ข่าว

"รธน." ปราบโกงแค่ขายฝัน "นักการเมือง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"รธน."ปราบโกง แค่ขายฝัน "นักการเมือง" เหตุตัดกลไกมีส่วนร่วมเชิงโครงสร้าง แนะแก้ไขผ่านกฎหมายเน้นปชช.ร่วมตรวจสอบ "พงศ์เทพ"​ หวั่นรัฐสภาสมัยหน้า ไม่กล้าตรวจสอบแป๊ะ

 

          16 พ.ค. 61 - คณะอนุกรรมาธิการด้านระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ในกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดงานสัมมนา เรื่อง รัฐธรรมนูญปราบโกง จะสัมฤทธิ์ผลได้จริงหรือไม่"

 

          โดยในช่วงของการอภิปรายหัวข้อดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งฉายาให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่าเป็นฉบับปราบโกงนั้น เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด แต่ข้อเท็จจริงไม่เป็นเช่นนั้น และบางบทบัญญัติมีความน่ากังวล ที่กระทบต่อโครงสร้างของการปราบปรามการทุจริต คือ 1.กระบวนการตรวจสอบในรัฐสภา ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่พ่วงกับถอดถอนบุคคลให้ออกจากตำแหน่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตัดประเด็นการยื่นถอดถอนบุคคลออกไป ซึ่งตนกังวลว่าจะทำให้การตรวจสอบผ่านระบบรัฐสภา ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจอาจไม่สำเร็จ เพราะการลงมติจะใช้เสียงข้างมาก

 

"รธน." ปราบโกงแค่ขายฝัน "นักการเมือง"

 

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า 2.บทบาทขององค์กรอิสระ ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น, ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ให้ตรวจสอบประเด็นจริยธรรมร่วมด้วย ที่อาจทำให้เกิดข้อโต้แย้ง เกิดการไม่ยอมรับคำตัดสินขึ้นได้

 

          "ผมไม่สบายใจต่อกรณีที่ตัดสิทธิของนักการเมือง ต่อการยื่นฟ้องดำเนินคดีกับ ป.ป.ช.ที่มีหน้าที่ไม่ชอบตามกฎหมาย​ และแก้ไขให้ยื่นผ่านประธานรัฐสภา ฐานะฝ่ายรัฐบาล ดังนั้นหากฝ่ายบริหารไม่ตรวจสอบป.ป.ช. จะทำอย่างไร แม้จะยื่นเรื่องไป แต่ประธานรัฐสภาบอกว่าไม่มีมูล พวกเราจะทำอย่างไร" นายอภิสิทธิ์ กล่าว     

 

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับบทบัญญัติที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการตรวจสอบ ตนยังสงสัยว่าประชาชนจะตรวจสอบได้อย่างไร โดยเฉพาะการตรวจสอบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กฎหมายกำหนดให้เปิดเผยรายการดังกล่าวโดยสรุป ที่ขาดรายละเอียดอย่างชัดเจน ทั้งนี้แม้มาตรการกฎหมายจะเขียนได้ดีอย่างไร ต้องไม่ลืมต่อเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำประเทศ และการสร้างมีส่วนร่วมต่อประชาชนต่อการสร้างแรงกดดันต่อการปราบคอรัปชั่นอย่างจริงจัง โดยไม่ผู้มีอำนาจรัฐไม่ใช่กลไกใดมาปิดปาก​หรือบิดเบือน และห้ามใช้เสรีภาพต่อการรวมตัวของภาคประชาชน

 

          ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวโดยเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง นั้น คือ การโกงอำนาจจากประชาชน มากกว่าการปราบทุจริตคอร์รัปชั่น และกรณีที่หลายฝ่ายเชื่อว่ารัฐธรรมนูญเป็นฉบับปราบโกง ตนมองว่าเป็นเพียงคำโฆษณาชวนเชื่อเหมือนกับคำพูดที่ว่า ขอเวลาอีกไม่นาน และส่วนตัวมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังมีบทบัญญัติที่ส่งเสริมให้โกงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการรับรองอำนาจของ คสช. ทั้งการออกคำสั่งหรือการปฏิบัติการใดว่าชอบด้วยกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ​มาตรา 265 ทั้งนี้ตนขอเรียกร้องให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงและยืนยันว่าความในมาตรา 265 ไม่ใช่การรับรองว่าสิ่งที่คสช.ทำทุจริตนั้นเป็นความถูกต้องตามกฎหมาย
 
          นายพงศ์เทพ กล่าวด้วยว่า แม้ปัจจุบันจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ปัญหาการทุจริตยังเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานของตน มองว่าเป็นเพราะผู้มีอำนาจ มักจะใช้โอกาสไปแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและทุจริตได้ ดังนั้นสิ่งที่จะแก้ไขได้ คือ การขยายการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจให้กว้างขวาง ขณะที่องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ใช้อำนาจต้องถูกตรวจสอบได้เช่นเดียวกัน 

 

"รธน." ปราบโกงแค่ขายฝัน "นักการเมือง"

 

          "ในรัฐสภาสมัยหน้า ผมเชื่อว่าจะมาจากคนก้อนเดียวกันที่แต่งตั้ง สนช. เมื่อเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน แม้จะแยกเป็น 5-6 สาย แต่คำพูดที่ว่า ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ ดังนั้นจะคาดหวังเรื่องการตรวจสอบแป๊ะไม่ได้แน่นอน เพราะเขาไม่ตรวจสอบกัน หากคนของคสช. เป็นรัฐบาลตามที่แสดงเจตจำนง จะสบายใจได้อย่างไรว่าองค์กรอิสระ องค์กรตรวจสอบจะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา ในเมื่อรัฐธรรมนูญ หรือ ระบบตรวจสอบปัจจุบัน ห้ามไม่ให้ผู้เสียหายฟ้องตรงไปยังศาล เพราะต้องผ่าน ป.ป.ช. ก่อน หากเป็นเช่นนั้นการตรวจสอบจะเอนเอียง" นายพงศ์เทพ กล่าว

 

          นายพงศ์เทพ กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่เป็นเพียงระบบชี้เบาะแส สิ่งที่ตนอยากเห็นคือ ประชาชนมีส่วนร่วม สามารถเข้าฟังการพิจารณา และการประชุมของ ป.ป.ช.​ ในรายคดีได้ ในรูปแบบของลูกขุนที่สามารถให้ข้อมูล และข้อเท็จจริง ระหว่างการพิจารณาได้ ขณะที่มาตรการแก้ทุจริตได้ ตนเชื่อว่าการสร้างค่านิยม และวัฒนธรรมของที่ไม่ยอมต่อการทุจริต ระบบอุปถัมภ์ และปฏิรูประบบราชการที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการใช้ดุลยพินิจ ที่เป็นที่มาของการทุจริต คอร์รัปชั่น หรือ หาประโยชน์เข้าตนเอง นอกจากนั้นยังมองว่ารัฐบาลควรส่งเสริมสังคมไร้เงินสด เพื่อให้เกิดการตรวจสอบการโอนเงินหรือการจ่ายเงินได้


          ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า และ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นเพียงการวางโครงสร้างและกลไก ให้ปราบการทุจริต ดังนั้นโดยลำพังของรัฐธรรมนูญปราบโกงไม่ได้ต้องอาศัยกฎหมายและเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปราบทุจริต คอร์รัปชั่น แต่ในสิ่งที่รัฐธรรมนูญสามารถทำได้ต่อการปราบทุจริต คือ ป้องปรามไม่ให้คนโกงเข้าสู่ระบบการเมืองไทย ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

 

          นายบรรเจิด กล่าวว่า จุดอ่อนและภาวะเสี่ยงของรัฐธรรมนูญต่อเรื่องปราบคอร์รัปชั่น คือ ให้อำนาจหน่วยงานภาครัฐมากเกินไป แม้จะมีบทบัญญัติกำหนดให้ภาคประชาชนและฝ่ายการเมืองมีส่วนร่วม แต่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้เป็นระบบ ดังนั้น จุดสำคัญของการปราบทุจริต คือ เพิ่มประสิทธิภาพของการปราบโกง ที่ไม่เน้นเรื่องการลงโทษแบบรุนแรง เพราะการเน้นโทษทางอาญา ต้องใช้เวลาตรวจสอบนานกว่าจะได้ข้อเท็จจริงที่สามารถตัดสินลงโทษได้ โดยตนเสนอให้พัฒนามติของครม. และคำสั่งคสช. ต่อการกำหนดกรอบเวลาตรวจสอบและพิจารณาโทษสถานเบา หรือ ลงโทษทางแพ่ง ก่อนใช้โทษอาญาหรือบทลงโทษที่รุนแรง ยกร่างเป็นกฎหมายเพื่อบูรณาการการปราบโกงทุกภาคส่วน

 

    "ในรัฐธรรมนูญกำหนดยาแรงไว้ลงโทษฝ่ายการเมือง คือการจัดสรรงบประมาณโดยไม่ชอบ หรือเอื้อประโยชน์ จะถูกลงโทษโดยคณะรัฐมนตรีต้องพ้นไปทั้งคณะ แต่ผมเชื่อว่ามาตรานี้ไม่มีโอกาสได้ใช้ เพราะมีข้อจำกัดทางกฎหมาย แม้จะปิดทางหนึ่ง ยังสามารถหาทางออกอีกทาง​เสมอ ดังนั้นต้องสร้างกลไกการวิเคราะห์, เครื่องมือวัดพลวัตรของพฤติกรรมทุจริตเพื่อปรับกลไกปราบโกงที่เหมาะสมกับพฤติกรรม ขณะเดียวกันต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนด้วยผ่านมาตรการปราบทุจริตที่ชัดเจนในกฎหมายระดับรองของรัฐธรรมนูญ"​ นายบรรเจิด กล่าว.
 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ