ข่าว

 "ปึ้ง" ลุ้น!!  "คุก-รอด ?" คดีออกพาสปอร์ต"ทักษิณ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลฎีกานักการเมืองนัดอ่านคำพิพากษาวันนี้ คดี "สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล " อดีต รมว.ต่างประเทศ ออกพาสปอร์ตให้" ทักษิณ" ...ลุ้น "คุก-รอด ?" โดย เกศินี แตงเขียว

        วันนี้ (19 มิ.ย.) จะชี้ชะตา“นายสุรพงษ์ หรือปึ้ง โตวิจักษณ์ชัยกุล” อดีตรมว.ต่างประเทศ วัย 65 ปี เมื่อครั้งเคยดำรงตำแหน่งยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”  กับ ข้อกล่าวหาในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือโดยทุจริตก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

        ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องเมื่อปี2560 จากกรณีที่ป.ป.ช. มีมติต้นเดือนก.พ.60ชี้มูลความผิดทางอาญา“นายสุรพงษ์”อดีตรัฐมนตรีบัวแก้วออกหนังสือเดินทาง(พาสปอร์ต)ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯที่ถูกออกหมายจับคดีอาญาหลายคดีซึ่งขัดต่อระเบียบข้อบังคับกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548

 

         โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ เวลา 09.30 น. หลังไต่สวนพยานโจทก์และจำเลยเสร็จภายในช่วง 1 ปี

          ซึ่งคดีนี้ ได้กล่าวหา “สุรพงษ์ ” ว่า เมื่อวันที่25– 26 ต.ค.54 จำเลยที่ถูกฟ้องได้ปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯลงนามในท้ายหนังสืออธิบดีกรมการกงสุล พิจารณาการออกพาสปอร์ตในส่วนของประชาชนทั่วไปของนายทักษิณ หลังจากที่รัฐมนตรีก่อนหน้าได้พิจารณาเพิกถอนพาสปอร์ตไป ซึ่งการกระทำนั้นทำให้มีการออกพาสปอร์ตให้กับนายทักษิณ ส่งผลให้กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับความเสียหายอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา157 ประมวลกฎหมายอาญาและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยนายสุรพงษ์ ปฏฺิเสธ ขอต่อสู้คดี 

           แล้วผลสรุปข้อกล่าวหา จะผิด-ไม่ผิด อย่างไร..?

           โดยผลที่จะออกมา มีได้ 2 แนวทาง คือ 1.หากพยานหลักฐานที่อัยการโจทก์ นำมาไต่สวนมาซึ่งมาจากสำนวนของ ป.ป.ช. ฟังได้ชัดเจนว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ มีข้อกำหนดให้ปฏิบัติในสิ่งใด หรือห้ามปฏิบัติในสิ่งใดแล้ว ผู้มีอำนาจและหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นฝ่าฝืนข้อกำหนดในกฎหมาย หรือฟังได้ว่าไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่จะปฏิบัติหน้าที่ การกระทำนั้นย่อมเป็นความผิด

            แต่ที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ในองค์ประกอบความผิดของคดีอาญา คือ “เจตนา” ซึ่งต้องชัดด้วยว่าจำเลยนั้นมีเจตนาพิเศษ กระทำเพื่อสิ่งใด ใครได้ประโยชน์ – เสียประโยชน์ ลำพังพฤติการณ์ที่ฟังว่าเป็นความผิดแล้ว แต่หากขาดเจตนาที่เป็นเรื่องสำคัญในคดีอาญา สุดท้ายอาจฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบเท่านั้น         

     

         ส่วนบทลงโทษความผิดที่มีครบทั้งพฤติการณ์และเจตนานั้น จะต้องกำหนดโทษเท่าใด เป็นเรื่องความร้ายแรงของผลที่เกิดจากการกระทำนั้น ซึ่งอาจมีทั้ง 1.การจำคุกจริง หรือ 2.รอการลงโทษ (โทษจำคุกให้รอลงอาญา) โดยอัตราโทษตาม ม.157 คือจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         ตัวอย่างเหมือนคดีที่ “นายสุรพงษ์ หรือหมอเลี๊ยบ สืบวงศ์ลี” อดีต รมว.คลัง ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่ถูกป.ป.ช. ยื่นฟ้องตาม ม.157 กรณีนำรายชื่อบุคคลที่เตรียมไว้ให้เสนอมาพิจารณาเป็นกรรมการคัดเลือกการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายชุดต่างๆ ของ ธปท. ที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือConflict of interest ซึ่งฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย   ในการกำหนดคุณลักษณะของการคัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งครั้งนั้น (ปี 2559) ศาลพิพากษาว่า นายสุรพงษ์ มีความผิดตาม ม.157ให้จำคุก1ปี และปรับ20,000บาท แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วพบว่าหลังจากที่จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก กรรมการ (บอร์ด) ธปท. กระทั่งมีการคัดเลือกบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท.แล้วแต่ต่อมามีการยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ และบอร์ด ธปท.ที่ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าว จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับการลงโทษมาก่อนจึงให้รอการลงโทษมีกำหนด1ปี

         2.แต่หากพยานหลักฐานโจทก์นั้น ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายฟังไม่ได้ว่า  นายสุรพงษ์ กระทำการเกินกว่าอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด หรือการกระทำนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา และไม่มีเจตนาพิเศษเพื่อใคร ก็อาจไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ซึ่งจะนำมาสู่การพิพากษายกฟ้องได้ 

          มีตัวอย่างจากคดีเขาพระวิหาร ที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง“นายนพดล ปัทมะ” อดีต รมว.ต่างประเทศสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชและที่ปรึกษากฎหมายของนายทักษิณ เป็นจำเลยข้อกล่าวหาตาม ม.157จากกรณีที่ นายนพดล ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่18มิ.ย.51สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทยนั้น องค์คณะฯ มีมติเสียงข้างมาก6ต่อ3ว่า การกระทำของนายนพดล ที่ลงนามแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชานั้น เป็นไปด้วยความระมัดระวังที่กระทรวงการต่างประเทศให้กรมแผนที่ทหาร ตรวจสอบพื้นที่ที่กัมพูชา ใช้เป็นแผนผังประกอบการยื่นคำขอขึ้นมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโกแล้ว ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการรุกล้ำพื้นที่อาณาเขตประเทศไทย และจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติตามแนวทางการแก้ปัญหาข้อพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชาที่จะไม่ให้กระทบอาณาเขตไทยแล้ว 

             อีกทั้งเมื่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาในคดีที่มีผู้ฟ้องเกี่ยวกับการสนับสนุนขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่ศาลปกครอง ห้าม รมว.ต่างประเทศ นำแถลงการณ์ร่วมไปใช้ดำเนินการใดๆ แล้วนายนพดล จำเลย ก็ได้มีคำสั่งให้หยุดการดำเนินการดังกล่าวไว้ทันที และเสนอขอให้เลื่อนการประชุมขึ้นทะเบียนมรดกโลกออกไปก่อน

              อีกทั้ง ป.ป.ช.โจทก์ ไม่มีพยานหลักฐานที่จะทำให้เห็นได้ว่า การกระทำของนายนพดล จำเลย ขณะเป็น รมว.ต่างประเทศนั้น ร่วมกับนายทักษิณ ที่จะได้รับประโยชน์แลกเปลี่ยนการขุดเจาะน้ำมัน ในพื้นที่พิพาทตามที่โจทก์อ้างด้วย  ขณะที่ร่างแถลงการณ์นั้นกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ของกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่า ไม่ใช่สนธิสัญญา จึงไม่ได้เสนอผ่านสภา แต่ก่อนจะมีการลงนาม จำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการเสนอที่ประชุม สมช.และครม.แล้ว พยานหลักฐานของ ป.ป.ช.โจทก์ จึงยังฟังไม่ได้ว่า นายนพดล ปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157องค์คณะฯ จึงมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง

            แต่ส่วนของผลการกระทำที่เกิดขึ้นในคดีอาญา ต่อการออกพาสปอร์ตของนายทักษิณ จะถูก-ผิดอย่างไร ก็ต้องรอการวินิจฉัยสุดท้ายขององค์คณะทั้ง 9 คนในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งนายสุรพงษ์ ซึ่งได้ประกันตัวไปชั้นพิจารณาวงเงิน 3 ล้านบาท ก็ต้องเดินทางมาลุ้นฟังผลตัดสินด้วยตนเอง

            กระนั้น แม้สุดท้ายผลคำพิพากษาจะออกมาแล้ว ทั้งโจทก์ – จำเลย ก็ยังใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คดี ได้ตามรัฐธรรมนูญฯใหม่ ปี 2560 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ได้อีก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ