ข่าว

 "วิษณุ" เชื่อ กฎหมายกัญชา เสร็จทันรัฐบาลนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วิษณุ" ยัน ไม่เลือนแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จก่อนพ.ร.บ.เลือดตั้งบังคับใช้แน่ เตือน พรรคการเมืองทำอะไรระวังโดนเช็คบิลย้อนหลัง  

 

         15 พ.ย.61-นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงข้อห่วงใยว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลจะไปล็อบบี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ต้องดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพราะยังมีเวลาอยู่นั้นว่า ถ้าพูดถึงเวลามันก็มีจริงๆ ซึ่งคำสั่งคสช.ที่ 53/60 ที่เขียนไว้ว่าให้แบ่งเขตเลือกตั้งให้เรียบร้อยก่อนวันที่พ.ร.บ. การเลือกตั้งจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 11 ธ.ค. ก็เข้าใจว่าจะต้องให้เวลาเขาสำหรับไปทำไพรมารี ซึ่งในเวลาที่กำหนดไว้ถึงอย่างไรก็ทันแน่นอน โดยที่ไม่ต้องเลื่อนอะไร และจะเสร็จก่อนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ความจริงหากการทำไพรมารียังไม่เสร็จก็สามารถไปทำได้ หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้คือวันที่ 11 ธ.ค. เพราะสามารถทำได้ไปจนถึงวันที่มีการสมัครรับเลือกตั้ง อย่างที่ตนบอกว่า 11 ธ.ค.กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกา และหลังจากนั้น 5 วัน กกต.ก็จะประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน

         เมื่อถามว่ากรณีแบบนี้จะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบให้บางพรรคการเมืองหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่าทาง กกต.ต้องพยายามทำไม่ให้เกิดเรื่องนั้น แต่ถ้าใครเห็นว่าเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ก็ร้องเรียนได้ เพราะอาจจะเป็นการสนองคนกลุ่มหนึ่ง แต่อีกกลุ่มอาจเห็นว่าได้รับความกระทบกระเทือน  เพราะถึงอย่างไรการแบ่งเขตก็ต้องทำให้เรียบร้อย ซึ่งมีการกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชนและพรรคการเมือง ซึ่งลักษณะแบบนี้ กกต. เขาต้องรู้เพราะเป็นมืออาชีพ 

        เมื่อถามถึงกรณีที่มีคนออกมาพูดลักษณะว่า นายวิษณุระบุไม่ต้องรีบแบ่งเขตการเลือกตั้ง จะเป็นการดิสเครดิตหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่ ก็เพราะสื่อมาถาม แต่ทุกอย่างก็มีกำหนดเวลาของมันอยู่แล้ว ตนไม่ได้บอกว่าไม่ต้องรีบไปเรื่อยๆเสียเมื่อไหร่ แต่รีบหรือไม่รีบอย่างไรมันก็มีเวลาของมันว่าจะต้องแบ่งเขตให้เสร็จ ก่อนวันที่กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้คือวันที่ 11 ธ.ค.

         เมื่อถามถึงการหาเสียงของบางพรรคที่สุ่มเสี่ยงในการผิดกฎหมาย จะมีการเอาผิดย้อนหลังได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ตอบ วันนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาบอกว่าอะไรถูกอะไรผิด เพราะก่อนหน้านี้ได้เตือนกันแล้ว และไม่ควรจะเตือนอะไรอีกแล้ว ต้องระมัดระวังเอง แต่ละพรรคก็มีนักกฎหมายทั้งนั้น และหลายพรรคก็มีประสบการณ์ในการเลือกตั้ง ซึ่งหากมีปัญหาสงสัยอะไรก็ต้องไปถามกกต. แต่หากเตือนได้ตนก็อยากจะเตือนให้ระมัดระวัง มีอะไรเกิดขึ้นเขาไม่ได้ฟ้องร้องกันวันนี้พรุ่งนี้ เขาจะจดเก็บเอาไว้เป็นหลักฐาน และก็เคยทำกันมาแล้ว ดังนั้นถ้าไม่เตือนเขาก็รู้

 

"วิษณุ" เตือน พรรคการเมืองทำอะไรระวังโดนเช็คบิลย้อนหลัง

            นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินกิจกรรมของบางพรรค ที่สุ่มเสี่ยงในการผิดกฎหมาย จะมีการเอาผิดย้อนหลังได้หรือไม่ว่า ตนขอไม่ตอบ วันนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาบอกว่าอะไรถูกอะไรผิด เพราะก่อนหน้านี้ได้เตือนกันแล้ว แต่ละพรรคก็มีนักกฎหมายทั้งนั้น และหลายพรรคก็มีประสบการณ์ในการเลือกตั้ง ซึ่งหากมีปัญหาสงสัยอะไรก็ต้องไปถามกกต.  ต้องระหวังตัวเอง เพราะถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เขาไม่ได้ฟ้องร้องกันวันนี้พรุ่งนี้ แต่จะจดเก็บเอาไว้เป็นหลักฐาน และเรื่องแบบนี้ก็มีกันมาแล้ว ดังนั้นถ้าไม่เตือนเขาก็รู้

            เมื่อถามถึงกรณีที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยไปพบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะตีความผิดทางกฎหมายได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ตีความอะไรทั้งนั้น บางอย่างไม่ควรจะไปมีความเห็นอะไร 

            ต่อข้อคำถามถึงกรณี พรรคอนาคตใหม่ตีความข้อ 33 ของระเบียบกกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งระบุถึงสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการว่าคำว่า 'ได้แก่' เป็นการยกตัวอย่าง แต่กกต.ระบุว่าไม่ใช่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า คำว่า 'ได้แก่' ในกฎหมาย หมายถึงการระบุที่จบอยู่แค่นั้น แต่ถ้าระบุว่า 'เช่น' นั้นหมายความว่ามีอีก

           เมื่อถามอีกว่า มีข้อวิจารณ์ระเบียบนี้ไม่เหมาะกับยุค 4.0 เพราะหลายๆอย่างทำให้พรรคไม่สามารถทำกิจกรรมได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ขอไปวิพากษ์วิจารณ์อะไร ซึ่งการหาเสียงโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็เขียนไว้ในกฎหมายซึ่งไม่ได้รวมถึงการหาสมาชิก ทั้งนี้การหาเสียงโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์จะทำได้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กกต.กำหนด และกกต.จะกำหนดได้ก็ต่อเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งแล้ว และพระราชกฤษฎีกาจะออกได้ก็ต่อเมื่อพระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ ซึ่งทุกอย่างล็อกกันไว้หมดแล้ว ดังนั้นวันนี้ไม่ว่าใครจะไปทำอะไร ตนมองว่าไม่ใช่การหาเสียง แต่กรณีที่ถูกต้องทั่วไปจะเริ่มนับได้เมื่อพระราชกฤษีกามีผลบังคับใช้ เมื่อถามว่าถ้ากกต.ให้เหตุผลว่าทำไม่ได้ เพราะไม่มีในกฎหมาย ต่อไปก็ควรจะเพิ่มเข้าไปเพื่อให้มีการสอดรับ รองนายกฯ กล่าวว่า หลายเรื่องกกต.มีอำนาจกลางของเขาที่จะออกเองได้

 

"วิษณุ" ชี้ห้ามพรรคการเมือง ครอบงำพรรคอื่นๆ ยันไม่เล่นการเมือง และไม่เล่นการเมือง

          นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงถึงกรณีที่พรรคการเมืองแตกพรรคออกไปตั้งพรรคใหม่ เพื่อแบ่งพื้นที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. จะเข้าข่ายการฮั้วการเลือกตั้งหรือไม่ว่า ถ้าฮั้วกันแล้วเกิดอะไรขึ้น ซึ่งไม่มีกฎหมายไหนระบุว่าผิด เพียงแต่ว่าแตกพรรคออกไปแล้วอย่าให้ใครมาครอบงำ เนื่องจากกฎหมายระบุว่า ใครครอบงำพรรคการมเมืองถือว่ามีความผิด ซึ่งผู้ใดไม่ได้หมายถึง นาย ก นาย ข ที่เป็นตัวบุคคลเท่านั้น แต่หมายถึงพรรค X ไปครอบงำพรรค Y ก็ผิดกฎหมายด้วย 

         เมื่อถามถึงกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีข่าวว่ามาจัดตัวผู้สมัคร ส.ส. ถือว่าครอบงำพรรคที่มาวางตัวผู้สมัครหรือไม่  นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่รู้ว่าเขาทำอะไรขนาดไหน กฎหมายบอกว่าห้ามครอบงำ ก็ต้องระวังการกระทำที่จะเข้าข่ายการครอบงำ ต้องระวังกันเอง ซึ่งอยู่ที่การพิจารณาของ กกต. และต่อไปก็จะอยู่ที่ศาลด้วย เพราะบางเรื่องไม่ได้จบที่ กกต.

        "การจะครอบงำหรือไม่ ต้องดูที่ 3 อย่าง คือ 1.การกระทำว่าทำอะไร ขนาดไหน 2.ดูเจตนา 3.ดูว่าการกระทำนั้นมีข้อยกเว้นอะไรอยู่ที่ไหนหรือเปล่า ซึ่งอาจจะมีข้อยกเว้นว่าอยู่ที่อื่นก็ทำได้  แต่ถ้าองค์ประกอบครบ คือ การกระทำ มีเจตนา และไม่มีข้อยกเว้นให้อำนาจไปทำ แต่บางอย่างมีอำนาจก็เลยเป็นข้อยกเว้น เช่น เรื่องของสุจริต เสรีภาพ การหาเสียงพลเมืองดี แต่ถ้าไม่มี เจอ 3 ข้อก็ผิด อย่าไปพูดมากเดี๋ยวจะหาว่าไปขู่เขา แต่ผมไม่อยากพูดมาก เพราะไม่ได้ไปด้วย" นายวิษณุกล่าว

        เมื่อถามว่า จำชื่อพรรคการเมืองได้ทั้งหมดหรือยัง มีพรรคในดวงใจที่จะเลือกหรือยัง และจะเล่นการเมืองหรือไม่  นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เล่นการเมือง และยังไม่มีพรรคในดวงใจ รอให้ชัดเจนก่อนว่าจะมีพรรคการเมืองเหลือกี่พรรค 

        เมื่อถามอีกว่า หมายความว่าอาจมีบางพรรคจะถูกสอย ถูกยุบ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่รู้ ทุกคนต้องพูดอย่างนั้น อาจจะมี 100 พรรค แต่บางพรรคไม่ส่งตัวผู้สมัคร ซึ่งวันที่ตนประชุมกับพรรคการเมืองครั้งแรก รู้ว่ามีคนตั้งพรรค แต่ไม่ส่งผู้สมัคร  อาจเพราะทุนน้อย แต่การตั้งพรรคแล้วไม่มีอะไรก็ถือว่ามีประโยชน์เหมือนกัน เพราะบางทีได้เงินช่วยเหลือกองทุน แต่กฎหมายเขียนแล้วว่า ถ้าไม่ส่งผู้สมัครก็ไม่ให้งบ แต่ถ้าส่งลงนิดหน่อยก็มีโอกาสได้ อย่างในอดีตเคยมีพรรคการเมืองหนึ่ง มี ส.ส.นิดเดียวแต่ได้เงินมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เพราะเขาพิจารณาจากการทำกิจกรรม พรรคใหญ่บางครั้งขี้เกียจทำกิจกรรม เพราะคิดว่าคนรู้จักแล้ว จึงทำให้ไม่มีรายจ่าย ก็จะได้เงินอุดหนุนน้อย แต่พรรคเล็กขยันทำกิจกรรมทุกจังหวัด เขาก็ให้มาก บางทีแค่พิมพ์นามบัตรก็มีค่าใช้จ่าย ฉะนั้น เขาไม่ได้วัดที่สมาชิก แต่ดูที่กิจกรรม เขาให้งบประมาณ เพื่อให้ทำประโยชน์ด้านศึกษา ประชาธิปไตย ไม่ได้ให้เพื่อตอบแทนการส่งคนลงสมัคร อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ตนตอบไม่ได้ว่ามีหลายพรรคหรือไม่ที่เข้าข่ายการถูกยุบพรรค สื่ออาจจะคิดว่าบางพรรคล่อแหลม แต่ที่จริงแล้วเขาไม่ล่อแหลมอะไร สิ่งสำคัญตอนนี้ คือสื่อกำลังล่อให้ตนพูด

 

"วิษณุ"วอนอย่ากังวล ปมสภามหาวิทยาลัยยื่นบัญชีทรัพย์สิน ย้ำยังมีเวลาทางออก  

      นายวิษณุ กล่าวถึงการยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยและองค์กรอื่นๆ ว่า ยังไม่ได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าว เพราะยังมีเวลาเหลือที่จะหารือ ซึ่งแต่เดิมจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินกันแล้วตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. เป็นต้นไปภายใน 60 วัน ระหว่างนี้ก็ยังมีเวลาที่จะพูดคุยกันในรายละเอียด เนื่องจากวันนี้ไม่มีใครเดือดร้อนในการที่จะต้องไปลาออกก่อนจนทำให้เกิดความวุ่นวาย ดังนั้นขอให้รอการหารือ และฟังความคิดเห็นต่างๆ วันนี้อย่าเพิ่งไปพูดถึงทางออกหรือวิธีการอื่นอย่าไปกังวล  ส่วนในส่วนพระเถระชั้นผู้ใหญ่ก็อยากให้งดเว้นการแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยนั้น  เรื่องนี้ตนทราบอยู่ก่อนแล้วและได้นำเสนอเรื่องนี้ไปแล้วเช่นกัน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้เพราะมีการยืดระยะเวลาออกไป

 

 "วิษณุ"เชื่อ กม. กัญชา เสร็จทัน รบ. นี้  คาดเข้าสู่ชั้น สนช. 21 พ.ย.นี้

         นายวิษณุ กล่าวถึงความคืบหน้าการปลดล็อกกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ยังไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ เพราะเป็นกฎหมายที่ใหญ่ และยาวมาก โดยคาดว่าในวันที่ 21 พ.ย.นี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ส่วนปัญหาเรื่องการจดสิทธิบัตรกัญชานั้น เรื่องนี้ตนยังไม่ทราบว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร เพราะร่างดังกล่าวถือว่าไม่ใช่ร่างของรัฐบาล แต่เมื่อมีการพูดถึงเรื่องดังกล่าวทำให้หลายคนเป็นห่วง ซึ่งความจริงไม่ยาก หากกฏหมายยาเสพติดเข้าสู่สนช.รับหลักการแล้วก็สามารถไปแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นคณะกรรมาธิการได้และคิดว่ากระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จในรัฐบาลนี้และทันในปีนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ