ข่าว

เปิดใจ "หมอวรงค์" กับการอาสานำทัพ ปชป.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ผมไม่ใช่เงาของใคร เมื่อสู้แล้วต้องชนะ" สัมภาษณ์พิเศษ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม โดยสำนักข่าวเนชั่น

 

                 การต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงนี้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งนั้น เรียกว่าเข้มข้น เเละบางฝ่ายยังมองว่า กรณีนี้จะเหมือน”เหตุการณ์10มกรา” คำรบสอง

                 (หลังการเลือกตั้งทั่วไป 27 ก.ค.2529  พรรคประขาธิปัตย์ได้ที่นั่ง ส.ส.ทั้งหมด 100 ที่นั่ง จาก 347 ที่นั่ง เกิดการ “แตกหัก” ระหว่าง2 ขั้วในพรรค ขั้วแรกนำโดย “พิชัย รัตตกุล” หัวหน้าพรรค  กับอีกขั้วหนึ่งคือ “เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์” กรรมการบริหารพรรค กับ “วีระ มุสิกพงศ์” เลขาธิการพรรค ในศึกภายในพรรคเเละส่งผลกับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค(10 มกราคม 2530)โดยนายพิชัยเเข่งขันกับนายเฉลิมพันธ์ เเต่นายพิชัยชนะ เเละสองขั้วในพรรคเกิดความขัดเเย้งเเละเป็นปมหนึ่งที่ทำให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในช่วงนั้นยุบสภา เพราะกลุ่ม  10มกรา ค้านร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่สำคัญ  จากนั้น10มกราเเยกไปก่อตั้งเป็นพรรคประชาชน)

                 เพราะวันนี้ในพรรคมีทั้งกองเชียร์-กองแช่ง ให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อ เพราะเชื่อว่ายังมีแฟนคลับคอยเป็นแรงหนุน นำพาพรรคไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นได้ เเต่ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนเเปลงเพราะสิบกว่าปีที่อภิสิทธิ์นำทัพนั้น ไม่เคยชนะเลือกตั้ง(เเม้จำนวนส.ส.จะเพิ่มเเละคงที่)ทว่าบรรดากองหนุนที่อยาทเปลี่ยนเเละหนุน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก ที่สร้างชื่อจากการเกาะติคดีจำนำข้าวนั้นมีไม่น้อยเหมือนกัน เพราะต้องการเห็นปชป.เปลี่ยนมือ-เปลี่ยนแนวคิด ไม่ยึดติดกับหลักคิดเดิม-ประเพณีเก่าแก่ เเละหากเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคได้จะเพิ่มความพลิ้วไหวไว้ต่อยอดกับขั้วอำนาจ เพราะที่ผ่านมาคล้ายว่า”มาร์ค”จะไม่ต้องอารมณ์ของคีย์เเมนในคสช.เท่าใดนัก

                 ว่ากันว่าผู้สนับสนุนนพ.วรงค์อย่างไม่เป็นทางการคือ “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ  อดีตเลขาธิการพรรคเเละอดีตเเกนนำกปปส. แม้ฉากหน้าลุงกำนันจะผันตัวไปตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง โดยร่วมจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย  แต่ฉากหลังลุงกำนันยังคอยกำกับคนในพรรคสะตอโดยมี”นายถาวร เสนเนียม” อาสาออกหน้าสนับสนุน “นพ.วรงค์” แทน

                 กระแสเปลี่ยนแม่ทัพนำสู้ศึกเลือกตั้ง “บิ๊กเนมในพรรคสะตอ” หลายคนเห็นด้วย เพราะชื่อ “นพ.วรงค์” ก็ไม่น่าเกลียด แต่หลายคนต้องเซย์โนเพราะกลัวเงาของ “นายสุเทพ” จะยึดพรรค นำพรรคสะตอร่วมรัฐบาลกับ “บิ๊กทหาร”

                 กรณีนี้นพ.วรงค์ ให้สัมภาษณ์กับการอาสานำทัพพรรคสะตอว่า “บางคนโยงไปเรื่องท่านสุเทพ ผมคิดว่าลำพังที่ท่านสุเทพต้องตั้งพรรคของท่านก็หมดแรงแล้ว ไหนจะต้องบริหารจัดการคัดเลือกส.ส.ของพรรคท่านอีก ท่านจะเอาเวลาไหนมาบริหารจัดการคนในประชาธิปัตย์”

                 ส่วนจะเป็นเงาของลุงกำนันในการบริหารพรรคสะตอหรือไม่นั้น  นพ.วรงค์กล่าวว่า “ผมไม่ใช่เงาของใครทั้งนั้น ไม่ใช่เงาของท่านสุเทพ ผมเป็นตัวของผมเอง ยืนยันว่าของพวกนี้เราทำกันเองในพรรค ท่านก็อยู่ในแนวทางของท่าน คนประชาธิปัตย์ก็ต้องการทำให้พรรคมีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็งยิ่งใหญ่ตรงนี้คือเป้าหมายใหญ่ของเรา ผมอาสาเข้ามาเพื่อนนำพรรคกลับมายิ่งใหญ่ ไม่เชื่องช้าเหมือนเมื่อก่อน การทำงานสมัยใหม่ต้องเคลื่อนไหว จับต้องได้เป็นรูปธรรม”

 

เปิดใจ "หมอวรงค์" กับการอาสานำทัพ ปชป.

 

                 เมื่อถามถึงภารกิจที่จะนำไปพรรคกลับไปสู้ความยิ่งใหญ่ หมายถึงการเข้าร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพราะหากเป็นนายอภิสิทธิ์ ก็คงยากที่จะต่อสายกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เเละหัวหน้าคสช. แต่หากหัวหน้าพรรคชื่อ “นพ.วรงค์” อาจจะง่ายกว่า

                 นพ.วรงค์ ชี้เเจงว่า “ผมไม่ปิดโอกาสนะ หากใครจะมาสนับสนุนเรา เราต้องยินดีที่พวกเขาเห็นความสำคัญของเรา แต่ต้องตั้งอยู่ในหลักนโยบายของพรรคเราด้วย ภารกิจแรกของผมต้องทำให้พรรคเข้มแข็งก่อน มีประสิทธิภาพก่อน การชิงหัวหน้าพรรค อันนี้เป็นเรื่องภายใน การร่วมรัฐบาลเป็นเรื่องไกล”

                 นพ.วรงค์ ชี้เเจงว่า“ผมไม่ขอพูดการร่วมรัฐบาลกับใครก่อน ผู้คนเอาไปโยงกับสิ่งที่ไกลตัวมากเกินไป การตัดสินใจทางการเมืองเราต้องทำเพื่อประชาชน หากทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์เราก็ต้องทำ ตอนนี้คนมาจับแพะชนแกะไปเรื่อย ปล่อยข่าวสร้างความปั่นป่วนภายในพรรค”

                 นพ.วรงค์ ยืนยันอีกว่า พรรคเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน ที่ผ่านมามีการแข่งขันตำแหน่งหัวหน้าพรรคกันตลอด และยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะเราทำผ่านการโหวตของประชาชน คนที่ได้รับความไว้ใจจากประชาชนจึงมีโอกาสได้เป็นหัวหน้าพรรค ทุกอย่างเป็นเพียงการแข่งขัน แต่หลังแข่งขันเสร็จก็จบ

                 เมื่อถามถึงการแก้ไขข้อบังคับพรรค เพื่อให้สมาชิกที่ยืนยันความเป็นสมาชิก 80,000 คน และยังไม่ยืนยันความเป็นสมาชิกกว่า 2 ล้านคน สามารถโหวตได้แบบวันแมนวันโหวต จะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่

                 นพ.วรงค์ ระบุว่า “จะใช้วิธีไหนคัดเลือกหัวหน้าพรรค ผมไม่มีปัญหา แบบวันแมนวันโหวตก็ได้ อยู่ที่คณะกรรมการ ผู้บริหารพรรคที่พวกเขามีอำนาจตัดสินใจ ถ้าเกิดอะไรขึ้นเขาต้องอธิบายกับประชาชนให้ได้ ส่วนผมพร้อมสู้ทุกกติกา เพียงแต่คนคิดกติกาต้องอธิบาย คนวางกติกาต้องคำนึงถึงความชอบธรรม ถ้ามีข้อกังขาก็ต้องตอบคำถามให้ได้

                 “ผมบอกไว้เลยว่ามีคนสนับสนุนเยอะ แต่พวกเขาไม่กล้าเปิดตัว พวกเขาอาจจะเกรงใจอยู่ จึงยังไม่กล้า แต่พวกเขาให้กำลังใจอยู่ห่างๆนะ ให้เรากล้าทำในสิ่งที่ต้องทำ”

                 ส่วนกติกาการโหวต เท่าที่เห็นพอมีหนทางที่จะชนะหรือไม่ “นพ.วรงค์” ตอบพร้อมหัวเราะว่า “ผมถ้าสู้แล้วไม่ชนะก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่อลงสนามผมมักจะมั่นใจว่าต้องชนะ (หัวเราะ) ถ้าคิดจะสู้แล้วต้องชนะ”

 

เปิดใจ "หมอวรงค์" กับการอาสานำทัพ ปชป.

                 “ใครจะว่าเราเป็นรองเราไม่กลัว ลึกๆเราเชื่อมั่น เรามีพรรคพวกที่คอยช่วยเหลือ ทุกคนในทีมเราอยู่ในพื้นที่ รู้เรื่องราวที่เกิดในพื้นที่อย่างดี เรามั่นใจว่าคนในพื้นที่เขารู้ความคิดของสมาชิกพรรคตรงนี้จะช่วยเราได้เยอะ”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ