ข่าว

ซัดกันหนัก !! ตัดกระบวนการรัฐสภาพิจารณาแผนพัฒนาศก.-สังคม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สนช. เสียงข้างมากผ่านร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังขัดแย้งหนักกรณีตัดกระบวนการรัฐสภา

               รัฐสภา 12 ตุลาคม 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระพิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งมีนายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัยพ์ สนช. เป็นประธาน กมธ.ฯ เพื่อกำหนดบทบาทและทิศทางการดำเนินงานของ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ทำแผนพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้อง และบูรณาการกับกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ

 

 

 

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามที่ กมธ.ฯ เสนอนั้น มีการแก้ไข 7 มาตรา โดยเป็นการปรับแก้ไขเพียงถ้อยคำให้ร่างกฎหมายมีความสมบูรณ์และครอบคลุมในมิติต่างๆ นอกจากทางสังคมและเศรษฐกิจ อาทิ มาตรา 4 คำนิยามว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ได้เพิ่มถ้อยคำให้หมายถึง การขจัดผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และ การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม , มาตรา 8 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของประธานและกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ตัดคุณสมบัติ ว่าด้วย มีอายุไม่เกิน 75 ปี ออก และแทนที่ด้วย มีสัญชาติไทยโดยการเกิด , มาตรา 15 ว่าด้วยกรอบของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วย

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีมาตราที่ สนช. ถกเถียงกันอย่างหนัก คือ มาตรา 18 ว่าด้วยกระบวนการพิจารณาแผนที่กำหนดให้นำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานต่อรัฐสภาให้รับทราบ จากนั้นให้ นายกฯ นำร่างแผนพัฒนาฯ ทูลเกล้าฯ โดย กมธ. เสียงข้างมาก แก้ไขเนื้อหาให้ นำแผนฯ รายงานต่อรัฐสภา ภายหลังจากที่แผนฯ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้แผนฯ เนื่องจากกังวลว่ารัฐสภาไม่มีกรอบเวลาพิจารณาหรือเงื่อนไขด้านเวลาที่จะบรรจุวาระที่ชัดเจน และอาจเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาแผนพัฒนาเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ในอนาคต ขณะเดียวกันแผนฯ ดังกล่าวสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ทางรัฐสภาจึงไม่มีอำนาจใดในการแก้ไขหรือเพิ่มเติมเนื้อหา ขณะเดียวกันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ผ่านมาไม่เคยต้องนำให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา

 

 

 

               ทั้งนี้มี สนช. อภิปรายไม่เห็นด้วย อาทิ นายธานี อ่อนละเอียด , นายมณเฑียร บุญตัน , พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ และขอให้แก้ไขกลับไปใช้ร่างเดิมตามกระบวนการที่ ครม. ต้องส่งแผนฯ ให้รัฐสภารับทราบก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกแห่งรัฐสภาอภิปราย เสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม และเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยหลักการพิจารณากฎหมาย ที่ต้องให้รัฐสภาพิจารณาก่อนนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ อย่างไรก็ตาม กมธ.ฯ เสียงข้างมาก ไม่เห็นด้วย และในตอนท้ายของการอภิปรายรอบสอง ได้ขอตัดกระบวนการที่รัฐสภาพิจารณาแผนฯ ออกทั้งหมด

               ทำให้ นายธานี อภิปรายคัดค้าน พร้อมระบุว่า รัฐบาลย่อมมีเสียงข้างมากในสภาฯ ดังนั้น ข้อกังวลว่าด้วยเงื่อนไขเวลาบรรจุวาระประชุมคงไม่ใช่ประเด็น และหากไม่ผ่านรัฐสภา เชื่อว่าจะเป็นเรื่องไม่ดี

               "รัฐบาลคุมเสียงข้างมากในสภาฯ หากไม่มาผ่านสภาฯ คงจะเป็นเรื่องขึ้นได้ เพราะเวทีของสภา คือ เวทีของตัวแทนประชาชน ที่สามารถนำเสนอความเห็นได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ แม้ร่างกฎหมายจะระบุว่ามีขั้นตอนรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้ว แต่ไม่มีการรับประกันได้ว่า รับฟังได้อย่างครบถ้วนเพียงพอ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสง่างาม ไม่ควรตัดกระบวนการของรัฐสภา ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะถูกมองว่าตัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนได้" นายธานี อภิปราย

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายของทั้ง 2 ฝั่ง ไม่มีฝ่ายใดที่ยอม ทำให้ที่ประชุมใช้มติเพื่อตัดสิน ผลปรากฏว่า เสียงข้างมากของที่ประชุม 93 เสียง ต่อ 87 เสียง ยืนยันให้ผ่านกระบวนการของรัฐสภาก่อนที่นายกฯ จะนำแผนฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ขณะที่การลงมติในวาระเห็นชอบของที่ประชุมนั้น เสียงข้างมาก 186 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงมติ 1 เสียง เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมายต่อไป

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ