ข่าว

"สุเทพ"ร่ายยาวสัญญาโรงพักทดแทน-ป.ป.ช.อคติ-ไม่เป็นธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สุเทพ"ไลฟ์สดร่ายยาวโชว์เอกสาร 94 หน้า แจงรายละเอียดสัญญาจัดจ้างก่อสร้างโครงการโรงพัก 396 แห่ง ก่อนเสนอให้ป.ป.ช.กลับตั้งข้อหาไม่เป็นธรรมกล่าวหาอย่างมีอคติ

 

          17  สิงหาคม 2561 นายสุเทพ  เทือกสุบรรณ  ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย และ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ไลฟ์สด  เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  

 

           มีมติแจ้งข้อกล่าวหาตนเองและพวกรวม 17 คน ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ กรณีสร้างแฟลตตำรวจ 163 แห่ง และโรงพักทดแทน 396 แห่ง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า เมื่อวานนี้(16ส.ค.)ได้บอกกับประชาชนไปแล้วว่า  วันนี้เป็นต้นไป ผมจะนำหลักฐานเอกสารข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการผมได้พิจารณาสั่งการ ให้ความเห็นชอบ หรืออนุมัติ ในเรื่องการจัดจ้าง โครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง มาแสดงให้ประชาชนได้ทราบ  

           

           นายสุเทพ กล่าวว่า อันที่จริง เมื่อทางคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ทำบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ต่อผมเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2558  ผมก็ให้ความร่วมมือกับทางป.ป.ช.โดยได้รวบรวมหลักฐานเอกสารข้อเท็จจริงต่าง ๆ เย็บเป็นเล่ม  รวบรวมหลักฐานเอกสารข้อเท็จจริงทุกอย่าง ทุกประการครบถ้วน ทั้งหมดมี 94 หน้า แล้วนำไปยื่นให้คณะอนุกรรมการไต่สวนของป.ป.ช. ซึ่งผมเชื่อว่า ถ้าอนุกรรมการฯ ไม่มีอคติ ได้พิจารณาหลักฐานเอกสารข้อเท็จจริงต่าง ๆ ไม่เป็นเรื่องยากเลย ที่จะพิจารณา วินิจฉัยกรณีนี้  แล้วไม่ต้องใช้เวลาหลายปี แต่ว่าเมื่อล่วงเลยมาถึงวันนี้ ผมก็จำเป็นที่ต้องเอาหลักฐานเอกสารเหล่านั้น มาแสดงให้ประชาชน ได้เห็นประจักษ์ว่า  ผมได้ใช้ดุลพินิจพิจารณา ด้วยเหตุ ด้วยผล ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้อง ชอบธรรมอย่างไร 

 

           นายสุเทพ กล่าวว่า การสั่งการของผม ในเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้างงานก่อสร้างโครงการสถานีตำรวจทดแทนทั้ง 396 แห่งนี้  ผมได้ตัดสินใจให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติไปตามหลักฐาน ข้อเสนอของสตช. เรื่องนี้ผมลงนามในเอกสารหนังสือสำคัญ ๆ 3 ฉบับ โดยข้อเสนอของผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3 ท่าน ต่างยุคต่างสมัย ฉบับแรก เป็นหนังสือลงวันที่ 29 พ.ค.2552 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ  ทำบันทึกเสนอถึงผม เพื่อขอให้ความเห็นชอบแนวทางในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจดังกล่าว  

 

           ในข้อเสนอ ของสตช.ตามหนังสือฉบับนี้ เขาได้เท้าความถึงเรื่องเดิมว่า มีความเป็นมาอย่างไรมีข้อเท็จจริง ระบุด้วยว่าสำนักงบประมาณ มีความเห็นให้ สตช.ดำเนินการในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วน คือสร้างสถานีตำรวจที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ที่มีอายุใช้งานตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป จำนวน 396 หลังประกอบด้วยอะไรบ้าง และได้บอกถึงวิธีการใช้งบประมาณทำอย่างไร โดยให้ตั้งงบประมาณปี 2552 จากงบของสตช.มาใช้ก่อนในปีแรก  333 ล้าน

 

           ส่วนงบประมาณที่เหลือจะเป็นแบบการผูกพันงบประมารายจ่ายของรัฐบาลในปีงบประมาณ  2553- 2554 แล้วให้ สตช.ไปตกลงรายละเอียดรายจ่ายกับสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง ทั้งจะต้องเสนอครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พูดให้ชัดว่า สำนักงบฯมีความเห็นอย่างไร 

 

           เมื่อครม.อนุมัติโครงการนี้ให้สตช.ไปดำเนิน  ซึ่งพล.ต.อ.พัชรวาท เขาก็รายงานในหนังสือฉบับนี้ว่า เขาไปดำเนินการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาจัดจ้าง ว่าจะจ้างโดยวิธีไหน เขาก็บอกมาเสร็จว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแนวทางในการจัดจ้าง 4 วิธี  วิธีที่ 1 จัดจ้างโดยส่วนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แบบรวมการในครั้งเดียว สัญญาเดียวทั้ง 396 หลัง วิธีที่ 2 จ้างโดยส่วนกลาง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  แบบรวมการในครั้งเดียว แต่แยกการเสนอราคาเป็นรายภาค ภาค 1-9 ทำสัญญา 9 สัญญา วิธี 3 จัดจ้างโดยตำรวจภูธรภาค

 

          วิธีที่ 4 จัดจ้างโดยตำรวจภูธรจังหวัด  และเขาก็บอกด้วยว่า คณะกรรมการฯ ซึ่งมี พล.ต.ท.พงศพัศ พงศ์เจริญ เป็นประธาน ได้ประชุมกันพิจารณาแล้ว เห็นว่าสมควรที่จะจัดจ้างโดย สตช.รวมการครั้งเดียว แล้วแยกเสนอเป็นรายภาค ทำสัญญา 9 สัญญา บอกข้อดีมาเรียบร้อยว่า ถ้าทำวิธีนี้  ก็จะสามารถที่จะดำเนินการ ได้รวดเร็ว สตช.จะได้รับอาคารไว้ใช้ราชการ ในระยะเวลาใกล้เคียงกันทุกจังหวัด  ในการประกวดราคาเพียงครั้งเดียว แล้วจะให้แต่ละภาคประกาศเชิญชวนผู้รับจ้างในพื้นที่ ให้เข้าร่วมประกวดราคา   

 

         ผมมองดูเหตุผลที่เขาเสนอมาชอบด้วยเหตุผลมีการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนมีการตั้งคณะกรรมการแล้วเสนอ ผบ.ตร. คือ พล.ต.อ.พัชรวาท เมื่อเขาเสนอมาให้ผมพิจารณาว่าพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือสมควรจะมีความเห็นประการใด ขอได้โปรดสั่งการผมก็ได้ลงนามให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2552 และนี่เป็นการลงนามครั้งแรกในเรื่องการจัดจ้างโครงการฯในสมัยที่ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็น ผบ.ตร.แต่หลังจากนั้นไม่นาน  พล.ต.อ.พัชรวาท ก็ต้องออกจากตำแหน่ง แล้วก็มี พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ มาทำหน้าที่เป็น รักษาการ ผบ.ตร.  

 

         พล.ต.อ.ปทีป ก็ได้ทำหนังสือลงวันที่ 18 พ.ย.2552 เสนอขออนุมัติหลักการ  ในการดำเนินการประกวดราคาจัดจ้างโครงการนี้ และโครงการที่พักอาศัยด้วย พล.ต.อ.ปทีป  ได้ให้เหตุผลในหนังสือฉบับนี้ ว่า การที่จะจัดจ้างโครงการนี้ต้องพิจารณาว่าโครงการนี้ครม.อนุมัติ ในลักษณะเป็นโครงการเดียวแล้วก็ต้องผูกพันงบประมาณแผ่นดิน 3 ปี ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องประกวดราคาจ้าง โดยทำสัญญาจ้างเพียงสัญญาเดียว  จึงจะถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุและได้แสดงเอกสารหลักฐานประกอบว่า การตั้งงบประมาณแต่ละปี แต่ละปี เป็นอย่างไร ปีแรกเอางบของสตช.เองปรับแผนเอามาใช้ก่อน 311 ล้าน ในปี 2552  ปี 2553  ผูกพันงบประมาณ 1,774 ล้าน  และผูกพันงบประมาณปี 2554 อีก 4,812  ล้าน 
             

         นายสุเทพกล่าวต่อว่า ผมได้พิจารณาในรายละเอียด  เขาก็ได้แสดงมาในหนังสือฉบับนี้ว่าเขาตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบข้อกฎหมายวิธีการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย รายงานมาเสร็จแล้วก็บอกให้เห็นว่าพระราชบัญญัติระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุก็ดี พระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐก็ดี มีรายละเอียดอย่างไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ สรุปว่าในหนังสือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฉบับนี้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เสนอให้ผมพิจารณาว่าโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในลักษณะเป็นโครงการเดียวเนี่ย ไม่สามารถที่จะเอาไปแตกเป็นโครงการย่อย ๆ  9  โครงการ ทำสัญญาจ้าง 9 สัญญาได้ เพราะจะขัดกับวิธีการงบประมาณซึ่งจะต้องผูกพันตั้ง 3 ปี

 

           ผมก็มานั่งพิจารณาตามข้อเสนอของเขาครับ แล้วผมก็เห็นว่าข้อเสนอที่ประกอบด้วยเหตุผลอย่างนี้ฟังได้ เพราะเราเคยเห็นกันครับถ้าสำนักงบประมาณได้บรรจุเอาไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในโครงการใด โครงการหนึ่งไม่มีการที่จะเอาโครงการเหล่านั้นมาแตกเป็นโครงการย่อย ๆ แล้วทำสัญญาว่าจ้างแยกเป็นสัญญา ๆ ไป หลายสัญญา ผมมานั่งคิดครับเหมือนกับว่าตั้งงบไว้จะสร้างอาคารหนึ่งหลังงบประมาณ 100 ล้านบาท ปีแรกใช้ 20 ล้าน ปีต่อไปปีละ 40 ล้าน 40 ล้าน อย่างนี้เราก็ไม่สามารถที่จะมาว่าจ้างแยกสัญญาเป็นงานฐานราก 1 สัญญา เป็นงานโครงสร้าง 1 สัญญา เป็นงานอาคารหลังคา 1 สัญญา หรือว่างานตกแต่งภายในอีก 1 สัญญา อย่างนี้ทำไม่ได้ไม่มีใครเค้าทำกันผมก็เห็นว่าข้อเสนอของเค้าเนี่ยชอบด้วยเหตุผล ผมก็ได้อนุมัติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
         

 

         นายสุเทพกล่าวต่อว่า  เมื่อสมัยที่ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เป็นผู้บัญชาการ หรือ รักษาการผู้บัญชาการ คือ เขาเสนอครับว่าขอยกเลิกวิธีการจัดจ้างที่ผมเคยอนุมัติไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 และขออนุมัติใช้วิธีการจัดจ้างโดยการประกวดราคาครั้งเดียวทำสัญญาเดียวตามเหตุผลที่ว่า ผมก็ได้ให้ความเห็นชอบไป อนุมัติไป ตามข้อ 3 คือข้อที่เขาเสนอมา เพราะฉะนั้นในการอนุมัติให้มีการใช้วิธีการจัดจ้าง โดยแยกสัญญาเป็น 9 สัญญา ตามข้อเสนอของผู้บัญชาการตำรวจคนแรก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ก็ดี หรือการอนุมัติให้ยกเลิกวิธีการเก่าแล้วมาใช้วิธีการใหม่ ตามข้อเสนอของ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ก็ดี

 

         ผมได้พิจารณาว่า นี่เป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงาน คือ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วเขาได้ตรวจสอบ เขาได้ตั้งคณะกรรมการ เขาได้ดูข้อกฎหมาย เขาได้ดูข้อระเบียบ ซึ่งแน่นอนครับ คนพวกนี้รู้ระเบียบ รู้กฎหมาย วิธีการจัดซื้อจัดจ้างดีกว่าผม เมื่อผมเห็นว่าเขามีเหตุผล ผมก็อนุมัติไปตามข้อเสนอของเขา อนุมัติไปครั้งที่ 1 เขาไปแล้ว รับไปแล้วทำไม่ได้ บอกว่าขัดกับวิธีการงบประมาณเสนอมาขอแก้ไขผมก็ไม่ได้ดื้อดึงดัน เมื่อเห็นว่าการที่ผมอนุมัติไปคราวแรก ไม่ได้ไปพิจารณาในประเด็นที่ว่าถ้าแตกสัญญาเป็น 9 สัญญา

 

         นั่นหมายความว่าต้องเอาโครงการเดียว แตกเป็นโครงการย่อย ๆ 9 โครงการ มันจะขัดกับวิธีการเบิกจ่ายงบประมาณที่เป็นวิธีการปฏิบัติ โดยปกติเหตุผลมีอย่างนี้ ผมก็ต้องอนุมัติให้เขายกเลิกวิธีการจัดจ้างแบบเดิม มาใช้วิธีการ จัดจ้างแบบใหม่ ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยครับ แล้วก็จะบอกว่า ผมตัดสินใจไปทั้ง 2 ครั้ง เพราะมีเจตนาพิเศษหวังจะช่วยผู้รับเหมาคนใดคนหนึ่ง รายใด รายหนึ่ง ให้ได้รับงานไป แล้วเป็นเหตุให้ก่อสร้างไม่สำเร็จอย่างนี้ผมคิดว่าเป็นการตั้งข้อหาที่มีอคติต่อผม เพราะในวันที่ผมอนุมัติให้ใช้วิธีการจัดจ้างตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอนั้น

 

         ผมไม่มีโอกาสที่จะทำนายได้ล่วงหน้าครับว่าผู้ประกอบการรายใด จะเป็นผู้ชนะการประกวดราคา ซึ่งเขาดำเนินการประกวดราคาหลังจากที่ผมอนุมัติถึง 7 เดือนครับ แล้วถ้าไปดูข้อเท็จจริงเมื่อผมอนุมัติวิธีการจัดจ้างไปแล้วการดำเนินการในการจัดจ้างเขาก็ทำตามระเบียบของสำนักนายกว่าด้วยการพัสดุ ว่าด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ครบถ้วนสมบูรณ์ มีการเขียน TOR มีการออกสเปค มีการประกาศเปิดรับผู้สนใจที่จะเข้าประกวดราคาอย่างกว้างขวาง แล้วก็มีผู้เข้าร่วมการประกวดราคา 5 ราย ดำเนินการประกวดราคาตามวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ อีออคชั่น

 

         เนี่ยครับ เมื่อเขาทำเสร็จ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ก็พ้นจากตำแหน่งไป มีผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติคนใหม่ ชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เขาก็ทำหนังสือถึงผม เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ว่าขอรับความเห็นชอบราคาและขออนุมัติจ้างก่อสร้างในหนังสือนี้เขาได้บรรยายชัดเจนครับว่า เขาไปดำเนินการประกวดราคามาโดยถูกต้องอย่างไร ผู้ยื่นซองเอกสารประกวดราคา มี 5 ราย คณะกรรมการตรวจสอบแล้วว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน

 

         แล้วการเสนอราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีออคชั่นเนี่ย ทำเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 เคาะราคาแข่งกัน 73 ครั้ง ผู้เสนอราคาต่ำสุด เสนอราคา 5848 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 540 ล้านบาท คณะกรรมการเห็นว่าสมควรที่จะรับราคานี้ และสมควรที่จะให้ผู้ประกอบการรายนี้เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างโดยเขาได้อ้างเอกสารสำนักงบประมาณ เขาได้อ้างหนังสือของกรมบัญชีกลาง แล้วเขาก็ได้อ้างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ที่แก้ไขเพิ่มเติมบอกว่าเป็นอำนาจที่ผมจะต้องให้ความเห็นชอบตามนี้ ผมก็ได้ให้ความเห็นชอบตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็นผู้เสนอ

 

         ผมให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2553 จากนั้นเขาก็ไปทำสัญญาก่อสร้างกันแล้วก็ปรากฎว่าก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ในสมัยรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการอนุมัติ ให้มีการขยายเวลาตามสัญญาออกไปอีก 3 ครั้ง และในที่สุดเขาก็บอกเลิกสัญญา ป.ป.ช. ก็เอาประเด็นนี้มากล่าวหาผมว่าที่เขาก่อสร้างไม่เสร็จเนี่ยเพราะผมไปเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างผมจึงเห็นว่าการกล่าวหาอย่างนี้เป็นการกล่าวหาที่มีอคติ ไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริง
         

          "ผมจะขออนุญาตกลับมาเรียนรายงานในรายละเอียดข้อเท็จจริงแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็นเพื่อชี้ให้เห็นว่า เขาได้ตั้งข้อหาผมโดยไม่เป็นธรรมอย่างไรบ้างในวันพรุ่งนี้ครับ ขอบพระคุณครับ"
 

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ