
"วัฒนา-จาตุรนต์-ชูศักดิ์" พบอัยการ คดีปลุกปั่น ล้ม คสช.
กองปราบยื่นสำนวนส่งความเห็นควร 3 แกนนำเพื่อไทยให้อัยการคดีอาญา สั่งคดี ม.116 นัดฟังผลครั้งแรก 28 พ.ย.ขณะที่ "ชูศักดิ์" หนุน ปชป.หยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคได้
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 17 ต.ค.61 เวลา 13.00 น. พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ได้นัดหมายนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พม. , นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี-อดีต รมว.ศึกษาธิการ และนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ผู้ต้องหาคดีปลุกปั่นยุยงกรณีแถลงข่าวที่ทำการพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 17 พ.ค.61 เกี่ยวกับผลงานของ คสช. ในหัวข้อ "4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาลและ คสช. นำไปสู่ความมืดมนและอันตราย" ให้มาพบ อัยการสำนักงานคดีอาญา 4 พร้อมกับการส่งสำนวนเอกสารหลักฐานที่สรุปความเห็นสมควรฟ้องนายวัฒนา ,นายจาตุรนต์ และนายชูศักดิ์ ผู้ต้องหาคดีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งผู้แทน แจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันกระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีใดฯที่ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
โดย "นายชูศักดิ์" ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้เราได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ชี้แจงว่าการแถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทยนั้นไม่ได้เป็นความผิดใดๆ และไม่เป็นการยุยงปลุกปั่นแม้แต่น้อย โดยคดีเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาเกินความเป็นจริง เราขอให้อัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบพยานบุคคล-พยานเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วน เพื่อเป็นการฟังข้อเท็จจริงรอบด้าน โดยจะให้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติมประมาณ20 ปาก
"มาตรา 116 ดูจะเป็นมาตราครอบจักรวาล สังเกตดูประชาชนที่ทำกิจกรรมทางการเมืองจะโดนพ่วงด้วยมาตรานี้ทั้งสิ้น เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน การที่เราแถลงข่าววิจารณ์ผลงานของรัฐบาล ไม่ได้ออกไปปลุกระดมผู้คนให้มาประท้วงรัฐบาล จึงไม่เข้าองค์ประกอบมาตรานี้เลย แต่ที่เขาแจ้งความกล่าวโทษเรา ก็เป็นหน้าที่เราต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม" นายชูศักดิ์ กล่าวและว่า มีหลายเหตุการณ์ที่ชุมนุมกันเกิน 5 คน ทำกิจกรรมทางการเมือง แถลงข่าวชัดเจน ตนก็ยกข้อเท็จจริงให้อัยการได้เห็นว่าเหล่านี้ไม่ได้มีการดำเนินคดีใดๆ แต่กลับมุ่งมาดำเนินคดีกับพวกเรา ส่วนพยานที่จะขอให้สอบเพิ่ม ส่วนใหญ่จะแสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ มีความเห็นในเรื่องนี้มากมาย ชี้ว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง ซึ่งกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มเวลานี้อาจจะสุ่มเสี่ยงขัดคำสั่ง คสช. แฝงนัยยะหาเสียง
"นายชูศักดิ์" กล่าวว่า จุดใหญ่คือการที่ คสช.ไม่ยกเลิกคำสั่งทั้งหลายที่ห้ามประชาชนชุมนุมทางการเมือง คำสั่งเหล่านี้ถ้อยคำกว้างขวาง อะไรคือกิจกรรมทางการเมือง นักกฎหมายก็จะตอบไม่เหมือนกัน ไม่มีคำนิยามไว้ ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ตีความเอาเอง ต้นตอคือไม่ยกเลิกคำสั่งก็เป็นปัญหาอยู่อย่างนี้ ที่สำคัญรัฐบาล คสช.กำลังจะลงเล่นการเมือง ยิ่งจะทำให้สังคมไปกันใหญ่
เมื่อถามถึงการที่บางพรรคเดินสายหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคจะเข้าข่ายหาเสียงหรือไม่ "นายชูศักดิ์" กล่าวว่า คงต้องตีความอย่างกว้าง ตนอาจจะช่วยพรรคประชาธิปัตย์ เพราะ คสช.บอกว่าให้เลือกกรรมการบริหารพรรค เขาจะทำอะไรในการเลือกก็ถือว่าทำได้ ถ้าตีความให้เป็นประโยชน์กับพรรคการเมือง อยากให้เราตีความให้เป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองในการทำกิจกรรม
โดย "นายจาตุรนต์" กล่าวเสริมว่า ควรต้องให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่จำเป็น เรามีความเห็นว่าแม้แต่พรรคของ คสช. ก็ควรเปิดโอกาสให้เต็มที่ ทุกพรรคควรจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ไปหาทางห้าม
ส่วนคดีในวันนี้ "นายจาตุรนต์" ได้กล่าวว่า ไม่หนักใจเพราะสิ่งที่ทำไปไม่มีทางผิดกฎหมายได้เลย การตั้งข้อหาก็เป็นการตั้งเอาตามอำเภอใจ ใช้อำนาจ คสช. มาแจ้งความ เราขอความเป็นธรรมและจะสู้คดีไปให้ถึงที่สุด ที่เป็นห่วงไม่ได้ห่วงคดีเราเอง แต่เป็นห่วงว่าการตั้งข้อหา ไม่ว่าจะข้อหาชุมนุมเกิน 5คน หรือข้อหาตามมาตรา 116 หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ เป็นการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนโดยเลือกปฏิบัติเฉพาะใช้กับผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. ทำให้ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล คสช. เป็นผลเสียต่อประเทศชาติ
"การใช้มาตรา 116 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาเล่นงานนักการเมืองหรือพรรคการเมือง มันเป็นการที่จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีทางที่จะเสรีและเป็นธรรม เพราะว่าหัวหน้า คสช.เอง ใครๆ ก็เชื่อว่าต่อไปนี้กำลังจะเดินเข้าสู่การแข่งขันเพื่อไปสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วหัวหน้า คสช.ก็ใช้อำนาจตัวเองให้ลูกน้องเที่ยวไปแจ้งความ พอไปแจ้งความตำรวจก็เกรงใจ คสช. เพราะ คสช.มอบหมายให้มาแจ้งความดำเนินคดีกับคนที่วิจารณ์ คสช. แล้วอย่างนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่เป็นธรรมได้อย่างไร แล้วเมื่อไหร่จะเลิก ถ้ายิ่งทำอย่างนี้ไปก็เท่ากับว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีทางที่จะยุติธรรมเลย อันนี้เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง แล้วมันจะทำให้ถ้าหัวหน้า คสช.ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็เท่ากับได้อำนาจมาโดยไม่ชอบ เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคมเสียเปล่าๆ อันนี้เป็นเรื่องที่เราห่วงมากกว่าเรื่องห่วงคดีตัวเอง" นายจาตุรนต์ ระบุ
เมื่อถามถึงกรณีที่ ผบ.ทบ.ให้ความเห็นว่าต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองและรัฐประหาร มีสาเหตุจากนักการเมือง "นายจาตุรนต์" กล่าวว่า การพูดตีขลุมว่าปัญหาความวุ่นวายเกิดจากนักการเมืองก็เป็นการแสดงความเห็นได้ แต่ว่าถ้าคนอื่นหรือนักการเมืองมีความเห็นบ้างว่าความไม่สงบหรือความวุ่นวายที่เกิดขึ้น เกิดจากการสมคบกันของหลายฝ่าย รวมทั้งผู้นำกองทัพก็มีส่วนร่วมด้วย ส่งเสริมให้เกิดความวุ่นวาย และไม่ช่วยรัฐบาลในการรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อให้ผู้นำกองทัพเองทำการรัฐประหาร ถ้าตนมีความเห็นอย่างนี้บ้าง ผบ.ทบ.จะว่าอย่างไร
เมื่อถามถึงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ "นายจาตุรนต์" กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย คุยกันทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ เรามีหลักการสำคัญคือควรจะใช้ประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของระบบคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต เพื่อประโยชน์ทางการทำธุรกิจของภาคเอกชน หรือการสื่อสารระหว่างประชาชนให้มีเสรี และคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคล เอกชน ไม่ควรใช้มาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้อยู่ตรงข้ามผู้มีอำนาจ จะทำให้เกิดผลเสียต่อธุรกิจ ระดับโลกจะไม่กล้ามาลงทุนถ้ากฎหมายล้าหลัง เผด็จการ อนุญาตให้รัฐแทรกแซงล่วงรู้ข้อมูลที่ไม่จำเป็นของเอกชนหรือประชาชน เราเป็นห่วงภาคเอกชน การลงทุนของประเทศ
ด้าน นายวัฒนา ก็ได้เปิดเผยถึงการนัดสั่งคดีนี้ว่า อัยการได้นัดฟังคำสั่งครั้งแรกในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เวลา 13.00 น. ส่วนหากจะมีคำสั่งคดีในวันดังกล่าวได้หรือไม่นั้น อัยการจะมีการประสานมาว่าจะให้มาทราบนัดฟังคำสั่งด้วยตนเอง ซึ่งหลังจากนี้ตนก็จะยื่นร้องขอความเป็นธรรมเข้าไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้นายวัฒนายังกล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ที่บอกว่าเข้ามาเพื่อสร้างความปรองดอง เคารพความเห็นต่างด้วยว่า มาถามตนสิว่าตนเดินขึ้นอัยการ ขึ้นศาลกี่รอบ เคารพแบบไหนที่ให้คนมาแจ้งความดำเนินคดีกับพวกตน ทั้งที่เป็นความเห็นต่าง ใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ทีหลังอย่าหลับตาโกหกฝากไปบอกด้วย
เมื่อถามว่า ถ้าสุดท้ายคดีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือจบที่ศาลยกฟ้องแล้วจะฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ที่แจ้งข้อหาหรือ คสช.หรือไม่ "นายวัฒนา" บอกว่าขอดูพฤติการณ์และเหตุการณ์ในตอนนั้นก่อน