ข่าว

"กระบวนยุทธ์" ของชายชื่อ "ประยุทธ์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดแผน "ประยุทธ์" ทำอย่างไรให้ "เลือกตั้ง" ไม่เสียของ โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

 

               จากทหารก้าวมาสู่นายกรัฐมนตรี ชายชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทำทุกอย่าง วางแผนทุกทาง ถอดบทเรียนในอดีตเพื่อไม่ให้การรัฐประหาร “เสียของ” โดยเป้าหมายอยู่ที่การเมืองหลังการเลือกตั้งต้องเปลี่ยนไป กว่าสี่ปีเขาทำอะไรไปบ้าง และเพียงพอหรือยัง ?

 

               ตามการคาดการณ์การเลือกตั้ง “น่าจะ” เกิดขึ้นในปีหน้า แม้ทุกองคาพยพของรัฐบาลจะให้ความมั่นใจและพูดไปในเสียงเดียวกัน ไม่เว้นแม้แต่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่ให้คำมั่นสัญญาเช่นนั้น แต่เหตุใดบรรยากาศที่เกิดขึ้นจึงอยู่บนความไม่แน่ใจ

 

               เพราะเอาเข้าจริงแล้วถึงวันนี้ยังไม่มีใครเห็นว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ กระทั่งการปลดล็อกพรรคการเมืองให้ดำเนินกิจกรรมก็ยังทำไม่ได้ ขณะที่เวลาอื่นก็งวดเข้ามาทุกขณะ  ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง เมื่อประกาศใช้ก็จะมีเวลาอีกไม่เกิน 240 วัน หรือ 8 เดือน ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง

 

               และนั่นไม่หมายถึงการเลือกตั้งแต่ใน “พิธีกรรม” เท่านั้น หากต้องสร้างบรรยากาศแห่งการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมของประชาชน 

 

               แต่ในอีกทางเรายังเห็นความพยายามในการยื้อจากกลุ่มที่เป็นองคาพยพของ คสช. อย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่พยายามขอแก้ไขกฎหมายกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยกเลิกการเลือก “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ที่จะเป็นแขนขาของ กกต. ในการจัดการเลือกตั้ง ท่ามกลางข้อครหาว่าต้องการให้ตั้งคนที่ตัวเองไว้ใจ และแฝงมาด้วยปัญหาจนอาจทำให้การเลือกตั้งต้องขยับออกไป

 

               คำถามคือเกิดอะไรขึ้น  เพราะนับจากวันที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นำกำลังทหารออกมายึดอำนาจก็กินเวลา 4 ปีกว่าแล้ว ทำไมการเลือกตั้งถึงยังไม่เกิด และที่สำคัญ “พล.อ.ประยุทธ์” ทำไปหลายอย่างเพื่อไม่ให้การรัฐประหารครั้งนี้ “เสียของ” ตามที่เขาพูดตั้งแต่ตอนเข้าสู่อำนาจใหม่ๆ และแน่นอนว่าปลายทางอยู่ที่หลังการเลือกตั้ง “ขั้วอำนาจ” ต้องเปลี่ยนไป

 

               จากวันนั้นถึงวันนี้ ต้องบอกว่า “ประยุทธ์” ทำทุกอย่าง ทำทุกทาง เพื่อสร้างสังคมในแบบที่เขาและพรรคพวกต้องการให้เป็น และรองรับสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง

 

               นับจากวันแรกที่เข้าสู่อำนาจการปกครอง “พล.อ.ประยุทธ์” และ “ขุนทหาร” ใช้กำปั้นเหล็กเข้าจัดการกลุ่มมวลชนอย่างอยู่หมัด  และเป็นการใช้อำนาจที่เด็ดขาดต่างไปจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ที่ปล่อยให้มวลชนเคลื่อนไหวได้  และวันนี้เข้าสู่ปีที่ห้า เขาก็ยังไม่ปล่อยให้มวลชนขยับ  

 

               หากกลุ่มไหนล้ำหน้าหรือเคลื่อนไหว “ทหาร” ก็จะเข้าไปควบคุมและเรียกมาพูดคุยทันที  หัวคะแนนที่สวมบทแกนนำมวลชนถูกคุมเข้มเสียอยู่หมัดไม่สามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้  มิพักต้องพูดถึง “นักการเมิือง” ที่ถูกจับแช่แข็งใช้ทั้งกฎหมายปกติและกฎหมายพิเศษเข้ากดดัน 

 

               ซึ่งมาตรการดังกล่าวยังใช้ถึงวันนี้

 

               จากนั้น  “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ที่มีหัวหน้าคณะชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็เริ่มกระบวนการออกแบบโครงสร้างและรูปแบบการเมือง โดยร่างรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นพิมพ์เขียวของสังคมใหม่  การออกแบบกติกาครั้งนี้ถือว่าพวกเขารวบรวมบทเรียนการรัฐประหารปี 2549 และบทเรียนการก่อเกิดมวลชนจากนั้นอย่างแตกละเอียด ดังนั้นโครงสร้างใหม่ที่ถูกเขียนขึ้นจึงเป็นการวางรูปแบบเพื่อให้สภาพการเมืองไม่เป็นเหมือนเก่า โดยเปลี่ยนตั้งแต่ระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นฐานรากของการเมือง และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนรูปแบบการเมืองตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา

 

               คสช.ใช้เวลา 4 ปีกว่าในการแช่แข็งไม่ให้พรรคการเมืองได้ขยับเพื่อทำให้พรรคการเมืองอยู่ห่างออกไปจากฐานมวลชน แม้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองจะมีเป็นระยะๆ แต่ความสัมพันธ์เริ่มห่างเหินขึ้น 

 

               ส่วนกติกาก็ออกแบบให้พรรคการเมืองไม่มีความเข้มแข็ง  ผ่านการรีเซตสมาชิกพรรค ผ่านการทำให้การเลือกตั้งต้องยึดติดตัวบุคคลมากกว่าพรรคการเมือง โดยบังคับให้เลือกบัตรใบเดียวทั้งที่มี ส.ส. สองระบบ การทำให้เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้น การที่ให้นำคะแนนที่แม้จะสอบตกในแบบเขตมาทำให้มีความหมาย ในการกำหนดเพดาน ส.ส.ทั้งหมด การให้แต่ละเขตมีหมายเลขประจำตัวผู้สมัครต่างกัน

 

               และที่สุดจะทำให้พรรคที่ได้ที่นั่งในสภามีความกระจัดกระจาย ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งครองเสียงข้างมากในสภา พรรคเล็กพรรคกลางจะเสียงใหญ่ สามารถเรียกราคาต่อรองได้ และการตกลงหาผู้นำจะไม่ใช่เรื่องง่าย และที่สุดอาจต้องถึงมือ “นายกฯ คนกลาง”

 

               หากมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่พวกเขาก็จะอยู่ไม่ได้นานเพราะต้องเผชิญเกมการเมืองในสภา ไหนจะต้องผจญกับกติกาการควบคุมการใช้อำนาจที่ออกมาอย่างเข้มข้น รวมถึงถูกครอบด้วย “คณะกรรมการยุทธฺศาสตร์ชาติ” อีกทีหนึ่ง 

 

               การทำตามสัญญาที่ให้แก่ประชาชนยามหาเสียงจะเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองให้มากที่สุด ต้องยินยอมพรรคเล็กพรรคกลาง เพื่อให้เป็นฐานเสียงสนับสนุน สุดท้าย “นโยบาย” ก็จะกลายเป็นเพียง “ลมปาก” เหมือนที่เคยเป็นในอดีต  ชนิดที่เรียกว่าถึงไม่อยากก็ต้องเป็น 

 

               แม้จะหลากวิธีเป้าหมายทั้งหมดมีเพียงหนึ่งเดียวคือทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง  ความผูกพันและรับผิดชอบต่อประชาชนน้อยลง

 

               แต่ใช่ว่าระหว่างที่วางกติกานั้น “คสช.” จะหยุดนิ่งเสียเฉยๆ พวกเขาก็พยายามลบภาพให้ประชาชนลืมนักการเมืองแบบเดิมๆ โดยสรรค์สร้าง “ประชานิยม” ในรูปแบบ “รัฐราชการ” ผ่านโครงการที่เรียกว่า “พลังประชารัฐ” โดยยืมมันสมองของคนที่เคยร่วมทำโครงการประชานิยมจากพรรคการเมืองอย่าง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”

 

               รัฐบาลพยายามอัดฉีดงบประมาณในโครงการต่างๆ รวมถึงการสร้างคอนเนกชั่นที่ดีกับภาคเอกชนในระดับบน การเดินโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างอีอีซี ด้วยหวังจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ รวมถึงจีดีพี 

 

               รัฐบาลโดยการนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แทบจะถูกเรียกว่าเป็น “ซานตาคลอส” เพราะทุกครั้งที่ลงไปประชุม ครม.สัญจรตามภาคต่างๆ ก็แบกถุงโครงการ ถุงงบประมาณไปแจกจ่ายอย่างหนำใจ แถมนักการเมืองยังออกมาต้อนรับอย่างอบอุ่น 

 

               บรรยากาศระหว่างการลงพื้นที่ “ลุงตู่” ก็เลือกทิ้งมาดดุดันมาสวมบท “นักการเมือง” ลูกอ้อน ลูกล่อ ลูกชน เต็มเปี่ยมเรียกว่าเอาทุกท่า เน้นทุกทาง

 

               นอกจากเรื่องการกำหนดกติกา  การเสริมสร้างเศรษฐกิจ สร้างนโยบายใหม่ๆ สร้างความนิยมในพื้นที่แล้ว  พวกเขายังไม่ลืมการเอาชนะการเมือง ด้วยเกมแบบที่นักการเมืองเล่น 

 

               ขาหนึ่งพวกเขาสร้างพันธมิตรทางการเมืองจากพรรคเล็ก พรรคกลาง และพรรคเก่า โดยโดดเดี่ยวพรรคขั้วตรงข้ามอย่างเพื่อไทย

 

               ทางหนึ่งพวกเขาเลือกที่จะมีพรรคการเมืองใหม่เกิดมาเพื่อสนับสนุน “หัวหน้า คสช.” ก้าวเข้าสู่อำนาจต่อไปผ่านการกระบวนการเลือกตั้ง

 

               และอีกทางเขาเลือกที่จะใช้พรรคการเมืองใหม่อันมาจากนักการเมืองเดิม  และ “ดูด” นักการเมืองของขั้วตรงข้ามให้มาเป็นพวก โดยใช้หลากหลายวิธี ชักชวน เชิญชวน  ดึงมาทั้งแบบเต็มใจและไม่เต็มใจ

 

               ทำถึงขนาดนี้แล้ว ต้องบอกว่านาทีนี้พวกเขาน่าจะพร้อมมูล ตัวเลขโพลล์ที่องคาพยพต่างๆ ไปสำรวจก็นำลิ่ว แล้วเหตุใดจึงไม่มีใครสามารถจับอารมณ์ได้ว่าพวกเขากำลังอยากจะเลือกตั้ง 

 

               คำถามตัวใหญ่อยู่ที่ ทำขนาดนี้แล้วทำไมถึงยังเลือกตั้งไม่ได้ หรือเป็นเพราะที่ทำนั้นยังไม่ตอบโจทย์ หรือทำอย่างไรก็ไม่สามารถตอบโจทย์ได้

 

               เศรษฐกิจที่บอกว่าดีขึ้น จริงๆ แล้วประชาชนอาจไม่รู้สึกเช่นนั้น แม้จีดีพีจะสวยงามแต่คนไม่รู้สึกว่ามีเงินในกระเป๋า

 

               พรรคการเมืองที่ถูกแช่แข็งร่วมครึ่งทศวรรษ แต่เอาเข้าจริงประชาชนอาจยังไม่ลืมแม้จะมีนโยบายใหม่จาก “รัฐบาล” มาให้จำ ทำไมพวกเขาจำนวนหนึ่งยังยึดติดกับพรรคเดิมหรือเป็นเพราะสิ่งใหม่ที่กำลังทำยังไม่ตรงใจประชาชน

 

               การดูดนักการเมืองที่มีข่าวว่ากลุ่มนั้นกลุ่มนี้ย้ายมาน่าจะสร้างขวัญกำลังใจที่ดี แต่หรือเป็นเพราะคนที่มายังมิอาจรับประกันความสำเร็จ เพราะที่มายังไม่ใช่เกรดเอ

 

               แม้ “พล.อ.ประยุทธ์” จะพยายามทำทุกอย่าง เป็นทุกทางเพื่อสร้างสังคมแบบที่ต้องการ แต่ดูเหมือนว่ายังไม่เพียงพอ หรือที่เรายังไม่เห็นและไม่มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ นั่นเพราะพวกเขาต้องการใช้ระยะเวลาเป็นเครื่องบ่มเพาะให้สิ่งที่ทำออกดอกออกผลและสุกงอมมากกว่านี้

 

               แต่คำถามคือ “เมื่อไหร่” เท่านั้นเอง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ