ข่าว

"กกต."แบ่งเขตต้องจบ 30 พ.ย.ไม่ขยับแล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กกต."ตีกรอบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องจบ 30 พ.ย. เริ่มเปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันนี้ถึง 25 พ.ย. ย้ำรับฟังความเห็นเพียงกระบวนการ หลักคือทำให้ถูกกฎหมาย

 

              19 พฤศจิกายน 2561  นายณัฎฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการกกต. เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่า  กกต.มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย คำสั่งคสช.ที่ 16/61  

 

              หรือมาตรา 44  เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งออกมาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างรอบด้าน ที่ผ่านมา กกต.ได้พิจารณาประเด็นคำร้องมาอย่างต่อเนื่องมีประมาณ 26 เรื่อง กรณีคำร้องที่เหลืออยู่ กกต.จะดำเนินการตามคำสั่งที่ 16/61 โดยเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พรรคการเมือง หรือประชาชน แสดงความเห็นมายังกกต. คสช. หรือรัฐบาล ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 25 พ.ย. นี้  ว่าต้องการแบ่งเขตเลือกตั้งรูปแบบใด

 

             โดยผู้ร้องต้องระบุชื่อ นามสกุลและที่อยู่ให้ชัดเจน พร้อมระบุความเห็นว่าต้องการเขตเลือกตั้งรูปแบบใด ซึ่งต้องสอดคล้องกับกับมาตรา 27 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ใช่การเสนอมาลอย ๆ หลายครั้งเป็นความเห็นลอย ๆ สนับสนุนหรือคัดค้านโดยไม่ระบุเหตุผล จากนั้นกกต.จะพิจารณาคำร้องต่าง ๆ ในวันที่ 26 พ.ย. และพิจารณาให้เสร็จไม่เกินวันที่ 30 พ.ย. จากนั้นจะส่งไปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งตรงกับคำสั่งที่ 16/61  ขณะนี้จึงยังมีเวลารับฟังเพื่อให้เกิดความครอบคลุม

 

              การรับฟังความเห็นเพิ่มเติมไม่ใช่การรื้อหรือไม่รื้อเขตเลือกตั้ง คำสั่งที่ 16/61 ให้พิจารณาความเห็นเพิ่มเพราะมองว่ายังรับฟังไม่รอบด้านโดยไม่ได้กำหนดห้วงเวลาไว้ แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีก กกต.จึงกำหนดเวลาไว้ไม่ให้เกินวันที่ 30 พ.ย.  ซึ่งจะไม่กระทบกับการทำไพรมารี่ ที่ใช้เวลาทำเพียงสัปดาห์เดียวก็เสร็จ ระหว่างนี้การหาสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดต่างๆ เพื่อเตรียมจัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดสามารถทำได้             

 

                ปัญหาคือตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่า กกต.เลือกรูปแบบใด ยังไม่รู้ว่ากกต.ตัดสินอย่างไร รูปแบบที่เสนอใหม่จะสอดคล้องกับแบบเก่าหรือไม่ก็ยังไม่มีใครทราบ ทั้งนี้เรื่องการแบ่งเขตเป็นอำนาจของกกต. ส่วนการรับฟังความเห็นเป็นกระบวนการที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วม  ยืนยันว่ารูปแบบเขตเลือกตั้งที่ กกต.กำหนดจะยึดโยงกับรูปแบบที่ได้เคยรับฟังความเห็นประชาชนมาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย

 

               ในช่วงนี้หากใครเห็นว่าเขตเลือกตั้งแบบใดที่ท่านเห็นว่าเหมาะสมให้เสนอมา แต่กรอบเวลาจะไม่ขยับไปเกินกว่านี้ เพราะถ้ารับฟังไม่เสร็จจะกลายเป็นคำถามตามมาว่าแล้วจะเลือกตั้งเมื่อไร เขตเลือกตั้งจะเป็นที่พึงพอใจหรือไม่ หรือจะกระทบใครเป็นเรื่องที่ กกต.ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึง ถ้ารอฟังทุกฝ่ายก็ไม่จบ ในเวทีของการแบ่งเขตมีคนได้และมีคนเสีย กกต.ต้องทำตามกฎหมาย คงไม่มีใครยอมเอาตัวไปเสี่ยงเพื่อการเอาใจคนใดคนหนึ่ง หรือเอาตัวไปเสี่ยงกับการทำผิดกฎหมาย สำหรับผู้ร้องนั้นกกต.สามารถเปิดเผยจำนวนได้ แต่ไม่เปิดเผยชื่อเพราะมองว่าบางเรื่องถึงเปิดเผยไปก็ไม่จบสิ้น

 

              พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการกกต.เรื่องการรับสมัครส.ว. ว่า กกต.มีมติกำหนดวันเลือกและวันรับสมัคร ส.ว. ตั้งแต่วันที่ 26-30 พ.ย.61 โดยกำหนดให้วันที่  16 ธ.ค. เป็นวันเลือกระดับอำเภอ วันที่ 22 ธ.ค. เป็นวันเลือกระดับจังหวัด และวันที่ 27 ธ.ค. เป็นวันเลือกระดับประเทศ ขั้นตอนหลังจากนี้จะส่งมติ กกต.ไปลงประกาศราชกิจจานุเบกษา  

 

              สำหรับการเปิดรับสมัครจะใช้สถานที่ของที่ว่าการอำเภอ 928 แห่ง และสำนักงานเขตทุกเขตของกรุงเทพมหานคร  ในส่วนของผู้สมัครทั้งจากกลุ่มองค์กรและผู้สมัครอิสระขอให้เตรียมหลักฐานในการสมัครให้ครบ เช่น การประกอบวิชาชีพไม่น้อยกว่า 10  ปี  ทั้งผู้สมัครจากกลุ่มองค์กรและผู้สมัครอิสระ  แนะนำอย่ามาสมัครวันท้าย ๆ เพราะถ้าหลักฐานไม่ครบจะได้มีเวลาแก้ไข และต้องสมัครให้ถูกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะองค์กรต้องดำเนินการภายในองค์กรให้ถูกต้องว่าจะส่งชื่อบุคคลใดหรือไม่ส่งบุคคลใด  และอย่าทำผิดกฎหมาย อย่าฮั้วกัน และห้ามหาเสียง เพราะสังคมใหม่ไม่ต้องการคนทำผิดกฎหมายมาเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ