 

3. พลเอกประยุทธ์คงจัดตั้งรัฐบาลหน้าขึ้นได้ แต่ความชอบธรรมจะต่ำเพราะรูปแบบการประสานประโยชน์ระหว่างพลังทหาร ข้าราชการ กลุ่มอนุรักษ์ และกลุ่มทุนใหญ่ ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ คสช. ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ เช่น ปปช. กกต. ปิดกั้นการตรวจสอบ พฤติกรรมเลือกตั้งก็ไม่ต่างไปจากระบอบทักษิณในอดีต คือมีการเอารัดเอาเปรียบก่อนเลือกตั้ง เช่น การดิสเครดิตนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามโดยอำนาจรัฐประหารที่ตนมี จับกุม ดำเนินคดี หรือเรียกมาอบรม ไปจนถึงการแจกเงินคนจน คนแก่ ข้าราชการ ชาวไร่ ชาวสวน บัตรเครดิตคนจน แจกซิมฟรี อินเทอร์เน็ตฟรี ลดภาษี ช็อปช่วยชาติ ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ฯ และรูปแบบโดยรวมการเลือกตั้งปี 2562 ก็คือการประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเป็นรัฐบาล คล้ายการเลือกตั้งปี 2542 ซึ่งพรรคทักษิณได้พัฒนาจากการซื้อเสียงธรรมดามาเป็นการประมูลสัมปทานเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยใช้ “ประชานิยม” ประมูลเสียงจากชาวบ้านอย่างได้ผล ได้รับการต่ออายุสัมปทานซ้ำหลายรอบ การเลือกตั้งครั้งนี้ดูจากพฤติกรรมของพรรคพลังประชารัฐบ่งว่าจะซ้ำรอยการประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเช่นกัน

 

ต้องขอวิงวอนพลเอกประยุทธ์ กองทัพ และนายทหารที่มีวิจารณญาณ ช่วยระงับไม่ให้ฝ่ายต่าง ๆ ใช้อภินิหารกฎหมายหรืออำนาจอื่น ๆ จนถึงขั้นมีเสียงกล่าวหาว่าเป็น “การเลือกตั้งสกปรก” หรือ “โกงการเลือกตั้ง” แบบเดียวกับสมัยเผด็จการทหารปี 2500

 

ความชอบธรรมต่ำจะทำให้รัฐบาลประยุทธ์ถ้าชนะการเลือกตั้งจะเจอปัญหารุมเร้าตั้งแต่เริ่มต้น และจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบคิดแบบทหาร หรือยังหลงคิดว่าตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีสิทธิชอบธรรมทุกประการ ให้มาเป็นการยอมรับความจริงของโลกยุคปัจจุบันที่มีพลังมีความคิดที่หลากหลาย ต้องมีการปรึกษาหารือ ปรองดอง และแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จึงจะมีโอกาสเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับบทบาทการบริหารประเทศไปได้

 

สร้างอนาคตการเมืองที่ดีขึ้น

 

การเมืองไทยมีโอกาสดีขึ้น เพราะมีแนวโน้มว่าจะมีหลายฝ่ายทั้งเอกชน ธุรกิจ บุคคล กลุ่ม พรรค สถาบันต่าง ๆ ได้ก้าวออกมารับผิดชอบบ้านเมืองด้วยตัวเอง โดยไม่หวังรอตัวบุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป

 

1. ยิ่งพูดเรื่องปรองดอง ยิ่งห่างความปรองดอง การเมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะปกติ (normalization) วาทกรรมการสามัคคีปรองดองมักใช้ในยามที่บ้านเมืองเกิดปัญหา แต่ถ้าใช้มากเกินไปโดยไม่ได้เสนอให้ชัดเจนว่าประชาชนควรร่วมแก้ปัญหาแท้จริงของประเทศได้อย่างไร ก็อาจเป็นเครื่องมือของฝ่ายกุมอำนาจที่อยากอยู่ในอำนาจต่อ มองจากทฤษฎีประชาธิปไตยใหม่ ๆ สังคมไทยก้าวสู่ภาวะปกติแล้ว เพราะปรัชญาประชาธิปไตยเก่าเชื่อว่าคนมีเหตุผล สามารถหาจุดร่วมได้ในที่สุด ต่อมาก็เพิ่มเติมให้ยอมรับ อดทนต่อความแตกต่าง (tolerance) ระหว่างกัน แต่ทฤษฎีรุ่นหลัง (3) มองว่าธรรมชาติมนุษย์ไม่มีเพียงเหตุผล แต่มีความเชื่อของแต่ละคน มีศักดิ์ศรี ต้องการการยอมรับ ความแตกต่างจึงเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย เป็น “ความแตกต่างอย่างปกติ” (4) ความขัดแย้งเหลือง-แดง กปปส. ในปัจจุบันถือเป็นภาวะปกติแล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายเปลี่ยนจุดยืน อุดมการณ์ เพราะเวลาและสถานการณ์จะช่วยให้มีการปรับตัวให้ระบอบการเมืองดำเนินไปได้ตามสภาพเหมือนเดิมได้ กระบวนการเลือกตั้งที่กำลังดำเนินอยู่จะช่วยสร้างภาวะ “ความแตกต่างอย่างปกติ” นี้ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยจะไม่มีใครใช้วาทกรรมหรือนโยบายสุดขั้วมาหาเสียง (5) ต้องหาแง่มุมในการวิจารณ์ผลงานของพลเอกประยุทธ์หรือ คสช. และสิ่งใหม่ที่จะให้กับสังคมและประชาชน

 

2. มีมิติการเมืองใหม่อยู่ 4 อย่าง คือ โซเชียลมีเดีย ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ การขยายตัวพลังบวกของจิตอาสา และการแตกตัวของ “เพื่อไทย” การเกิดโซเชียลมีเดียและเครือข่ายสังคมออนไลน์มีพลังทำให้หน่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ