ข่าว

เวทีการเมือง จี้ กกต.ทำหน้าที่เที่ยงธรรม-ไม่ฟังคำสั่งรัฐบาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เวทีเพื่อเลือกตั้งเสรี-เป็นธรรม จี้ กกต.ทำหน้าที่เที่ยงธรรม-ไม่ฟังคำสั่งรบ. วอน คสช.เลิกคำสั่งห้ามทำกิจกรรมการเมือง-ใช้ม.44 กระตุ้น ปชช.ใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้มาก

 

          14 ต.ค.61-เครือข่ายคนต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรมและเกิดผลเป็นรูปธรรม (FFFE- Free Fair & Fruitful Election)  จัดเสวนา เรื่อง การเลือกตั้งที่เสรี และเป็นธรรมกับอนาคตสังคมไทยและการเมือง มุมมองจากภาคประชาชน และตัวแทนพรรคการเมือง 

        สำหรับเวทีของมุมมองของตัวแทนพรรคการเมือง เรียกร้องไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฐานะคนกลางในทางการเมือง ทำหน้าที่บนความถูกต้องและเที่ยงธรรมตามกฎหมาย โดยไม่ฟังคำสั่งการใดๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังเรียกร้องให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุติการใช้คำสั่งหรืออำนาจใดๆ ตามมาตรา 44 หลังจากพระราชกฤษฎีกาประกาศวันเลือกตั้งมีผลบังคับใช้

         โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่ามีหลายฝ่ายเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะถูกยุบ แต่ตนเชื่อมั่นโดยมั่นใจว่าจะไม่เป็นไปตามนั้น เพราะไร้ข้อเท็จจริงเพียงพอ และ ข้อกฎหมายจะนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยได้ 

         "มีคนห่วงว่าพรรคเพื่อไทยจะถูกยุบแบบไร้เหตุผล เหมือนกับตอนพรรคไทยรักไทย กับ พรรคพลังประชาชน ผมตอบได้ว่า พร้อม เพราะหากถูกยุบก่อนเลือกตั้งยังสามารถย้ายพรรคทัน แต่หากเลวร้ายสุดคือ ยุบระหว่างลงเลือกตั้ง และหากเป็นปัจจัยที่เลวร้าย ผม รวมถึงแกนนำพรรคจะประกาศให้ประชาชนหันไปสนับสนุนพรรคที่ไม่เอารัฐบาลทหารทันที" นายจาตุรนต์ กล่าว

           เวทีการเมือง จี้ กกต.ทำหน้าที่เที่ยงธรรม-ไม่ฟังคำสั่งรัฐบาล

           นายจาตุรนนต์ กล่าวว่าตนเป็นห่วงการเมืองไทย​ ไม่ใช่กรณีที่จะหาทางยุบพรรคเพื่อไทยหรือทำทุกทางไม่ให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แต่ที่น่าห่วงคือจะทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมาย และไม่สามารถเป็นช่องทางที่ประชาชนมีสิทธิกำหนดอนาคตของตนเองผ่านการเลือกตั้ง เพื่อเลือกตัวแทนไปบริหารประเทศ เพราะผู้มีอำนาจกลัว ดังนั้นจึงต้องทำให้การเลือกตั้งไร้เสรี ไร้ความเป็นธรรม และไร้ความหมาย 

         "สิ่งที่คสช.​จะห้ามต่อไป คือ ห้ามหาเสียง ทั้งที่การหาเสียงสามารถทำได้ทั้งปี ทั้งชาติ พอประกาศวันเลือกตั้งแล้ว เขาจะห้ามให้ บริจาค จัดงานมหรสพ เท่านั้น การหาเสียงครั้งนี้ผมเข้าใจว่าเขาจะทำให้เป็นแบบหาเสียงของส.ว.เมื่อ20 ปีที่แล้ว คือ เดินถือป้าย ปราศรัยในพื้นที่ที่ กกต. จัดให้ ซึ่งผลรอบนั้น ประชาชนรู้ว่าส.ว.คิดยังไง หลังการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจ ดังนั้นผมมั่นใจว่าการเลือกตั้งและหาเสียงจะเป็นไปในทางเดียวเท่านั้น คือ รัฐบาลประยุทธ์ดีอย่างไรเท่านั้น บทสรุปที่เขาห้าม คือ กลัวว่าจะไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งสิ่งที่เขาห้าม คือ ห้ามคนทำตามกฎหมายพรรคการเมือง ทั้งหมดนั้นผมคิดว่าสิ่งที่คสช.ต้องการทำลายการเลือกตั้งที่ประชาชนมีส่วนกำหนดอนาคตของตัวเอง เพื่อให้คสช.ได้อยู่ในอำนาจต่อไป หากประชาชนไม่ยอมเช่นนั้นต้องร่วมเรียกร้องให้การเลือกตั้งเสรี เป็นธรรม" นายจาตุรนต์ กล่าว

          ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล  เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าเรียกร้องให้กกต.​ พิจารณาและตีความทางกฎหมายในทางที่เป็นคุณกับทุกพรรคการเมือง แม้ขณะนี้จะมีคำสั่งคสช. ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหว แต่ล่าสุดนั้นมีกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้นหากจะให้การเลือกตั้งเสรี และเป็นธรรม กกต. ควรตีความคำสั่งคสช. นั้นในทางที่เป็นคุณกับทุกพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามตนมีคามหวังว่าการเลือกตั้งในปี 2562 จะมีความหมาย หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิออกเสียงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่ายุติการสืบทอดอำนาจ​

เวทีการเมือง จี้ กกต.ทำหน้าที่เที่ยงธรรม-ไม่ฟังคำสั่งรัฐบาล

          ส่วนนายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าตนเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เพราะที่ผ่านมาผู้มีอำนาจผ่อนผัน เลื่อนการเลือกตั้ง ถึง 4 ครั้ง ดังนั้นหากจะเลื่อนอีกครั้งสังคมจะไม่ยินยอม และอาจมีกระบวนการชุมนุมเรียกร้องเพื่อให้การเลือกตั้งเดินตามปฏิทินเดิมแน่นอน  อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งที่เสรี และเป็นธรรมจะเกิดไม่ได้จริง หาก คสช.​ไม่ยอมยกเลิกคำสั่งหรือระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมืองและยังมีอำนาจตามมาตรา44

           ทางด้านนายภราดร ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวเรียกร้องถึงสังคม และ ประชาชนยึดบนหลักประชาธิปไตยและความถูกต้อง มากกว่าการเลือกสนับสนุนกลุ่มหรือขั้วในการเลือกตั้ง ในปี 2562 ทั้งนี้ตนไม่เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เพราะคสช.​ยังคงคำสั่ง และกติกาที่ทำงานการเมืองไม่ได้ ดังนั้นตนขอเรียกร้องให้ คสช. เร่งปลดล็อกทุกอย่างที่เป็นอุปสรรคทางการเมือง ทั้งการแสดงความเห็นของประชาชน แม้จะเป็นความเห็นที่แตกต่าง รวมถึงให้พรรคการเมืองมีโอกาสพบปะประชาชนเพื่อนำปัญหาไปกำหนดนโยบาย ขณะเดียวกัน กกต. ฐานะกรรมการกลาง หลังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ต้องเป็นอิสระ เสรี และตัดสินผู้เล่นทุกคนบนกติกาเดียวกันเพื่อให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม โดยไม่ฟังเสียง หรือ คำสั่งการใดๆ 

           "ผู้คุมกติกาใหญ่ ต้องปล่อยให้โลกหมุนไปตามเวลา วันนี้โลกหมุนว่าจะเลือกตั้งแล้ว อย่างล็อกประชาชน ล็อกพรรคการเมือง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการเลือกตั้ง หาก คสช.​ ฐานะผู้มีอำนาจเหนือกว่าทุกพรรคจะลงมาเล่นการเมือง ต้องยืนยันในจุดยืนดังกล่าวว่าจะไม่สร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง ผ่านการใช้มาตรา 44 พร้อมกับรัฐบาลต้องเชิญต่างชาติเข้าสังเกตการณ์เลือกตั้ง รวมถึงต้องร่วมสัตยาบรรณ ไม่บิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนหลังการเลือกตั้ง ทั้งนี้ผมมองว่าหากหลังเลือกตั้งกลายเป็นเลือกตั้งที่สกปรก จะสร้างชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่" นายภราดร กล่าว

       นายภราดร กล่าวในเวทีด้วยว่า ขอเรียกร้องกับตัวแทน 7 พรรคการเมือง ทำสัตยาบรรณร่วมกันว่า หลังการเลือกตั้งจะอยุ่เพียงปีเดียว เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้ทำกติกาที่เป็นของทุกคน ขณะที่ส.ส.ร.​หรือผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่จะมาทำหน้าที่นั้นต้องเป็นผู้ที่ทุกฝ่ายยอมรับ และมีความเป็นกลาง 

เวทีการเมือง จี้ กกต.ทำหน้าที่เที่ยงธรรม-ไม่ฟังคำสั่งรัฐบาล

        ขณะที่ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ แกนนำผู้เตรียมจัดตั้งพรรคประชาชาติ กล่าวว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แย่ที่สุดเท่าที่ตนเป็นนักการเมือง เพราะมีเจตนาสืบทอดอำนาจเผด็จการชัดเจน แต่ปรากฎการณ์การเมืองหลังจากนี้ ตนเชื่อว่าพลังของประชาชนจะชนะทหาร เหมือนกับการเมืองในประเทศเมียนมาร์ ที่รัฐบาลทหาร แพ้พลังประชาชนที่นำโดย ออง ซาน ซูจี หรือการเมืองของประเทศมาเลเซียครั้งล่าสุด  อย่างไรก็ตามตนขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองจับมือเป็นพันธมิตรร่วมกันเพื่อยุติการสืบทอดอำนาจของคสช.

          ส่วนนายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย  กล่าวว่า​อำนาจของคสช.เริ่มเสื่อม และ พลังของประชาชนเข้มแข็ง ซึ่งตนมั่นใจว่ารัฐบาลคสช. จะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง และแม้คสช. จะตั้งพรรคการเมือง แต่สิ่งที่ตัดสินได้ในตอนท้ายคือ การตัดสินใของประชาชน

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าคณะรัฐศาสตร์จัดเสวนาการเมืองในมุมมองของภาคการเมืองและประชาชน 

          นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยมาก เสียดายที่เป็นช่วงเวลาอันสั้นเพียง 3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 จากนั้นเราก็ตกอยู่ในประชาธิปไตยครึ่งใบมาตลอด โดยวาทกรรมของผู้มีอำนาจต้องการให้คนกลัวคือ ประชาธิปไตยเป็นตัวสร้างปัญหา เพื่อเป็นข้ออ้างให้ชนชั้นนำหรือทหารเข้ามายึดอำนาจ

         เวทีการเมือง จี้ กกต.ทำหน้าที่เที่ยงธรรม-ไม่ฟังคำสั่งรัฐบาล

           นายธนาธรกล่าวว่า เราจะปรองดองด้วยอำนาจที่กดทับคนอื่นหรือเอารองเท้าบูทเหยียบคนอื่นให้ปรองดองไม่ได้ ต้องใช้ความเป็นธรรม รวมทั้งต้องเอาความทรงจำและความจริงกลับคืนมา เพื่อเชิดชูคนที่เคยต่อสู้มาเพื่อกลับสู่ประชาธิปไตย หยุดการสืบทอดอำนาจของคสช.ให้ได้ โดยการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวชี้อนาคตประเทศ ว่าจะอยู่กับเผด็จการต่อไปหรืออยู่กับเสรีภาพ

         "เลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งประวัติศาสตร์ ว่าประเทศจะไปทางไหน ขณะเดียวกันเราต้องล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหารทั้งหมด ทั้งหมดนี้เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งทุกอย่างขึ้นกับประชาชนและพรรคการเมือง ว่าจะพร้อมใจกันต่อสู้เพียงใด"

          ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยุคก่อนมีจอมพลประภาส-จอมพลถนอม ได้มีการตั้งพรรคสหประชาไทยต่อท่ออำนาจเพื่อเดินสู่การเลือกตั้ง แต่สุดท้ายเป็นเผด็จการที่ไม่คุ้นเคยกับระบบรัฐสภาก็มีการปฎิวัติ ต่อมามีรัฐประหารอีกหลายครั้ง ยุครสช.ก็ต่อท่ออำนาจมาตั้งพรรคสามัคคีธรรมที่ดูดทุกพรรคการเมืองเข้ามา เมื่อเลือกพล.อ.สุจินดา คราประยูร สมาชิกรสช.มาเป็นนายกฯก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาฯ35 มาถึงยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ที่ตอนหลังพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน มาตั้งพรรคมาตุภูมิ สุดท้ายก็มีส.ส.คนเดียว

        วันนี้มีพรรคพลังประชารัฐที่มองว่าเป็นการต่อท่อรัฐบาล เพราะมี 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน แต่ไม่ทราบว่าเป็นพรรคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ เพราะยังไม่แสดงท่าทีชัดเจน แต่ประวัติศาสตร์สอนให้เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลที่ต่อท่ออำนาจโดยมาตั้งพรรค สุดท้ายหากไม่รัฐประหารตัวเองหรือถูกกลุ่มอำนาจอื่นรัฐประหาร ก็จะเจอกับประชาชน

            "หากพรรคพลังประชารัฐทำแบบต่อท่ออำนาจ ไม่เคารพเสียงข้างมากในสภาจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะพล.อ.ประยุทธ์สวมหมวกสองใบ แม้วันนี้ยังไม่รู้ว่าอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ แต่หมวกอีกใบคือหัวหน้าคสช. ที่มีส.ว.250 เสียงที่มาจากการคัดเลือกของคสช. จะอันตรายมากหากไม่เคารพเสียงข้างมากในสภาที่มาจากประชาชน ถ้าพรรคการเมืองจับมือกันได้เสียงเกินครึ่งในสภา แต่กลับไม่ให้ส.ว.ยกมือให้เป็นก็จะบรรลัยกันหมด ทั้งนี้ ไม่ได้รังเกียจทหาร แต่อย่าเอาสถาบันทหารมาปนกับสถาบันการเมือง"

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ