ข่าว

คุมเข้มทำเนียบรับมือม็อบอยากเลือกตั้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คุมเข้มทำเนียบรับมือม็อบอยากเลือกตั้ง "ศรีวราห์"ห้ามเข้าในระยะ 50 เมตร จัดกำลัง 3-20 กองร้อยคุม จับตาแดงฮาร์ดคอร์เตรียมเคลื่อนย้ายอาวุธ

     กลุ่มการเมืองยังคงเคลื่อนไหวอย่างหนักเพื่อกดดันรัฐบาลคสช. ที่ทำการรัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศเป็นเวลา 4 ปี ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ให้คืนอำนาจสู่ประชาชนโดยจัดให้มีการเลือกตั้งเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว ขณะที่หน่วยงานด้านความมั่นคงเตรียมความพร้อมดูแลสถานการณ์การชุมนุมท่ามกลางการข่าวมือที่สามเตรียมผสมโรงสร้างความวุ่นวาย 

     วันที่ 20 พฤษภาคม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้กล่าวถึงการชุมนุมเพื่อรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง 19 พฤษภาคม 2553 ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวานนี้ (19 พ.ค.) ว่าแม้จะไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น แต่เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่และผู้ประกอบการในพื้นที่คงไม่สบายใจที่เห็นภาพบรรยากาศเก่าๆ กลับมาอีก ล่าสุดผลสำรวจ “4 ปี คสช.กับการคืนความสุขให้คนในชาติ” ของนิด้าโพล ระบุว่า สิ่งที่ทำให้ประชาชนมีความสุขมากที่สุดคือการรักษาความสงบเรียบร้อยไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง จึงสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไม่ต้องการให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายอีก

     สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐบาลขอเตือนไม่ไห้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพราะเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อการจราจรเนื่องจากเป็นวันทำการปกติ ซึ่งจะมีปริมาณรถหนาแน่น และการชุมนุมอาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทั่วไป 

      คุมเข้มทำเนียบรับมือม็อบอยากเลือกตั้ง

     “หลายคนรู้สึกเอือมระอากับการมีม็อบมาตลอด 10 ปี ทำให้ประเทศชาติถอยหลังไปมาก รวมทั้งอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุปะทะได้ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีรับทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ประสานขออนุญาตจัดการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กำชับว่าให้ชุมนุมอย่างมีขอบเขต แต่เห็นว่าความจริงไม่จำเป็นต้องเรียกร้องอะไร เพราะรัฐบาลบอกกับประชาชนอยู่แล้วว่าจะมีการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2562 อย่างไรก็ตาม ในส่วนพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลนั้นเป็นพื้นที่ควบคุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่ หากฝ่าฝืนจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด” โฆษกรัฐบาลระบุ

ขอม็อบอย่าเคลื่อนออกนอกมธ.

     พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ในฐานะทีมโฆษกคสช. กล่าวว่า การเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ขอให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย อย่าไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลใคร อย่าไปบิดเบือนข้อมูล อย่าไปทำในสิ่งไม่เหมาะสม ปลุกเร้าความเกลียดชังในเวลาที่บ้านเมืองต้องการความสงบสุข ทั้งนี้ คสช.ไม่ได้ปิดกั้นการเคลื่อนไหว ไม่ได้ไปละเมิดอะไรเลย เราปฏิบัติภายใต้กรอบกฎหมาย

     “นี่คือสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับว่า คสช.ไม่ได้ใช้อำนาจเต็ม แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการก็ตาม ไม่ได้ใช้กำลัง ใช้ความรุนแรง เข้าขัดขวางการจัดกิจกรรม เราเน้นการพูดคุย ขอความร่วมมือ ทำความเข้าใจ พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกระหว่างจัดกิจกรรมด้วย อีกทั้งประเมินสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรง” พล.ต.ปิยพงศ์กล่าว และว่า การรับมือผู้ชุมนุมเราบังคับใช้กฎหมายปกติ คือ พ.ร.บ.ชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ พ.ศ.2558

     เมื่อถามถึงการรับมือที่จะเคลื่อนไหวมาทำเนียบรัฐบาล พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวว่า คงไม่มีอะไรกังวล เราประสานงานตลอด ก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าเป็นอย่างไร แต่ขอความร่วมมือว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้จัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้าเดินขบวนมาทำเนียบรัฐบาล จะทำให้รถติด ช่วงนี้โรงเรียนเปิดเทอมแล้ว และเกรงว่าจะทำให้ประชาชนที่สัญจรบนท้องถนนช่วงเวลาเดินขบวนรู้สึกไม่ดีได้ เราจึงพยายามให้ข้อมูลและชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่ให้ความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ก็ต้องพยายามดูแลกิจกรรม และรักษาความสงบเรียบร้อยให้ได้มากที่สุด 

     “คงตอบไม่ได้ว่าจะใช้วิธีการบล็อกผู้ชุมนุมตั้งแต่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือไม่ เพราะเป็นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แต่ในภาพรวมขอความร่วมมือให้เคลื่อนไหวภายใต้กรอบกฎหมาย ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม” ทีมโฆษกคสช.ระบุ

แฉแดงฮาร์ดคอร์จ้องป่วน-ตรึงกำลัง

     ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมทั่วประเทศประมาณหลักร้อย แต่จากการข่าวพบว่ามีกลุ่มหัวรุนแรงทางการเมืองหรือแดงฮาร์ดคอร์เตรียมเคลื่อนย้ายอาวุธหนักสร้างสถานการณ์ จึงได้สั่งจับตากลุ่มแกนนำเสื้อแดงและเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ ซึ่งแม้เป็นคนละกลุ่มกันแต่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม ทางตำรวจได้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลความเรียบร้อยและรับมือสถานการณ์ 3-20 กองร้อย พร้อมรถพยาบาล รถควบคุมผู้ต้องหา ชุดควบคุมฝูงชน และคาดว่าจะมีการประกาศให้ทำเนียบรัฐบาลเป็นเขตควบคุมห้ามชุมนุมใกล้พื้นที่ในระยะ 50 เมตร ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คุมเข้มทำเนียบรับมือม็อบอยากเลือกตั้ง

     “ขณะเดียวกันการชุมนุมดังกล่าวถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองและทางกลุ่มได้ขออนุญาตชุมนุมแค่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งหากทางกลุ่มเคลื่อนไหวออกนอกพื้นที่ก็ถือมีความผิดทั้ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และคำสั่งที่ 3/2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจจะบังคับใช้กฎหมายในทันที” พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าว

     แหล่งข่าวหน่วยงานความมั่นคง กล่าวถึงแนวทางการป้องกัน ไม่ให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล สามารถทำได้ 2 กรณี คือ 1.มีการแจ้งความ และตำรวจขอศาลออกหมายจับแกนนำ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อแกนนำกระทำความผิดในข้อหาต่างๆ แต่เป็นไปได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลด้วย 2.การทำความผิดซึ่งหน้า เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมที่สาธารณะ และ พ.ร.บ.จราจร เนื่องจากตำรวจไม่อนุญาตให้แกนนำเคลื่อนขบวนออกมาบนถนน แต่การจับกุมต้องพิจารณาสถานการณ์ด้วยว่าเสี่ยงจะเกิดการปะทะหรือไม่

เผยแผนยั่วยุให้เกิดความรุนแรง

     แหล่งข่าวระบุว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากบังคับใช้กฎหมายไปแล้วเสี่ยงที่จะกระทบกระทั่งทำให้เหตุการณ์บานปลายก็ต้องปล่อยให้กลุ่มผู้ชุมนุมดำเนินการไป ในขณะที่เจ้าหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกดูแลประชาชนที่ใช้ถนนและความปลอดภัยเป็นหลัก จึงค่อยดำเนินการตามกฎหมายภายหลัง 

     "เบื้องต้นได้ข้อมูลว่ามีการประชุมวางแผนเป็นขั้นตอน ยั่วยุหวังให้เกิดความรุนแรง โดยให้องค์กรต่างประเทศมาสังเกตการณ์ว่าเจ้าหน้าที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม เขามีแผน มีการอบรมขั้นตอนต่างๆ ว่า ต้องให้มีอะไร ให้เป็นข่าวให้ได้ เป้าหมายเด่นคือต้องการให้เกิดความรุนแรง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายหลัก ล้มรัฐบาลและคสช. ตอนนี้มีการข่าวแจ้งตรงกันหลายหน่วยมาแล้ว ว่าจะมีส่วนผสมมากับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเป็นพวกฮาร์ดคอร์เก่าๆ มีการเตรียมอาวุธ ส่วนผู้ชุมนุมจะรู้เห็นหรือไม่ ไม่ทราบ ส่วนแนวโน้มกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าภายในทำเนียบ ป่วนประชุม ครม. ก็มีลูกผสมเยอะ เขาอยากให้แรง และเขามีแผนอยู่จะบุกยึดทำเนียบ แต่คงยอมไม่ได้และจะป้องกันให้ดีที่สุด เรากลัวเหตุการณ์จะบานปลายคล้ายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ที่มีการเผาวางเพลิงสถานที่ต่างๆ กลุ่มฮาร์ดคอร์ออกมาก่อเหตุทำให้คุมสถานการณ์ไม่ได้” แหล่งข่าวความมั่นคงกล่าว

ปชช.ชูสัญญาประชาคมสู่ปรองดอง

     พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ คณะเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสร้างความสามัคคีปรองดอง จากการสำรวจหลังพบปะพูดคุยกับประชาชนทั่วประเทศ ผ่าน “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” ที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นถึงความจำเป็นต้องมี “สัญญาประชาคมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง” และเห็นด้วยว่าสัญญาประชาคมจะสามารถช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งและนำสังคมกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติสุข  แต่กังวลกับปัญหาต่างๆ ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมในอนาคตอันได้แก่ ปัญหาการเมือง การทุจริตคอร์รัปชั่น การไม่เคารพกฎหมาย ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การบิดเบือนข่าวสาร ตามลำดับ

     ที่ผ่านมาสังคมทราบดีถึงความตั้งใจและความพยายามหาทางออกจากความขัดแย้งที่ทุกรัฐบาลในอดีตพยายามดำเนินการ หากแต่ได้รับการปฏิเสธจากคู่ขัดแย้งเสมอมา ดังนั้นกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองที่รัฐบาลปัจจุบันจัดทำขึ้นเป็นสัญญาประชาคมจึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมรับฟังประชาชนทั้งประเทศ  

พล.ท.คงชีพ กล่าวด้วยว่า อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองเดินหน้ามาไกลกว่าที่จะกลับไปอยู่จุดเดิม และเชื่อว่าประชาชนเบื่อหน่ายและทราบดีถึงสาเหตุหลักของความขัดแย้ง เราทุกคนต่างต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติสุขเฉกเช่นทุกสังคมทั่วโลก ดังนั้น เมื่อเราต่างแสดงตนยึดมั่นในสังคมประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องรับฟังและเคารพต่อความคิดเห็นร่วมของประชาชนส่วนใหญ่ในสัญญาประชาคม ร่วมกันคลี่คลายเรื่องที่ยังเป็นกังวลของประชาชนที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต

แกนนำยันเคลื่อนขบวนทำเนียบ

     ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวว่า ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะนัดชุมนุมและเคลื่อนไปยังบริเวณทำเนียบรัฐบาลตามแผนเดิมที่วางไว้ เพราะตามกฎหมายระบุชัดเจนว่ามีสิทธิ์ที่จะเคลื่อนขบวนได้ อีกทั้งได้ขออนุญาตต่อผู้มีอำนาจแล้ว จึงอยากจะขอให้ผู้มีอำนาจเคารพในกฎหมายด้วย  และการไปทำเนียบรัฐบาลอาจกระทบสิทธิคนอื่นทำให้เกิดความไม่สะดวกบ้างเรื่องการใช้ถนน เพราะการเดินขบวนจะใช้แค่ 1 ช่องจราจร

คุมเข้มทำเนียบรับมือม็อบอยากเลือกตั้ง

     “การไปทำเนียบยังไม่คิดไปถึงการชุมนุมที่ยืดเยื้อ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของวันพรุ่งนี้ (21 พ.ค.) และวันที่ 22 พฤษภาคม รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย แต่ยืนยันว่าเจตนารมณ์ของกลุ่มคือการแสดงพลังเพื่อทวงสัญญาในการเลือกตั้ง และไม่ต้องการบุกเข้าไปในทำเนียบ แค่ต้องการให้คนที่มีอำนาจได้ยินเสียงของประชาชน ซึ่งข้อเรียกร้องที่ผ่านมายังไม่ได้มีการตอบรับจากรัฐบาล ส่วนการดูแลความปลอดภัยการชุมนุมจะใช้นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เป็นหลัก พร้อมประสานตำรวจอีกทางหนึ่ง เชื่อว่าจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น” นายรังสิมันต์ กล่าว

    แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งยืนยันว่า ถ้าเจ้าหน้าที่มาขัดขวางการเคลื่อนขบวน เราเตรียมแผนสองไว้รองรับ แต่ยังไม่ขอเปิดเผย โดยเราพอรู้ว่าเจ้าหน้าที่เขาจะมาไม้ไหน จึงคิดหาทางการแก้ไขไว้หากเกิดปัญหาขึ้น แต่หากมีการบล็อกแกนนำถึงบ้านเพื่อไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรม เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่ทำผิดกฎหมาย และการแจ้งข้อกล่าวหากับ 8 แกนนำพรรคเพื่อไทย จะไม่กระทบต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เพราะกลุ่มคนอยากเลือกตั้งโดนดำเนินคดีมาอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมออยู่แล้ว แต่จะส่งผลกระทบต่อ คสช.ที่ไม่เปิดให้เกิดการอภิปรายอย่างเสรี

โพลล์เผยปชช.มีสุขบ้านเมืองสงบ

     ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “4 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15–16 พฤษภาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 

     จากการสำรวจเมื่อถามถึงระดับความสุขของประชาชนในโอกาสครบรอบ 4 ปี ของคสช. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.85 ระบุว่า มีความสุขเท่าเดิม เพราะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  รองลงมา ร้อยละ 27.69 ระบุว่า มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีการชุมนุมและความวุ่นวายทางการเมือง และร้อยละ 25.46 ระบุว่า มีความสุขลดลง เพราะเศรษฐกิจปากท้องแย่ลง ค่าครองชีพสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ  

     เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ 3 ปี คสช.กับการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่ทำการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนลดลง (จากเดิม ร้อยละ 32.64 เป็นร้อยละ 27.69) ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเท่าเดิมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น (จากเดิม ร้อยละ 42.00 เป็นร้อยละ 46.85) เช่นเดียวกับสัดส่วนของผู้ที่มีความสุขลดลงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น (จากเดิม ร้อยละ 21.76 เป็นร้อยละ 25.46)

     ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินครบรอบ 4 ปี ของ คสช.ในประเด็นต่างๆ ที่ทำให้มีความสุขมากที่สุด พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.99 ระบุว่า เป็นเรื่องของบ้านเมืองสงบเรียบร้อยไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง รองลงมา ร้อยละ 16.76 ระบุว่า ไม่มีประเด็นใดที่ทำให้มีความสุข  

     ท้ายสุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินครบรอบ 4 ปี ของ คสช. ในประเด็นต่างๆ ที่ยังไม่สามารถทำให้มีความสุข พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.81 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม รองลงมา ร้อยละ 15.08 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร ร้อยละ 11.89 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน  

โพลล์ไม่เห็นด้วย“รัฐบาลแห่งชาติ”

     ขณะที่ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป ต่อแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” สำรวจระหว่างวันที่ 13-18 พฤษภาคม จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,195 คน  

     สำหรับข้อดีของการจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ช่วยให้เกิดความร่วมมือกันในการทำงานคิดเป็นร้อยละ 84.27 ช่วยลดความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองคิดเป็นร้อยละ 82.09 สามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมมาเป็นรัฐมนตรีคิดเป็นร้อยละ 76.57 ส่วนข้อเสีย  ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นได้เป็นวงกว้างร้อยละ 86.95 ทำให้ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลในรัฐสภาร้อยละ 85.02 เกิดการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้องร้อยละ 80.5 และไม่มีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ อย่างจริงจังร้อยละ 77.66

     ในด้านความคิดเห็นต่อการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติในประเทศไทย ร้อยละ 47.62 เห็นว่า ไม่มีความเหมาะสมกับสภาพการเมืองไทยในปัจจุบัน ส่วนร้อยละ 55.4 ไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะมี “รัฐบาลแห่งชาติ” ได้จริงหลังการเลือกตั้ง 

     ด้านความคิดเห็นต่อที่มาของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีหากมีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นจริง ร้อยละ 53.89 เห็นว่านายกรัฐมนตรีควรมาจากส.ส.เท่านั้น ขณะที่ร้อยละ 34.14  เห็นว่าควรมาจากบุคคลภายนอก  ส่วนร้อยละ 11.97 ระบุว่ามาจากคนในหรือคนนอกก็ได้

คุมเข้มทำเนียบรับมือม็อบอยากเลือกตั้ง

เตือนคสช.อย่าโยนฟืนเข้ากองไฟ

     นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีคสช.ดำเนินคดีกับ 8 แกนนำพรรคเพื่อไทยที่ร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ผลงานรัฐบาลในรอบ 4 ปีว่า วันนี้บรรยากาศกำลังดี การเมืองกำลังเข้าสู่ช่วงที่จะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็พเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ตามที่นายกฯ ได้ประกาศไว้แล้ว รัฐบาลควรเปิดกว้างให้ประชาชนรวมไปถึงพรรคการเมืองได้แสดงความเห็น แม้ว่าวันนี้อาจจะยังไม่สามารถประชุมพรรคได้แต่ก็ควรเปิดกว้างให้ทุกพรรคการเมืองได้แสดงความเห็น

     “บางเรื่องอาจจะถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ก็ควรจะยอมรับความเป็นจริง อย่าโยนฟืนโหมเข้าไปในกองไฟ แล้วทำให้บรรยากาศทางการเมืองมันร้อนขมุกขมัวไปด้วยการเผชิญหน้ากันอีกเลย มันไม่เกิดประโยชน์ วันนี้รัฐบาล คสช.กำลังเข้าสู่ปีที่ 4 ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย หากเห็นว่าการเข้าสู่ปีที่ 3-4 ของรัฐบาล ยังได้รับความยอมรับจากประชาชนก็มักจะชิงยุบสภาไปแล้ว เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนเลือกกลับมาอีก ดังนั้น หากรัฐบาลเชื่อมั่นว่าที่ผ่านมาทำดีมาโดยตลอด และถ้าไม่ดีจริง 4 ปีอยู่ไม่ได้ อย่างที่รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมระบุนั้น คิดว่ารัฐบาลก็ไม่ต้องหวาดกลัวอะไร และควรต้องเปิดกว้างทำให้บรรยากาศของประชาธิปไตยเกิดขึ้นจะดีกว่า” นายสมศักดิ์กล่าว

“สุดารัตน์”ซัดม.116ไม่ก่อสามัคคี

     คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย มองว่า การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลของแกนนำพรรคนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็น ติชมด้วยเหตุผล ถือเป็นการแสดงออกตามกฎหมาย ดังนั้นไม่ควรมีความผิดใดๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือนักการเมืองก็ตาม

     ทั้งนี้ การใช้มาตรา 116 ในข้อกฎหมายบัญญัติไว้ว่าเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าถูกนำมาใช้เพื่อความมั่นคงของผู้มีอำนาจ จึงอยากให้คสช.ใช้มาตรา 116 ให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ไม่ใช่เพื่อปกป้องคุ้มครองตนเอง การวิพากษ์วิจารณ์นำเสนอความคิดเห็นไม่น่าจะเข้าข่ายความผิดมาตรา 116

     ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การแจ้งความเอาผิดอาจเป็นการเตรียมการยุบพรรคเพื่อไทย นั้น คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ส่วนตัวเป็นคนสมัยพรรคไทยรักไทยก็โดนยุบพรรคมาหลายครั้งแล้ว ถือเป็นเครื่องมือที่รวดเร็วที่สุดสำหรับผู้มีอำนาจที่สามารถจะทำได้ ทั้งนี้ หากยุบพรรคไปแล้ว จะห้ามความผูกพันความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อพรรคนั้นๆ ได้หรือไม่

คุมเข้มทำเนียบรับมือม็อบอยากเลือกตั้ง

จี้คสช.รับฟังความเห็นทุกฝ่าย

     ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนิด้าโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “4 ปี คสช.กับการคืนความสุขให้คนในชาติ” ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.85 ระบุ มีความสุขเท่าเดิม ร้อยละ 25.46 ระบุ มีความสุขลดลงเพราะปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนแย่ลง ค่าครองชีพสูง สวนทางราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ การบังคับใช้กฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายไม่ตรงจุด มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไปและขาดความมั่นคงทางประชาธิปไตย สะท้อนว่ากว่า 70% จากการสำรวจ ไม่เห็นว่า การคืนความสุขของคสช.นั้น ประชาชนได้รับความสุขมากขึ้น 4 ปีหลังรัฐประหารผ่านไป ความสุขคนไทย มีแต่ทรงกับทรุดหรือไม่

     นอกจากนี้ อยากให้คสช.รับฟังความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ หรือแม้แต่นักการเมือง ไม่ควรมีทัศนคติเป็นลบว่าเป็นความเห็นจากฝ่ายที่เป็นศัตรูกัน หรือมองความเห็นเหล่านั้นอย่างมีอคติ อย่างน้อยเวลาที่เหลือ 8-9 เดือน ก่อนการเลือกตั้ง ควรรับฟังเสียงสะท้อนเหล่านี้นำไปปรับปรุงการทำงาน เปิดพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความเห็นที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

     อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองควรคลี่คลายเพื่อเตรียมการและก้าวไปสู่การเลือกตั้ง เปิดใจให้กว้างและปรับทัศนคติตัวเองเสียใหม่ว่าคนไทยอยากเห็นการนำประเทศไปสู่สภาพบ้านเมืองปกติ เปิดพื้นที่เสรีภาพ ปลดล็อกทางการเมือง คนไทยที่มีความปรารถนาดีต่อกันจะได้ออกมาช่วยกันนำบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าร่วมกัน

ชี้คสช.เล่นงานพท.หวังเตะตัดขา

     นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กล่าวถึงแนวคิดรัฐบาลเฉพาะกาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองว่า คิดว่าคงจะทำได้ลำบาก แม้ข้อเสนอของพล.อ.ชวลิต จะเป็นไปด้วยความปรารถนาดีที่มีต่อบ้านเมือง จึงพูดในสิ่งที่ท่านคิดว่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ในข้อเท็จจริงต้องพิจารณาว่ารัฐบาลเฉพาะกาลจะมีองค์ประกอบอย่างไร มีที่มาจากไหน และอำนาจของการได้มาเป็นอย่างไร และมีความชอบธรรมมากน้อยแค่ไหน หากที่มาไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั้งประเทศก็จะเกิดปัญหาตามมาอีก จึงดูแล้วแนวคิดดังกล่าวน่าจะห่างไกลจากการที่จะสามารถนำมาแก้ปัญหาบ้านเมืองได้สำเร็จ 

     “ยังยืนยันว่าวิธีที่จะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้เห็นผล คือจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด และต้องเป็นการเลือกตั้งโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยที่รัฐบาลและคสช.ไม่เข้าไปแทรกแซง และหลังจากการเลือกตั้งแล้วก็ควรปล่อยให้กระบวนการต่างๆ ได้เดินไปตามปกติ”

     นพ.เหวง กล่าวอีกว่า ในส่วนที่คาดการณ์ว่าการตั้งพรรคของคสช.จะสำเร็จได้ยากนั้น ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของคสช. ซึ่งการที่คสช.เตรียมตั้งพรรคการเมืองรองรับสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ถือเป็นความตั้งใจของคสช.อยู่แล้ว และด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าที่ผ่านมาการที่กระทำต่างๆ กับพรรคเพื่อไทย รวมทั้งการฟ้องร้อง 8 แกนนำของพรรคเพื่อไทย เป็นความตั้งใจที่จะเตะตัดขาพรรคเพื่อไทย เพราะเห็นว่าผลสำรวจความเห็นของโพลล์ต่างๆ พบว่าพรรคเพื่อไทยยังมีคะแนนนำอยู่ จึงต้องการทำให้อ่อนแรงลง หรือเป็นไปได้คงอยากจะยุบพรรคเพื่อไทย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงเจตนาว่าต้องการสืบทอดอำนาจชัดเจน ดังนั้นขอให้ทุกคนได้ติดตามต่อไป และเชื่อว่าประชาชนจะเป็นคนตัดสินใจตามครรลองของประชาธิปไตย

วอนคสช.รับฟังวิจารณ์ผลงาน4ปี

     นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงเสียงวิจารณ์ในโอกาส 4 ปี คสช. ว่า ขอเรียกร้องให้ คสช.เปิดใจกว้างรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ นำข้อเสนอที่ดีมีประโยชน์ไปปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม อยากเห็น คสช.มุ่งเดินหน้าแก้ปัญหามากกว่าแก้ตัวไปวันๆ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่คสช.เข้ามามีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ประชาชนจำนวนไม่น้อยอยากเห็นการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างเพื่อวางรากฐานที่ดีให้ประเทศชาติ แต่เราเห็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างน้อยมาก ทำให้เสียโอกาสไปพอสมควร ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 4 ปี คสช.ก็มีการทำงานที่พอจะสัมผัสได้และที่ยังไม่สามารถสัมผัสได้

คุมเข้มทำเนียบรับมือม็อบอยากเลือกตั้ง

     อย่างไรก็ตาม การทำงานที่พอสัมผัสได้คือ ความตั้งใจและความพยายามในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ยุติการเผชิญหน้าของกลุ่มต่างๆ ช่วยลดความขัดแย้ง ก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง ยุติรัฐบาลที่ฉ้อฉลอำนาจ ใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง มีการประพฤติมิชอบ ทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง ส่วนการทำงานที่ยังไม่สัมผัสได้คือเรื่องการปฏิรูป คสช.ต้องยอมรับความจริงว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา คสช.ได้ตั้งสภา คณะกรรมการ คณะทำงานมากมายหลายชุด แต่ไม่สามารถจุดประกายให้ประชาชนสัมผัสได้ โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

      นายองอาจ กล่าวอีกว่า การปรองดองเป็นอีกหนึ่งคำสัญญาที่ประชาชนไม่สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมจนสัมผัสได้อย่างชัดเจน อาจเห็นเพียงพิธีกรรมผ่านกลไกภาครัฐบางส่วนเท่านั้น การป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะเห็น คสช.ฟิตในช่วงแรกๆ แต่พอมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นกับคนที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจ ก็เกิดกรณีการเลือกปฏิบัติ ทำให้ประชาชนยังไม่สัมผัสได้อย่างชัดเจน การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และการแก้ไขปัญหาพืชผลการเกษตรตกต่ำ

     “ขณะนี้ คสช.ยังมีเวลาที่เหลืออยู่อีกเกือบหนึ่งปีที่จะทำงานแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงจนประชาชนสามารถสัมผัสได้ จึงอยากให้คสช.ทุ่มเทความรู้ความสามารถแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมต่อไปในเวลาหนึ่งปีนับจากนี้” นายองอาจกล่าว

แนะแจงผลงานรูปธรรมปฏิรูป

     นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึงวาระครบรอบ 4 ปีของคสช. ถือเป็นเรื่องปกติที่ภาคส่วนต่างๆ ออกมาประเมินผลงานของ คสช. และรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง ถือเป็นประเด็นที่มีการประเมินเป็นพิเศษ เหตุเพราะสังคมคาดหวังการปฏิรูปสูง ซึ่งเป็นผลพวงจากคลื่นมวลมหาประชาชน และมีความเห็นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน แต่ คสช.ควรน้อมรับคำวิจารณ์และประมวลผลงานที่เป็นรูปธรรมแถลงหรือรายงานต่อประชาชนว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่คสช.ได้ปฏิรูปไปแล้ว หรือกำลังดำเนินการอยู่ โดยเอาข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรมมาพูดกันมากกว่าจะใช้โวหารวาทกรรมตอบโต้กันไปมา

     ทั้งนี้ แม้คสช.ริเริ่มและวางแนวทางใหม่ๆ ในบางเรื่องไว้บ้าง ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานถึงจะเห็นผล บางเรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่มีหลายเรื่องที่คสช.ยังไม่ทำ ถ้าชี้แจงตรงไปตรงมาถึงความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรค เชื่อว่าการปฏิรูปประเทศจะไม่เป็นแค่เกมการเมืองที่ต่างคนต่างพูดเพื่อทำให้ตัวเองดูดีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปประเทศแม้มีความจำเป็นต้องคาดหวังกับทุกรัฐบาลแต่บทเรียนที่ผ่านมาเราต้องไม่ฝากความหวังไว้กับรัฐบาลอย่างเดียวเท่านั้น ภาคส่วนต่างๆ ต้องร่วมกันแสดงพลังขับเคลื่อนเสนอแนะรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพราะการปฏิรูปเป็นเรื่องที่ต้องทำกันไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ทำครั้งเดียวในรัฐบาลเดียวแล้วจบเลย พรรคการเมืองก็เช่นกันจะต้องจริงจังกับความต้องการของประชาชนโดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ถ้าวาระเรื่องปฏิรูปประเทศไม่มีความชัดเจนหรือเป็นแค่เกมชิงอำนาจ การเมืองก็อาจจะวนกลับสู่ความล้มเหลวอีกครั้ง

คุมเข้มทำเนียบรับมือม็อบอยากเลือกตั้ง

     “ทุกฝ่ายต้องเล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องได้รับการผ่าตัดหรือปฏิรูปในระดับโครงสร้างอย่างจริงจัง บางคนอาจมองว่าการปฏิรูปประเทศอาจจะเสียของในรัฐบาลหนึ่งหรือล้มเหลวในยุคสมัยหนึ่ง แต่ต้องไม่ทำให้การปฏิรูปกลายเป็นของเสีย หรือทำให้ประชาชนสิ้นหวัง เพราะไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีอนาคต” นายสุริยะใส กล่าว

สภาหั่นไมค์จีน-นาฬิกาใส่ถ่าน

     ส่วนความคืบหน้าในการปรับลดงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ในการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่หลังรัฐบาลสั่งให้มีการทบทวนนั้น

     นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เบื้องต้นได้พิจารณาปรับลดงบประมาณและสเปกของไมโครโฟนลง เหลือเพียงตัวละ 8 หมื่นบาท จากราคาเดิมที่เสนอพร้อมเทคโนโลยีส่วนประกอบ 135,915 บาท โดยได้ปรับกลับไปใช้ระบบเดิมที่ไม่มีแผงการอ่านบัตรและแผงอ่านลายนิ้วมือ

     นายสรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนนาฬิการาคาเรือนละ 7 หมื่นบาท ได้มีการเสนอจัดซื้อเพียง 2 เรือน เพื่อใช้ในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเท่านั้น แต่เมื่อมีเสียงทักท้วงมา ก็อาจกลับไปใช้นาฬิกาใส่ถ่านตามท้องตลาดที่ใช้ระบบอนาล็อกแทน ทั้งนี้ การพิจารณาปรับลดงบประมาณครั้งนี้จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อให้ทันกับการปิดฝ้าของผู้รับเหมา คาดว่าสัปดาห์หน้าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมได้

     ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้ตรวจสอบและเซ็นลงนามก่อนที่จะส่งไปยังครม. ควรจะมี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ