ข่าว

"กรมส่งเสริมสหกรณ์"แจง"โฟล์คลิฟต์"ไทยนิยมยั่งยืนโปร่งใส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์"เร่งแจง"กฤษฏา"ยันจัดซื้อรถโฟล์คลิฟต์ ไทยนิยมยั่งยืน วงเงิน 34 ล้านบาท ไร้เงินทอน แต่ราคาสูงกว่ากันตามสเปกขึ้นกับการใช้งานของสหกรณ์

21 มิถุนายน  2561"อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เร่งแจง "กฤษฏา" ยันจัดซื้อรถโฟล์คลิฟต์ ไทยนิยม ยั่งยืน วงเงิน 34 ล้านบาท ไร้เงินทอน แต่ราคาสูงกว่ากันตามสเปกขึ้นกับการใช้งานของ 37 สหกรณ์"

 

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ชี้แจงต่อนายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรฯกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับราคาของรถยก (โฟล์คลิฟต์) ตามโครงการรวบรวมและแปรรูปยางพาราในโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ว่า ข้อสงสัยประเด็นที่ 1 ในขนาดเดียวกันแต่มีราคาต่างกันมาก ประเด็นที่ 2 ราคาขนาดเดียวกัน คนขายเจ้าเดียวกันและขายในจังหวัดเดียวกันราคายังไม่เหมือนกัน 

 

ประเด็นที่ 3 สงสัยว่าจะมีคนไปเดินเก็บเงินทอนจากสหกรณ์หรือไม่ ขอเรียนว่า ตามโครงการดังกล่าวนี้ กรมฯ ได้เสนอขอตั้งงบประมาณสำหรับอุดหนุนให้สหกรณ์จัดหารถโฟล์คลิฟต์ จำนวน 37 สหกรณ์ 41 คัน วงเงิน 34.63 ล้านบาท แยกเป็น 

1. ขนาด 2 ตัน  จำนวน 3 คัน ราคาตั้งแต่ 540,000 ถึง 576,000 บาท

2. ขนาด 2.5 ตัน  จำนวน 7  คัน ราคาตั้งแต่ 585,000 – 780,000 บาท 

3. ขนาด 3 ตัน   จำนวน 27 คัน ราคาตั้งแต่  891,000 – 900,000 บาท 

4. ขนาด 3.5 ตัน  จำนวน 4 คัน ราคาตั้งแต่ 1,080,000 - 1,350,000 บาท 

 

ซึ่งในขบวนการขอตั้งงบประมาณนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์จะให้สหกรณ์เสนอรายการและคุณลักษณะของรถโฟล์คลิฟต์ที่สหกรณ์มีความต้องการโดยให้สหกรณ์นำใบเสนอราคาจากผู้ประกอบการในท้องตลาดมาเสนอไม่น้อยกว่า 3 แห่ง สำหรับกรณีที่รถโฟล์คลิฟต์ขนาดเดียวกันแต่ราคาแตกต่างกัน เนื่องจากราคาจะขึ้นอยู่กับคุณลักษณะเฉพาะของรถโฟล์คลิฟต์ที่กำหนดในคำขอของสหกรณ์ เช่น ยี่ห้อ เครื่องยนต์ ความสามารถในการยกสูงที่แตกต่างกัน

 

ทำให้ในบางกรณีประเภทของเครื่องยนต์อย่างเดียวกัน แต่มีคุณลักษณะจำเพาะรถโฟล์คลิฟต์ที่แตกต่างกัน จึงทำให้ราคาแตกต่างกัน เช่น น้ำหนักที่ยกได้ 3 ตันเท่ากัน แต่ความสูงของเสาเมื่อไม่ยกสินค้าแตกต่างกัน และเมื่อยกสินค้า ความสูงที่ยกได้ก็แตกต่างกัน ซึ่งกรมฯ จะจัดสรรตามคำขอสหกรณ์ โดยอ้างอิงจากราคาที่เคยได้รับอนุมัติในปีก่อน ๆ เทียบเคียงกับราคาตลาด หากไม่สูงเกินไปกว่าราคาอ้างอิง กรมฯ จะจัดสรรให้ตามที่สหกรณ์ขอมา

 

ทั้งนี้เมื่อกรมส่งเสริมสหกรณ์นำใบเสนอราคามาพิจารณาแล้ว จะนำราคาที่ต่ำสุดจากใบเสนอราคามาขอตั้งงบประมาณ ซึ่งจะพิจารณาถึงการนำไปใช้ประโยชน์ให้เป็นไปตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละสหกรณ์เป็นหลัก เมื่อสหกรณ์ได้รับจัดสรรงบประมาณแล้วก็จะนำไปสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามขนาดและคุณลักษณะที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งจะดำเนินการตามระเบียบสหกรณ์ โดยเป็นระเบียบที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ยกร่างให้แก่สหกรณ์นำไปถือปฏิบัติ ระเบียบดังกล่าวนี้จะอ้างอิงจากระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ


สำหรับในประเด็นที่ 2 ข้อกล่าวอ้างว่า รถขนาดเดียวกัน คนขายเจ้าเดียวกันและขายในจังหวัดเดียวกัน ราคาแตกต่างกัน กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ตรวจสอบจากผลการจัดซื้อจัดจ้างของสหกรณ์ในทุกจังหวัดแล้ว ขอเรียนว่า ถ้าเป็นรถขนาดเดียวกัน คุณลักษณะการใช้งานเหมือนกันไม่พบว่ามีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น และจากผลการจัดซื้อจัดจ้างที่เกิดขึ้นจริง พบว่า มีผู้เสนอราคาต่ำกว่าราคาที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 28 คัน (จาก 41 คัน) เป็นเงิน 1.85 ล้านบาท


สำหรับในประเด็นที่ 3 ที่กังวลว่าจะมีคนเดินไปเก็บเงินทอนหรือไม่ ขอเรียนว่าในการดำเนินการดังกล่าว สหกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยอำนาจของคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ ส่วนราชการจะไม่เข้าไปแทรกแซงในทุกกระบวนการ แต่จะคอยตรวจสอบ กำกับ ติดตามให้สหกรณ์ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์ให้เกิดความโปร่งใส ขอยืนยันว่าไม่มีพฤติกรรมดังที่กล่าวอ้างนี้แน่นอน โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะได้จัดทำรายละเอียดชี้แจงต่อสาธารณะให้ทราบต่อไป 

 

สำหรับโครงการไทยนิยมยั่งยืน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนเพื่อเสริมศักยภาพการรวบรวมและแปรรูปผลผลิตการเกษตร วงเงิน 1,791.5341 ล้านบาท อุดหนุนสหกรณ์การเกษตร 307 สหกรณ์ในพื้นที่ 67 จังหวัด ประกอบด้วย  1.โครงการจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร หรือโครงการแก้มลิง วงเงิน 1,017 ล้านบาท ให้สหกรณ์ 146 แห่ง สร้างฉางโกดัง ลานตาก เพื่อเก็บชะลอผลผลิตข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 715,000 ตัน เกษตรกรได้รับประโยชน์ 250,000 ราย  มีรายได้เพิ่มขึ้นตันละ 200 – 500 บาท 2.โครงการรวบรวมและแปรรูปยางพารา วงเงิน 340.429 ล้านบาท ให้สหกรณ์ 62 แห่ง เก็บชะลอและแปรรูปผลผลิตยางพารา 150,000 ตัน เกษตรกรได้รับประโยชน์ 42,000 ราย มีรายได้เพิ่มขึ้น  รายละ 1,190  บาท                 

 

3.โครงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร วงเงิน  410.91  ล้านบาท ให้สหกรณ์ 99 แห่ง สร้างอุปกรณ์แปรรูปและตรวจสอบคุณภาพผลผลิต  เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ โรงสีข้าว ห้องเย็น เครื่องชั่ง เครื่องคัดเกรด อาคารแปรรูป ให้กับสินค้าเกษตร 9 ชนิด ได้แก่ ข้าว ผัก/ผลไม้ สมุนไพร  ปาล์มน้ำมัน กาแฟ โคนม ประมง ปศุสัตว์ และมันสำปะหลัง จำนวน  56,000 ตัน เกษตรกรได้รับประโยชน์ 300,000 ราย ช่วยเพิ่มปริมาณธุรกิจสหกรณ์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 3% และ4.โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร วงเงิน 22.2789 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรที่ดินไม่น้อยกว่า 10,320 ราย  


ขณะนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดสรรงบประมาณให้สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการแล้ว ซึ่งสหกรณ์ต้องสมทบเพิ่มเติมอีก ไม่น้อยกว่า 10 %  ของงบประมาณที่ได้รับ ขณะนี้สหกรณ์อยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เอง และได้บริษัทผู้รับจ้างแล้วจำนวน 278 แห่ง ยังอยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับจ้างอีก 36 แห่ง โดยจะเร่ง  ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน นี้

 

ซึ่งกรมฯได้กำชับให้ทุกจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่ลงไปติดตามดูขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างและการก่อสร้างอุปกรณ์การตลาดเป็นรายสหกรณ์ว่าถูกต้องตามแบบหรือไม่ และต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบรัดกุมและคำนึงถึงประโยชน์ความคุ้มค่าเป็นสำคัญ และสหกรณ์จะต้องยึดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่นายทะเบียนสหกรณ์แนะนำให้ถือใช้ โดยอ้างอิงจากระเบียบของทางราชการ และทุกขั้นตอนจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเข้าร่วมพิจารณา

 

เริ่มตั้งแต่การกำหนดราคากลาง สหกรณ์จะต้องจัดหาผู้มีความรู้เฉพาะด้านนั้นมาร่วมเป็นคณะกรรมการกำหนดราคา เช่น ช่างโยธา  ที่มีความรู้ด้านการก่อสร้าง หรือช่างเทคนิคที่มีความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่สหกรณ์จะจัดซื้อ  ส่วนการจัดซื้อครุภัณฑ์ทั่ว ๆ ไป  จะมีการรับซองประกวดราคา การพิจารณาผลการจัดซื้อจัดจ้าง และการตรวจรับพัสดุ จะมีภาคประชาชนเข้ามาร่วมในทุกขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งการพิจารณาคัดเลือกผู้เสนอราคา จะพิจารณาจากคุณลักษณะของอุปกรณ์เครื่องมือตามที่กำหนดในประกาศ  และเป็นการประกวดแข่งขันราคากันอย่างเปิดเผย 

 

แต่ละสหกรณ์ก็ต้องทำตามแบบที่เสนอขอมา ว่าสิ่งก่อสร้างแบบไหน ครุภัณฑ์แบบไหนที่จำเป็นต้องใช้ เช่น รถโฟล์คลิฟต์ รถตัก แม้ว่าจะสามารถยกของได้ในปริมาณ 2 ตันเท่ากัน แต่อาจจะราคาต่างกัน เนื่องจากคุณสมบัติและสมรรถนะในการใช้งานของรถไม่เท่ากัน เช่น สามารถยกได้สูงกว่าและยาวกว่า เครื่องยนต์มีความแรง 2,000 ซีซี หรือ 3,000 ซีซี สหกรณ์จะเป็นผู้กำหนดคุณลักษณะของเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งกรมฯได้กำหนดว่าจะต้องมีสมาชิกสหกรณ์เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยอย่างน้อย 1 คน เพื่อตรวจสอบทุกขั้นตอนให้เกิดความโปร่งใสและมั่นใจว่าสหกรณ์ดำเนินการอย่างเปิดเผย

 

ซึ่งผลการจัดซื้อจัดจ้างขณะนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและไม่พบว่ามีการกระทำผิดระเบียบ ซึ่งการแข่งขันราคา ส่วนใหญ่สหกรณ์จะจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือได้ในราคาที่ต่ำกว่างบประมาณที่ขอไป สามารถประหยัดงบประมาณลง 57.499 ล้านบาท ซึ่งแสดงว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเกิดการแข่งขันอย่างมีอิสระ ไม่ล๊อคสเปค ซึ่งกรมฯได้วางระบบการกำกับติดตามการดำเนินโครงการนี้ไว้อย่างเข้มข้นรัดกุม เพื่อป้องกันปัญหา  เรื่องทุจริต และหากตรวจพบในภายหลังว่าสหกรณ์ใดมีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดทันที

 

อย่างไรก็ตาม กรมฯได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจและติดตามนโยบายไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งมีรองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นประธานในการติดตามความก้าวหน้าอย่างใกล้ชิด มีคณะทำงานกำกับติดตามงานในระดับจังหวัดที่มีผู้ตรวจราชการกรมฯ ทำหน้าที่เป็นประธานคณะทำงานในเขตจังหวัดที่รับผิดชอบ และมีคณะทำงานประกอบด้วยสหกรณ์จังหวัด ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาธุรกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหารจัดการ และตัวแทนภาคประชาชนในจังหวัดนั้นเข้าร่วมอย่างน้อย 2-3 คน  เพื่อติดตามและกำกับให้การดำเนินโครงการเป็นไปด้วยความโปร่งใส ภายใต้  “ความถูกต้อง  เป็นธรรม ได้ประโยชน์” ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างอุปกรณ์การตลาดและเครื่องมือแปรรูปผลผลิตการเกษตร  กำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2561  เพื่อรองรับฤดูกาลผลิตทันในต้นปี 2562 เป็นต้นไป

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ