ข่าว

"อลงกรณ์"พ้นคดีแจ้งความเท็จอดีตผบก.สรรพาวุธ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลยกฟ้อง"อลงกรณ์"ไม่ผิดแจ้งความเท็จตรวจสอบทุจริตซื้อเสื้อเกราะกันกระสุนปี 46 ชี้บริสุทธิ์ใจป้องกันทุจริต"เจ้าตัว" ลั่นหากเป็นนายกฯจัดก.ม.ปราบโกง 3 ชั่วโคตร


            29 ตุลาคม 2561 ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.2700/2560 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ และพล.ต.ต.ประเสริฐ พิทักษ์ธรรม อดีต ผบก.สรรพาวุธสำนักงานส่งกำลังบำรุง สตช.

 

 

            ทั้งนี้ได้เกษียณราชการแล้ว และเป็นผู้เสียหายได้เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง "นายอลงกรณ์ พลบุตร" อายุ 62 ปี ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่ 1 เป็นจำเลย ในความผิดฐานแจ้งความเท็จกับพนักงานสอบสวน หรืออัยการ เพื่อจะแกล้งให้บุคคลต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172,174,181

 

            กรณีเมื่อวันที่ 11 ส.ค.46 นายอลงกรณ์ จำเลย ที่เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นประธานคณะทำงานตรวจสอบทุจริตของคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.สมควร พึ่งทรัพย์ และ พ.ต.ต.ประหยัด เฮ้ารัง พนักงานสอบสวนกองปราบปรามขณะนั้น ทำนองว่า พล.ต.ต.ประเสริฐ พิทักษ์ธรรม ผบก.สรรพาวุธสำนักงานส่งกำลังบำรุง สตช. (ตำแหน่งเมื่อปี 2546 ปัจจุบันเกษียณราชการ) และ พล.อ.ทสรฐ เมืองอ่ำ ผอ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก หรือ อผศ. (ตำแหน่งเมื่อปี 2546 ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ร่วมกันสมคบกันทุจริตในการจัดซื้อ เสื้อเกราะอ่อนป้องกันกระสุน จำนวน 2,000 ตัว ราคาตัวละ16,000 บาท รวม 32 ล้าน

 

             โดยการจัดซื้อเสื้อเกราะป้องกันกระสุนนั้นเกิดขึ้นในช่วงปี 2546 ระหว่าง อผศ. กับ กองสรรพาวุธ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สตช. จำนวน 2,000 ตัว เพื่อนำไปปฏิบัติงานในภาคใต้ ซึ่งไม่โปร่งใส เนื่องจากไม่มีการส่งตัวอย่างและไม่มีการทดสอบยิงเสื้อเกราะ วัสดุเส้นใยของเสื้อเกราะที่สั่งซื้อชื่อ "สเป็กตร้าชิลด์โกลเฟล็กซ์" ไม่มีในโลก เพราะเส้นใย "สเป็กตร้าชิลด์" เป็นสีขาวผลิตในสหรัฐอเมริกา ส่วน "โกลเฟล็กซ์" เป็นสีเหลืองผลิตในเยอรมัน เป็นคนละชนิด ราคาแพงเกินจริงเพราะหากได้ยกเว้นภาษีนำเข้าขายได้ในราคาไม่เกินตัวละ 12,000 บาท จำเลยจึงเชื่อว่ามีการทุจริต แต่เป็นความเท็จ เพราะผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ "สเป็กตร้าชิลด์โกลเฟล็กซ์" เป็นชื่อจดทะเบียนการค้าของ บ.ฮันนี่เวล อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่รวมกันโดยเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้พล.ต.ต.ประเสริฐ และพล.อ.ทสรฐ ได้รับความเสียหาย ถูกพนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151

 

             ชั้นพิจารณา "นายอลงกรณ์" จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งจำเลย ก็ได้รับการประกันตัว โดยวันนี้ "นายอลงกรณ์" ก็เดินทางมาศาลพร้อมทนายความ ขณะที่ "พล.ต.ต.ประเสริฐ" อดีต ผบก.สรรพาวุธสำนักงานส่งกำลังบำรุง สตช. โจทก์ร่วม ก็มาฟังคำพิพากษาด้วย

 

            โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์-จำเลยนำสืบแล้ว เห็นว่า "พล.ต.ต.ประเสริฐ" อดีต ผบก.สรรพาวุธสำนักงานส่งกำลังบำรุง สตช. โจทก์ร่วม เบิกความว่า การจัดซื้อนั้น หน่วยงานกรณีพิเศษ สตช.ได้รับงบประมาณจัดซื้อเสื้อเกราะขนาดมาตรฐาน อผศ. แจ้งคุณสมบัติเส้นใยผลิตมีประสิทธิภาพสูง เมื่อตรวจสอบจาก บ.ฮันนี่เวลฯ ผู้ผลิตแล้ว เห็นว่าเสื้อเกราะที่ อผศ.เสนอมามีความเหมาะสม การที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์หาว่าไม่โปร่งใสมีส่วนต่างนั้นเป็นเท็จ เพราะมีคณะกรรมการตรวจรับ ไม่มีเงินส่วนต่าง และวิธีชำระก็ใช้การโอนผ่านบัญชี ขณะที่ก่อนจำเลยแจ้งความก็ไม่เคยสอบถามข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนก่อน กระทั่ง ป.ป.ช. พิจารณาแล้วคดีไม่มีมูลจึงให้ยุติเรื่อง

 

            ส่วน"นายอลงกรณ์" จำเลย ได้เบิกความถึงการแจ้งความกรณีดังกล่าว่า เนื่องจากได้รับเบาะแสการทุจริต โดยขณะนั้นเป็น ส.ส. และประธานคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตฯ มีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร การแจ้งความต่อผู้เสียหายทำไปเพราะเชื่อว่ามีการทุจริต เป็นการเรียกร้องผลประโยชน์ประเทศไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว 

   

              "ศาล" เห็นว่า แม้ ป.ป.ช.ไต่สวนแล้วยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วม กระทำผิดตามข้อกล่าวหาก็ตาม แต่ประเด็นวัสดุเส้นใยตามสัญญาไม่ชัดเจน ทำให้จำเลยเชื่อว่าไม่มีอยู่จริง จึงอีกทั้งโจทก์ร่วมกับจำเลยก็ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องกลั่นแกล้งโจทก์ร่วม จึงเชื่อว่าจำเลยกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเจตนาใส่ร้าย จึงพิพากษายกฟ้อง

 

             ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว"นายอลงกรณ์"ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กล่าวด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า ขอบคุณศาลที่เห็นว่าตนทำประโยชน์ส่วนรวม จากนี้อาจจะต้องสู้ต่อไปเพราะยังมีเวลาที่โจทก์จะอุทธรณ์ได้อีกภายใน 30 วัน

 

             อย่างไรก็ตาม เป็นอุทาหรณ์สอนใจว่า การทำหน้าที่ ส.ส. ถ้าทำด้วยความสุจริตซื่อตรงไม่มีอคติใด ๆ ก็จะเป็นเกราะคุ้มภัยจากการถูกดำเนินคดีฟ้องร้อง และการทำหน้าที่ของ ส.ส. ไม่ได้จำกัดสิทธิผู้ถูกตรวจสอบในการร้องทุกข์กล่าวโทษ จากเวลาที่ผ่านมา 15-16 ปี ที่ตนต้องสู้คดีประมาณ 20 คดี ถูกฟ้องแพ่งเป็นหมื่นล้านก็ได้รับความยุติธรรมจากที่กล่าวมา วันนี้หากตนถูกตัดสินจำคุกก็หมดชีวิตที่จะทำงานด้านการเมือง แต่คนที่ทำงานการเมืองตรวจสอบการทุจริตก็ต้องยอมรับชะตากรรม เมื่อตัดสินใจทำงานเพื่อส่วนรวมจะกลัวอนาคตตัวเองไม่ได้

 

             ทั้งนี้ "นายอลงกรณ์" ยังกล่าวถึงนโยบาย หากได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายกฯ ด้วยว่า ตนจะออกกฎเหล็กปราบคอรัปชั่นขั้นเด็ดขาด ไม่ให้ประเทศของเราเหมือนตกอยู่ในภาวะมะเร็งร้ายขั้นสุดท้ายที่เกาะกินชาติบ้านเมืองมายาวนาน ทั้งการคอร์รัปชั่นในแวดวงราชการ การเมือง เอกชน ตลอดจนการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ จะใช้หลักคุณธรรม อาวุโส ดังที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การซื้อขายตำแหน่งถือเป็นการคอร์รัปชั่นรูปแบบหนึ่ง หากตนได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรคหรือนายกฯ จะใช้มาตรการเด็ดขาด โดยเฉพาะการออกกฎหมาย 3 ชั่วโคตร มีโทษถึงประหารชีวิตและยึดทรัพย์ 3 ชั่วโคตร ให้เวลา 180 วัน ในการสารภาพคืนทรัพย์สินจากการโกงจึงจะบรรเทาโทษให้เหลือโทษเฉพาะตัว ถึงจะล้างแผ่นดินให้สะอาดปลอดคอร์รัปชั่นได้

 

            ส่วนความพร้อมในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายอลงกรณ์ยืนยันว่ามีความพร้อมในการเป็นหัวหน้าพรรค ได้ประกาศแนวนโยบายการเมืองสีขาว ซื่อสัตย์สุจริต ยึดประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน และกฎเหล็ก 5 ข้อ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างมากทีเดียว เป็นทางรอดของประเทศให้หลุดพ้นวงจรอุบาทว์

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ