ข่าว

เลขาฯสภายันไร้โกงงบฯ8พันล้าน-"ชวน"ลั่นดันมาร์คสุดตัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลขาฯ สภาเต้นหลังครม.ตีกลับงบสร้างสภาใหม่ 8 พันล้าน ยันไม่มีโกง "ชวน"ไม่สนนั่งนายกฯ  ย้ำดัน"อภิสิทธิ์"นั่งนายกฯสุดตัว "พท."ตั้งโตะชำแหละ 4 ปีคสช.วันนี้

 

      ความคืบหน้ากรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตีกลับงบประมาณเทคโนโลยีและสารสนเทศ การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่วงเงิน 8,135 ล้านบาท หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่พอใจที่รายละเอียดของงบไม่ชัดเจนและมีอุปกรณ์บางอย่างราคาสูงเกินควรเชนไมค์ราคาเป็นแสน นาฬิการาคา 7 หมื่นบาท

เลขาฯสภาจ่อแจงปมงบ8พันล้าน

     ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่รัฐสภา นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภาจะเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้และบริษัทออกแบบมาหารือกันถึงกรณีที่เกิดขึ้น จากนั้นจะแถลงข่าวให้สื่อมวลชนรับทราบโดยจะให้บริษัทที่ออกแบบร่วมชี้แจงต่อสื่อมวลชนด้วย

    ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งข้อสังเกตว่าราคาไมโครโฟนมีราคาตัวละ 1.2 แสนบาท และนาฬิกาเรือนละ 7 หมื่นบาท สูงเกินเหตุนั้น เรื่องนี้ถือเป็นการมองต่างมุม ฝ่ายบริษัทออกแบบอาจจะมองว่ามีความจำเป็น แต่อีกฝ่ายมองว่าน่าจะใช้ของที่มีราคาถูกกว่านี้ได้ ซึ่งปัญหานี้จะขอชี้แจงหลังการประชุมในวันที่ 18 พฤษภาคม เช่นเดียวกัน แต่ในเบื้องต้นจะต้องปรับลดงบประมาณลงมาอย่างแน่นอน ขอยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่มีโกง ไม่มีทุจริต ทุกอย่างมีความถูกต้อง โปร่งใส และต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด

เลขาฯสภายันไร้โกงงบฯ8พันล้าน-"ชวน"ลั่นดันมาร์คสุดตัว

“พรเพชร”หลบสื่อหนีตอบปมร้อน

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ประชุมครม.ตีกลับงบ 8 พันล้านบาทในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นั้น ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อไปยังนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. แต่นายพรเพชรไม่รับโทรศัพท์ ทั้งนี้ นายพรเพชรมีกำหนดการเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเรื่อง “แนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤติ (ตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงใน จ.ลพบุรีอย่างยั่งยืน)” ที่จัดโดยคณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 16 พฤษภาคมด้วย แต่ปรากฏว่าได้เปลี่ยนให้นายวัลลภ ตังคนานุรักษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการ เป็นผู้กล่าวเปิดงานสัมมนาแทน

    สำหรับวงเงิน 500 ล้านกว่าบาท ที่ครม.อนุมัติมานั้น ไม่ได้รวมในส่วนของงานระบบสาธารณูปโภคหลายรายการ อาทิ ระบบไฟฟ้า ระบบรักษาความปลอดภัย และระบบไอที เนื่องจากอยู่ในงบที่ถูกตีกลับ 8 พันกว่าล้านบาท ดังนั้นขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงกังวลว่าการก่อสร้างรัฐสภาใหม่อาจจะสะดุดหรือล่าช้ากว่าเเผนกำหนดการเดิมหรือไม่ ขณะนี้สภาจึงพยายามประสานกับสำนักงบประมาณอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญคือขณะนี้สังคมมองเรื่องของงบไอทีทั้งหมดว่าจำนวนเงินสูงถึง 8 พันกว่าล้านบาทนั้น แม้รัฐสภาชี้เเจงอะไรไปสังคมก็ยังมองว่าอาจจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ดี ในขณะที่เดทไลน์ที่ประธานสนช.กำหนดไว้คือภายใน 31 ธันวาคม 2561 จะต้องย้ายที่ทำการทั้งหมดนั้นก็ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญ เพราะหากไม่ได้งบในส่วนนี้้ก็อาจจำเป็นต้องก่อสร้างไปตามจำนวนงบที่มีอยู่ ซึ่งอาจจะได้อาคารออกมาในลักษณะที่ไม่สมบูรณ์แบบหรือไม่

    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับราคาไมโครโฟนในห้องประชุมที่ราคาสูงเป็นเเสนบาทนั้น เนื่องจากไม่ใช่ราคาของไมโครโฟนปกติ แต่เป็นไมโครโฟนที่มีระบบเเสดงตน รวมทั้งมีระบบหลายๆ อย่างที่ใช้ในห้องประชุมสภาในการลงมติกดปุ่มเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ ยังมีระบบสารสนเทศสำหรับเจ้าหน้าที่ (ดาต้าเซ็นเตอร์) ด้วย ขณะที่นายพรเพชรเองได้รับทราบเรื่องดังกล่าวเเล้ว แต่มองว่าไม่รู้จะชี้แจงอย่างไรเเล้ว เพราะเมื่อสังคมมองว่าน่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น แม้จะชี้เเจงอย่างมีเหตุผลอย่างไรคนก็ไม่ฟัง และครั้งที่เเล้วมีการเเถลงข่าวไปครั้งหนึ่งแล้วแต่ก็ยังมีปัญหาอยู่เหมือนเดิม เเต่จะมาโทษว่าทำหน้าที่บกพร่องคงไม่ได้ เพราะพยายามชี้แจงไปเเล้ว

 

วิลาศขย่มซ้ำจ่อฟ้องป.ป.ช.

     ด้านนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ครม.อนุมัติเพิ่มเงินงบประมาณสำหรับโครงการก่อสร้างอาคารัฐสภาแห่งใหม่ วงเงิน 512.50 ล้านบาทนั้น ว่างบประมาณดังกล่าวเป็นงบเพียงแค่ส่วนหนึ่งจากงบประมาณ 8,658 ล้านบาทที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอไป แต่เห็นว่างบประมาณดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ควรเสีย เพราะเป็นงบที่เกิดขึ้นจากการขยายเวลาการก่อสร้าง ทั้งค่าควบคุมงานก่อสร้างและค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้าง หากไม่มีการขยายเวลาการก่อสร้างก็จะไม่มีงบส่วนนี้เกิดขึ้น เพราะขณะนี้กลายเป็นว่ามีการขยายเวลาก่อสร้างเป็นเวลามากกว่าที่กำหนดในการก่อสร้างตอนแรก จึงทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หลังจากรัฐบาลชุดนี้พ้นจากตำแหน่งจะยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบเรื่องการขยายเวลาก่อสร้าง อย่างไรก็ตามนอกจากงบประมาณในส่วนนี้แล้วยังจะติดตามงบประมาณที่เหลือ แต่จะรอตัวเลขที่ชัดเจนจากสำนักงบประมาณออกมาก่อนจึงจะตรวจสอบว่ามีการตั้งงบส่วนใดที่สูงเกินความเป็นจริงหรือไม่

 

‘ชวน’ ไม่สน “มหาธีร์” โมเดล

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่มีกระแสข่าวหนุนให้นายชวนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งว่า ต้องขอบคุณความตั้งใจดีเหล่านั้น แต่โดยส่วนตัวแล้วการเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกฎเกณฑ์ กติกาที่เราต้องปฏิบัติ แล้วต้องเคารพกฎเกณฑ์กติกาในระบบนี้ โดยส่วนตัวไม่ว่าจะมีเรื่องมาเลเซียหรือไม่ก็ตาม ก็หนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นข่าวที่มีผู้สื่อนั้นก็ขอบคุณความหวังดี แต่ส่วนตัวไม่มีความคิดเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นเลย

เมื่อถามว่าจะมีโอกาสกลับมาหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า “เป็นไปได้ก็ต้องรออีก 12-13 ปี ตอนนั้นก็จะอายุเท่ากับมหาธีร์ค่อยว่ากัน แต่ตอนนี้เป็นไม่ได้ครับ” ส่วนเรื่องโพลล์มีคะแนนต่ำลงนั้น ก็ไม่ค่อยแน่นอน การเป็นโพลล์ หรือเป็นการสุ่มของกลุ่มไหน ก็ไม่ค่อยแน่นอน บางทีบางคณะหรือบางโพลล์ก็ไม่ตรงกัน อันนี้ก็ธรรมดา แล้วแต่ถามใคร

เลขาฯสภายันไร้โกงงบฯ8พันล้าน-"ชวน"ลั่นดันมาร์คสุดตัว

ยันหนุน‘มาร์ค’เป็นหัวหน้าพรรค

     “ผมสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคอย่างแน่นอน โดยพรรคปชป.ก็เป็นพรรคการเมืองที่มีกติกาที่ดี และการเลือกคนมาเป็นหัวหน้าพรรคก็ให้โอกาสโดยไม่เลือกปฏิบัติ และนักการเมืองในพรรคนี้ก็มาจากวิถีทางประชาธิปไตย มาจากระบบการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม อันนี้คือสาระสำคัญมาก เพราะประเทศเรามีปัญหาแม้เราจะมีประชาธิปไตยมานานหลายสิบปีแล้วก็ตาม แต่ถ้าเราไม่สามารถสกัดการโกงเลือกตั้ง การทุจริต การซื้อเสียง การแลกเสียงแก่ผลประโยชน์ได้ นักการเมืองก็ยังโกงอยู่ สิ่งที่ปชป.ภูมิใจก็คืออันนี้ คือสิ่งที่เรายึดมั่นสิ่งนี้ แพ้หรือชนะเราก็ยอมรับผล แต่เราไม่ปฏิบัติอะไรที่ผิดทำนอง คลองธรรม ไม่นิยม ไม่ยอมให้มีการซื้อเสียง ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านการซื้อเสียงมาตลอด” นายชวนกล่าว

“มาร์ค”พร้อมร่วมประชุมนายกฯ

    ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสเรียกร้องให้นายชวน อดีตหัวหน้าพรรคมาเป็นแกนนำพรรคเพื่อสู้กับคสช. เหมือนเช่นการเลือกตั้งของประเทศมาเลเซีย ว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการเป็นทางเลือกในอนาคตของประเทศ แต่ไม่อยากให้มองว่าการเลือกตั้งเป็นการสู้กับใครหรือพวกไหน แต่จะแสดงให้เห็นถึงการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ส่วนเรื่องการสรรหาผู้สมัคร หรือการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย ขณะเดียวกันนายชวนเองก็เคยคุยติดตลกว่าจะเป็นเหมือนมหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศมาเลเซียได้นั้นจะต้องรออีก 12 ปี ซึ่งนายชวนก็ไม่ได้สนใจที่จะมานำพรรคในขณะนี้ เพราะท่านยังทำหน้าที่ผู้แทนประชาชน และทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่ของพรรคที่ให้คำปรึกษาคนในพรรค

    นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีรัฐบาลจะเชิญพรรคการเมืองร่วมประชุมเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ว่าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมรับคำเชิญไปร่วมประชุม พรรคไม่มีปัญหา เพราะมีประเด็นที่จะไปอภิปรายให้คสช.ทราบถึงปัญหาที่เกิดจากกฎระเบียบต่างๆ ที่คสช.ออกมาโดยไม่มีเหตุผล และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หลายฉบับ ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ ก็จะเป็นการพิจารณาเกี่ยวกับพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเกี่ยวกับคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ที่น่าจะขัดรัฐธรรมนูญนั้น คสช.ได้ขอขยายเวลาชี้แจง จึงยังไม่น่าจะได้ข้อยุติในวันดังกล่าว แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยใดๆ พรรคก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเต็มที่

เลขาฯสภายันไร้โกงงบฯ8พันล้าน-"ชวน"ลั่นดันมาร์คสุดตัว

“สาทิตย์”ไม่ออกความเห็นดัน“ชวน”

    นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปตย์ และแกนนำกปปส. กล่าวว่า ขณะนี้มีคนพูดกันมากจริงๆ จะให้ความเห็นเรื่องดังกล่าวก็รู้สึกลำบากใจ ด้วยเหตุผลแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ยังเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนนายชวน หลีกภัย ก็อยู่ จ.ตรัง จริงๆ แล้วการเมืองมาเลเซียไม่เหมือนการเมืองประเทศไทย มหาธีร์ โมฮัมหมัด จริงๆ แล้วมหาธีร์ โมฮัมหมัด กับนายอันวาร์ อิบราฮิม เคยอยู่พรรคการเมืองเดียวกัน เคยสนับสนุนเกื้อกูลกันมา เป็นคนละแบบกับการเมืองไทย จะมานับกันไม่ได้

เลขาฯสภายันไร้โกงงบฯ8พันล้าน-"ชวน"ลั่นดันมาร์คสุดตัว

วิษณุอวดผลงาน 4 ปีรัฐบาล

    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลงานครบรอบ 4 ปีของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้านกฎหมายว่า เห็นว่ามีอะไรออกมาเยอะ ถ้าจะเอาปริมาณมีกว่า 300 ฉบับ แต่ขอให้สนใจเรื่องคุณภาพดีกว่า เพราะปริมาณแสดงถึงความขยัน แต่คุณภาพอาจจะดีบ้างไม่ดีบ้าง ทั้งนี้ในฐานะเป็นงานที่ตนรับผิดชอบ ยอมรับว่ามีกฎหมายที่มีคุณภาพไม่น้อย เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการที่ออกฤทธิ์แล้ววันนี้ ฟ้องร้องกันอุตลุดสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ปฏิบัติตามหรือเพิกเฉยละเลย รวมถึงกฎหมายที่ประชาชนอาจคิดว่าไม่ได้อะไรโดยตรงแต่ได้โดยอ้อม คือกฎหมายที่มีผลผูกพันกับต่างประเทศ ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากอนุสัญญาต่างๆ ที่ทำไว้ ส่งผลให้การจัดอันดับต่างๆ ของไทยดีขึ้น แต่เราไม่ได้ไปเป็นเมืองขึ้นที่จะต้องทำตามเขา อะไรที่ไม่ได้ความก็บอกเขาไปเลยว่าไม่เอา แต่ถ้าเป็นสิ่งดีเรายินดีจะทำ

    นายวิษณุกล่าวว่า กฎหมายในเชิงปฏิรูปก็ถือเป็นผลงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น กองทุนยุติธรรม เป็นสิ่งที่รัฐบาลภาคภูมิใจมาก รวมถึงความสะดวกในการที่ไม่ต้องใช้บัตรประชาชนติดต่อกับทางราชการ ใครจะชอบใจหรือไม่ ไม่เป็นไร แต่ถ้าระยะเวลาผ่านไปก็จะพูดถึงว่าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อไร

ป้องรัฐ-คสช.โดนอัดไม่ปฏิรูป

    นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกฎหมาย ท้วงติงกระบวนการปฏิรูป โดยห่วงจะไม่สำเร็จเพราะให้ข้าราชการเป็นฝ่ายปฏิบัติว่า ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับนายบวรศักดิ์หลายครั้ง นายบวรศักดิ์อาจขี้บ่นหน่อย แต่ใจจริงคงไม่มีอะไร คิดว่าเป็นความรู้สึกคล้ายๆ กับคณะกรรมการที่ทำเรื่องปฏิรูปทั้ง 11 คณะ ที่มองว่าการปฏิรูปเป็นเรื่องยาก นายบวรศักดิ์ไม่ได้บ่นในเชิงท้อแท้ แต่อยากทำอะไรอีกเยอะ ขณะนี้มีหลายเรื่องที่นายบวรศักดิ์เสนอมายังอยู่บนโต๊ะทำงานของตนและของนายกฯ อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจว่าการปฏิรูปเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ต่างจากการปฏิวัติที่ทำใน 24 ชั่วโมงได้ ส่วนที่พูดกันว่าการปฏิรูปคงไม่สำเร็จเพราะไปฝากผีฝากไข้ไว้ที่ข้าราชการนั้น นายบวรศักดิ์เข้าใจดีว่าการปฏิรูปคือการไปเปลี่ยนแปลงสังคมหรือสิ่งที่คนทำจนเคยชิน ดังนั้นเมื่อคิดจะปฏิรูประบบราชการและกฎหมายซึ่งสิ่งเหล่านี้เคยอยู่ในมือข้าราชการมาก่อน ก็ต้องคิดให้ได้ว่าทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ

    นายวิษณุกล่าวต่อว่า หากถามว่าก่อนหน้านี้เกือบ 4 ปีตั้งแต่รัฐบาล คสช.เข้ามาได้ทำเรื่องปฏิรูปอะไรบ้าง ต้องบอกว่าขณะนั้นยังไม่มีแผน แต่ก็ได้ทำไปบ้างแล้ว อีกไม่ช้าคงมีการชี้แจงแสดงผลงาน ด้วยเหตุนี้นายกฯ จึงรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจในการบอกว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรในเรื่องปฏิรูป เพราะหากมองรอบตัวหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงแล้ว เพียงแต่ยังไม่เห็นผลทุกเรื่องเท่านั้น รัฐบาลจึงต้องการเวลาในการทำความเข้าใจ ไม่ใช่มีมาตรา 44 แล้วจะปฏิรูปได้

“กอบศักดิ์” โวผลงานปฏิรูปอื้อ

     ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ระบุว่า รู้สึกท้อและเหนื่อยที่การปฏิรูป 4 ปีที่ผ่านยังไม่มีความคืบหน้า เพราะมีแต่แผนงาน แต่ยังไม่ปฏิบัติจริง ว่า ความจริงการปฏิรูปมีความคืบหน้าไปพอสมควร เชื่อมั่นว่าระยะเวลา 8 เดือนที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้จะมีโครงการที่เกี่ยวกับการปฏิรูปออกมา เช่น สัปดาห์หน้าจะมีเรื่องป่าชุมชนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงจะมีการปฏิรูปโครงสร้างของกระทรวงมี 3-4 กระทรวงที่จะเข้าสู่การปฏิรูป ยกตัวอย่างเช่น จะนำกระทรวงวิทยาศาสตร์มารวมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงใหม่ที่ใช้ชื่อว่ากระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัย ซึ่ง 2-3 เดือนข้างหน้ากฎหมายจะเสร็จสิ้นเหมือนกับการปรับปรุงกระกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ก่อนหน้านี้ เมื่อก่อนการปฏิรูปกระทรวงทำได้แต่พูด แต่ 8 เดือนหลังจากนี้จะเกิดขึ้น

 

พท.ชำแหละ “4 ปี คสช.” วันนี้

    เวลา 10.00 น. แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชัยเกษม นิติศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะตั้งโต๊ะแถลงข่าว เรื่อง “4 ปี คสช. นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย” ที่ทำการพรรคเพื่อไทย

ยันจุดยืนเดิมไม่คุยกับคสช.

    นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คสช.จะเชิญพรรคการเมืองมาพูดคุยเรื่องการจัดการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน ว่าการจัดการเลือกตั้งเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คสช.ไม่มีหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว และในคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ยังระบุถึงการเชิญพรรคการเมืองมาหารือว่าอาจจะเชิญพรรคการเมืองเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจที่จะเชิญพรรคการเมืองเข้าร่วม นอกจากนี้ถ้าคสช.คิดจะเล่นการเมืองต่อไปเพื่อสืบทอดอำนาจก็ยิ่งไม่เหมาะสมที่จะเชิญพรรคการเมืองไปหารือ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยยืนยันจุดยืนเดิมคือไม่ขอเข้าร่วม

เลขาฯสภายันไร้โกงงบฯ8พันล้าน-"ชวน"ลั่นดันมาร์คสุดตัว

ปูดนักการเมืองถูกดูดเสียบรมต.

    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีข้าราชการจากหลายหน่วยงานส่งหนังสือร้องเรียนมาที่ตนเพื่อสะท้อนปัญหาการทำงานที่เกิดสภาวะสุญญากาศในช่วงท้ายของรัฐบาลคสช. โดยระบุถึงปัญหาว่า อาจมียุทธศาสตร์จัดการกับข้าราชการระดับสูงลามมาถึงระดับกลาง โดยใช้วิธีตั้งเรื่องกล่าวโทษทางวินัย เพื่อลงโทษแบบเหวี่ยงแห โดยการย้ายข้าราชการออกนอกพื้นที่หรือตำแหน่งหน้าที่ที่ปฏิบัติเดิมเพื่อให้เกิดสภาวะสุญญากาศ แล้วใช้ช่องว่างดังกล่าวดำเนินการผ่านเครือข่ายที่สามารถควบคุมได้เข้าไปบริหารจัดการในลักษณะที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ เช่น ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ข้าราชการที่ร้องเรียนมาระบุว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในกระทรวงไม่มีใครติดขัดหากจะดำเนินการเอาผิดกับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและต้องขยายผลไปยังกลุ่มผู้ร่วมขบวนการทั้งหมด และยินดีให้ความร่วมมือเพื่อการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่การย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่หลายร้อยคนมากองไว้ส่วนกลางโดยไม่มีโครงสร้างรองรับถือเป็นการเสียประโยชน์ จึงอยากให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบหรือรับผิดชอบคดีทุจริต ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่าข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่คนใดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ขอให้ย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชน

    นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ข้าราชการที่ร้องเรียนมาที่ตนคงเห็นว่าหมดหนทางที่จะขอความเป็นธรรมแล้ว ทั้งที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เคยเป็นเลขารัฐมนตรี เป็นกระทรวงที่มีแต่ให้ ดูแลช่วยเหลือประชาชนทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม แต่มาในยุคหลังถูกป้ายสีให้มัวหมอง เพื่อให้ผลงานการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลเด่นชัดขึ้นหรือไม่ ทำไมไม่ได้รับการพูดถึง ทำไมไม่มีการสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน ครั้นหวังจะให้รัฐมนตรีที่ย้ายมาใหม่ปกป้อง ก็มาแบบคนอกหักที่ถูกปลดพ้นมาจากกระทรวงอื่น แล้วก็เฝ้ารอแต่ว่าเมื่อไหร่จะมีการปรับครม.อีก จะได้ย้ายไปอยู่กระทรวงอื่น รวมถึงกระแสข่าวที่จะปรับรัฐมนตรีสายทหารออกแล้วเอานักการเมืองที่ไปดูดมาเข้ามาแทนที่หรือไม่ รัฐบาลคสช.จะสร้างภาพปราบปรามทุจริตอย่างไรก็ได้ แต่ไม่ควรผลักให้ข้าราชการเป็นแพะรับบาป และต้องเร่งดำเนินการสอบสวนด้วยความรวดเร็วและคืนความเป็นธรรมให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม

เลขาฯสภายันไร้โกงงบฯ8พันล้าน-"ชวน"ลั่นดันมาร์คสุดตัว

“อ๋อย”จวก“บิ๊กตู่”ทำปฏิรูปพัง

    นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ต้นเหตุที่ปฏิรูปไม่เกิดคือพล.อ.ประยุทธ์ ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาโต้นายบวรศักดิ์เรื่องการปฏิรูปไม่คืบหน้านั้นยิ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าพล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถแสดงให้เห็นได้เลยว่าได้เกิดการปฏิรูปในเรื่องใดบ้าง ที่ยกตัวอย่างมาอวดอ้างว่าเป็นการปฏิรูป ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการทำงาน ไม่ได้เป็นความสำเร็จมากมายอะไร เช่น รถไฟทางคู่ 4 ปียังทำได้ไม่ถึงสามกิโลเมตร การทำประปาเข้าหมู่บ้าน การทำถนนในท้องถิ่นเป็นเรื่องดีแต่ก็ยังทำได้ไม่มากเพราะเอางบประมาณไปใช้ด้านอื่นเสียมากกว่า ที่ยกตัวอย่างเรื่องการออกกฎหมายเพียงบางฉบับก็ยิ่งทำให้เห็นว่าที่นายบวรศักดิ์พูดว่าการปฏิรูปกฎหมายไม่คืบหน้าเป็นเรื่องจริง

    นอกจากนั้นที่ยกตัวอย่างเรื่องการปฏิรูปการบุกรุกป่า การจัดการปัญหาที่ดิน บริหารจัดการน้ำ ล้วนเป็นเรื่องที่ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว ที่น่าตกใจคือ พล.อ.ประยุทธ์ ยกความสำเร็จในเรื่องการทำประโยชน์ให้แก่เกษตรกรและคนยากจน รวมทั้งยกตัวอย่างโครงการไทยนิยม สวนทางกับผลโพลล์ที่เพิ่งจะออกมาระบุว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักโครงการไทยนิยม ทั้งนี้ ที่พล.อ.ประยุทธ์ออกมาพูดในครั้งนี้ยิ่งทำให้เห็นว่าผู้ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ไม่เกิดการปฏิรูปใดๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ไม่รู้แม้แต่ความหมายของการปฏิรูปนี่เอง

 

‘มาร์ค’บอกปราบแต่ฝ่ายตรงข้าม

   ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวอนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกับคณะอนุกมธ.ด้านระบบการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง และสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกันจัดงาน “รัฐธรรมนูญปราบโกง จะสัมฤทธิ์ผลได้จริงหรือไม่” เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกลไกในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน

   ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการตั้งฉายาเอาไว้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ต้องยอมรับว่าเป็นการตลาดที่ดีมาก เพราะผู้ร่างคงจับอารมณ์และความรู้สึกของคนในสังคมได้ว่าสังคมตั้งข้อรังเกียจระบบการเมืองที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจโดยมิชอบเป็นปัญหาที่ผ่านมาการเลือกตั้งไม่ใช่ปัญหาของความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องของการใช้อำนาจเป็นปัญหานำไปสู่การชุมนุมและความขัดแย้ง ทั้งนี้ก็เป็นห่วงว่าการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอาจะไม่สัมฤทธิ์ผลอย่างที่โฆษณาไว้ เพราะเท่าที่เห็นคือมีบทบัญญัติบางเรื่องที่หย่อนลงไป แต่ก็มีสิ่งที่เพิ่มในทางบวก เช่น ผู้ที่หลบหนีคดีจะไม่มีอายุความ เป็นต้น

    อย่างไรก็ตามการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องอาศัยหลายกระบวนการ เช่น การตรวจสอบโดยรัฐสภา องค์กรอิสระ ฯลฯ แต่บางครั้งกระบวนการเหล่านี้กลับมีการทุจริตเสียเอง ทำให้ป.ป.ช.เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ให้อำนาจแก่ป.ป.ช.มาก แต่การจะตรวจสอบการทำงานของป.ป.ช.นั้นทำได้ยากขึ้น ทั้งนี้ทุกรัฐบาลบอกเป็นรัฐบาลปราบโกงทั้งนั้น แต่ปราบโกงฝ่ายตรงข้าม บางชุดฝ่ายตรงข้ามไม่โกงยังยัดเยียดข้อหาให้ จะวัดว่าปราบโกงจริงไหม ต้องดูว่าเกิดขึ้นในแวดวงตัวเอง สร้างบรรทัดฐานขึ้นมา ยืนยันว่าเรื่องเหล่านี้เขียนในก.ม.ไม่ได้ แต่อยู่ที่สังคมสามารถมีส่วนร่วม และสามารถกดดันให้การปราบโกงเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้จริงหรือไม่

เลขาฯสภายันไร้โกงงบฯ8พันล้าน-"ชวน"ลั่นดันมาร์คสุดตัว

‘พงศ์เทพ’แฉใครทำปราบโกงพัง

ขณะที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ และแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่นเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมไทยให้ความสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้เกิดมานานมาก ก่อนการที่จะมีเลือกตั้งด้วยซ้ำ สมัยก่อนคนมีอำนาจทำอะไรก็ได้ จนปัจจุบันประธานป.ป.ช.ยังบอกว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ ซึ่งผู้มีอำนาจในปัจจุบันไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นคนที่มีอำนาจมีโอกาสใช้อำนาจในการทุจริตได้ทั้งสิ้น ดังนั้นเราจึงต้องวางกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจให้มากขึ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงนี้ทำให้กลไกในการตรวจสอบเหล่านี้เสียไปหมด เพราะองค์กรอิสระที่มีอำนาจในการตรวจสอบ บุคลากรในองค์กรเหล่านี้มาจากไหน ส่วนใหญ่มาจากความเห็นชอบของสนช. ในอนาคตจะมาจากความเห็นชอบของวุฒิสภา แล้ววุฒิสภาก็มาจากภูเขาลูกเดียวกัน คือมาจากคสช.นั่นเอง ไม่ว่าจะมาแยกเป็นแม่น้ำกี่สายก็ตาม หากทำอย่างที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกว่า ลงเรือแป๊ะก็ต้องตามใจแป๊ะ แบบนี้ก็ไม่สามารถตรวจสอบการทุจริตที่เกิดขึ้นได้

“ผมเห็นว่าทุกฝ่ายต้องถูกตรวจสอบเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริการ ตุลาการ หรือนิติบัญญัติ เราเห็นองค์กรหนึ่งที่ซื้ออะไรไม่รู้มาแล้วใช้ไม่ได้ ซื้อเรือเหาะที่ไม่ได้เหาะ ซื้อไม้ล้างป่าช้าง ซื้อเรือดำน้ำ ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่เคยมีการตรวจสอบ ในขณะที่รัฐบาลซื้ออะไรถูกตรวจสอบหมดทุกอย่าง ตนไม่ว่าหากซื้อมาแล้วใช้ได้จริงมีประโยชน์ ตรงนี้จึงอยากขอให้ประธานป.ป.ช.เสนอแนวทางในการตรวจสอบมาสักข้อ” นายพงศ์เทพกล่าว

บิ๊กป้อมเข้มป้องก่อการร้าย

    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานการปฏิรูประบบด้านความมั่นคง การจัดเก็บข้อมูลต่างด้าวที่เข้ามาพักอาศัยในประเทศไทย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย โดยฝ่ายความมั่นคงกำลังพัฒนาระบบฐานข้อมูลสำหรับติดตามชาวต่างด้าว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยว นักลงทุน รวมถึงแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย โดยจะมีการเชื่อมโยงระบบจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบเดียวกัน ตั้งแต่ที่เดินทางเข้าเมือง ที่พักอาศัย และอื่นๆ

    พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ในระหว่างการพัฒนาระบบจัดเก็บฐานข้อมูลนี้ พล.อ.ประวิตร มอบหมายให้กระกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านเทคนิคการเชื่อมโยงข้อมูล พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย เร่งรัดติดตามชาวต่างด้าวที่ไม่อยู่ในระบบเพื่อมาดำเนินการให้ถูกต้อง และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปสำรวจการพักอาศัยของชาวต่างด้าวด้วย

เลขาฯสภายันไร้โกงงบฯ8พันล้าน-"ชวน"ลั่นดันมาร์คสุดตัว

“มาร์ค-หญิงหน่อย” ดวลวิสัยทัศน์

    วันเดียวกัน นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 กล่าวว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคม  จะมีการจัดกิจกรรม “รำลึกพฤษภาประชาธรรม ปีที่ 26” ณ สวนสันติพร อนุสรณ์พฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.09 น. มีพิธีวางมาลา สดุดีวีรชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยผู้ว่าราชการกทม. ผู้แทนพรรคการเมือง ผู้แทนกองทัพบก

     จากนั้นเวลา 09.39 น. จะเป็นการแสดงของเยาวชนเพื่อเรียกร้องความปรองดองในสังคมเรื่อง “ความฝันของหนู” และเวลา 13.30 น. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ห้องเพทาย จะมีการเสวนาหัวข้อ “วิสัยทัศน์ผู้นำพรรคการเมือง” โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย และผู้แทนพรรคพลังประชารัฐ

(ข่าวหน้า1 นสพ.คมชัดลึก)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ