ข่าว

กกต.ต้องพร้อมรับมือ 100 วันอันตราย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สัปดาห์หน้ากกต.ประกาศเขตเลือกตั้งครบทุกจังหวัด ยันพิจารณารอบคอบ ยึดหลักจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน รีรับฟังทุกข้อโต้แย้ง กรณีไลน์หลุดไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

          

                 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ -1 พ.ย.61 -22 พ.ย.กกต.เชิญพรรคการเมืองร่วมถก รอบ 2 คุยแนวทางส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง หาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พร้อมรับฟังความเห็นทำไพรมารีโหวต เลขากกต. เผยจับตาความเคลื่อนไหวทุกพรรค ยังไม่มีการตั้งกก.สอบเพื่อไทย ทุกเรื่องยังอยู่ในขั้นตอนรวบรวมหลักฐาน

                  พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เปิดเผยว่า สำนักงานกกต.เตรียมเชิญพรรคการเมืองมาประชุมหารือวันที่ 22 พ.ย.เกี่ยวกับการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำไพรมารีโหวตและการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองต่อร่างพ.ร.บ.การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงานฯยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงต่อให้คณะกรรมการกกต.พิจารณา ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง การติดป้ายหาเสียงของพรรคการเมือง แต่ละเขตจะยังมีอยู่หรือไม่เพราะหากข้ามเขตไปแล้วผู้สมัครพรรคเดียวกันก็ใช้คนละเบอร์ การจัดดีเบตผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐยังจะมีอยู่หรือไม่ ทั้งนี้จากการรับฟังความเห็นของพรรคการเมืองมีความพร้อมเรื่องการจัดทำไพรมารีโหวต แต่กกต.อยากจะฟังความเห็นของทุกพรรคเสียก่อน ส่วนที่นายกฯระบุว่าจะมีการจัดประชุมระหว่างคสช.รัฐบาล กกต.พรรคการเมืองในช่วงต้นเดือนธ.ค.นั้นก็ทราบจากข่าวยังไม่มีการประสานมา  

          พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหมขอให้กกต.ดูความเคลื่อนของพรรครวมพลังประชาชาติไทยว่า กกต.ติดตามพฤติกรรมของทุกพรรคการเมือง ซึ่งจะเก็บรวบรวมพยานหลักฐานเอาไว้ หากพรรคการเมืองไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่จำเป็นต้องกลัว ส่วนกระแสเรื่องการยุบพรรคเพื่อไทยก็เช่นเดียวกัน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐานหากมีมูลจึงจะตั้งคณกรรมการสอบสวน แต่ขณะนี้ยังไม่มีตั้งคณะกรรมการสอบสวนอะไรเลย อยู่ในชั้นรวบรวมข้อเท็จจริงเท่านั้น 
 

 

“รองเลขา กกต.” เตือนผอ.กกต.จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งรับ 100 วันอันตราย หลังเดือนธ.ค.ต้อง คุมงานเลือก ส.ว.-ส.ส. จากนั้นมีคิวเลือกอบจ. รอหลังเลือกตั้ง ก.พ.62

         ด้าน นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บรรยายในการประชุมชี้แจงเพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อกำชับให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งทั่วประเทศเร่งดำเนินการตามกรอบเวลาเพื่อให้ทันตามกรอบเวลาเลือก ส.ว.และเลือกตั้ง ส.ส. โดยคาดว่า พ.ร.ฎ.เลือก ส.ว. จะออกมาประมาณวันที่ 16 พ.ย. จากนั้น กกต.จะประชุมเพื่อกำหนดการรับสมัคร ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงวันที่ 26-30 พ.ย. ส่วนพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส.นั้น คาดว่า จะเสนอได้ในช่วงวันที่ 25 ธ.ค. แต่จะมีผลวันที่ 4 ม.ค. ดังนั้นในช่วงเดือน ธ.ค.จะมีการเลือก ส.ว.ในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ซึ่งเดือนนั้นถือว่าจะมีงานทับซ้อนกัน จึงของให้ กกต.จังหวัดประสานงาน นายอำเภอและปลัดเพื่อไม่ให้มีปัญหา และให้เร่งพิจารณาเลือกกรรมการเลือกตั้งประจำเขต พร้อมแนะนำให้ผู้อำนวยการกกต.จังหวัดเตรียมการทำงานให้ดี เพราะในช่วงเวลาที่การคัดเลือก ส.ว.กำลังจะแล้วเสร็จ เราจะต้องเตรียมดำเนินการเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส.

          “ในเดือน ธ.ค.นี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้ ดังนั้นผู้อำนวยการกกต.จังหวัดจะต้องแบ่งทีมให้ดี ทั้งนี้หากในช่วงเดือน ก.พ.2562 เราจัดการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วเสร็จ ก็จะเป็นช่วงเวลาที่กฎหมายท้องถิ่นน่าจะออกมาแล้ว และเราต้องมีการเตรียมดำเนินการเรื่องการเลือกองค์กรบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ดังนั้นนับจากนี้ไป 100 อันตราย เราต้องคุมสถานการณ์ให้อยู่”รองเลขาธิการกกต.ระบุ

สัปดาห์หน้า กกต.ประกาศเขตเลือกตั้งครบทุกจังหวัด ยันพิจารณารอบคอบ ยึดหลักจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน พร้อมรับฟังทุกข้อโต้แย้ง กรณีไลน์หลุดไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

            ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเรื่องการแบ่งเขตการเลือกตั้งว่า ขณะนี้กกต.กำลังทยอยพิจารณาเรื่องการแบ่งเขตอยู่ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเสร็จไปแล้วกี่จังหวัด เพราะบางครั้งพิจารณาไปแล้วยังนำกลับทบทวนอีกรอบ แต่คาดว่าต้นสัปดาห์หน้าจะสามารถประกาศเขตเลือกตั้งได้ทั้งหมด ส่วนที่ก่อนหน้านี้กกต.แจ้งให้บางจังหวัดมีการแบ่งเขตรูปแบบที่ 4 หลังปิดการรับฟังความเห็นและจังหวัดได้เสนอ 3 รูปแบบให้พิจารณาแล้วนั้นเป็นเรนื่องที่สามารถทำได้ โดยกกต.มองว่าอยากให้การแบ่งเขตมีจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด แม้ว่ารูปแบบที่ 4 ที่จว.เสนอมาไม่ได้ไปติดประกาศรับความเห็น แต่เป็นการแบ่งตามความเห็นที่แต่ละจังหวัดได้รับฟังไว้ก่อนหน้านี้ คิดว่าไม่มีปัญหาทางกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญและตัวระเบียบเขียนไว้ว่าให้แบ่งเขตได้มากกว่า 3 รูปแบบ ให้พิจารณาความเหมาะสมและจำนวนประชากรให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด มีเขตพื้นที่ติดต่อกันและสภาพชุมชนเดียวกัน สามารถทำได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยมาโต้แย้งกกต.หลังพบว่ามีการแบ่งเขตรูปแบบที่ 4 หลุดไปถึงไลน์ของพรรคการเมือง เชื่อว่าไม่มีปัญหาและกกต.ก็รับฟังข้อโต้แย้ง หากเห็นว่าเขตใดมีปัญหาพรรคการเมืองสามารถร้องเรียนมายังกกต.ได้ซึ่งการหลุดออกไปไม่น่าทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะก่อนประกาศการแบ่งเขตกกต.จะพิจารณาอย่างรอบคอบ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ