ข่าว

เพื่อไทยระส่ำหนัก-"สุริยะ-สมศักดิ์"เดินสายดูด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เพื่อไทย"ระส่ำหลังพลังประชารัฐส่ง"สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สมศักดิ์ เทพสุทิน"ดูดอดีต ส.ส.อีสาน ด้านแกนนำผวาเหลือไม่ถึงครึ่ง "วิษณุ"เผยทูลเกล้า2กฎหมายลูกแล้ว

     กำลังระส่ำระสายอย่างหนักสำหรับพรรคเพื่อไทย หลังจากมีกระแสข่าวสะพัดว่าอดีตส.ส.เกรดเอในพรรคหลายคนเตรียมเปิดหมวกลาไปซบพรรคพลังประชารัฐ เพราะทนกระแสดูดไม่ไหว ซึ่งดูเหมือนข่าวดังกล่าวจะเป็นความจริง ทำให้แกนนำภายในพรรคต้องเร่งหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน

เพื่อไทยระส่ำพ่ายกระแสดูด

    เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่โดนพลังดูดค่อนข้างจะแน่นอนคือ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข อดีต ส.ส.เลย และนายวันชัย บุษบา อดีต ส.ส.เลย โดยมีรายงานว่า การเดินสายดูดอดีต ส.ส.ดังกล่าวเกิดจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มวังน้ำยม ซึ่งทั้งคู่ได้ลงพื้นที่พร้อมกับทหารจำนวนหนึ่งเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา

     นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เป้าหมายต่อไปของนายสุริยะและนายสมศักดิ์คือที่ จ.หนองบัวลำภู โดยทั้งคู่จะเดินทางไปบ้านนายวิชัย สามิตร ก่อนจะไปขึ้นเครื่องกลับที่ จ.อุดรธานี อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงว่า ขณะนี้พื้นที่ภาคอีสานโดนพลังดูดอย่างหนัก จึงไม่แน่ใจว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะเหลือถึงครึ่งหรือไม่ เพราะจากการรายงานพบว่า อดีต ส.ส.เพื่อไทยย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐกันมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยต้องเร่งประชุมเพื่อหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน

เพื่อไทยระส่ำหนัก-"สุริยะ-สมศักดิ์"เดินสายดูด

ปรีชายันเข้า“พลังประชารัฐ”แล้ว

     ด้านนายปรีชา กล่าวภายหลังต้อนรับนายสุริยะ และนายสมศักดิ์ ที่ภูเรือคีรีรีสอร์ท ต.หนองบัว อ.ภูเรือ จ.เลย ว่า การเดินทางมาของนายสุริยะ และนายสมศักดิ์ในครั้งนี้เพื่อจะมาเชิญอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.เลย เข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งขณะนี้ได้ตอบรับเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐพร้อมกับนางเปล่งมณี และนายวันชัยเรียบร้อยแล้ว

อุบลฯ มีสิทธิโดนดูดเหตุแบ่งขั้ว

    รายงานข่าวกล่าวถึงกระแสข่าวการดูดอดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย จ.อุบลราชธานี ว่ามีโอกาสเป็นไปได้ เพราะแม้อดีต ส.ส.ดังกล่าวจะมาจากพรรคเดียวกันแต่เป็นคนละกลุ่ม โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าอดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย อุบลราชธานี แบ่งเป็น 2 ขั้ว ขั้วแรกมี นายเกรียง กัลป์ตินันท์ อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นหัวหน้ากลุ่ม มีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์, นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ, นายสมคิด เชื้อคง, นายปัญญา จินตะเวช, นายพิสิษฐ์ สันตพันธุ์ ส่วนอีกขั้วเป็นของนายสุพล ฟองงาม และนายสุทธิชัย จรูญเนตร ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยวางตัวผู้สมัคร ส.ส.อุบลราชธานี โดยมีนายเกรียงเป็นผู้คัดเลือกผู้สมัคร อาจไม่มีรายชื่อนายสุทธิชัย นายสุพล หรือนายณรงค์ศักดิ์ โกศัลวัฒน์ เป็นผู้สมัคร ซึ่งหากเป็นไปตามคาดหมาย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็มีแนวโน้มสูงที่จะต้องย้ายพรรค ถึงแม้ปัจจุบันยังคงเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอยู่ก็ตาม

‘ชัยเกษม’ไม่หวั่นกระแสดูด

    ขณะที่นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสดูด ส.ส.เกรดเอ และส.ส.ตัวหลักๆ ของพรรคว่า ยังไม่ได้คุยเรื่องนี้กับทางพรรคเลย ซึ่งไม่รู้ว่าทางพรรคเขาคุยกันว่าอย่างไรด้วย แต่เท่าที่ทราบมาคือมีข้อเสนอทั้งให้เงินเดือน และให้คำมั่นสัญญาในเรื่องต่างๆ แต่ยังไม่เชื่อว่าสมาชิกพรรคจะไปมาก และถึง ส.ส.เหล่านั้นไปก็ไม่เชื่อว่าพรรคจะลำบาก เพราะพรรคอยู่ได้ด้วยความเป็นพรรค ไม่ได้อยู่ได้เพียงเพราะส.ส.อย่างเดียว

     “เรามีอุดมการณ์ของเรา และวันนี้เชื่อว่าประชาชนเขาก็ดูที่อุดมการณ์ว่าใครมีอุดมการณ์อย่างไรมากกว่า ช่วงหลังได้พูดคุยกับคนอีสานจำนวนมากทำให้ไม่รู้สึกว่ากลัว หรือกังวลเลย เพราะประชาชนบอกใครจะไปก็ไปเลยแต่จะไม่เลือก” นายชัยเกษม กล่าว

เพื่อไทยระส่ำหนัก-"สุริยะ-สมศักดิ์"เดินสายดูด

สะพัด‘หญิงหน่อย’ขู่ทิ้งพรรค

     นอกจากจะต้องผจญกับกระแสดูด ขณะเดียวกันมีรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่ากำลังประสบปัญหาในการหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพราะยังหาผู้ที่มีความเหมาะสมไม่ได้ โดยเฉพาะคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ถือเป็นตัวเต็งที่จะมานั่งคุมหัวเรือใหญ่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ภรรยานายทักษิณ ชินวัตร จึงทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่า แกนนำพรรคจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยที่คุณหญิงสุดารัตน์จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งกระแสแตกแยกดังกล่าวทำให้มีข่าวว่า คุณหญิงสุดารัตน์อาจลาออกไปตั้งพรรคใหม่ แต่แกนนำพรรคเชื่อว่า คุณหญิงสุดารัตน์ต้องการอยู่ในพรรคเพื่อไทยต่อไปมากกว่า

‘อนุดิษฐ์’โต้ข่าว‘หญิงหน่อย'ทิ้งพรรค

    ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าว กระแสข่าวที่ว่าคุณหญิงสุดารัตน์จะทิ้งพรรคไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน และยิ่งปล่อยข่าวว่าจะทิ้งพรรคหากไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคยิ่งไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด เพราะคุณหญิงได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่เคยมีความประสงค์จะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค และในปัจจุบันพรรคก็มี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ของพรรคทำหน้าที่หัวหน้าพรรคได้อย่างเหมาะสมอยู่แล้ว ส่วนตัวของคุณหญิงไม่เคยเรียกร้องหรือมีความต้องการตำแหน่งใดๆ ในพรรค หากสามารถทำงานหรือให้คำปรึกษากับพรรคในเรื่องใดๆ ได้ ท่านก็พร้อมที่จะสนับสนุนโดยปราศจากเงื่อนไขอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ก็รอให้ผู้มีอำนาจปลดล็อกทางการเมืองเสียก่อนเพื่อท่านจะได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการต่อไป

    “ผมไม่แน่ใจว่าผู้ปล่อยข่าวดังกล่าวออกมามีเจตนาอะไร เพราะขณะนี้พรรคเพื่อไทยก็ยังทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้ ประชุมพรรคไม่ได้ สมัครสมาชิกพรรคไม่ได้ แต่ก็ปล่อยข่าวออกมาให้ดูเหมือนว่าในพรรคมีความแตกแยกกันและมีความพยายามในการแย่งชิงการนำกัน ซึ่งทั้งหมดไม่เป็นความจริง แกนนำของพรรคจากทุกภาคและผู้บริหารทุกคนยังคงสมัครสมานสามัคคีและยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคร่วมกัน และพร้อมที่จะเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้แก่ประเทศชาติได้ทันทีเมื่อ คสช.ปลดล็อกและคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชน” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว

 

‘ประยุทธ์’ รับพลังดูดลามหลายจว.

    ขณะที่ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีต ส.ส.มหาสารคาม และแกนนำ ส.ส.ภาคอีสาน พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ยอมรับว่าขณะนี้มีการดูดอดีต ส.ส.ภาคอีสานของพรรคเพื่อให้ไปร่วมงานด้วยจริงตามที่มีข่าว จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมีเพียง 5% แต่เมื่อมีปัจจัยอื่น ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เข้ามา ก็เกิดความวุ่นวายขึ้นมาในหลายพื้นที่ นอกจาก จ.อุบลราชธานี ยังมีจังหวัดอื่นๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้แต่ละจังหวัดก็พยายามพูดคุยกันในพรรคเพื่อแก้ปัญหา ขณะเดียวกันเชื่อว่าพรรคคงไม่มีปัญหาการสรรหาบุคคลเพื่อส่งลงสมัครแทนคนที่ไปอยู่กับพรรคอื่น แต่ก็ต้องยอมรับว่าเมื่ออดีต ส.ส.ไม่อยู่กับพรรค ย่อมมีผลกระทบเพราะได้นำชื่อและคะแนนเสียงติดออกไปจากพรรคด้วย แต่ท้ายสุดแล้วไม่ว่าใครจะไปอยู่ที่ไหนกับใคร เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งประชาชนจะตีแผ่ให้เห็นว่าจะเข้าข้างพรรคเพื่อไทย หรือจะเลือกอดีต ส.ส.ที่ออกจากพรรค

     “สาเหตุหลักที่อดีต ส.ส.ไปอยู่กับพรรคอื่นที่มาทาบทาม เช่น พรรคพลังประชารัฐ มีทั้งจ่ายเงินให้มาก 10-15 เท่า และถูกกดดันหลายอย่าง โดยนำเรื่องคดีความมาบีบ รวมถึงการันตีว่าหากย้ายไปอยู่กับพรรคที่มาทาบทามจะทำอะไรก็ไม่ผิด ที่หนักกว่านั้นคือ ไม่รับรองความปลอดภัยหากยังอยู่กับพรรคเพื่อไทย ทำให้สถานการณ์ของพรรคในตอนนี้เริ่มมีเสียงแตกอยู่บ้าง โดยคนที่มาทาบทามมีจากหลายสายทั้งสายบ้านริมน้ำ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สายตรงทหารฯลฯ” นายประยุทธ์กล่าว

"ไพจิต” ยันไม่ย้ายไปไหน

    ด้านนายไพจิต ศรีวรขาน อดีต ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่อดีต ส.ส.มีความเห็นแตกต่างว่าจะอยู่กับพรรคหรือย้ายไปพรรคอื่น มีปัจจัยจากการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ที่อดีต ส.ส.ในจังหวัดใหญ่ เช่น อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา ได้รับผลกระทบ จึงต้องคิดหนักขึ้น ส่วนประเด็นเรื่องหัวหน้าพรรคนั้นไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ สำหรับตนยืนยันที่จะอยู่กับพรรคเพื่อไทยแน่นอน

เพื่อไทยระส่ำหนัก-"สุริยะ-สมศักดิ์"เดินสายดูด

วิษณุปัด“พลังประชารัฐ”เดินสายดูด

    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา เดินสายดูดนักการเมืองเตรียมเข้าพรรคพลังประชารัฐ ว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากรัฐมนตรีในรัฐบาลจะเป็นสมาชิกพรรค หรือผู้บริหารพรรคการเมือง ก็ไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาลแต่อย่างใด

ทูลเกล้าฯกฎหมาย‘ส.ส.- ส.ว’แล้ว

    นายวิษณุ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้นำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา

เผยประกาศใช้เลือกตั้งได้ใน 45 วัน

     นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เห็นว่ากฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นจะประกาศใช้ได้ในเดือนธันวาคม ถึงจะสามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ในเดือนพฤษภาคม 2562 และจะทำให้การเลือกตั้งระดับชาติต้องเลื่อนออกไปด้วยว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะทั้งหมดนั้นเป็นการคาดการณ์ของ กกต. ทั้งนี้ กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมีทั้งหมด 6 ฉบับ ได้ส่งไปให้กกต.รับฟังความคิดเห็นแล้ว 1 ฉบับ เหลืออีก 5 ฉบับ อยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเดิมทีกกต.ระบุว่า การจะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ขอให้ทอดระยะเวลาห่างจากการเลือกตั้งระดับชาติประมาณ 3 เดือน แต่จะจัดการเลือกตั้งประเภทใดก่อนหรือหลังก็ได้ เพื่อป้องกันความสับสนวุ่นวาย แต่ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะจัดการเลือกตั้งระดับชาติก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่

     เมื่อถามว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะสามารถจัดได้เร็วกว่าเดือนพฤษภาคม 2562 หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นได้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตอนไหน และสนช.ใช้เวลาพิจารณานานเท่าไหร่ รวมถึงขั้นตอนการทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งเมื่อกฎหมายประกาศใช้ก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายใน 45-60 วัน

เพื่อไทยระส่ำหนัก-"สุริยะ-สมศักดิ์"เดินสายดูด

นิรโทษเป็นเรื่องรัฐบาลเลือกตั้ง

    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ แกนนำก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.)เสนอให้นิรโทษกรรม เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งว่า ถ้าจะทำก็ทำ แต่ควรเป็นเรื่องของรัฐบาลเลือกตั้ง ส่วนจุดประสงค์เขาเป็นอย่างไรไม่ทราบ ต้องไปถามนายเอนก และก็ไม่ได้อยู่พรรคนี้ เมื่อถามว่า การที่บอกว่าเรื่องนี้ควรเกิดจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หมายความว่าเกิดขึ้นได้ และน่าจะนำไปสู่หนทางปรองดองและยุติความขัดแย้งได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ตอบว่า “ไม่รู้ คิดของคุณเอง คิดแบบนั้นใช่ไหม” ส่วนนายเอนกเสนอแบบนี้น่าจะเป็นสัญญาณบวกสำหรับประเทศไทยหรือไม่นั้นไม่รู้ แล้วแต่คนมอง

ส่วนที่นายเอนกบอกว่ารัฐบาลที่จะเกิดขึ้นวันข้างหน้าน่าจะเป็นรัฐบาลแห่งชาติ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องไปดูก่อนว่าจะทำได้อย่างไร ต้องให้ทุกพรรคการเมืองร่วมมือกัน ส่วนที่ถามว่าตอนนี้ถึงเวลาที่ทุกพรรคควรจับมือกันเพื่อให้เกิดการปรองดองหรือยังนั้น ตอนนี้ก็ปรองดองแล้ว เดี๋ยวก็ปรองดอง ตอนนี้ก็ไม่เห็นมีอะไร มีคนคิดแตกแยกไม่กี่คน

อุบวันคุยพรรคการเมือง

    เมื่อถามว่า การเชิญพรรคการเมืองพูดคุยเรื่องการเลือกตั้งปลายเดือนมิถุนายนนี้ได้สถานที่หรือยัง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่บอกว่าเป็นเมื่อใด สถานที่ไหน เอาเป็นว่าที่บอกว่าเป็นปลายเดือนมิถุนายนก็คือปลายเดือนมิถุนายน เอาอะไรอีก

ท้าฉีกรัฐธรรมนูญได้ฉีกไป

    พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงกรณีมีการออกมาต่อต้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และระบุควรเป็นรัฐบาลใหม่ที่เป็นฝ่ายร่างยุทธศาสตร์ชาติว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมียุทธศาสตร์ รัฐบาลมาเริ่มต้นให้ ถ้าสมมุติเรื่องไหนทำไม่ได้ รัฐบาลใหม่ก็ไปแก้ ซึ่ง 5 ปีก็แก้ได้

    เมื่อถามว่า มีการขู่จะฉีกยุทธศาสตร์ชาติและรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ฉีกได้ก็ฉีกไป” ส่วนที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าคนที่จะใช้ยุทธศาสตร์ชาติคือคนอายุ 20-40 ปี แต่กลับให้คนมีอายุมาร่างนั้น คนมีอายุก็คิดเหมือนคนอายุ 20 ปีเหมือนกัน ทำไมต้องมาว่าคนอายุ 60 ปีจะต้องคิดแบบคนอายุ 60 ปี เขาคิดแล้วว่าเหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ใครจะไปคิดถอยหลัง

เพื่อไทยระส่ำหนัก-"สุริยะ-สมศักดิ์"เดินสายดูด

ค้าน ม.44 เลิกไพรมารีโหวต

    วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่มีการขอให้ใช้มาตรา 44 ยกเลิกการทำไพรมารีว่า ไม่นิยมเรื่องมาตรา 44 และไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องแก้ด้วยหัวหน้าคำสั่ง คสช. ฉะนั้น เรื่องปลดล็อกก็ใช้ได้ เนื่องจากใช้มาตรา 44 สร้างไว้ แต่หากมาตรา 44 ไปใช้กับกฎหมายจะมีปัญหา เพราะกฎหมายอยู่ในขั้นตอนการทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นห้วงเวลาของการใช้พระราชอำนาจ ยังไม่มีใครบอกได้ว่ากฎหมายจะตราออกมาอย่างนี้ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจอาจจะยับยั้ง หรือเห็นชอบก็ตาม

     “เมื่อยังไม่เป็นกฎหมาย แล้วจะใช้มาตรา 44 ถ้ากฎหมายออกมา กลายเป็นว่ากฎหมายออกมาทีหลังมาตรา 44 ก็ต้องแก้คำสั่งอีก นี่คือความสับสนที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นในมุมของผมที่จะไปแตะต้องเรื่องกฎหมายในขณะนี้ทำได้ยาก ถ้าจะทำได้คือเรื่องปฏิบัติ เช่นตอนนี้ทำอย่างไรให้พรรคหาสมาชิกได้ ทำกิจกรรมได้ เพื่อให้ระบบของพรรคมีความพร้อมมากที่สุด หรือปลดล็อกเพื่อให้ กกต.ทำงานได้ ทั้งนี้ ขอย้ำอีกครั้งว่าถ้าให้เดินหน้าทำไพรมารี เราทำเต็มที่” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

เหน็บไม่แปลก“เอนก”นิรโทษกรรม

    ส่วนที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ แกนนำก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ระบุว่า ไม่ขัดแย้งที่จะร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย และจะทำกฎหมายนิรโทษกรรม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กลุ่มคนที่ไปทำพรรคนี้ส่วนใหญ่บอกว่าผลักดันการปฏิรูป และสู้กับระบอบทักษิณ แต่นายเอนกพูดเสมอว่าจะทำพรรคแบบลืมอดีต แต่ตอนนี้ท่าทีของนายเอนกบอกว่าพร้อมจะจับมือกับทุกพรรค พร้อมลืมอดีต และพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะว่าในการทำงานของนายเอนกที่ผ่านมาหลายสถานะ ก็ได้เสนอความคิดทำนองนี้

     “อยู่ที่สมาชิกพรรคเองว่าเห็นด้วยหรือไม่ และการที่จะทำเรื่องนิรโทษกรรมหรือปรองดอง มันสลายขั้วหรือกลุ่มการเมืองจริงหรือไม่ ผมสนับสนุนให้นิรโทษกรรมคดีของประชาชนเล็กน้อย แต่ในเรื่องของบางคดีถ้าเรานิรโทษกรรมเหมือนกับเรากำลังส่งสัญญาณให้ใช้ความรุนแรง ในที่สุดก็ไม่มีความผิด หรือคดีทุจริต ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเมืองแต่เป็นการปล้นทรัพยากรของแผ่นดิน เพียงเพราะเขามีอำนาจ อันนี้อันตรายมาก” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เพื่อไทยระส่ำหนัก-"สุริยะ-สมศักดิ์"เดินสายดูด

ยุทธศาสตร์ชาติไม่ชัดเจน

     นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงร่างยุทธศาสตร์ชาติว่า ไม่แน่ใจว่าคนที่บอกจะฉีกยุทธศาสตร์ อ่านและชี้ให้เห็นได้หรือไม่ว่า มีอะไรบางที่จำเป็นถึงขั้นตอนฉีก ถ้าเอา 6 ข้อที่เป็นยุทธศาสตร์ ไม่แน่ใจว่ามีตรงไหนที่เป็นปัญหา ส่วนเนื้อหาก็เป็นเรื่องแปลก ดูแล้วเขียนออกมาก็ไม่ค่อยเป็นยุทธศาสตร์ เพราะการเป็นยุทธศาสตร์ต้องมาจัดลำดับความสำคัญว่าต่อไปนี้ทิศทางจะเดินต้องไปอย่างนี้ ทรัพยากรที่ใช้ต้องไปอย่างนี้ และยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่เขียนมาเหมือนนั่งไล่เรียงสิ่งที่อยากให้เกิด สิ่งที่อยากจะได้ และ 6 ข้อที่ว่าใครไม่อยากได้บ้าง แต่ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร และมีการบังคับกันจริงจังแค่ไหน ทำไมอยากได้ทุกอย่างแล้วไม่เอาทุกอย่าง คำตอบคือทรัพยากรไม่ได้มีทุกอย่าง เราต้องเลือก และสิ่งที่อยากได้บางทีขัดกันเอง เช่นการลดความเหลื่อมล้ำ หรืออยากได้พลังงานสะอาด แต่รัฐบาลยังเดินหน้าทำพลังงานถ่านหิน หากทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถือว่าขัดยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ถึงบอกว่าเขาพยายามเขียนให้กว้างเลยไม่ค่อยเป็นยุทธศาสตร์ สิ่งที่เป็นปัญหาคือถ้าเอามาเป็นเงื่อนไขทางการเมืองก็จะเกิดความยุ่งยากขึ้น

     “สำหรับจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ ผมยืนยันว่าพรรคมีวิสัยทัศน์อนาคตของประเทศ เป็นไปได้ว่าเมื่อเข้าไปทำงาน หรือเมื่อนำเสนอนโยบายในการเลือกตั้ง บางเรื่องอาจจะถูกตีความว่าไม่ตรง ไม่อยู่ในยุทธศาสตร์ แต่ถึงขั้นจะขัดก็ยังไม่แน่ใจ เพราะถ้าเขียนกว้างแบบนี้ แต่ผมก็จะเสนอ ถ้าประชาชนเห็นพ้องก็ต้องพยายามไปปรับแก้ให้ไปด้วยกันได้ เพราะไม่ต้องการให้หลังการเลือกตั้งสังคมกลับสู่ความขัดแย้งทันที โดยเอารัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ ผมอยากเห็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแก้ปัญหาของประชาชน เรียกศรัทธาให้กลับคืนสู่ฝ่ายการเมืองให้ได้เสียก่อน แล้วค่อยบอกกับประชาชนว่ามีความจำเป็นในการที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญ แก้ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้เดินหน้าได้ดียิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งในใจผมในที่สุดทั้งรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ คงต้องมีการปรับแก้แน่ แต่ไม่อยากให้สังคมกระโดดเข้าไป พอหลังการเลือกตั้งปุ๊บก็เอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นสัญลักษณ์ความขัดแย้งรอบใหม่ สุดท้ายประชาชนคนไทยกับประเทศก็เสียโอกาสในเรื่องอื่นๆ อีก” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เพื่อไทยระส่ำหนัก-"สุริยะ-สมศักดิ์"เดินสายดูด

“นิพิฏฐ์” ชี้แก้ยุทธศาสตร์ชาติยาก

    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นปัญหาของรัฐบาลใหม่ว่า แม้ผู้ร่างจะบอกว่าสามารถแก้ไขได้ใน 5 ปี หากเกิดสถานการณ์ใดขึ้นมาก็ตาม แต่ความยากอยู่ตรงที่เป็นกฎหมาย พอมีกฎหมายออกมา เวลาแก้ต้องผ่าน 2 สภา ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรคงไม่เท่าไหร่ แต่จะผ่านวุฒิสภาหรือไม่คือปัญหา เพราะวุฒิสภาชุดใหม่มาจากการเลือกตั้งของ คสช. และยุทธศาสตร์ชาติก็เป็นผลผลิตของ คสช. เขาจะยอมแก้หรือไม่

“มีชัย” ฝากถึงคนคิดแก้รธน.

     วันเดียวกัน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในงานปาฐกถาประยูร กาญจนดุล เนื่องในวันสถาปนาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “ทิศทางการศึกษานิติศาสตร์ ในอนาคตนับแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” ตอนหนึ่งว่า จุดตั้งต้นของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานิติศาสตร์ คือ คนไม่มีวินัย ไม่เคารพกฎ ไม่เคารพสิทธิของบุคคลอื่น รวมถึงไม่รู้หน้าที่ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ทำให้คนมีวินัย โดยยอมรับว่ากฎหมายไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คนมีวินัย แต่การศึกษาคือสิ่งที่ทำให้คนมีวินัย ดังนั้นการปฏิรูปที่ต้องคำนึงถึงอันดับแรก คือ ปฏิรูปการศึกษา รองลงมาคือ การปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย

เพื่อไทยระส่ำหนัก-"สุริยะ-สมศักดิ์"เดินสายดูด

     “ผู้ออกกฎหมายคือ ผู้ต้องการในอำนาจ เป็นกฎบังคับ เมื่อผู้มีอำนาจต้องการใช้ เช่น ตำรวจเรียกรถยนต์เพื่อปรับ เดินวนๆ อยู่รอบรถ สักพักจะมีข้อหาให้จับ และปรับได้ เพราะรถหนึ่งคันมีกฎหมายครอบอยู่หลายฉบับ มุมมองกฎหมายที่น่ากลัว ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงวางกรอบของกฎหมายมากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับ ผมหวังว่าคนหัวสมัยใหม่ที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ​ ควรจะคงประเด็นนี้ไว้ เพราะเราตระหนักความสำคัญว่าการบริหาร หรือการปฏิบัติหน้าที่ของทุกองคาพยพ ที่กำหนดให้ปฏิบัติตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ให้ทำตามอำเภอใจ แต่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกโดยรวม ซึ่งในวันหนึ่งเราหวังว่าศาลจะใช้ดุลพินิจตามหลักมนุษยธรรมด้วย” นายมีชัย กล่าว

กกต.ผนึกกำลัง 4 องค์กรต้านทุจริต

    เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 มิถุนายน ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กกต.ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์กรอิสระและรัฐสภา ในการยกระดับเจตจำนงทางการเมืองการต่อต้านการทุจริต ระหว่างสำนักงาน กกต. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เป็นตัวแทนสำนักงาน กกต. นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นตัวแทน ป.ป.ช. นายคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ น.ส.นภาภรณ์ ใจสัจจะ รองเลขาธิการวุฒิสภา เป็นตัวแทนสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

     พ.ต.อ.จรุงวิทย์ประกาศเจตจำนงตอนหนึ่งว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กกต. สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ก็เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ป้องกันการทุจริตของนักการเมือง พรรคการเมือง และส่งเสริมให้พรรคการเมืองและนักการเมืองแสดงออกซึ่งเจตจำนงต่อต้านการทุจริต เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมติดตามการดำเนินการตามเจตจำนงที่ให้ไว้

เพื่อไทยระส่ำหนัก-"สุริยะ-สมศักดิ์"เดินสายดูด

กกต.ยันพร้อมจัดเลือกตั้งทุกระดับ

     ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. … ว่า พอมีการรับฟังความคิดเห็น 30 วันแล้ว ก็ต้องมาสรุปและเสนอไปที่รัฐบาลเพื่อปรับแก้ ส่วนแนวโน้มการปรับเปลี่ยนแก้ไขหรือไม่เป็นการพิจารณาของ สนช. โดยประชาชนที่สนใจสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ กกต. ภายในเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวมีการปรับแก้ตามที่ กกต.เคยเสนอไปบ้าง และแก้ตามที่เขาต้องการบ้าง แต่ข้อเสนอการปรับแก้ของ กกต.นั้นมาจากประสบการณ์และปัญหาอุปสรรคในการทำงาน

     ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือการเลือกตั้ง ส.ส.จะเกิดขึ้นก่อนนั้น ยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับความพร้อมของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้แล้ว กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ขณะที่การเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.จะมีฐานะเป็นผู้ควบคุมโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดเลือกตั้ง แต่ในฐานะผู้ควบคุม กกต.ก็จะต้องควบคุมให้ดี แต่ กกต.ก็ได้ขอไว้ว่าการเลือกตั้ง ส.ส.และการเลือกตั้งท้องถิ่นควรมีระยะเวลาห่างกัน 3 เดือน เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นมีเรื่องร้องเรียนมาก ต้องสืบสวนไต่สวน ต้องใช้เวลาดำเนินการมาก อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายใดมีผลบังคับก่อนก็ปฏิบัติไปตามนั้น และยืนยันว่า กกต.มีความพร้อมจัดเลือกตั้งทุกระดับ

จ่อแถลงรื้อไม่รื้อคดีสลายชุมนุมแดง

     ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการป.ป.ช. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องการสลายการชุมนุมของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่า หลังนายณัฐวุฒิยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.แล้ว ทาง ป.ป.ช.ก็จะนำคำอุทธรณ์และข้อมูลที่มีการยื่นมาใหม่มาเปรียบเทียบกับสำนวนเดิมที่ ป.ป.ช.เคยมีมติไปแล้วว่าเป็นข้อมูลเดิมหรือข้อมูลใหม่เพิ่มเติม รวมทั้งมีการนำไปเปรียบเทียบกับสำนวนการพิจารณาคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรเมื่อปี 2551 ซึ่งในส่วนนี้ทางสำนักงานฯได้สรุปข้อมูลเรียบร้อยแล้ว และจะเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ รวมทั้งแถลงผลให้สื่อทราบในวันเดียวกัน

ปัดตอบปมนาฬิกาหรูบิ๊กป้อม

     นายวรวิทย์กล่าวถึงการทุจริตโครงการอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนในหลายจังหวัดว่า เรื่องดังกล่าวทางสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดจะเข้าไปรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น เมื่อได้พยานหลักฐาน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของ ป.ป.ช.ก็จะมีการรายงานมายังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้พิจารณาตั้งคณะกรรมการไต่สวนตรวจสอบเรื่องดังกล่าวต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทำงานของ ป.ป.ช.จังหวัด โดยมีทั้งการกล่าวหาร้องเรียน และการแจ้งเบาะแสจำนวนมาก ยืนยันว่า ป.ป.ช.จะเร่งให้ ป.ป.ช.จังหวัดรายงานเข้ามาโดยเร็ว เพราะเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจและมีผลกระทบ

     ผู้สื่อข่าวถามความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร โดยนายวรวิทย์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า อย่าเพิ่งถามเรื่องนี้ รอให้แถลงทีเดียว

เพื่อไทยระส่ำหนัก-"สุริยะ-สมศักดิ์"เดินสายดูด

“บิ๊กตู่”เยือน“อังกฤษ-ฝรั่งเศส”

     วันเดียวกัน พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิกเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เดินทางเยือนสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 20-26 มิถุนายนนี้

     พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ทั้งนี้ กำหนดการและภารกิจสำคัญของนายกฯ พบหารือกับนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กล่าวเปิดงาน “Transforming Thailand” ณ โรงแรมเดอะ แลนด์มาร์ค ลอนดอน จากนั้นจะฟังบรรยายสรุปและดูงานเกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของบริษัท เพียร์สัน ซึ่งเป็นหลักสูตรด้านอาชีวศึกษา ณ สำนักงานใหญ่บริษัท เพียร์สัน และในช่วงบ่ายมีกำหนดพบปะชุมชนไทยในสหราชอาณาจักร ฯลฯ

ร่วมทุนซื้อขาย“ดาวเทียมธีออส 2”

     นอกจากนี้ นายกฯ จะเข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือกับนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส และร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลงสัญญากรอบการร่วมทุน ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับ บริษัทแอร์บัส คอมเมอร์เชียล แอร์คราฟท์ และสัญญาซื้อขายดาวเทียมธีออส 2 ระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) – (จิสด้า) กับบริษัท แอร์บัส ดีเฟนซ์ แอนด์ สเปซ เอสเอเอส จากนั้นจะร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ทั้งนี้ นายกฯ และคณะจะเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 26 มิถุนายน เวลา 12.30 น. ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6

(ข่าวหน้า1นสพ.คมชัดลึก)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ