ข่าว

ลุ้น ! อัยการชี้ขาค"อยากเลือกตั้งMBK39" มิ.ย.นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ลุ้นผล 24 คนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง MBK39 ฝ่าฝืนคำสั่งคสช.26 มิ.ย.รออสส.ชี้ขาดตามขั้นตอนหลังอัยการศาลแขวงปทุมวันสั่งไม่ฟ้อง ชี้คดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

 

          23 พ.ค. 2561 ลุ้นผล " 24 คนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง MBK39 " ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. 26 มิ.ย.นี้  รอ อสส.ชี้ขาดตามขั้นตอน หลังอัยการศาลแขวงปทุมวันสั่งไม่ฟ้อง ชี้คดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ส่วนคดีแกนนำคนอยากเลือกตั้ง RDN – ARMY ทยอยฟ้องศาล
 

 

           ที่สำนักงานอัยการศาลแขวงปทุมวัน ถ.พระราม 4 พนักงานอัยการศาลแขวงปทุมวัน นัดฟังคำสั่งในคดีการชุมนุม ของผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง MBK39 รวม 24 คน ที่บริเวณทางเดินสกายวอล์ค เชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าห้างมาบุญครอง แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 27 ม.ค.61 ภายหลังพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ส่งมอบสำนวนพยานหลักฐานพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง 24 ผู้ต้องหา ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

 

           ซึ่งก่อนหน้านี้ "นายเกริกเกียรติ รัฐนวธรรม" อัยการเจ้าของสำนวนได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 9 มี.ค.61 เห็นว่า คดีมีมูลที่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. แต่ก็เห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวหากฟ้องไปนั้นจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงอาศัยอำนาจ ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 วรรคสอง ประกอบกับระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ พ.ศ.2554 มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง MBK39" ทั้ง 24 คน แต่ตามขั้นตอนการสั่งคดีดังกล่าวจะต้องส่งสำนวนคดีพร้อมความเห็นของอัยการเจ้าของสำนวนดังกล่าว เสนอให้ "อธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลแขวง" กลั่นกรอง และ "อัยการสูงสุด" เป็นผู้สั่งคดีชี้ขาดคนสุดท้าย

 

          โดยวันนี้ "นายประยุทธ เพชรคุณ" รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงผลการสั่งคดีดังกล่าวว่า อัยการคดีศาลแขวง ยังต้องเลื่อนการนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 26 มิ.ย.นี้ เนื่องจากสำนวนอยู่ระหว่างการพิจารณาของ "อธิบดีอัยการคดีสำนักงานคดีศาลแขวง" ตามระเบียบฯ เพื่อเสนอสำนวนตามขั้นตอน 

 

          สำหรับคดีที่ พนักงานอัยการ เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 วรรคสอง ระบุว่า หากพนักงานอัยการเห็นว่าสำนวนคดีที่อยู่ในการพิจารณาไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะให้มีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีได้ตามกฎหมาย โดย พ.ร.บ.องค์กรอัยการฯ ใหม่ พ.ศ.2553 เขียนไว้ชัดเจนว่า ความผิดที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะนี้ให้ส่งให้ "อัยการสูงสุด" เป็นผู้สั่งคดีอีกครั้ง ดังนั้นหากอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วมีความเห็นสั่งคดีอย่างไร ก็ถือเป็นที่สิ้นสุด

   

           ซึ่งแตกต่างกับคดีอาญาทั่วไป ถ้าพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ก็จะต้องส่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) หรือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค (ผบช.ภ.) ให้ทำความเห็นว่าจะแย้งหรือไม่ หากตำรวจยังเห็นแย้งก็จะต้องส่งให้ "อัยการสูงสุด" ชี้ขาด แต่ประเภทคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะกฎหมายเขียนให้ "อัยการสูงสุด" ที่มีอำนาจสั่งคดีสูงสุด เป็นคนสั่งคดีเองจึงไม่ต้องส่งให้ใครทำความเห็นแย้งส่งมาอีก

 

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีการชุมนุมของ "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ตั้งแต่ต้นปี 2561 ในพื้นที่ต่างๆ ทั้ง ถ.ราชดำเนิน หรือ RDN , หน้ากองบัญชาการกองทัพบก หรือ ARMY , บริเวณแยกปทุมวันใกล้ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง หรือ MBK นั้น ถูกทยอยฝากขังรอดำเนินคดี และส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาสั่งคดี รวมทั้งยื่นฟ้องต่อศาลหลายสำนวน ประกอบด้วย

 

           1.คดีอัยการ ยื่นฟ้อง "นายรังสิมันต์ โรม" อายุ 25 ปี แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งต่อศาลอาญา ฐานชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ในที่สาธารณะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เม.ย. 58 ข้อ 12 และกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

 

          จากกรณีนัดหมายให้มวลชนกลุ่มผู้ชุมนุมมารวมตัวกัน ที่บริเวณอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน ในวันที่ 10 ก.พ.61 เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งแกนนำคนอยากเลือกตั้ง ร่วมกันปราศรัยโจมตีและขับไล่รัฐบาล คสช. ซึ่ง "นายรังสิมันต์" จำเลย ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยศาลกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ เวลา 13.30 น.ส่วนตัว"นายรังสิมันต์" จำเลย ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา 50,000 บาท โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ

 

            2.คดีหมายเลขดำ อ.808/256 อัยการคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) ยื่นฟ้อง นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ อายุ 44 ปี หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง , นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์แกนนำเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.), นายเนติวิทย์ หรือแฟรงก์ โชติภัทร์ไพศาล อายุ 22 ปี นักกิจกรรมนักศึกษา ซึ่งเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , นายปิยรัฐ หรือโตโต้ จงเทพ อายุ 27 ปี นายกสมาคมเพื่อเพื่อน (FFA) องค์กรที่ทำงานช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมือง

 

          และผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ชุดราชดำเนินหรือกลุ่ม RDN50 รวม 40 คน ฐานฝ่าฝืนคำสั่ง หน.คสช.ที่ 3/2558 จากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ คสช.ยุติการสืบทอดอำนาจและจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินกลาง เมื่อวันที่ 10 ก.พ.61 ซึ่งทั้งหมด 40 รายให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลก็นัดตรวจหลักฐานในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ขณะที่ศาลเห็นว่าข้อหาที่ฟ้องอและอัตราโทษไม่ร้ายแรง จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวทั้ง 40 รายไป โดยไม่ต้องมีหลักประกัน

 

           3.คดีหมายเลขดำ อ.1229/2561 อัยการคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) ยื่นฟ้อง นายเนติวิทย์ นักกิจกรรมนักศึกษา , กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ชุดชุมนุมที่กองทัพบกหรือ "ARMY57" และนายวิศรุต อนุกูลการย์ อายุ 23 ปี กลุ่มนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ (NDM) รวม 45 คนต่อศาลแขวงดุสิต ฐานฝ่าฝืนคำสั่ง หน.คสช.) ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กรณีเมื่อวันที่ 10 มี.ค.61 ได้จัดปราศรัย "รวมพลังถอนราก คสช." ที่สนามฟุตบอลม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และวันที่ 24 มี.ค.ได้รวมตัวกันที่สนามฟุตบอล ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ปราศรัยบนรถ 6 ล้อติดเครื่องขยายเสียงโจมตีที่เลื่อนการเลือกตั้ง รวมทั้งการทํางานของรัฐบาลและคสช.ว่ามีการทุจริต ใช้อํานาจโดยไม่เป็นธรรม แล้วยังได้เคลื่อนขบวนเดินเท้าไปยังกองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งศาลนัดสอบคำให้การจำเลยทั้งหมดในวันที่ 12 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ขณะที่จำเลยทั้งหมดได้ถูกปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องยื่นหลักทรัพย์ประกัน 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ