ข่าว

กกต.ลั่นไม่ใช่เสือกระดาษ !!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กกต.ยันเลือกตั้งครั้งนี้ทุจริตลด ลั่นไม่เป็นเสือกระดาษแน่

 

          14ต.ค. 2561- ผู้สื่อข่าวรายงานจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสนว่า ได้มีการจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “เตรียมความพร้อมทำข่าวเลือกตั้ง 62” โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวตอนหนึ่งว่า บทบาทของกกต.ต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส่วนเรื่องการเมืองหลังจากที่มีการรัฐประหารถามว่าทำไมมีคนนำดอกไม้ไปให้ทหารเป็นจำนวนมาก จุดแรกที่วิเคราะห์คิดว่าเนื่องจากประชาชนรู้สึกว่าพรรคการเมืองไม่ใช่พรรคการเมืองที่แท้จริงของประชาชน ดังนั้นจึงต้องมีการปฏิรูประบบพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันของประชาชนอย่างแท้จริง ตนรู้สึกดีใจที่ขณะนี้พรรคการเมืองหลายพรรคประกาศว่าจะเป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง และเลือกตังครั้งต้องไม่มีเลือด ต้องเป็นการเลือกตั้งที่สงบ

 

          พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ระบบเลือกตั้งตอนนี้มีปัญหาแตกเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย ซึ่งตนมองว่าเป็นธรรมชาติของพรรคการเมือง เพราะทุกพรรคอยากเป็นตัวแทนประชาชนเข้าไปทำงานในสภาฯ และเป็นผู้บริหารประเทศเพื่อดำเนินการตามนโยบายพรรคของตนเอง แต่ละพรรคอยากได้ส.ส.มากที่สุด จึงมีเทคนิคและวิธีการต่างๆ แต่ทุกอย่างต้องไม่ซื้อเสียง และทำผิดกฎหมาย ส่วนการเป็นรัฐบาลผสมก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง 


          ส่วนประเด็นเงินบริจาคพรรคและการระดมทุนพรรคนั้น หากเราบริจาคเงินให้พรรค 10 ล้านบาทแล้วจะไประดมทุนให้พรรคเกิน 10 ล้านบาทนั้นทำไม่ได้ เพราะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้แนวคิดและเจตนาของกกต.ไม่อยากให้พรรคการเมืองเป็นของกลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมระดมทุนพรรคการเมืองในตอนนี้จะต้องขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน

 

          พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวอีกว่า กรณีที่ให้มีบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ ก็เพื่อให้เลือกคนและเลือกพรรคด้วย ดังนั้นพรรคการเมืองต้องส่งคนที่มีศักยภาพและเป็นที่รักของประชาชนในพื้นที่ ยอมรับว่ามีปัญหาและเกิดผลกระทบแน่นอน เพราะมีปัญหาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่พรรคการเมืองกลัวว่าจะเกิดความไม่เป็นธรรมและส่งผลกระทบต่อฐานคะแนนเสียง แต่กกต.ก็มีวิธีการโดยจะแบ่งอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง คิดว่าวิธีนี้ดีที่สุด และตัวเลขของจำนวนประชากรจะต้องใกล้เคียงกัน ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร

 

          พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องป้ายหาเสียงกกต.ต้องหารือกับพรรคการเมืองเช่นกัน เพราะแต่ละเขตมีพื้นที่ติดต่อกัน และอาจมีหมายเลขไม่ตรงกันระหว่างผู้สมัครกับพรรค แต่ต้องมีการจำกัดจำนวนป้ายด้วย ส่วนการหาเสียงผ่านทางโซเชียลมีเดียต้องมีการหารือเรื่องรายละเอียดกันต่อไป โดยต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและความเท่าเทียมให้กับทุกพรรค    

 

          “เมื่อก่อนกกต.เหมือนเสือกระดาษ แต่ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าเรื่องซื้อเสียง กฎหมายให้อำนาจหน้าที่กกต.ดำเนินการอย่างเต็มที่ มีอำนาจออกหมายเรียก และออกหมายจับได้ในคดีเลือกตั้งตามกฎหมายป.วิอาญา อีกทั้งมีการให้รางวัลแก่ผู้ที่ชี้เบาะแสในคดีเลือกตั้งระดับชาติคดีละ 1แสนบาท โดยต้องมีหลักฐานให้ศาลสามารถลงโทษให้ใบแดงการเลือกตั้งได้ เชื่อว่าจะเป็นหัวใจสำคัญแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้ และคิดว่าสังคมจะไม่แตกแยกเรามีการคุ้มครองพยาน และสามารถกันผู้ที่ให้ข้อมูลไว้เป็นพยานได้ ถือเป็นมีดดาบของกกต. ซึ่งพรรคการเมืองและนักการเมืองที่แพ้คดีต้องชดใช้เงินการจัดการเลือกตั้งด้วย" เลขาธิการกกต. กล่าว

 

          พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ส่วนที่มีข้อกังวลเรื่องการครอบงำชี้นำพรรคจากบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค ทำให้พรรคดำเนินงานได้ไม่อิสระ กฎหมายกำหนดให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคต่างๆ ต้องเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น ถ้าเป็นบุคคลภายนอกอาจมีความผิดถึงขั้นยุบพรรคได้ และตนเป็นห่วงว่าเมื่อใกล้การเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะต้องไปหาสมาชิกพรรคได้ตามที่กฎหมายกำหนดอาจมีการให้สินบนหรือสัญญาว่าจะให้ เช่น การออกค่าใช้จ่ายการเป็นสมาชิกพรรคให้ ซึ่งความผิดถึงขั้นยุบพรรคได้เช่นกัน ตอนนี้มีหลายที่ที่มีคนไปเก็บบัตรประชาชนและแจกข้าวสาร หากมีพยานหลักฐานเราต้องดำเนินการ

 

         เมื่อถามถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อธรรม และพรรคเพื่อชาติ อาจจะเป็นพรรคนอมินีกันหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ต้องดูข้อเท็จจริงก่อน และต้องเปิดกฎหมายว่าเข้าข่ายการครอบงำหรือไม่ ทั้งนี้กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าการตั้งพรรคการเมืองที่อาจกระจายกันออกไป นโยบายอาจจะเหมือนกันบางอย่างได้ และบางอย่างอาจจะแตกต่างกันได้ ส่วนหลักการพิจารณาจะต้องดูข้อเท็จจริงว่าพรรคหนึ่งพรรคใดมีการครอบงำกันหรือไม่ เพราะพรรคถือเป็นนิติบุคคล หากเป็นนอมินีกันก็มีความผิดถึงขั้นยุบพรรค

 

          ด้านร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก ผอ.สำนักกฎหมายและคดี กล่าวว่า ในส่วนของข้อห้ามเรื่องการห้ามหาเสียงโดยใช้ความรื่นเริงหรือบันเทิงมหรสพนั้น เช่นผู้สมัครมีความสามารถในการ้องเพลงหรือมีอาชีพเดิมเป็นนักร้องก็ห้ามนำเวทีหาเสียงมาร้องเพลง และห้ามนำเวทีร้องเพลงมาหาเสียง ต้องแยกกันให้ออก เพราะถ้าไม่เช่นนั้นจะเป็นการทำผิดกฎหมาย ส่วนกรณีที่บางพรรคการเมืองมีรัฐมนตรีไปร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรค มีหลายฝ่ายเป็นห่วงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่นั้น ตามกฎหมายมีข้อห้ามเรื่องการใช้ทรัพยากรของรัฐในการหาเสียง หากกำลังปฏิบัติหน้าที่บริหารบ้านเมืองก็ดำเนินการไป แต่ถ้าจะทำกิจกรรมของพรรคก็ต้องใช้ทรัพยากรของพรรคหรือทรัพยากรส่วนตัว โดยหลักไม่ควรใช้สถานที่ราชการมาพูดเรื่องพรรคของตนเอง ต้องแยกกันให้ออก และไม่ควรพูดเรื่องพรรคในทำเนียบรัฐบาล.

 

         

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ