ข่าว

พิษฝนกรด...เตือนคนกรุงห้ามกินน้ำฝน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความแปรปรวนของมรสุมที่พัดผ่านประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ฝนตกหนักในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ผู้ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดคงรู้สึกชุ่มฉ่ำสายฝน แม้จะเป็นน้ำฝนจากท้องฟ้าเดียวกัน แต่คนกรุงเทพฯ กลับได้รับผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนา

 ชาวกรุงที่เผอิญโดนฝนสาดใส่หลายคนสงสัยว่า ทำไมรู้สึกคันและมีผดผื่นขึ้นตามร่างกายที่เปียกปอน ทั้งที่ในอดีตเวลาถูกน้ำฝนไม่เคยมีอาการเช่นนี้มาก่อน และอาการคันหรือผดผื่นนี้จะเป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาวหรือไม่ !?!

 เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษให้ข้อมูลว่า ปกติน้ำฝนจะมีสภาพความเป็นกรดอยู่เล็กน้อย เพราะบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกมีก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์ เมื่อรวมตัวกับน้ำฝนจะกลายเป็น "กรดคาร์บอนิก" ซึ่งไม่ได้ทำอันตรายให้มนุษย์มากนัก แต่หลังจากมนุษย์เริ่มปล่อยมลพิษสู่อากาศ โดยเฉพาะตามแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม หรือตามท้องถนนที่มีรถติดมากๆ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าการเผาไหม้เชื้อเพลิงในเครื่องยนต์และโรงงานต่างๆ มีการปล่อย "ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์" และ "ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน" สู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมหาศาล กลายเป็น "กรดซัลฟุริก" และ "กรดไนตริก" เมื่อฝนตกลงมาสารพิษเหล่านี้จะรวมตัวกับน้ำฝนกลายเป็น "ฝนกรด" ตกลงมายังพื้นผิวโลก

 ฝนกรดที่เกิดจากมลพิษในอากาศส่งผลกระทบต่อร่างกายคนเราไม่เท่ากัน บางคนร่างกายอ่อนแอผิวหนังบอบบาง เมื่อฝนเป็นกรดเล็กน้อยก็จะเกิดอาการแพ้หรือเกิดผื่นคันทันที แต่ถ้าในชั้นบรรยากาศบริเวณที่ฝนตกเป็นแหล่งมลพิษร้ายแรง เช่น ตามท้องถนนที่รถติดอย่างต่อเนื่องยาวนาน เมื่อฝนตกลงมาจะมีความเป็นกรดสูง คนทั่วไปแม้ไม่ได้มีผิวแพ้ง่าย แต่ถ้าโดนฝนกรดนี้จะเกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุต่างๆ เช่น แสบตา คันตามผิวหนัง หากได้รับปริมาณมากก็อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจผิดปกติได้

 คนทั่วไปจะรู้ได้อย่างไรว่าฝนที่กำลังตกลงมาทุกวันนี้เป็นฝนกรดหรือไม่ ?

 ตามธรรมชาติแล้วน้ำฝนในชั้นบรรยากาศระดับสูงๆ จะมีค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือค่าพีเอช (ph) ประมาณ 7 แต่เมื่อผ่านชั้นบรรยากาศโลกจะมีก๊าซในธรรมชาติเข้าไปละลายปนอยู่ด้วย เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้หยดน้ำฝนมีความเป็นกรดอ่อนๆ วัดค่าพีเอชได้ 5.6 ถือเป็นตัวเลขมาตรฐานของน้ำฝน ส่วนฝนที่ตกผ่านชั้นบรรยากาศที่มีก๊าซพิษสะสมอยู่จะกลายเป็นฝนกรด (Acid Rain) เมื่อวัดแล้วจะได้ค่าพีเอชต่ำกว่า 4 หากผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ อยากรู้ว่าบริเวณที่อยู่อาศัยมีฝนกรดหรือไม่ ให้ปีนขึ้นไปดูหลังคาบ้านแล้วเปรียบเทียบกับหลังคาบ้านในเขตอื่น หากน้ำฝนมีกรดมากสารพิษจะกัดกร่อนให้หลังคาบ้านผุเร็ว เหมือนบ้านที่อยู่ใกล้เขตอุตสาหกรรม จะหลังคาผุเร็วกว่าพื้นที่อื่น    

 กรมควบคุมมลพิษสำรวจพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของไทยในปี 2548 พบค่าพีเอชของน้ำฝนที่ตรวจวัดได้ในจังหวัดส่วนใหญ่ยังไม่มีปัญหาฝนกรด ยกเว้นเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ซึ่งค่าพีเอชวัดได้เฉลี่ยรายปีเท่ากับ 4.9 และมีแนวโน้มเป็นฝนกรดมากขึ้น

 ฝนกรดที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะถือเป็นประวัติศาสตร์ด้านมลพิษที่คนไทยไม่เคยลืมเลือน ย้อนหลังไป 17 ปีที่แล้ว ชาวลำปางที่อาศัยอยู่ใกล้เหมืองถ่านหินลิกไนท์ ต้องเผชิญกับฝนที่ตกลงมาเป็นสีเหลือง ตอนแรกชาวบ้านก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นฝนกรดที่มีพิษร้าย แต่ไม่นานหลายคนเกิดอาการแสบตา แสบจมูก แน่นหน้าอก ปวดหัว ต่อมาในปี 2541 โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณสูง เพราะเครื่องดักซัลเฟอร์ฯ เสีย ทำให้มีฝนกรดตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 3,000 คน จาก 16 หมู่บ้านเกิดอาการเจ็บป่วย บางรายระบบทางเดินหายใจทำงานผิดปกติ บางรายความจำเสื่อม ไม่มีเรี่ยวแรง

 ฝนกรดที่แม่เมาะไม่ได้ทำลายเฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่สัตว์เลี้ยงและพืชพรรณธรรมชาติก็ถูกผลกระทบจากพิษฝนกรดด้วยเช่นกัน ชาวบ้านเล่าว่าวัวควายหลายสิบตัวมีอาการน้ำลายฟูมปาก บางตัวชักกระตุกก่อนตาย ใบไม้พืชไร่ หรือใบข้าวที่เคยมีสีเขียวชะอุ่มก็เปลี่ยนเป็นใบหยิกงอมีสีเหลืองแห้งกรอบ

 นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนเริ่มเป็นห่วงว่า ฝนกรดที่แม่เมาะอาจเกิดขึ้นอีกครั้งที่เขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เนื่องจากผลการศึกษาปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนมีปริมาณสูง จึงอยากให้เกษตรกรเฝ้าดูพืชผลในช่วงนี้ว่า หลังฝนตกใบไม้กลายเป็นสีเหลือง หรือเกิดการแห้งกรอบตายผิดปกติหรือไม่ ถ้าใช่ก็อาจเป็นฝนกรดหรือฝนเหลืองนั่นเอง

 "ศากุน เอี่ยมศิลา" นักวิชาการสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ยอมรับว่า ยังไม่มีการตรวจวัดปริมาณกรดในน้ำฝนอย่างละเอียด โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่รู้ว่าพื้นที่ใดมีปริมาณฝนกรดมากน้อยเพียงใด หากใครเปียกฝนแล้วรู้สึกคัน หรือปวดแสบ ก็ให้รีบไปล้างน้ำสะอาดออกทันที จะทำให้สารพิษไม่สะสมบนผิวหนัง และสิ่งที่ต้องระวังคือการดื่มน้ำฝนในเขตเมืองกรุง

 "ถ้าอาศัยอยู่แถวที่มีควันพิษรถเยอะๆ จะเจอน้ำฝนปนเปื้อนซัลเฟอร์ฯ กับไนโตรเจนฯ เพราะสารเหล่านี้ออกมากับควันพิษบนท้องถนน ถ้ามีค่าพีเอชต่ำกว่า 5.6 มากๆ ก็เรียกว่าฝนกรด สิ่งที่ต้องระวังคือการไม่รองน้ำฝนในกรุงเทพฯ เอาไปดื่มกิน เพราะมีสารพิษผสมอยู่หลายชนิด บางคนเชื่อว่าถ้าฝนตกลงมาสักพักก็รองน้ำฝนมากินได้ แต่ความเป็นจริงแล้วน้ำฝนที่ตกลงมาวันแรกยังมีสารพิษเจือปนอยู่ ถ้าอยากกินจริงต้องรอให้ฝนตกหนัก 3-4 วันติดต่อกันค่อยกรองน้ำฝนกิน แต่ยังต้องระวังเรื่องเชื้อแบคทีเรีย เพราะน้ำฝนในกรุงเทพฯ มีแบคทีเรียเจือปนอยู่มาก" ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ